ThaiPublica > เกาะกระแส > คำต่อคำ! “นิตินัย” (ตอน1) : ติวสื่อ จั่วหัวข่าว เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว – ระบุหลังเปิดเสรี pick-up counter เวลาผูกขาดดิวตี้ฟรีหมดลงแล้วจริงๆ

คำต่อคำ! “นิตินัย” (ตอน1) : ติวสื่อ จั่วหัวข่าว เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว – ระบุหลังเปิดเสรี pick-up counter เวลาผูกขาดดิวตี้ฟรีหมดลงแล้วจริงๆ

20 มีนาคม 2019


ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ออกประกาศ 2 ฉบับเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 โดยฉบับแรก เชิญชวนผู้ประกอบการมืออาชีพ เข้าร่วมประมูลสิทธิจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยาน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่และหาดใหญ่ โดยการประมูลครั้งนี้ ทอท. จะเลือกใช้โมเดลคัดเลือกผู้ประกอบการรายเดียวเป็นผู้รับสิทธิในสัมปทานดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี และฉบับที่ 2 เชิญชวนผู้ประกอบการ ประมูลสิทธิประกอบกิจการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ประกาศ ทอท. ทั้ง 2 ฉบับ ออกวันเดียวกับวันที่พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) มีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะในมาตรา 7 วรรคที่ 1 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับนี้กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะดังต่อไปนี้ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ใน (3) มีกิจการท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศรวมอยู่ด้วย และในวรรคสุดท้ายของมาตรา 7 กำหนด “กิจการตามวรรคที่ 1 ให้รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” จึงมีนักกฎหมายบางท่านได้ตั้งข้อสังเกต การเปิดประมูลสิทธิจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่หรือไม่ อย่างไร

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สอบถามประเด็นนี้กับนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะหน่วยงานผู้รักษากฎหมายฉบับนี้ นายประภาศกล่าวว่า “ยังตอบไม่ได้ เพราะการพิจารณากรณีดังกล่าวเป็นอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการ ซึ่งใน พ.ร.บ. ฉบับนี้หมายถึงคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ ประกอบกับมีหลายองค์กรออกมาเรียกร้องให้ ทอท. ทบทวนรูปแบบการให้สัมปทานแก่เอกชนรายเดียว อาจถือเป็นการผูกขาด”

  • ทอท. เปิดคัดเลือกเอกชนรายเดียว ผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรี – พื้นที่เชิงพาณิชย์ 10 ปี เปิดขายซอง 19 มี.ค. นี้
  • AOT ข้ามขั้นตอน! เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ก่อนคลังคลอด กม. ลูก – กำหนดกิจการที่เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใหม่
  • นายกฯ สั่ง “บอร์ด ทอท.” ทบทวนประมูลดิวตี้ฟรี – รายเดียว ผูกขาด 4 สนามบิน
  • “อาคม” สั่ง AOT ชะลอประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน เคลียร์ปม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ – ทบทวนรูปแบบสัมปทานรายเดียว
  • เช้าวันที่ 15 มีนาคม 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้คณะกรรมการ ทอท. และผู้บริหาร ทอท. พิจารณาทบทวนแนวทางการประมูลดังกล่าว โดยคำนึงถึงข้อท้วงติงของสังคมและประโยชน์ที่ ทอท. และประเทศชาติจะได้รับอย่างรอบด้าน หลังจากที่รัฐบาลได้รับฟังข้อห่วงใยจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการผูกขาด ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เชิญนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. มาประชุม ภายหลังการหารือมีความเห็นให้ ทอท. ชะลอการเปิดประมูลสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ออกไปก่อน โดยมอบหมายให้ ทอท. กลับไปพิจารณาทบทวนให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย และรูปแบบการให้สัมปทานที่เหมาะสม เป็นธรรม และสามารถอธิบายต่อสารณชนได้

    นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

    วันที่ 18 มีนาคม 2562 เวลา 10.30 น. นายนิตินัย ศิริสมรรถการ แถลงข่าวชี้แจงแนวทางการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร 4 สนามบิน ของ ทอท. ณ ห้องประชุม สำนักงานใหญ่ ทอท.

