ThaiPublica > เกาะกระแส > ปัญหาของเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 ในเวลา 5 เดือน เกิดอุบัติเหตุเครื่องตก 2 ครั้ง

ปัญหาของเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 ในเวลา 5 เดือน เกิดอุบัติเหตุเครื่องตก 2 ครั้ง

14 มีนาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : New York Times

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 ของสายการบินเอธิโอเปีย เที่ยวบิน ET302 ประสบอุบัติเหตุตก หลังจากบินขึ้นจากสนามบินเมืองแอดดิสอบาบา เอธิโอเปีย ได้เพียง 6 นาที ทำให้มีคนเสียชีวิตทั้งหมด 157 คน เป็นผู้โดยสารจากกว่า 32 ประเทศ และเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติ อย่างน้อย 22 คน สายการบินเอธิโอเปียเปิดเผยว่า หลังจากบินขึ้นแล้ว นักบินแจ้งว่า เกิดปัญหาระบบควบคุมการบิน และขอบินกลับฉุกเฉิน

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนตุลาคม 2018 เที่ยวบิน JT610 ของสายการบิน Lion Air ที่ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 รุ่นเดียวกัน ประสบอุบัติเหตุตก เมื่อบินขึ้นจากสนามบินเมืองจาร์กาต้า ได้เพียง 11 นาที โดยมีผู้เสียชีวิต 189 คน นักบินแจ้งหอบังคับการบินว่า ประสบปัญหาการควบคุมการบิน (flight control problem) และขอบินกลับฉุกเฉิน

หลังจากเกิดอุบัติเหตุของสายการบินเอธิโอเปียแล้ว ประเทศต่างๆทั่วโลก ยกเว้นสหรัแคนาดา สั่งห้ามเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 และ 9 บินเข้าออกน่านฟ้า ล่าสุด องค์การความปลอดภัยการบินของอียู หรือ EASA ห้ามเที่ยวบินที่บินด้วยเครื่องโบอิ้ง 737 Max 8 และ 9 บินเข้าออกน่านฟ้าของอียู ก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส ก็สั่งห้ามการบินด้วยเครื่องโบอิ้งรุ่นนี้ มาตรการล่าสุดของอียู หมายความว่า 2 ใน 3 ของเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8 ในโลก ถูกสั่งห้ามทำการบิน

ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 14 มีนาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งฉุกเฉิน ห้ามทำการบินของเครื่องบิน 737 MAX ในสหรัฐฯทั้งหมด ส่วนสำนักงานการบินรัฐบาลกลาง หรือ FAA กล่าวว่า ข้อมูลใหม่จากซากเครื่องบินที่ตกในเอธิโอเปีย มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีที่เครื่องบินรุ่นเดียวกันที่ตกในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนตุลาคมที่แล้ว

เส้นทางบินทั่วโลก ของเครื่อง Boeing 737 Max 8 ที่มาภาพ : New York Times

เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX

เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX เป็นเครื่องรุ่นที่ 4 ของเครื่องบินโบอิ้งแบบ 737 ที่ผลิตโดยบริษัทโบอิ้ง คอมเมอร์เชียล สหรัฐฯ หากจะเปรียบเทียบเครื่องบินโดยสารต่างๆ เหมือนกับเสื้อยืดคอกลม ที่มีขนาดแบบ S, M, L ,XL แล้ว เครื่องบินโบอิ้ง 737 ก็เหมือนเสื้อยืดขนาด S เครื่องรุ่น 737 MAX มีอยู่ 3 แบบ คือ 737 MAX 7, 737 MAX 8 และ 737 MAX 9 โดยมีความจุที่นั่งตั้งแต่ 138-230 ที่นั่ง และระยะทางบิน ตั้งแต่ 5,954-7,084 กิโลเมตร จนถึงมกราคม 2019 โบอิ้งได้รับการสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้แล้ว 5,011 ลำ คิดเป็นมูลค่าถึง 600 พันล้านดอลลาร์ และส่งมอบไปแล้ว 350 ลำ

