ThaiPublica > เกาะกระแส > สมาคมผู้ค้าปลีกไทยหักล้าง ข้อมูล ทอท. กรณี “TOR ดิวตี้ฟรีรายเดียว รวบ 4 สนามบิน ” ทุกประเด็น ติงอย่าใช้เกณ์ “เอาคนที่ทำคะแนนไม่ดีรวมกับคนที่ทำคะแนนไม่ดี”

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยหักล้าง ข้อมูล ทอท. กรณี “TOR ดิวตี้ฟรีรายเดียว รวบ 4 สนามบิน ” ทุกประเด็น ติงอย่าใช้เกณ์ “เอาคนที่ทำคะแนนไม่ดีรวมกับคนที่ทำคะแนนไม่ดี”

21 มีนาคม 2019


นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

หลังจากนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ชี้แจงเหตุผลที่ทอท.ติดสินใจเลือกรูปแบบการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการรายเดียวได้รับสิทธิจำหน่ายสินค้าปลอดอาการ (ดิวตี้ฟรี) 4 สนามบิน เพื่อสรรหาผู้ประกอบการที่แข็งแรงที่สุดไปแข่งขันในเวทีโลกนั้น

  • คำต่อคำ! “นิตินัย” (ตอน1) : ติวสื่อ จั่วหัวข่าว เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว – ระบุหลังเปิดเสรี pick-up counter เวลาผูกขาดดิวตี้ฟรีหมดลงแล้วจริงๆ
  • คำต่อคำ! คำถาม- คำตอบกับ“นิตินัย”(ตอนจบ) เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว มั่นใจแจงชัดทุกประเด็นหากหักล้างฟังไม่ขึ้นพร้อมเดินหน้าประมูลทันที – ตั้งข้อสงสัยสื่อที่ตีข่าวนี้ถูกซื้อ
  • เปรียบเทียบการจัดการสนามบินชั้นนำในเอเชีย

    วันที่ 20 มีนาคม 2562 นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แถลงข่าวจุดยืนของสมาคมฯที่ยังคงสนับสนุนการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีหลายราย โดยแยกตามหมวดหมู่สินค้า (By Category) และคัดค้านรูปแบบการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการรายเดียวผูกขาดการประกอบธุรกิจดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ณ ห้องประชุมชั้น 12 สมาคมผู้ค้าปลีกไทย อาคารว่องวานิช

    นายวรวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่ผู้บริหารของทอท.ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนนั้น อาจมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการหลายราย แยกตามหมวดหมู่สินค้า ผู้บริหารทอท. ให้เหตุผลว่าไม่เหมาะสม และไม่สะดวกที่จะนำมาใช้กับสนามบินที่มีทางออกหรือประตู (Gate) หลายทาง หากการจราจรทางอากาศ (Traffic) มีการเปลี่ยนแปลง อาจมีผู้โดยสารน้อยลง และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร

    นายวรวุฒิ กล่าวว่าจากผลการศึกษารูปแบบการจัดวางผังร้านค้าดิวตี้ฟรีของสนามบินชั้นนำในเอเชียประมาณ 3-4 แห่ง ซึ่งตามมาตรฐานสากลก็สามารถเปลี่ยนแปลง Gate ได้ เริ่มจากสนามบินชางฮี ประเทศสิงค์โปร์ มีการกระจายสัมปทานแก่ผู้ประกอบการหลายรายแยกตามหมวดหมู่สินค้า หลากหลายCategory จัดวางพื้นที่ร้านค้าดิวตี้ฟรีหลังจากที่เดินผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตรงกลางจะเป็นจุดที่มีคนสัญจรมากจะพบกับร้านปลอดอากรประเภทคอสเมติกส์ น้ำหอม ไวน์ เหล้า บุหรี่ ทั้งด้านปีกซ้าย และปีกขวา ก็มีร้านคอสเมติกส์ ไว้บริการลูกค้าอย่างทั่วถึง ไม่ว่าผู้โดยสารจะเดินทางไปด้านไหน หรือ มีการเปลี่ยน Gate ไปทางซีกไหน สุดท้ายการจัดวางก็จะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ตรงนี้ต้องการอธิบายกรณีที่ ทอท. อ้าวว่าถ้าคอสเมติกส์อยู่ปีกซ้าย ผู้โดยสารอยู่ปีกขวา ก็จะเดินมาไม่ถึง แต่ที่สนามบินชางฮีมีมาตรฐานการให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่