    นายนิตินัยกล่าวว่า จากที่ฝ่ายบริหาร ทอท. โดยคณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท. ได้เสนอ TOR ให้ที่ประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 พิจารณา 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นสัญญาจำหน่ายสินค้าปลอดอากรดิวตี้ฟรี อีกฉบับเป็นสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตามที่สื่อมวลชนได้ทราบข่าวก่อนหน้านี้ บอร์ด ทอท. ได้มีมติให้เปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้า (pick-up counter) ส่วน TOR ทั้ง 2 ฉบับ บอร์ด ทอท. มอบหมายให้ ทอท. ดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมาย

    “ช่วงที่ผมนำเสนอ TOR ต่อที่ประชุม บอร์ด ทอท. ก็มีความเห็นว่ามีการรวมสัญญาดิวตี้ฟรี 4 ท่าอากาศยาน เป็น 1 สัญญา โดยที่ ทอท. ไม่ได้แยกประมูลตามหมวดหมู่สินค้า (category) บอร์ด ทอท. ก็ถามผมว่าจะชี้แจงกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ไม่ฟังความเห็นของเขาเลยหรือ อีกสักครู๋ผมจะชี้แจงเหตุผลของการตัดสินใจเลือกรูปแบบนี้ให้ฟัง”

    เปิดเสรี pick-up counter = ไม่ได้ผูกขาดประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน

    นายนิตินัยกล่าวต่อว่า มติบอร์ด ทอท. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นการอนุมัติแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือจะต้องเปิดเสรี pick-up counter เพราะบอร์ด ทอท. เป็นห่วงเรื่องการผูกขาด ตลอดระยะเวลาที่มีการยกร่าง TOR ทอท. ได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนแล้ว จึงนำประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดมอบให้บริษัทที่ปรึกษาไปทำการบ้าน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ ควรเป็นอย่างไร ซึ่งตนก็เห็นด้วยว่าไม่ควรผูกขาด ก็ให้เปิดเสรี pick-up counter ไป

    “จริงๆ แล้วปัจจุบันอุตสาหกรรมดิวตี้ฟรีก็ไม่ได้เป็นการผูกขาด หลายท่านอาจคิดว่าเป็นการผูกขาด ทอท. โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้มีการเปิดจุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินภูเก็ต ในรูปแบบของ common use ที่ผ่านมา สื่อมวลชนอาจยังไม่เคยไปพักผ่อน หรือไปเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต จริงๆ ที่จังหวัดภูเก็ตมีร้านค้าปลอดอากรในเมืองหรือดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีอยู่ประมาณ 10 ราย ผลจากการเปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้า ทำให้มีดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในจังหวัดภูเก็ต และในอนาคตก็จะเห็นดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีผุดเป็นดอกเห็ดที่กรุงเทพฯ เหมือนกัน ต้องเรียนว่าปัจจุบันธุรกิจดิวตี้ฟรี ไม่ใช่ธุรกิจผูกขาดมานานพอสมควร ทอท. เปิดกว้างจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่ภูเก็ตมาตั้งแต่ปี 2557 การเปิด pick-up counter เป็นกุญแจสำคัญของการเปิดเสรีการแข่งขันของอุตสาหกรรมดิวตี้ฟรีไทย และกุญแจดอกนี้ได้เปิดไปแล้วที่จังหวัดภูเก็ต ” นายนิตินัยกล่าว

    ประเด็นที่ 2 เรื่องรูปแบบให้สัมปทานแยกตามหมวดหมู่สินค้า เป็นเหตุผลให้วันนี้ ทอท. ต้องจัดแถลงข่าว เราต้องยอมรับว่า ทอท. อาจจะอ่อนประชาสัมพันธ์ หลังจากบอร์ด ทอท. มีมติเรื่อง TOR แล้ว วันนั้นจะแถลงข่าวแล้ว แต่ไม่แน่ใจตนติดงานอะไร แต่ก็ใช้วิธีการโทรคุยกับสื่อมวลชนแทน คุยกันตั้งแต่บ่าย 3 ถึง 5 ทุ่ม พูดคุยไปได้ประมาณ 11 สื่อ แต่ก็คงไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับเชิญสื่อมวลชนมาแถลงข่าวในวันนี้

  • ตำนานดิวตี้ฟรี 26 ปี ของ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจ้าพ่อคิง เพาเวอร์ ฝากถึง “ต่างชาติ” เปิดเสรี “Pick-up Counter” รอสัญญาสิ้นสุดเท่านั้น
  • “ประสงค์” ปัดข้อเสนอสมาคมค้าปลีกฯ แนะ ทอท. เปิดจุดส่งมอบสินค้าเอง ชี้รูปแบบสัมปทานฯ ต้องรอที่ปรึกษาฯ สรุป
  • “สมาคมดิวตี้ฟรี” จี้นายกฯ เสนอ ครม. ชี้ขาดคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีจุดส่งมอบสินค้า ตาม รธน.
  • ทวงพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า “ดิวตี้ฟรีในเมือง” จากสนามบินสุวรรณภูมิ สะเทือนทำเนียบรัฐบาล
  • แจงรูปแบบสัมปทานรายเดียว VS แยกตามหมวดสินค้า