หนังสือพิมพ์ The Guardian รายงานว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX เป็นเครื่องแบบลำตัวแคบ ที่สามารถทำการบินในเส้นทางระยะไกล เพราะมีเครื่องยนต์ที่ใหญ่ขึ้น ที่ผ่านมา ในเส้นทางบินระยะไกล สายการบินจะใช้เครื่องบินแบบลำตัวกว้าง เพราะเหตุนี้ สายการบินจึงนิยมใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX เช่น สายการบิน Norwegian Air ใช้บินจากนอร์เวย์ไปสหรัฐฯ เนื่องจากมีความจุที่นั่งต่ำกว่า 250 ที่นั่ง สายการบินจึงใช้เครื่องบิน 737 Max บินในเส้นทางระยะไกล ที่มีตลาดผู้โดยสารไม่หนาแน่น

The Guardian กล่าวว่า สาเหตุอีกประการหนึ่ง ที่สายการบินทั่วโลกนิยมเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX เพราะประหยัดทั้งจากการปฏิบัติการบิน และการบำรุงรักษา หากจะเปรียบเทียบกับเครื่องบินที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เช่น เครื่องโบอิ้งรุ่น 787 Dreamliner หรือเครื่องแอร์บัส A380 เครื่องโบอิ้ง 737 MAX เป็นเครื่องบิน ที่นักบินและฝ่ายซ่อมบำรุงของสายการบิน มีความถนัดคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นอย่างดี นับทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา โบอิ้งผลิตเครื่องบินแบบ 737 ออกมาแล้วกว่า 10,000 ลำ แต่รุ่นล่าสุดคือ 737 MAX เป็นเครื่องที่บินได้ประหยัดมากขึ้น และบินในเส้นทางที่ไกลมากขึ้น

ปัญหาของเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 8

ที่มาภาพ : https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2019/03/et302-boeing-737-max-8-blame/584572/

บทความชื่อ Is it time to worry about the Boeing 737 Max 8? พิมพ์ในเว็บไซด์ theatlantic.com ผู้เขียนคือ James Fallows กล่าวว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX มีเครื่องยนต์ที่แตกต่างจากเครื่องยนต์ของเครื่อง 737 รุ่นก่อนหน้านี้ คือ เป็นเครื่องยนต์ที่มีพลังขับมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่องการใช้น้ำมัน เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้การติดตั้งที่ปีกเครื่องบิน อยู่ในจุดที่แตกต่างจากรุ่นเดิม ผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนจุดติดตั้งเครื่องยนต์นี้ ทำให้เกิดสิ่งที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

ประเด็นสำคัญของการติดตั้งเครื่องยนต์ในจุดใหม่ของปีก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการบังคับการบิน ประการแรก นักบินที่เคยเป็นนักบินของเครื่องบิน 737 รุ่นก่อนหน้านี้ สามารถทำการบินเครื่องบินรุ่นนี้ได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำการบิน เหมือนกับการเปลี่ยนไปทำการบินเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner หรือเครื่องบินของแอร์บัส ประการที่ 2 มีการติดตั้งซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการควบคุมการบินแบบอัตโนมัติ

บทความใน theatlantic.com กล่าวว่า ซอฟต์แวร์ดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า MCAS (Maneuvering Characteristics Augmentation System) จุดที่น่าสนใจของซอฟต์แวร์ คือ การป้องกันภาวะการไร้แรงยก (Anti-stall) หากภาวะการไร้แรงขับของรถยนต์ เกิดจากเครื่องยนต์ดับ แต่กรณีของเครื่องบิน ภาวะการไร้แรงยกเกิดขึ้น เมื่อส่วนหัวของเครื่องบินตั้งในมุมที่ชันเกินไปกับแรงลมที่มาปะทะ ทำให้ไม่มีกระแสลมไหลมาบนปีกเครื่องบิน เพื่อทำหน้าที่ยกตัวเครื่องบิน และทำให้เครื่องบินได้ เมื่อเครื่องบินเกิดภาวะไร้แรงยก ก็จะเริ่มตกลง เหมือนก้อนหินตกลงมาจากท้องฟ้า

ซอฟต์แวร์ MCAS ในเครื่อง 737 MAX 8 ป้องกันเครื่องตกจากภาวะไร้แรงยก ที่มาภาพ :theaircurrent.com

