ThaiPublica > เกาะกระแส > มติบอร์ด PPP นัดแรก ตั้งอัยการสูงสุด ประธานวินิจฉัย ประมูล “สัมปทานดิวตี้ฟรี” ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่?

มติบอร์ด PPP นัดแรก ตั้งอัยการสูงสุด ประธานวินิจฉัย ประมูล “สัมปทานดิวตี้ฟรี” ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่?

31 มีนาคม 2019


เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 เวลา 13.30 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เรื่องราวการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีทั้ง 4 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ หาดใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ต มีการท้วงติงในประเด็นการ “ผูกขาด” และประเด็นการวินิจฉัยว่าโครงการนี้จะเข้าข่ายโครงการร่วมทุนหรือไม่ มีการสั่งให้ทบทวนโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามด้วยการแลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” พร้อมกันนี้สมาคมค้าปลีก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน นักวิชาการ ก็ร่วมกันให้ข้อเท็จจริงที่ต่างจากทอท.แถลง (ดูข่าวเกี่ยวข้อง)

  • ทอท.เปิดคัดเลือกเอกชนรายเดียว ผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ 10 ปี เปิดขายซอง 19 มี.ค.นี้
  • AOT ข้ามขั้นตอน! เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ก่อนคลังคลอด กม.ลูก – กำหนดกิจการที่เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใหม่
  • นายกฯ สั่ง “บอร์ด ทอท.” ทบทวนประมูลดิวตี้ฟรี – รายเดียว ผูกขาด 4 สนามบิน
  • คำต่อคำ! “นิตินัย” (ตอน1): ติวสื่อ จั่วหัวข่าว เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว – ระบุหลังเปิดเสรี pick-up counter เวลาผูกขาดดิวตี้ฟรีหมดลงแล้วจริงๆ
  • คำต่อคำ! คำถาม-คำตอบกับ “นิตินัย” (ตอนจบ) เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว มั่นใจแจงชัดทุกประเด็นหากหักล้างฟังไม่ขึ้นพร้อมเดินหน้าประมูลทันที – ตั้งข้อสงสัยสื่อที่ตีข่าวนี้ถูกซื้อ
  • สมาคมผู้ค้าปลีกไทยหักล้าง ข้อมูล ทอท. กรณี “TOR ดิวตี้ฟรีรายเดียว รวบ 4 สนามบิน” ทุกประเด็น ติง อย่าใช้เกณ์ “เอาคนที่ทำคะแนนไม่ดีรวมกับคนที่ทำคะแนนไม่ดี”
  • ทอท. เดินหน้าประมูลดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ เลือกรายเดียว เปิดขายซอง 1-18 เม.ย.นี้
  • แต่การสั่งการให้ทบทวนไม่ถึง 2 สัปดาห์ ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ก็เร่งเดินหน้าต่อทันที

    กล่าวคือหลังจากพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา ตามกฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำกฎหมายลูก เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือที่เรียกว่า “คณะกรรมการ PPP” ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ PPP นัดแรก ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

    นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการ PPP เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ PPP นัดแรกมีประเด็นที่สาระสำคัญอยู่ 2 เรื่อง ดังนี้

      1. หลังจากพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มีผลบังคับใช้ ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อรองรับการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และจัดทำแผนโครงการร่วมลงทุน เพื่อเป็นกรอบแนวนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการข้างต้นเป็นไปด้วยความรอบคอบ และเกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน วันนี้คณะกรรมการ PPP จึงได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน เพื่อกลั่นกรองและเสนอความเห็นในเรื่องต่างๆ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการ PPP เพื่อพิจารณาต่อไป

      2. คณะกรรมการ PPP ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย เร่งดำเนินการจัดทำร่างประกาศ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น พ.ศ. …. เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบประกาศดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ต่อไป

    นายประภาศกล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายชุดนี้จะมีอัยการสูงสุดเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3-4 คน ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองงานด้านกฎหมายให้กับคณะกรรมการ PPP ทุกเรื่อง แต่เรื่องเร่งด่วนที่คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายต้องพิจารณาตอนนี้ คือ คำว่า “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาตรา 7 วรรค 2 โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้จะต้องทำการศึกษาและกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาว่า “กิจการใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบประกาศคณะกรรมการ PPP

    ล่าสุด ในวันเดียวกันนั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ได้ออกประกาศมา 2 ฉบับ เชิญชวนเอกชนเข้าประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามมติบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 โดยที่ไม่รอผลคณะกรรมการ PPP ออกประกาศกำหนด โครงการร่วมลงทุนประเภทใดบ้างเข้าข่ายเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น และต้องปฏิบัติหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ โดยนายประภาศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท.ได้ทำหนังสือมาสอบถาม สคร.แล้ว ว่าการเปิดประมูลสิทธิในสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยาน เข้าข่ายกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ ประเด็นนี้คงต้องรอคณะกรรมการ PPP พิจารณาออกประกาศกำหนดว่ามีกิจการใดบ้างที่เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาตรา 7 วรรค 2 สมมติ กิจการดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยาน ไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น หรือไม่มีอยู่ในรายการ (list) ตามประกาศคณะกรรมการ PPP กรณีนี้ ทอท.ก็สามารถเดินหน้าเปิดประมูลสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่อไปได้ แต่ถ้าประกาศคณะกรรมการ PPP กำหนดสัมปทานดิวตี้ฟรีและบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการท่าอากาศยาน ทอท.ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ให้ถูกต้อง

    นายประภาศ คงเอียด
    ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

    กรณีที่ ทอท.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปก่อน โดยไม่รอประกาศคณะกรรมการ PPP นั้น นายประภาศเข้าใจว่าทาง ทอท. มีความมั่นใจ โครงการดังกล่าวไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นต่อกิจการท่าอากาศยาน หากคณะกรรมการ PPP วินิจฉัยว่าไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น ทอท.ก็เดินหน้าต่อไป ส่วนกิจการใดที่ไม่เข้าข่ายกิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็น หรือไม่ต้องปฏิบัติตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทางคณะกรรมการ PPP ก็จะมีการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขมาบังคับใช้กับโครงการร่วมลงทุนประเภทนี้ โดยการยกร่างประกาศของคณะกรรมการ PPP ฉบับ ก็จะอ้างอิงมาจากพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2561, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการเปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ ทอท. แต่ประเด็นสำคัญในตอนนี้คือ โครงการดังกล่าวเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็น ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ ยังไม่ได้วินิจฉัย

    “อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งนี้ ไม่ได้มีการพิจารณาเฉพาะโครงการร่วมลงทุนของ ทอท. แต่เป็นการพิจารณาโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ตามมาตรา 7 (1)-(4) ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทุกโครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการร่วมลงทุนของกระทรวงคมนาคม เพราะมีโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุด เช่น โครงการขนส่งทางถนน, ทางราง, ทางอากาศ และทางน้ำ เป็นต้น” นายประภาศกล่าว

    ป้ายคำ :