ThaiPublica > เกาะกระแส > “อาคม” สั่ง AOT ชะลอประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน เคลียร์ปม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ – ทบทวนรูปแบบสัมปทานรายเดียว

“อาคม” สั่ง AOT ชะลอประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน เคลียร์ปม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ – ทบทวนรูปแบบสัมปทานรายเดียว

15 มีนาคม 2019


เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวกรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” เปิดประมูลคัดเลือกเอกชน เพียงรายเดียว เข้ารับสัมปทานกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงคมนาคม

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เชิญนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” และผู้บริหารระดับสูงของทอท. มาหารือ หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ออกประกาศคัดเลือกผู้ประกอบการ รายเดียว เข้ารับสัมปทานกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ 4 แห่ง อันได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ , ท่าอากาศยานภูเก็ต , ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมทั้งประมูลสิทธิบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นระยะเวลา 10 ปี

ภายหลังการหารือ นายอาคม กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคม กับ ทอท. เห็นควรให้ทอท.ชะลอการเปิดประมูลสิทธิในการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และสิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ออกไปก่อน และได้มอบหมายให้ทอท.กลับไปดำเนินการให้ชัดเจน 2 เรื่อง คือ ประเด็นข้อกฎหมาย และรูปแบบการให้สัมปทาน ในส่วนของประเด็นข้อกฎหมายนั้น ได้มอบหมายให้ไปหารือกับกระทรวงการคลังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562(พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ส่วนรูปแบบการให้สัมปทานนั้น ทางกระทรวงคมนาคม ได้ขอให้ทอท.กลับไปทบทวนอีกครั้ง โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสม โปร่งใส มีการแข่งขันและเป็นธรรม และเกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด หากทอท.ยังยืนยันว่าการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการรายเดียว เป็นรูปแบบการที่เหมาะสม มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และสามารถอธิบายต่อสาธารณชนได้ ก็ให้ทำเรื่องเสนอกระทรวงคมนาคมมา

นายอาคม กล่าวต่อว่า กรณีทอท.ได้ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการเข้ามาประมูลสิทธิจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เนื่องจากทางผู้บริหาร ทอท. มองว่าเป็นการดำเนินกิจการภายในของทอท.เอง แต่ทางกระทรวงคมนาคมได้ให้ข้อสังเกตว่าทางทอท.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้วหรือยัง เช่น หลังพ.ร.บ.ร่วมทุนฯฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ได้ทำหนังสือสอบถามกระทรวงการคลังในฐานะผู้รักษากฎหมายฉบับนี้ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกระบวนการของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯหรือไม่ หากกระทรวงการคลัง วินิจฉัยว่ากรณีนี้ไม่เข้าข่าย ทอท.ก็ยังต้องปฏิบัติตาม มติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดให้มีหน่วยงานกลางเข้ามาทำหน้าที่เป็นกลไกในการติดตาม กำกับดูแลการดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่ไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

“ช่วงที่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนนั้น ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีความห่วงใยในเรื่องการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย โดยเฉพาะการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนประเภทไหนบ้างที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หากกระทรวงการคลัง วินิจฉัยว่าไม่เข้าข่าย ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างไร ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สนช. ได้มีข้อเสนอแนะให้จัดตั้งหน่วยงานกลาง เข้ามากำกับดูแลการดำเนินโครงการที่ไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯเป็นการเฉพาะ และต่อมาที่ประชุมครม. ได้มีมติให้กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับกระทรวงคมนาคม , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย กำหนดกลไกกลาง เข้ามากำกับดูแลโครงการลงทุนที่ไม่เข้าข่ายปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวต่อว่า เรื่องแรกที่ ทอท. ต้องทำ คือ ทำเรื่องไปสอบถามกระทรวงการคลังก่อนว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ ไม่ควรวินิจฉัยเอง โดยเฉพาะมาตรา 7 (3) และวรรคสุดท้ายของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทอท.ควรสอบถามกระทรวงการคลังให้ชัดเจน ว่า กิจการดิวตี้ฟรี และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการของท่าอากาศยานหรือไม่ ซึ่ง ทอท. ก็ต้องไปชี้แจง หรือ ให้ข้อมูลกับกระทรวงการคลังว่าท่าอากาศยานนานาชาติทั่วโลกมีแนวปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างไร นอกจากกิจการท่าอากาศยานจะใช้เป็นที่จอดเครื่องบินแล้ว การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับสนามบิน เช่น คาร์โก้ พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่ดิวตี้ เพื่อบริการให้กับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารที่เดินทางเข้า – ออก ถือเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็นของท่าอากาศยานหรือไม่ ทั้งหมดนี้ทอท.ก็ต้องไปชี้แจงหรือให้ข้อมูลกับกระทรวงการคลัง หากกระทรวงการคลัง ตอบว่าไม่ใช่ หรือ ไม่เข้าข่าย ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ก็ต้องดูมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่บังคับใช้กับโครงการที่ไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯด้วย

  • ทอท.เปิดคัดเลือกเอกชนรายเดียว ผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรี – พื้นที่เชิงพาณิชย์ 10 ปี เปิดขายซอง 19 มี.ค.นี้
  • AOT ข้ามขั้นตอน! เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ก่อนคลังคลอด กม.ลูก – กำหนดกิจการที่เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใหม่
  • นายกฯสั่ง “บอร์ดทอท.” ทบทวนประมูลดิวตี้ฟรี – รายเดียว ผูกขาด 4 สนามบิน