ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสงค์” ปัดข้อเสนอสมาคมค้าปลีกฯ แนะ ทอท. เปิดจุดส่งมอบสินค้าเอง ชี้รูปแบบสัมปทานฯ ต้องรอที่ปรึกษาฯ สรุป

“ประสงค์” ปัดข้อเสนอสมาคมค้าปลีกฯ แนะ ทอท. เปิดจุดส่งมอบสินค้าเอง ชี้รูปแบบสัมปทานฯ ต้องรอที่ปรึกษาฯ สรุป

4 มีนาคม 2019


ศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรีที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2563 กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากที่ประชุมบอร์ด บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. โดยแยกเป็น 3 สัญญาใหญ่ ได้แก่ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (duty free), กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (retail, F&B, service และ bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (duty free pick-up counter)

สำหรับกิจการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรนั้น มติบอร์ด ทอท. ให้เน้นเปิดกว้างและการแข่งขันอย่างเสรี เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองใช้ส่งมอบสินค้า นอกจากนี้ บอร์ด ทอท. ยังมีมติเห็นชอบหลักการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ แต่ได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหาร ทอท. ตรวจสอบข้อกำหนดและรายละเอียดฯ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ก่อนที่จะออกประกาศต่อไป ในแถลงข่าวของ ทอท. จึงไม่ได้เปิดเผยหลักการและรายละเอียดของ TOR แต่อย่างใด

  • มติบอร์ด ทอท. ล้มงานออกแบบเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ – แยกประมูล 3 สัญญา “ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์-จุดส่งมอบสินค้า”
  • ส.ผู้ค้าปลีกไทย จี้ AOT ปลดล็อกประมูลสัมปทาน “ดิวตี้ฟรี” แยกตามหมวดสินค้า สลายผูกขาด-เพิ่มรายได้ประเทศ
  • นายวรวุฒิ อุ่นใจ
    ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

  • เสวนาสัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (ตอนที่ 1): ต้องเปิดกว้าง-โปร่งใส ยิ่งสะท้อนราคาตลาด จี้ AOT ปลดล็อก “วิธีการประมูล/pick-up counter”
  • เช้าวันรุ่งขึ้น นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แถลงข่าวตอกย้ำจุดยืนของสมาคมฯ ที่ผลักดันมาตลอด โดยเสนอให้ ทอท. กำหนดเงื่อนไขการประมูลสิทธิในสัมปทานดิวตี้ฟรี (TOR) แยกตามหมวดหมู่สินค้า (concession by category) อย่างน้อย 4 กลุ่ม ได้แก่ หมวดแฟชั่น ร้องเท้า และเสื้อผ้า, หมวดเครื่องสำอางและน้ำหอม, หมวดสุรา ยาสูบ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยให้กำหนดไว้ในเงื่อนไขของ TOR ขณะที่ผู้บริหารของ ทอท. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของสมาคมฯ โดยเห็นว่าการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีครั้งนี้ควรใช้รูปแบบสัมปทานรายเดียว (master concession) เหมือนเดิมดีกว่า เพราะง่ายต่อการบริหารจัดการ

    ส่วนจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรนั้น สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยื่นข้อเสนอให้ ทอท. พิจารณา 2 ทางเลือก คือ แนวทางที่ 1 เสนอให้ ทอท. ดำเนินการเอง ไม่ต้องเปิดประมูล หรือ แนวทางที่ 2 หาก ทอท. นำกิจการจุดส่งมอบสินค้าออกมาประมูล ในเงื่อนไขของ TOR ควรกำหนดคุณสมบัติของผู้ประมูลงาน ต้องไม่เป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง หรือมีส่วนได้เสียกับกิจการดิวตี้ฟรี เพราะถ้า ทอท. คัดเลือกผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีมาทำธุรกิจให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ก็ล่วงรู้ข้อมูลทางการตลาดของผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นที่เป็นคู่แข่ง เช่น ยอดขายสินค้า ประเภทไหนมีแนวโน้มขายดี ประเภทขายไม่ดี เป็นต้น อาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ดังนั้น ทอท. ไม่ดำเนินการเอง ก็ควรคัดเลือกหรือว่าจ้างบุคคลที่ 3 มาเป็นผู้ให้บริการจุดส่งมอบสินค้า

    นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ ทอท.

    ถึงแม้บอร์ด ทอท. จะผ่านความเห็นชอบ หลักเกณฑ์การให้สิทธิ และแนวทางการคัดเลือกผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีไปแล้ว แต่จนถึงบัดนี้ ทอท. ก็ยังไม่เปิดเผยหลักการและรายละเอียดของ TOR สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงนำประเด็นข้อเสนอของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยไปถามนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ ทอท.