    นายนิตินัยกล่าวต่อว่า “ขออธิบายเรื่องรูปแบบการให้สัมปทานแบบแบ่งแยกตามหมวดหมู่สินค้ากับผูกรวมสัญญาเดียวคืออะไร ในสนามบินมันไม่เหมือนห้างสรรพสินค้า ห้างสรรพสินค้าประตูอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น การเดินของลูกค้า ซึ่งภาษาสนามบิน เรียกว่า “flow ของผู้โดยสาร” กรณีห้างสรรพสินค้า คนก็เดินเข้า-ออกตามประตู การจัดร้านค้าอะไรต่างๆ ไม่น่ายาก ไม่มีพลวัตมาก”

    ส่วนสนามบินมันมี contact gate หรือที่เรียกว่า “งวงช้าง” ที่เราใช้เดินเข้า-ออกจากสนามบิน contact gate เปรียบเสมือนประตู ทราบหรือไม่ว่า contact gate มันไม่ได้รับเครื่องบินได้ทุกประเภท contact gate ด้านไหนสูง contact Gate ด้านไหนใหญ่ ก็รับเครื่องบินที่ขนาดใหญ่ เป็นต้น ยกตัวอย่าง สนามบินดอนเมือง อาคาร Pier 5 เป็น contact gate ที่รับเครื่องบินลำใหญ่ ตอนนั้นมีผู้ประมูล Pier 5 ไปแล้ว ปรากฏสู้ไม่ไหว ก็แจ้งคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท. ว่า ช่วงที่เข้าประมูลงาน ทอท. ประมาณการจำนวนผู้โดยสารว่าเป็นอย่างนี้ๆ จึงเสนอราคาไปเท่านี้ แต่ปรากฏว่าต่อมาไม่เป็นไปตามประมาณการที่ ทอท. เคยแจ้ง ทอท. จึงต้องเยียวยากัน

    “ถามว่าทำไมไม่เป็นอย่างที่ ทอท. เคยประมาณเอาไว้ คำตอบคือ อาคาร Pier 5 ทำไว้รองรับเครื่องบินลำใหญ่ ปรากฏว่าลำเล็กไปจอดตรงงวงช้างหรือ contact gate ทาบแล้วมีความชันเกินมาตรฐาน จนรถเข็นวีลแชร์ของคนพิการขึ้นไม่ได้ ขัดกับเกณฑ์มาตรฐานสากล ดังนั้น การบริหารสนามบินไม่ใช่จะเอาเครื่องบินประเภทไหนมาจอด ก็จอดได้ contact gate เขาสร้างมาเพื่อเครื่องบินประเภทหนึ่ง ตอนนี้ ทอท. ก็ปวดหัวอยู่ เครื่องบิน A-380 เลิกผลิต contact gate ส่วนที่กำลังสร้างในเทอร์มินัล 2 ซึ่งกำลังออกแบบสร้าง satellite terminal ก็ไม่รู้จะปรับกันอย่างไร ให้มันน้อยลงหรืออย่างไง”

    พร้อมกล่าวต่อว่า “แต่สิ่งที่ผมกำลังจะเชื่อมโยงกันมาถึงเรื่องการที่ ทอท. ไม่เลือกสัมปทานแบ่งแยกตามหมวดหมู่สินค้า ลองคิดดู ถ้าหมวด A อยู่ทางซ้าย หมวด B อยู่ทางปีกขวา วันดี คืนดี A-380 ไม่ผลิต เครื่องบินลำใหญ่ ลงทางขวาไม่ได้ ต้องมาลงทางซ้าย แต่ตอนวันที่ประมูล ทางขวายื่นซองเสนอราคาสูงมาก ต่อปรากฎว่าเครื่องบินไปลงทางซ้าย ทางขวาเสนอราคาใส่ซองราคาสูง ก็อยู่ไม่ได้ หลายสื่ออาจจะบอกว่า ถ้าเขาอยู่ไม่ได้ แล้ว ทอท. ไปคิดอะไรแทนผู้ประกอบการทำไม ต้องคิดสิ ธุรกิจล้มหายตายจากกันที่สนามบิน เหมือน Pier 5 ที่สนามบินดอนเมือง ทอท. ต้องตามไปแก้ไข วันนั้น ทอท. บอกไปแล้ว วันนี้ไม่มีผู้โดยสารเดินทางเข้ามา เขาก็เสนอราคาไปแล้ว มันขว้างงูไม่พ้นคอ ดังนั้น เรื่องกลัดกระดุกเม็ดแรกเป็นเรื่องสำคัญ ทอท. ก็ต้องไปตามแก้ปัญหา และมันไม่ใช่ไปตามแก้ปัญหาของ ทอท. แต่ไปตามแก้ปัญหาของประเทศ เพราะเป็น gate way เข้าประเทศ” นายนิตินัยกล่าว