กรณีอุบัติเหตุ JT610 ของ Lion Air

บทความของ BBC เรื่อง Lion Air JT610 crash: what the preliminary report tell us กล่าวไว้ว่า เที่ยวบิน JT610 ของ Lion Air วันที่ 29 ตุลาคม 2018 บินออกจากสนามบินเมืองจาร์กาต้าเวลา 06.20 น. ทั้งนักบินและผู้ช่วยนักบิน ล้วนมีประสบการณ์ด้านการบิน นักบินมีชั่วโมงบินกว่า 6,000 ชั่วโมง และผู้ช่วยนักบินกว่า 5,100 ชั่วโมง

หลังจากเครื่องบินขึ้นแล้วไม่นาน นักบินแจ้งหอบังคับการบินว่า มีปัญหาการควบคุมการบิน โดยระบบต่อต้านภาวะการไร้แรงยก ทำการกดให้ส่วนหัวของเครื่องบินต่ำลงนาน 10 วินาที แต่นักบินทำการแก้ไขโดยการบังคับด้วยมือ เพื่อให้ส่วนหัวของเครื่องบินพุ่งขึ้น จากนั้น ระบบต่อต้านภาวะการไร้แรงยก กดให้ส่วนหัวของเครื่องบินต่ำลงอีก นักบินได้แจ้งขอนำเครื่องบินกลับมาลงจอดฉุกเฉิน แต่เมื่อเวลา 06.31 เครื่องบินก็ขาดการติดต่อกับหอบังคับการบิน

บทความของ BBC กล่าวว่า เที่ยวบิน JT610 ของ Lion Air ดูเหมือนจะมีปัญหากับระบบต่อต้านภาวะการไร้แรงยก ระบบนี้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เครื่องบินเชิดหัวขึ้นในมุมที่สูงชันเกินไป จนเครื่องสูญเสียแรงยก แต่ปรากฏว่า ในช่วงกำลังบินขึ้นของเที่ยวบิน JT610 ระบบต่อต้านภาวะการไร้แรงยก กลับบังคับให้ส่วนหัวของเครื่องบินต่ำลง ทั้งๆที่เครื่องบินไม่ได้อยู่ในภาวะที่ไร้แรงยก จึงเป็นไปได้ ที่จะเกิดความผิดพลาดของระบบเซนเซอร์

กรณีอุบัติเหตุของสายการบินเอธิโอเปีย เที่ยวบิน ET302 นายทีโวลด์ จิเบรมาเรียม (Tewolde Gebremariam) CEO ของสายการบินนี้ให้สัมภาษณ์ CNN ว่า นักบินแจ้งว่า มีปัญหาการควบคุมเที่ยวบิน และขอนำเครื่องบินกลับมา ในเวลาเดียวกันที่นักบินได้รับอนุญาต เครื่องบินก็หายจากจอเรดาร์ นักบินเที่ยวบินนี้ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมแล้ว เกี่ยวกับขั้นตอนการบินของเครื่อง 737 MAX 8 หลังจากเกิดอุบัติเหตุของ Lion Air ตัวเขาเองเชื่อว่า ความคล้ายคลึงกันของทั้ง 2 เที่ยวบิน มีอยู่มาก นอกจากจะเป็นเครื่องบินแบบเดียวกันแล้ว เครื่องบินเกิดอุบัติเหตุตกลง หลังจากที่บินขึ้นไปได้ไม่กี่นาที

CEO ของสายการบินเอธิโอเปีย ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า เครื่อง 737 MAX 8 ควรจะถูกห้ามบินทั่วโลกหรือไม่ แต่สายการบินเอธิโอเปียได้ห้ามเครื่องบินนี้ทำการบินแล้ว “เรายังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดของอุบัติเหตุ และการคาดการณ์ต่างๆก็ไม่ได้ช่วยอะไรเช่นกัน แต่ผมคิดว่า เครื่องบินลำนี้ ทำให้เกิดคำถามหลายอย่าง ที่ไม่มีคำตอบ”

เอกสารประกอบ
Is it time to worry about the Boeing 737 Max 8? James Fallows, theatlantic.com, March 11, 2019.
Lion Air JT610 crash: what the preliminary report tells us, bbc.com, November 28, 2018.
What is the Boeing 737 Max Maneuvering Characteristics Augmentation System? theaircurrent.com