    สนามบินชางฮีของประเทศสิงค์โปร์ให้สัมปทาน แยกตามหมวดหมู่สินค้า คือ เหล้าและบุหรี่ DSF Groups เป็นผู้รับสัมปทาน ส่วนสินค้าประเภท beauty บริษัท Shilla Travel Retail ได้สัมปทานส่วนนี้ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ T1-T4 ระยะเวลาสัมปทาน 6 ปี ส่วนพวกแฟชั่นเปิดให้มาเช่าพื้นที่กับสนามบินชางฮีโดยตรง ระยะเวลา สัมปทาน 3 ปี

    ภาพต่อมาเป็นสนามบินอินชอน ประเทศเกาหลี ผังเป็นรูปตัวยู ก็มีหลาย Gate เดินผ่าน ตม. เข้ามาพบดิวตี้ฟรีอยู่ด้านหน้าบริเวณ DF1,DF2,DF3 มีสินค้า Luxury วางดักอยู่ ส่วนตรงปีกท้ายๆจะเป็นร้านเล็กตั้งอยู่ทั้งทางด้านซ้ายและขวา มีทั้งคอสเมติกส์ บิวตี้ เหล้า และบุหรี่ กระจายอยู่เช่นกัน ส่วนตรงบริเวณ DF 4-6 เปิดให้ธุรกิจดิวตี้ฟรีที่เป็นเอสเอ็มอีเข้ามาดำเนินงาน

    ส่วนที่ฮ่องกงผังดูยากกว่าของไทย ก็มีผู้ประกอบการหลายราย แยกตามหมวดหมู่สินค้ากระจายอยู่ทุกพื้นที่ เรื่อง Traffic ไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าสนามบิน ไม่เหมือนห้างสรรพสินค้า ก็ไม่ใช่ จริงๆในสนามบิน ก็มันก็มี Traffic เหมือนกันทั่วโลก เหตุที่ยกตัวอย่าง 3 รายขึ้นมาบรรยาย เนื่องจากเป็นสนามบินที่มีเรทติ้งติดอันดับท็อปไฟท์ของโลก Traffic หรือ การเดินผ่านของผู้โดยสารก็ใกล้เคียงกับประเทศไทย

    เปรียบเทียบดิวตี้ฟรีกับห้างสรรพสินค้า

    นายวรวุฒิ กล่าวว่าอีกประเด็นอยากที่หยิบยกขึ้น คือ อายุของสัญญาสัมปทาน 10 ปี มันนานเกินไป จริงๆเรื่องนี้ไม่ควรให้ยาวขนาดนั้น โดยทอท.อ้างให้สัมปทานไม่ถึง 10 ปี เกรงว่าผู้ประกอบการจะไม่ถึงจุดคุ้มทุน มาดูว่าจริงหรือเปล่า สมาชิกของสมาคมฯหลายคนรู้เรื่องนี้ดี โดยเฉพาะสมาชิกที่ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า ซึ่งต้องลงทุนสร้างตึก สร้างอาคาร ตกแต่งภายในต่างๆ ธุรกิจห้างสรรพสินค้ามีจุดคุ้มทุนประมาณ 5-7 ปี

    ขณะที่ธุรกิจดิวตี้ฟรี อาคารก็ไม่ต้องสร้าง ใช้พื้นที่อาคารของสนามบิน ลูกค้าก็ไม่ต้องหา และไม่ต้องทำโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เดินทางมาที่สนามบิน เหมือนกับห้างสรรพสินค้าค้า เพราะสนามบินเป็นจุดที่คนเดินทางผ่านเข้า – ออกอยู่แล้ว เชื่อว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินมีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 3-4 ปีเท่านั้น สอดคล้องกับการให้สัมปทานดิวตี้ฟรีในหลายประเทศ ซึ่งให้สัมปทานกันประมาณ 5-7 ปี สำหรับประเทศไทยให้สัมปทานนานถึง 10 ปี

    หลังจากที่ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 ทอท.ก็ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการประมูลสัมปทานพื้นที่ดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในวันที่ 11 มีนาคม 2562 โดยคิดว่าธุรกิจดิวตี้ฟรี อาจเป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวเนื่องจำเป็น และไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ คิดไปอย่างนั้นเอง ลองมาดูกันว่าจริงหรือไม่