    ชี้สัมปทานแยกตามหมวดสินค้ามีความเสี่ยง

    นายนิตินัยกล่าวต่อว่า “หากแบ่งตามหมวดหมู่ เรื่องการควบคุมพื้นที่ของแต่ละหมวดหมู่สินค้า ที่เคยฝันหวานว่ามันดีในวันนี้ วันหน้าไม่ดี คนที่เขาใส่ซองเสนอราคามาสูงๆ จะทำอย่างไร หลายคนบอกว่าสนามบินหลายแห่งในต่างประเทศ ก็แบ่งตามหมวดหมู่สินค้า แต่มันก็มีเหมือนกันที่มีสนามบินต่างประเทศไม่แบ่งตามหมวดหมู่สินค้า เถียงกันโลกแตก ถ้าโมเดลไหนเป็นโมเดลที่ดีเสมอ อีกโมเดลก็ต้องสูญพันธุ์ ผมยอมรับมีทั้งโมเดลที่แบ่งตามหมวดหมู่สินค้าและไม่แบ่งตามหมวดหมู่สินค้า แต่โมเดลที่แบ่งตามหมวดหมู่สินค้าก็มีความสุ่มเสี่ยงการล้มหายตายจาก ของ flow ผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงไป”

    ที่ผ่านมามีหน่วยงานทางวิชาการบางแห่ง หยิบยกขึ้นมาว่ามีที่เกาหลี แยกตามหมวดหมู่สินค้า และมีผู้ประกอบการหลายเจ้า ทำให้ ทอท. เกาหลีได้ผลตอบแทน 40% ต้องเรียนว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ถูกแต่พูดไม่หมด ผลตอบแทน 40% คิดจากอะไร ผลตอบแทน 40% คิดจาก minimum guarantee ที่ใส่ซองเสนอราคาวันแรก หารด้วยยอดขาย

    “ผมกำลังจะบอกว่าตัวเลข 40% ที่นักวิชาการออกมาพูด เป็นตัวเลขที่แสดงความล้มเหลวของการแบ่งหมวดหมู่สินค้าที่ยืนยันเป็นเชิงประจักษ์ วันนั้นที่คิดว่าจะมียอดขายดี แต่พอ flow ผู้โดยสาร เปลี่ยนไปด้วยเหตุการณ์อะไรก็ตาม ยอดขายมันแย่ จึงต้องจ่าย 40% ถึงทุกวันนี้ ถ้าท่านไหนที่บ้านทำการค้าจะรู้ มันจะมีสินค้าสักกี่อย่างที่กำไรถึง 40% น้อยมาก น้ำเปล่าที่บอกว่าให้ขายกันขวดละ 10 บาท ขายกันได้อย่างไร ต้องเรียนว่ามีตัวอย่างที่ชัดเจนแล้ว การแบ่งแยกตามหมวดหมู่สินค้ามีความสุ่มเสี่ยง ผมไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่มีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าอาจมีความสุ่มเสี่ยง”

    นายนิตินัยกล่าวต่อ“เรื่องนี้ผมคิดว่าไม่ค่อยห่วง หลังจากที่ผมให้สัมภาษณ์ข่าวไปแล้ว เชื่อว่าประเด็นข้อโต้แย้งของสังคม ก็คงน้อยลง แต่ก่อนที่ ทอท. จะออก TOR เราก็พยายามฟังความคิดเห็นของสังคม ฟังเสร็จ ก็เอามาประมวล ก็พบว่าอาจเกิดการผูกขาด ก็แก้ปัญหาด้วยการเปิดเสรี pick-up counter ส่วนเมื่อฟังแล้ว ตรงไหน เห็นว่ามีเหตุผลสนับสนุน ทอท. ก็ชี้แจง หลังจากการแถลงข่าววันนี้ ผมจะรอฟังเหตุผลหักล้างสิ่งที่ผมชี้แจงไป ผมฟังแล้ว ท่านอยากได้อะไร ผมทราบ แต่เราเป็นสังคมของข่าวสาร เป็นสังคมของเหตุผล เพราะฉะนั้นท่านอยากได้อะไร เราได้ชี้แจงแล้ว เราให้ได้ตรงไหน เราให้เปิดเสรี pick-up counter เราให้ไม่ได้ตรงไหน ด้วยเหตุผลอะไร”

    นายนิตินัยกล่าวต่อว่า “ทอท. ก็อยากฟังว่าหลังจากท่านได้ฟังเหตุผลของผมแล้ว ท่านมีเหตุผลอะไรมาหักล้าง ไม่ได้คาดหวังว่าจะเอาๆ เหมือนเดิม โดยที่ไม่มีเหตุผลหักล้าง อันนี้คงไม่ถูก เราเป็นสังคมของเหตุผลก็ต้องคุยกันเรื่องเหตุผล ฝากสื่อมวลชนสื่อสารเรื่องของเหตุผลของการแบ่งตามหมวดหมู่สินค้าไปก่อน ถ้าคิดว่าเหตุผลเรายังไม่เพียงพอ ลองมานั่งคุยกันมีอะไรเราปรับปรุงได้ เราก็ปรับปรุง แต่เท่าที่สื่อสารออกไปสัปดาห์เศษๆ ผมก็ยังไม่เห็นมีเหตุผลอะไรมาหักล้างเรื่อง flow ของผู้โดยสารของสนามบินต่างจากห้างสรรพสินค้าจริงๆ เชื่อเถอะครับคนบริหารสนามบินเข้าใจ F flow ผู้โดยสารมากกว่าใครๆ เพราะเราอยู่กับ flow ผู้โดยสาร”

    ยันประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบินไม่ได้ผูกขาด – ย้ำหาคนแข็งแรงที่สุดแข่งเวทีโลก

    ส่วนประเด็น การรวมสัญญา 4 สนามบิน เรื่องนี้มี 2 ความเชื่อ ซึ่งผมคงไม่ได้บอกว่าความเชื่อไหนถูกหรือผิด แต่ขอฝากไว้พิจารณา ประการแรก เราต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกก่อนว่า ทอท. จะเลือกรูปแบบที่ 1 คือ รูปแบบการหาตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งโอลิมปิก หรือ หาคนที่แข็งแรงที่สุดไปแข่งขันในเวทีโลก หรือ รูปแบบที่ 2 คือ รูปแบบการกระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการหลายๆ คน

    เอารูปแบบที่ 2 ก่อน ไม่ใช่ ทอท. ไม่มี ปัจจุบันรูปแบบนี้ก็มีอยู่ตามท่าอากาศยานต่างจังหวัด เปิดให้มีผู้ประกอบการหลายราย โดยมีรายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อตารางเมตร ก็ไม่ได้ดีอะไรมาก AOT เป็นรัฐพาณิชย์ ต้องคำนึงถึงรัฐ เรื่องของประเทศ กระจายความสุข กระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่ด้วย และการเป็นพาณิชย์ ก็ต้องคำนึงถึงรายได้ของผู้ถือหุ้นด้วย

    โมเดลที่ 2 มันเหมาะสมกับท่าอากาศยานที่เป็น gateway ซึ่งแตกต่างจากท่าอากาศยานที่เป็น hub ใหญ่ๆ ดิวตี้ฟรีก็อยู่ในเขต airside ผู้โดยสารบินมาจากยุโรปต่อเครื่องที่สุวรรณภูมิ เพื่อไปเกาหลี ผู้โดยสารอาจจะดูว่าจะซื้อ Ipad, กระเป๋าแบรนด์เนม หรือซื้อเหล้า บุหรี่ ที่สนามบินสุวรรณภูมิดี หรือจะไปซื้อปลายทางที่ประเทศเกาหลีดี

    “เขาอาจไม่ได้ดูว่าจะซื้อที่สนามบินสุวรรณภูมิดี หรือ ไปซื้อที่เซเว่น-อีเลฟเว่นที่ลาดกระบังดี ผมกำลังจะบอกว่า ดิวตี้ฟรีมันเป็นการแข่งขันระดับโลก จะซื้อที่กรุงเทพฯ หรือซื้อที่อินชอน เราอาจจะมองว่ากรุงเทพฯ กับอินชอนห่างกันเป็นพันกิโลเมตร มันจะเอามาเทียบกันได้อย่างไร แต่โลกแห่งการเดินทางต่างกันไม่กี่ชั่วโมง และมันอยู่ใน airside เขาไม่ได้เทียบจะซื้อที่สุวรรณภูมิ หรือซื้อที่เซเว่น-อีเลฟเว่นที่ลาดกระบัง”

    ไม่เหมือนกับท่าอากาศยานต่างจังหวัด เขาลงมาแล้ว เขาลงเลย และกำลังจะออกจากท่าอากาศยานเพื่อเข้าไปในตัวเมือง ก็คงดูว่าจะเสื้อผ้าไทย หรือแหนมเนืองที่สนามบิน หรือรอออกไปซื้อข้างนอกดี ดังนั้น โมเดลจะต่าง นี่คือขาเข้า arrival และขาออก departure ก็เหมือนกัน ผมเชื่อว่าทุกท่านที่บินมาจากสกลนคร ขอนแก่น คงไม่คิดจะซื้อสินค้าแบรนด์เนม ตั้งแต่สกลนคร หรือ ขอนแก่น ท่านคงคิดว่าจะรอไปซื้อที่สุวรรณภูมิ หรือรอซื้อที่สนามบินอินชอน แถวอุดรธานี ขอนแก่น ก็คงดูผ้าไทยไปฝากเพื่อนที่ประเทศยุโรป

    เราหลับตานึกภาพดูว่ารูปแบบหนึ่ง มันเหมาะกับสนามบินหนึ่ง สนามบินที่เป็น gateway ที่จะต้องแข่งกับพื้นที่ ซึ่ง ทอท. ก็เปิดให้คนในพื้นที่เข้ามากระจายรายได้อะไรต่างๆ ส่วนสนามบินที่จะไปชกในระดับโลก เราก็ต้องมีผลิตที่สามารถไปแข่งขันในระดับโลกได้