    เริ่มจากเรื่องหลักเกณฑ์การประมูลสิทธิในการประกอบกิจการดิวตี้ฟรีในสนามบินครั้งนี้มีหลักการอย่างไร ทอท. จะเลือกใช้รูปแบบการให้สัมปทานรายเดียวหรือหลายราย โดยแยกตามหมวดหมู่สินค้า นายประสงค์ตอบว่า เรื่องรายละเอียดของรูปแบบการให้สัมปทานร้านค้าปลอดอากรในสนามบิน ทั้งสัมปทานแบบรายเดียว หรือแยกตามหมวดหมู่สินค้านั้น ผมต้องขอเวลาหน่อย ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายและบริษัทที่ปรึกษาของ ทอท. ยังไม่ได้สรุป ทันทีที่ผลการศึกษาฯ เสร็จเรียบร้อยและนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อไหร่ ผมยินดีที่จะอธิบายให้ทราบถึงข้อดีและข้อเสียที่เกี่ยวกับรูปแบบการให้สัมปทานดิวตี้ฟรีทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องหลักที่กลุ่มผู้ประกอบการอยากได้ คือ pick-up counter วันนี้ บอร์ด ทอท. ก็ได้มีมติเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร สามารถมาใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าในท่าอากาศยานได้แล้ว

    ส่วนกรณีที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ให้ ทอท. เป็นผู้ให้บริการจุดส่งมอบบสินค้าเอง หรือกำหนดคุณสมบัติของผู้ประมูลสัมปทานจุดส่งมอบสินค้าไว้ในเงื่อนไขของ TOR ผู้ประมูลต้องไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจดิวตี้ฟรีนั้น นายประสงค์กล่าวว่า “ตอนนี้ใครอยากเสนอแนะอะไรก็เสนอได้ แต่ถ้าจะให้ ทอท. ประกอบธุรกิจจุดส่งมอบสินค้าเอง คงไม่คุ้มค่าหรอก อาชีพใครก็อาชีพมัน ในความเห็นของผม ทอท. ไม่ควรไปทำธุรกิจแข่งกับเอกชน หน้าที่ของ ทอท. คือการบริหารสนามบินให้มีความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ นี่คือภารกิจหลักของ ทอท. ส่วนข้อเสนอแนะอื่นๆ ทั้งในเรื่องสัมปทานรายเดียวหรือแยกหมวดหมู่ ต้องรอให้ฝ่ายกฎหมายและบริษัทที่ปรึกษาฯ ของ ทอท. ทำเรื่องเสนอบอร์ด ทอท. ก่อน ถึงจะเปิดเผยรายละเอียดได้”

    อนึ่ง การให้สิทธิประกอบกิจการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง หากไม่มีพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้า กรมศุลกากรไม่อนุญาต ปัจจุบันจะมี 4 รูปแบบ คือ

      1. สนามบินสุวรรณภูมิ ทอท. ไม่ได้แยกออกมาประมูล แต่ไปรวมอยู่ในสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยมีบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นเจ้าของสัมปทาน

      2. สนามบินดอนเมือง ทอท. นำพื้นที่จุดส่งมอบสินค้ามารวมกับพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากรแล้วเปิดประมูล โดยบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ชนะ ได้รับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และการส่งมอบสินค้าปลอดอากร

      3. สนามบินภูเก็ต หลังจากมีกระแสเรียกร้องให้เปิดเสรีกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองอย่างหนัก ที่สนามบินภูเก็ตจึงมีการแยกจุดจุดส่งมอบสินค้าออกมาประมูลต่างหาก และได้กำหนดเงื่อนไข TOR ผู้ชนะประมูลต้องเปิดให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงมาใช้บริการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ด้วย โดยกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นผู้ชนะและได้รับสัมปทานให้บริการจุดส่งมอบสินค้าในสนามบินแห่งนี้

      4. สนามบินอู่ตะเภา กองทัพเรือลงทุนทำจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรเอง (third party) โดยจะจัดสรรพื้นที่ให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองเข้ามาเช่าพื้นที่ เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้กับลูกค้า

    จากคำสัมภาษณ์ของประธานบอร์ด ทอท. ก็ค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรนั้น ทอท. คงไม่ทำเอง โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากจะไปแข่งกับเอกชน แต่จะเน้นเปิดกว้างให้มีการแข่งขันอย่างเสรี โดยเฉพาะกิจการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร เพื่อให้ผู้ประกอบการในเมืองใช้ส่งมอบสินค้าได้ ตามที่บอร์ด ทอท. มีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 การให้สัมปทานจุดส่งมอบสินค้า ทอท. จะเลือกรูปแบบใด เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไป

    ที่มาศึกชิงพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร

    จุดส่งมอบสินค้า

    “จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร” ในท่าอากาศยานนานาชาติมีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องมี

    ปัจจุบันกิจการดิวตี้ฟรีในประเทศไทยมี 2 ประเภท คือ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในสนามบิน กับกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในเมือง

    กิจการจำหน่ายสินค้าค้าปลอดอากรในสนามบิน ส่วนใหญ่เป็นสัมปทานอยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ส่วนกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในเมือง เป็นกิจกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศุลกากร หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจประเภทนี้คือ ต้องมีพื้นที่ส่งมอบสินค้าปลอดอากร ถ้าไม่มี กรมศุลกากรก็ไม่อนุญาตให้เปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง

    ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นเมื่อบริษัท เซ็นทรัล ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด และบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี (ไทยแลนด์) ไปยื่นคำร้องขอจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรในเมืองต่อกรมศุลกากร ปรากฏว่าได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรว่าผู้ยื่นคำร้องขอจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรในเมือง ต้องระบุพื้นที่ที่จะตั้งจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (pick-up counter) ในท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใดแห่งหนึ่ง ทางบริษัทล็อตเต้ฯ จึงทำหนังสือถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อขอเช่าพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง

  • “รวิฐา พงศ์นุชิต” นายกสมาคมดิวตี้ฟรี ทวงอำนาจอธิบดีกรมศุลฯ “เปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้า” สลายผูกขาดร้านปลอดภาษีในเมือง
  • สมาคมดิวตี้ฟรี ร้อง “ประยุทธ์” สั่ง AOT ปฏิบัติตามผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ขาด ต้องเปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ระบุเคยให้ “KPI-บริษัทการบินกรุงเทพ” ทำมาแล้ว
  • บริษัทล็อตเต้ฯ ได้รับหนังสือแจ้งจากท่าอากาศยานดอนเมืองว่าไม่สามารถจัดให้ได้ ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ได้แจ้งผลการพิจารณา ทางบริษัทล็อตเต้ฯ จึงมอบหมายให้สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 โดยขอให้วินิจฉัย กรณีกรมศุลกากร และ ทอท. กำหนดให้มีจุดส่งมอบสินค้าในท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ที่มีเอกชนรายเดียวได้รับสัมปทานโดยวิธีการประมูลไปแล้วนั้น สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยมีความเห็นว่า อาจเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายดังกล่าว ผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่

    การให้สิทธิหรือสัมปทานประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานนานาชาติ หลักๆ จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ จำหน่ายสินค้าปลอดอากร กับสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยที่ท่าอากาศยานดอนเมืองนั้นค่อนข้างชัดเจน ทอท. นำพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากรมารวมกับพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า เปิดประมูลพร้อมกัน โดยบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ชนะประมูลและได้รับสัมปทานจาก ทอท. ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และส่งมอบสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

    ส่วนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น พื้นที่จุดส่งมอบสินค้าถูกนำไปรวมอยู่ในพื้นที่สัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด โดยสัญญาสัมปทานฯ ข้อ 1.4 ระบุว่า “การบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์” หมายถึงการดำเนินการพัฒนา ตลอดจนบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์สำหรับร้านค้ารายย่อย หรือบริการต่างๆ ภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งไม่รวมถึงการดำเนินการในกิจการร้านค้าปลอดอากร”

    โดย ทอท. อ้างว่า ได้ให้สิทธิในการตั้งจุดส่งมอบสินค้าแก่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ เพียงรายเดียว หากผู้ประกอบการรายใดจะเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ ก่อนในฐานะผู้รับสัมปทาน

    ปรากฏว่าผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจพบข้อเท็จจริงว่า ทอท. เคยอนุญาตให้บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร มาเช่าพื้นที่ตั้งจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร บริเวณห้องรับรองผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศของบริษัท การบินกรุงเทพ อยู่ที่ชั้น 3 ในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ

    ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีความเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของ ทอท. ในกรณีอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียวเปิดจุดส่งมอบสินค้า มีลักษณะเข้าข่ายเลือกปฏิบัติ หรือเป็นการปิดกั้นเสรีทางการค้า เนื่องจากจุดส่งมอบสินค้าถือเป็นการให้บริการประชาชนผู้ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง,การให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการรายเดียวเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร เป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และอาจเป็นการจำกัดสิทธิผู้ประกอบการรายอื่นในการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

    จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่า ทอท. ปฏิบัติ หรือละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ขณะนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 เสนอแนะให้ ทอท. พิจารณาจัดหาพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นใช้ส่งมอบสินค้า

    โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่า หากมีการเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีภายใต้กลไกตลาด และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้มีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศต่อไป