    ศาลปกครองสูงสุด เคยตัดสินว่าลานจอดรถ เป็นส่วนหนึ่งของท่าอากาศยาน

    นายวรวุฒิ กล่าวว่า นิยามของคำว่า “เกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการกิจการท่าอากาศยาน” ตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯฉบับใหม่ ต้องมาดูคำนิยามของ “กิจการท่าอากาศยาน” หมายความว่า กิจการจัดตั้งสนามบิน หรือ ที่ขึ้นลงชั่วคราวของท่าอากาศยาน การจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ การให้บริการลานจอดอากาศยาน การให้บริการช่างอากาศ และการใช้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอากาศยาน ผู้ประจำหน้าที่ สินค้าพัสดุภัณฑ์ ผู้โดยสาร และลูกจ้างของผู้ประกอบธุรกิจในการเดินอากาศ รวมตลอดถึงการให้บริการ หรือ สิ่งอำนวยความสะดวก อันเกี่ยวกับ หรือ ต่อเนื่องกับกิจการดังกล่าว

    แต่การตีความของทอท. ดูเหมือนว่าตีแค่ตัวอาคารที่เกี่ยวข้องกับการให้เครื่องบิน ขึ้น – ลง อย่างอื่นไม่จำเป็นต้องมีก็บรรลุวัตถุประสงค์ ทอท.จึงพิจารณาว่าไม่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องตามพ.ร.บ.ร่วมทุน จริงๆแล้วมันเคยมีการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจชี้ให้เห็นได้ว่ากิจกรรมดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่จำเป็น อยากให้ดูเอกสารแนบที่ 1 เอกสารแนบที่ 2 และเอกสารแนบที่ 3 ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่เคยตัดสินแล้ว

    เอกสารแนบที่ 1 คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 777/2548

    เอกสารแนบที่ 2 พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

    เอกสารแนบที่ 3 พรก.กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2545

    นายวรวุฒิ กล่าวสรุปว่า ศาลปกครองสูงสุด เคยตัดสินว่าลานจอดรถ เป็นส่วนหนึ่งของท่าอากาศยาน ถามว่าลานจอดรถมีความจำเป็นหรือไม่ หากเปรียบเทียบกับร้านค้าต่างๆ ร้านดิวตี้ฟรี ยิ่งเห็นชัดเจนว่าบริการพวกนี้เป็นองค์ประกอบที่ท่าอากาศยานทุกแห่งทั่วโลกต้องมี ขณะที่มีผู้บริหารบางท่าน พยายามจะสื่อสาร หรือ มีมุมมองว่าผู้โดยสารที่อยู่ในสนามบิน ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหาร ไม่ต้องดื่มน้ำ ไม่ต้องซื้อสินค้าที่จำเป็นระหว่างการเดินทาง แต่ในความเป็นจริงคงไม่มีสนามบินแห่งใดในโลกเป็นอย่างนี้

    Non – Aeronautical ของไทยต่ำกว่าในประเทศในแถบเอเชียทั้งหมด

    นายวรวุฒิกล่าวต่อว่าตัวอย่าง สนามบินเอล แอลโต้ เมืองลาปาซ ประเทศเม็กซิโก มีผู้โดยสารนานาชาติเดินทางผ่านเข้า – ออก 8,900 คน ยังมีดิวตี้ฟรี สนามบินอูซัวยา ประเทศอาเจนตินา มีผู้โดยสารเดินทาง 31,767 คน มีดิวตี้ฟรี สนามบินอากาปุลโก ประเทศเม็กซิโก มีผู้โดยสาร 53,295 คน ก็มีดิวตี้ฟรี สนามบินเจอร์ซีย์ มีผู้โดยสาร 54,527 คน มีดิวตี้ฟรี แต่สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสาร 51 ล้านคน ลองคิดดูถ้าไม่มีบริการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ข้อกล่าวอ้างที่ว่ากิจกรรมเหล่านี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับท่าอากาศยาน ก็ถือเป็นตรรกะที่แปลกมาก

    และถ้ามาพิจารณาตรงรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non – Aeronautical) ของทอท. มีสัดส่วนประมาณ 44% ของรายได้ทั้งหมด หากทอท.ตีความว่าส่วนควบเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของกิจการท่าอากาศยานเท่ากับว่าท่าอากาศยานนั้น ตัดรายได้ของตนเองไป 44% ซึ่งสัดส่วน 44% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของท่าอากาศยานทั้งโลกที่มีรายได้จาก Non – Aeronautical