    ดังนั้น ก่อนที่ ทอท. จะประมูล 4 สนามบิน หรือประมูลแยกๆ ทีละสนามบิน มีการพิจารณาแล้ว กระดุมเม็ดแรก ทอท. คิดว่าควรเลือกโมเดลที่ 1 คือ โมเดลหาตัวแทนทีมชาติไทยไปชกในเวทีโลก ถามว่า ทอท. หน้าเลือด ไม่เห็นกับเรื่องกระจายรายได้ ไม่เห็นกับชุมชนนั้น ไม่จริง เพราะ ทอท. มีโมเดลที่ 2 เช่นเดียวกันอยู่ในสนามบินภูมิภาคที่เป็นการค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจจะต้องเปรียบเทียบกับร้านค้าในเมือง ทอท. มีทั้ง 2 โมเดล แต่วันนี้เราของเลือกโมเดลที่ 1 แต่ก็ไม่เป็นไรอยู่ที่ความเชื่อ อาจมีคนเชื่อโมเดลที่ 2 ดีกว่า

    ส่วนแบ่งตลาดดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ 82% – หาดใหญ่ 0.04%

    ถ้า ทอท. เลือกโมเดลที่ 1 กลัดกระดุมเม็ดแรกเป็นอย่างนี้แล้ว ถัดมาเป็นอย่างไร สื่อมวลชนเคยทราบสถิติหรือไม่ว่า ทั้ง 4 สนามบิน สนามบินที่ใหญ่ที่สุด คือ สุวรรณภูมิมียอดขาย 82% ของยอดขายดิวตี้ฟรีทั้งหมด และสนามบินที่ย่ำแย่ที่สุด คือ สนามบินหาดใหญ่มียอดขาย 0.04% หรือ มียอดขายวันละ 20,000 บาท เฉพาะที่สนามบินหาดใหญ่ ท่านคิดว่าเปิดประมูลแล้วจะมีใครมาทำ ต้องลงทุนสร้างคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อยอดขายวันละ 20,000 บาท ผมไม่แน่ใจ ดิวตี้ฟรีที่สนามบินแห่งนี้จะเห็นน้ำหอม หรือเห็นน้ำอบ วางขาย ซึ่งอาจไม่เห็นน้ำหอม เพราะต้นทุนการสร้างคลังสินค้าอะไรต่างๆ อาจเป็นไปไม่ได้ในเชิงพาณิชย์ที่จะตั้งคลังสินค้า เพื่อยอดขาย 20,000 บาท

    “สนามบินภูเก็ต ยอดขายประมาณ 13-14% หาดใหญ่ 0.04% ผมตีเป็น 0 สนามบินเชียงใหม่ประมาณ 4-5% ภูเก็ตถือว่าดีสุด สำหรับท่าอากาศยานภูมิภาคแล้ว 13-14% หรือ ยอดขายวันละ 10 ล้านบาท ท่านคิดว่านาฬิกาเรือนละหลายแสน หรือ เรือนละล้านบาท กระเป๋าใบละแสน อยากจะมาวางขายที่ภูเก็ตหรือครับ ยอดขายวันละ 10 ล้านบาท นาฬิกาเดือนละ 1 ล้านบาท ไม่รู้กี่เดือนจะขายออกสักเรือน ฉะนั้นต่อให้ภูเก็ตมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปิดประมูล โดยแยกสัญญาออกมา ผมไม่ได้บอกว่ามีความเป็นไปไม่ได้ ผมบอกว่ามีความเป็นไปได้ แต่อาจต้องคาดหวังแบรนด์สินค้าชั้นนำน้อย หรือไม่มีเลย ก็กลับไปที่เดิม ทอท. ควรตัดสินใจเลือกเป็นโมเดลที่ 1 หาคนที่แข็งแรงที่สุดไปแข่งในเวทีโลก หรือจะเลือกโมเดลที่ 2 คือการกระจายรายได้ ทอท. ตัดสินใจเลือกหาคนที่แข็งแรง”