    แต่ถ้าไปดู Non – Aeronautical ของประเทศในแถบยุโรป จะเห็นว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีของยุโรปไม่ค่อยดี เนื่องจากส่วนใหญ่สินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยในยุโรป รัฐเก็บภาษีต่ำมาก ธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินยุโรป จึงไม่ค่อยเกิด ทำให้รายได้ส่วน Non – Aeronautical ของสนามบินในยุโรปไม่ค่อยดี แต่จะมีรายได้จากค่าบริการอื่นๆมาสนับสนุน เช่น ค่าบริการจอดรถ ร้านค้า และร้านอาหาร เป็นต้น

    ส่วนสนามบินในฝั่งเอเชีย อย่าง สนามบินฮาเนดะมีสัดส่วน Non – Aeronautical ประมาณ 73% สนามบินอินชอน 65% สนามบินชางฮี 61% แต่ของทอท.มี Non – Aeronautical ประมาณ 44% นี่เป็นตัวเลขที่ชัดเจนรายได้จาก Non – Aeronautical ของไทยต่ำกว่าในประเทศในแถบเอเชียทั้งหมด เนื่องจากเรามีรายได้จากธุรกิจดิวตี้ฟรีน้อย ทำให้ทอท.มีสัดส่วน Non – Aeronautical น้อยตาม หากปรับปรุงธุรกิจดิวตี้ฟรีให้มีการแข่งขัน สัดส่วนรายได้ของทอท.น่าจะมากกว่านี้ ดังนั้นจะมาบอกว่า 44% ไม่ใช่ รายได้ส่วนหนึ่งของกิจการท่าอากาศยาน คงไม่ใช่


    นอกจากนี้ทางสมาคมฯยังตรวจสอบเอกสารของ ICAO ระบุว่า ปัจจัยหลักของการบริหารการเงินของสนามบิน ขึ้นอยู่กับ Non – Aeronautical revenue สนามบินไหนจะมีกำไร หรือ มีผลตอบแทนดี รายได้ส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤต หรือ สนามบินมีปัญหา รายได้จาก Non – Aeronautical มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้สนามบินอยู่รอด เรื่องที่สำคัญขนาดนี้จะมาตีความว่าไม่เกี่ยวข้องกับกิจการท่าอากาศยาน คงไม่ใช่อีก

    “ผมได้ปรึกษากับนักกฎหมายหลายคน ยังมีความเชื่อว่ากิจกรรมดิวตี้ฟรี และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการของท่าอากาศยาน ตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ ปี 2562 แต่อย่างไรก็ตาม ผมเป็นภาคเอกชนจะไปพูดแทนหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่คงไม่ได้ แต่ผมคิดว่า ทอท.ไม่ควรพิจารณาเองเช่นกัน โดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายภายใต้คณะกรรมการร่วมทุนฯ (PPP) หรือ สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานเหล่านี้ที่ควรจะให้ความชัดเจน ทอท.ไม่ควรจะตีขุมไปเองว่ามันไม่เกี่ยว และรีบเร่งจัดประมูล” นายวรวุฒิ กล่าว

    ทอท.ตั้งเกณฑ์เอาคนที่ทำคะแนนไม่ดีมารวมกับคนที่ทำคะแนนไม่ดี ติงอย่าคิดแทนเอกชน

    นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า จริงๆทอท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% ควรจะเป็นตัวเป็นตัวอย่างของความโปร่งใส การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือ การเปิดให้มีหน่วยงานอื่นๆเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ กำหนด TOR ต่างๆ มันยิ่งส่งผลภาพบวกต่อภาพลักษณ์องค์กร ทำไมต้องมาหาช่องไม่ให้เข้าไปอยู่ในกระบวนการการพิจารณาของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ตนคิดว่าน่าจะเป็นผลดีต่อ ทอท. ในด้านภาพลักษณ์ในเรื่องของ Good Governance

    ส่วนการรวบ 4 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต รวมเป็นสัมปทานสัญญาเดียว โดยให้เหตุผลว่าดิวตี้ฟรีที่สนามบินหาดใหญ่ และเชียงใหม่มีปัญหาขาดทุน หรือ มีรายได้น้อย นายวรวุฒิ กล่าวว่า นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทอท. ควรจะเปิดประมูลสัมปทานแบบหลายๆ เพราะมันสะท้อนให้เห็นเลยว่าสัมปทานรายเดียวที่มีอยู่ในอดีตที่ผ่านมาประกอบกิจการขาดทุน สะท้อนให้เห็นถึงทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ยอดขายน้อยและขาดทุน แต่แทนที่ทอท.จะคัดเลือกรายอื่นมาทำแทน กลับดึงผลขาดทุนที่เกิดจากความบกพร่องของผู้ประกอบการมาเป็นเงื่อนไขการให้สัมปทาน ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกมาก ๆ เปรียบเสมือนคนที่สอบได้คะแนนไม่ดี แทนที่จะหาคนอื่นมาทำ กลับไปเอาคนที่ทำคะแนนไม่ดีมารวมกับคนที่ทำคะแนนไม่ดี ตรงนี้สมาคมฯพยายามเรียกร้องให้มีการแข่งขันเลือกหลายราย แต่ทอท.ใช้วิธีการรวบสนามบินที่ขาดทุนมาถั่วเฉลี่ยกับสนามบินกำไร ทำให้ผลตอบแทนของทอท. หรือ ประเทศน้อยลงตามไปด้วย เป็นวิธีที่ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

    และทอท.ยังให้เหตุผลอีกว่าสนามบินเล็ก ๆ อาทิ ภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่ หากแยกสัมทานจะไม่มีสินค้าแบรนด์เนมไปวางขาย แต่นี่คือข้อจำกัดของผู้ประกอบการเดิมที่มีสินค้าแบรนด์เนมไม่ครบ ถึงแม้พื้นที่จะเล็ก ก็ไม่ได้เป็นปัญหากับผู้ประกอบการสามารถเอาแบรนด์เนมระดับโลกมาลงได้ ตนไม่เข้าใจทำไมทอท.ต้องคิดแทน บริษัทดิวตี้ฟรี แทนที่จะคิดถึงผลประโยชน์ของชาติ หรือ ผลประโยชน์ของ ทอท.

    นายวรวุฒิกล่าวต่อว่าในด้านจำนวนผู้โดยสารของแต่ละสนามบิน ที่สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารต่างชาติเดินทาง 51.2 ล้านคน ถ้ารวมคนไทยด้วยเป็น 62.8 ล้านคน นี่คือ Traffic ที่เกิดขึ้นในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ตมีผู้โดยสารต่างชาติ 10.4 ล้านคน รวมคนไทยเข้าไปด้วย 18.3 ล้านคน เชียงใหม่มีต่างชาติ 2.5 ล้านคน รวมคนไทยเป็น 10.8 ล้านคน และที่สนามบินหาดใหญ่มีต่างชาติเดินทาง 0.3 ล้านคน รวมคนไทยเป็น 4.3 ล้านคน แต่ถ้าดูที่สนามบินอู่ตะเภา เพิ่งเปิดประมูล อันนี้จะขัดแย้งกับสิ่งที่ทอท.ให้สัมภาษณ์ว่าสนามบินเล็กๆ ใครจะมาประมูล แต่ที่สนามบินอู่ตะเภามีพื้นที่ 600 ตารางเมตร มีผู้โดยสารสัญจร 2 ล้าน คน เพิ่งเปิดประมูล มีผู้ยื่นซองประมูล 4 ราย นี่คือ สนามบินที่เล็กที่สุด แต่สนามบินเชียงใหม่,หาดใหญ่และภูเก็ต ทอท.บอกว่าต้องเอามารวมกัน เพราะมีขนาดเล็กเกินไป กลัวไม่มีคนมาประมูล หรือ เกรงว่าผู้รับสัมปทานจะขาดทุน ตนไม่เข้าใจทำไมต้องคิดแทนภาคเอกชน

    “วันนี้เป็นเรื่องแปลกน่ะครับ ที่ภาคเอกชนมาเรียกร้องให้ภาครัฐ เก็บค่าธรรมเนียมสูงๆ และกำหนดอายุสัมปทานสั้นๆ มันเป็นเรื่องแปลกไหมครับ แต่คนของรัฐกลับบอกว่าไม่ได้ต้องเก็บค่าสัมปทานในอัตราที่เหมาะสม และให้สัมปทานยาวๆ และยังผูกขาดให้รายเดียวอีก” นายวรวุฒิ กล่าว

    Pick Up Counter ต้องไม่ใช่ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีมาเป็นผู้ดำเนินการ

    นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า การเปิดเสรี Pick Up Counter ทอท.อ้างว่า เป็นการยุติการผูกขาด ก็เปิดเสรี Pick Up Counter ให้แล้วจะมาเรียกร้องอะไรอีกในสนามบิน ก็ให้รายเดียวทำไปเลย มาดูข้อเท็จของธุรกิจดิวตี้ฟรีในประเทศไทย ตอนนี้ที่จดทะเบียนมีทั้งหมด 10 ราย แต่ที่อ้างว่าการเปิดเสรี Pick Up Counter ทำให้ยุติการผูกขาดธุรกิจดิวตี้ฟรี อาจเป็นการพูดที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงข้อเท็จจริง เพราะธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินถือเป็นปัจจัยสำคัญ

    หลายๆประเทศธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองเกิดขึ้นหลังจากจากธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินถึงจุดอิ่มตัว หรือ เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว แต่ธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินของไทยมีรายได้น้อยกว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมือง และในวันนี้ถ้าเปิดเสรีธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองให้รายใหม่เข้ามาก็ต้องลงทุนสร้างอาคาร หาพื้นที่ ทำการตลาดโปรโมทให้นักท่องเที่ยวทราบว่าตอนนี้เปิดกิจการดิวตี้ฟรีในเมือง เหมือนอย่างกรณีของบริษัท ลอตเต้ฯ ที่เข้ามาขออนุญาตเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง ปรากฏว่าไม่มี Pick Up Counter ที่ลงทุนไป วันนี้ขาดทุนย่อยยับจนแทบจะปิดกิจการ

    และที่บอกว่าวันนี้ทอท.เปิดเสรีดิวตี้ฟรีให้แล้ว ยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะเรากำลังพูดถึงการผูกขาดธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีผู้โดยสารเดินทาง 62.8 ล้านคน อนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน หากให้สัมปทานนานถึง 10 ปี เรากำลังบังคับให้ผู้โดยสาร 100 ล้านคน ซื้อสินค้ากับห้างสรรพสินค้าเจ้าเดียวหรือ มันสมเหตุสมผลหรือไม่ ผลประกอบการในหลายสนามบินก็ขาดทุนด้วย ทอท.พูดเองไม่ใช้หรือ ต้องการคัดเลือกคนที่แข็งแรงที่เป็นแชมป์เปี้ยนเพื่อไปแข่งขันกับดิวตี้ฟรีระดับโลก

    นายวรวุฒิ กล่าวว่า การที่มีนักท่องเที่ยว 100 ล้านคน มาใช้ในสนามบิน และบังคับให้เดินซื้อสินค้าห้างเดียว ไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำ เนื่องจากการให้สัมปทานรายเดียว มันไม่มีการแข่งขัน เพราะเปิดให้ผูกขาดโอกาสที่จะพัฒนาบริการ และการสรรหาสินค้าให้มีความหลากหลายน้อย ตัวอย่างมีให้เห็นมาแล้ว 10 กว่าปี ทุกวันนี้สนามบินของไทยอยู่ในอันดับ 36 ของโลก แต่ประเทศที่ยกตัวอย่างติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทำไมเราไม่ทำให้มันดีขึ้น

    รายละเอียดเกี่ยวกับ pick up Counter ตอนนี้ ทอท. ก็ยังไม่เปิดเผย ไม่มีรายละเอียด ข้อเสนอของสมาคมฯ ใน TOR ควรกำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบการ Pick Up Counter ต้องไม่ใช้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี เป็นผู้ดำเนินการ เหมือนกับที่ทอท.ยกตัวอย่าง สนามบินภูเก็ต ว่าเปิด Pick Up Counter แล้ว และมีดิวตี้ฟรีเกิดขึ้น 10 กว่าราย จริงๆมีแค่ 2 ราย การให้บริการ pick up Counter สมาคมฯขอเสนอให้ทอท.รวมกับกรมศุลกากร ดำเนินการเอง ไม่ต้องเปิดประมูล หรือ ถ้าจะเปิดประมูลต้องระบุในเงื่อนไข TOR ต้องไม่ใช่ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีมาเป็นผู้ดำเนินการ pick up Counter เพราะถ้าให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีเป็นผู้ดำเนินการ จะเห็นข้อมูลดิวตี้ฟรีของรายอื่นทั้งหมด ซึ่งเป็นความลับทางการค้า

    แต่ตอนนี้ ยังไม่เห็น TOR เนื่องจากนายกรัฐมนตรี สั่งชะลอและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้ทอท.ส่งเรื่องไปถามกระทรวงการคลังต้นสังกัด เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯหรือไม่ ซึ่งประธานของบอร์ดทอท.คือปลัดกระทรวงการคลัง พิจารณาเรื่องที่ตนทำเอง ตนก็ไม่เข้าใจมันจะมีความเห็นขัดแย้งกันได้อย่างไร

    ข้อเสนอแนะประมูลดิวตี้ฟรีต่อทอท.- รัฐบาล

    นายวรวุฒิ กล่าวสรุปประเด็นข้อเสนอแนะของสมาคมฯต่อทอท.และรัฐบาล คือ

    1. ให้เร่งตรวจสอบว่าสัมปทานดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ และดำเนินการตามกระบวนการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยให้ส่ง 3 หน่วยงานพิจารณา

    2. การจัดสรรสัมปทาน ควรแยกตามหมวดหมู่สินค้า เพื่อให้ตรงกับหลักการสากล และเกิดผลประโยชน์สูงสุด การแข่งขันทำให้เกิดการ ทุกวันนี้การผูกขาดทำให้ผู้โดยสารต้องรับประทานอาหารที่สนามบินจานละ 200 -300 บาท ทั้งๆที่ทอท.เก็บค่าเช่าต่ำมาก แต่เมื่อให้สัมปทานไปแล้ว ไปปล่อยให้เช่าต่อ จริงๆตนอยากเสนอให้ทอท.ดำเนินการเอง เช่น ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ธนาคาร ไม่ยาก รายได้จะได้เข้าทอท.เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากไม่ทีมงานก็ไปจ้างเอกชนมาบริหาร

    3. แยก TOR ดิวตี้ฟรีออกเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ 1. สนามบินสุวรรณภูมิ แยกสัมปทานหลายรายแบ่งตามหมวดหมู่สินค้า 2. ภูเก็ต สัมปทานรายเดียว และ 3. สนามบินเชียงใหม่ และ หาดใหญ่ รวมเข้าด้วยกันเป็น 1 ฉบับ

    4. การประมูลใช้วิธีการประเมิน 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ประเมินข้อเสนอทางด้านเทคนิค ถ้าผ่านจึงเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ซึ่งใช้ผลตอนแทนทางการเงินเป็นเกณฑ์ตัดสินสุดท้าย กล่าวคือ ในท TOR ควรกำหนดให้มีการประเมินทางด้านเทคนิคก่อน หากรายใดผ่านเข้ารอบก็ให้เสนอผลตอนแทนสู้กันด้วยราคา ซึ่งจะให้ทอท. หรือ ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ที่ผ่านมาเคยมการประเมินผลทางด้านเทคนิคและผลตอบแทนมา สมมติว่าผมเป็นผู้ประมูล เสนอผลตอบแทนให้ประเทศ 40% ของรายได้จากยอดขาย แต่ถ้านำมารวมกับการประเมินผลทางด้านเทคนิค ซึ่งในอดีตเคยให้น้ำหนักถึง 80% ปรากฏว่าผู้ประมูลที่เสนอราคา 40% สอบตก ผู้ที่เสนอผลตอบแทน 18% ชนะ เพราะให้น้ำหนักคะแนนทางด้านเทคนิคสูงถึง 80% ตนไม่ทราบว่า TOR จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะเลื่อนการขายซองไปแล้ว

    5. การท่าอากาศยาน ควรจะเปิดเผยข้อมูลผู้โดยสาร และยอดขายแยกตามเชื้อชาติ และหมวดหมู่สินค้า ดังเช่นสนามบินฮ่องกง อินชอน และชางฮี เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม

    6. โครงการประมูลขนาดใหญ่ ควรมีระยะเวลาการทำแผนเข้าร่วมประมูลไม่น้อยกว่า 60-90 วัน

    “ทั้งหมดคือข้อเสนอแนะที่ทางสมาคมผู้ค้าปลีกอยากจะให้ทาง ทอท. หรือรัฐบาลนำไปพิจารณา ตอนนี้เท่าที่ทราบมีดิวตี้ฟรีชั้นนำของโลกหลายแห่งสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ แต่ถ้า TOR ของไทย หรือรูปแบบการประมูล ยังมีลักษณะของการผูกขาดรายเดียวแบบนี้ หลายบริษัทเตรียมรวมตัวกันประท้วง ผมอยากให้ผู้บริหาร ทอท. พิจารณาให้ดี” นายวรวุฒิ กล่าว