    “สื่อมวลชนทราบหรือไม่ว่า ดิวตี้ฟรีที่สนามบินหาดใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน กล่าวคือมีรายได้ 20,000-30,000 บาทต่อวัน แค่จ่ายค่าจ้างพนักงานก็ไม่คุ้มแล้ว เชียงใหม่รองลงมา หากเอา minimum guarantee ต่อตารางเมตรมาคูณเป็นค่าใช้จ่ายชนกับยอดขายของดิวตี้ฟรี สนามบินเชียงใหม่ก็ขาดทุน ภูเก็ตเคยดูเหมือนจะกำไร ตอนนี้ไม่กำไรแล้ว เพราะมีดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด สนามบินภูเก็ตที่ว่าแน่ที่สุดแล้ว ยอดขายวันละ 10 ล้านบาท ใช้ minimum guarantee เอามาหารต่อตารางเมตรชนกับยอดขาย สนามบินภูเก็ตก็ไม่กำไร เหตุที่ไม่กำไรเกิดจากการแข่งขันที่ ทอท. ได้เปิดกว้างดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีเมื่อปี 2557 คำถามคือ ใครจะมาประมูล หลายคนบอกว่ามีคนมาประมูล แต่ถ้าจะทำให้มีคุณภาพมีแบรนด์เนมขนาดนี้ บริษัทที่ปรึกษาของ ทอท. ก็รวมตัวเลขมาให้ ก็ไม่ได้มโน ไม่ได้นึกไปเอง ตัวเลขที่รวมมาเป็นตัวเลขเชิงประจักษ์แล้วว่า ไม่กำไร แต่ถ้าเอาคุณภาพแย่ๆ แบรนด์เนมไม่ต้องมาเลย อาจจะกำไร หรือ เอาคุณภาพขนาดนี้ มันก็ถัวกันได้ เอากำไรอีกที ไปถัวอีกทีหนึ่ง เอาคุณภาพขนาดนี้ก็สั่งออร์เดอร์นาฬิกาแพงๆ กระเป๋าแพงๆ มาทีเดียวท่าอากาศยานเล็กๆ ก็มีขาย”

    “นิตินัย” ติวสื่อจั่วหัวข่าว- ยอมรับผูกขาด pick-up counter ผูกขาดดิวตี้ฟรี

    นี่คือความเชื่อของ ทอท. ที่เชื่อว่าต้องการหาคนที่แข็งแรงไปแข่งบนเวทีโลก แต่บิสซิเนสโมเดลที่หนึ่งกับอีกที่หนึ่งจะแตกต่าง มันไม่มีวันที่โมเดลไหนคงที่ ตรงนี้ฝากสื่อมวลชนช่วยสื่อสารด้วย การรวม 4 สนามบินเป็นทีเดียว บางสื่อก็พูดว่า “ทอท. แจงรวม 4 สนามบิน ไม่ผูกขาด” เขียนรวบอย่างนี้ คือ มันไม่ผูกขาดจากการเปิดเสรี pick-up counter แต่ไม่ใช่การไม่ผูกขาดจากการรวบ 4 สนามบิน คนอ่านอย่างนี้ ผมก็ตกเป็นจำเลยของสังคมครับ หากจั่วหัว “ทอท. แจง รวบ 4 สนามบินไม่ผูกขาด” ใครอ่านแล้วมันก็ตลก ผมว่านะ มันรวบ 4 สนามบินแล้วมันไม่ผูกขาดได้อย่างไร ไม่ใช่คับ แต่การไม่ผูกขาด มันเกิดจากการเปิดเสรี pick-up counter การรวบ 4 สนามบินคือการหาผู้ที่แข็งแรง เอาทีละ message จั่วหัวได้คับ ผมขอร้องจริงๆ อย่าสร้างความสับสน “ทอท. แจงรวบ 4 สนามบิน หาผู้แข็งแรง” จะจั่วแบบนี้ก็จั่วกันไป หรือ “ทอท. แจง การเปิดเสรี pick-up counter ทลายการผูกขาด” ก็จั่วกันไป แต่อย่าเอามาปนกัน ทอท. แจงรวบ 4 สนามบิน ทำให้ไม่ผูกขาด ไม่ใช่ครับ มันไม่ใช่เหตุและผลของกันและกัน จะเอาเหตุส่วนหนึ่ง ก็แจงไปเหตุส่วนหนึ่ง จะเอาผลส่วนหนึ่งก็เอาผลของส่วนหนึ่ง ผมขอความเป็นธรรม และเมื่อชี้แจงอย่างเป็นธรรมแล้ว เราจะรอฟังเหตุผลหักล้าง

    นายนิตินัยกล่าวย้ำว่า ทอท. จะไม่รอฟังความต้องการเดิม อยากได้ผู้ประกอบการหลายๆ รายจังเลย ถ้าอยากได้หลายราย ท่านก็ไปทำดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี ลองนึกภาพต่อไปมีดิวตี้ฟรีเต็มกรุงเทพฯ เต็มประเทศไทยไปหมด ดิวตี้ฟรีที่หนึ่งก็ไปเช่าที่อีกที่หนึ่ง ดิวตี้ฟรีอีกที่หนึ่ง ก็เช่าอีกที่หนึ่ง ทำดิวตี้ฟรี ทอท. ก็เป็นแค่ที่ที่หนึ่งที่คนคนหนึ่งที่มาทำดิวตี้ฟรี หรือ เป็นเจ้าบ้าน และเจ้าบ้านบอกบริหารสัญญาไม่ได้ มันเกิดจาก flow ผู้โดยสาร ทอท. ก็เป็นแค่คนคนหนึ่งที่มีพื้นที่ให้ทำดิวตี้ฟรี ต่อไปก็มีอีกหลายคนที่มีพื้นที่ เปิดให้อีกหลายๆ คนทำดิวตี้ฟรี ท่านก็ไปทำดิวตี้ฟรีของท่าน ท่านก็แข่งขันกัน ทอท. จะคอยดูอย่างมีความสุขว่า เวลาของการผูกขาดดิวตี้ฟรีในประเทศไทยจบไปนานแล้ว ตั้งแต่ปี 2557

    “วันนี้ต้องขอประกาศอย่างเป็นทางการอีกทีว่า หลังจากเปิดเสรี pick-up counter เวลาผูกขาดของดิวตี้ฟรีหมดลงแล้วจริงๆ และ ทอท. มีบทบาทเป็นแค่แลนด์ลอร์ดรายหนึ่งที่เปิดให้คนมาเช่าที่เพื่อประกอบการเท่านั้นเอง แต่พอดีเราเป็นแลนด์ลอร์ดที่เป็นตัวแทนของประเทศ เราจึงต้องเอาหน้า เอาตาประเทศหน่อย ดิวตี้ฟรีเราแข่งขันระดับโลก เราจะเลือกแชมเปียนครับ เราจะเลือกคนเก่งที่สุดไปแข่งขันโอลิมปิก

    นายนิตินัยกล่าวต่อว่า “สุดท้ายก่อนที่จะเปิดให้สอบถาม ผมมั่นใจครับว่าที่ ทอท. ออก TOR ช้าเพราะวันนี้เราได้ฟังทุกความคิดเห็น และได้ชี้แจงเหตุผลแล้ว ถึงคราวของฝั่งที่อาจไม่เห็นด้วย ต้องหาเหตุผลมาหักล้างนะครับ ตราบใดที่เราได้ยินคำว่าไม่เอา จะเอาเหมือนเดิม ผมก็ต้องบอกว่า ผมได้ชี้แจงไปแล้วว่า เหมือนเดิม อะไรมันให้ได้บ้าง อะไรมันให้ไม่ได้บ้าง บอกไม่เอา จะเอาเหมือนเดิม ผมทราบว่าท่านอยากได้อะไร แต่ฟังดูบ้าง ประเทศไทยมันควรเคลื่อนไปทางไหน เอาประเทศเป็นตัวตั้ง หรือเอาประโยชน์ของบุคคลเป็นตัวตั้ง ก็ต้องเลือกเอา ทอท. เลือกเอาประเทศเป็นตัวตั้ง ขอรอดูรูปแบบอีกทีนึง รอฟังคำตอบอยู่น่ะครับ ว่าเหตุผลเรามันยังไม่มีน้ำหนัก หรือไม่มีเหตุผลตรงไหน”

    ส่วนกระบวนการ ทอท. มั่นใจว่าดำเนินการมาถูกต้องทุกขั้นตอน รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ด้วย ที่บอกว่าโครงการไหนไม่เข้ากระบวนการ PPP ต้องมีคนนอกมาดู ทอท. ก็มีคนนอกมาดูในทุกกระบวนการ ยังยืนยันว่าทำถูกต้องตามกระบวนการ ท้ายสุด เหมือน เทอร์มินัล 2 นะครับ มาช้ายังดีกว่าไม่มา เทอร์มินัล 2 สร้างแล้ว มันจะอยู่กับสังคมไทยไปตลอดเรา เพราะฉะนั้นต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ แต่สุดท้าย หากยังมีข้อกังขา ถ้ายังคิดว่าเราชี้แจงไม่ได้ ก็ต้องขออนุญาตเลื่อนการขายซองพรุ่งนี้ออกไปก่อน เอากันให้สะเด็ดน้ำ ทอท. รอฟัง เหตุผลหักล้างอยู่นะครับ ฟังสะเด็ดน้ำแล้ว ไม่นานหรอกครับสื่อมวลชนทราบดีอยู่ เรื่องของการสื่อสาร ถ้าเคลียร์แล้ว ผมขอใช้ศัพท์วัยรุ่น “ผมขอไปต่อไม่รอแล้วนะ” แต่วันนี้ถ้ายังไม่เคลียร์วันที่ 19 มีนาคมนี้ ก็คงต้องรอไปก่อน แต่ผมก็ฟังสื่อมวลชนนะครับ เพราะผมก็ชี้แจงแล้ว แต่ว่าทำไมใส่เกียร์เดินหน้า ไม่ฟังใครเขาเลยจะเอาให้จบ เอาๆ ตกลงวันที่ 19 มีนาคมนี้ ก็ยังไม่ขายซอง

    อ่านข่าวทั้งหมด เจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย