ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ คืนคำถามสื่อ ปฏิเสธตอบการเมือง – มติ ครม. ขยายเวลาหนุนเด็กแรกเกิด จาก 3 ปี เป็น 6 ปี

นายกฯ คืนคำถามสื่อ ปฏิเสธตอบการเมือง – มติ ครม. ขยายเวลาหนุนเด็กแรกเกิด จาก 3 ปี เป็น 6 ปี

26 มีนาคม 2019


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้ง โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน เมื่อนายกรัฐมนตรีมาถึงจุดแถลงข่าวได้กล่าวทักทายสื่อมวลชนพร้อมกล่าวว่า “คำถามทั้งหมดจากผู้สื่อข่าวต่างๆ ที่ถามมา ผมขออนุญาตส่งคืน ผมไม่ขอตอบคำถามนี้” และนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลการประชุม ครม. และการดำเนินการของรัฐบาล กว่า 30 นาที

ปัดไม่มีส่วนเกี่ยวตั้ง รบ.-ขอเดินหน้างานพระราชพิธีฯ

“วันนี้กราบเรียนกับสื่อว่า ผมยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง แต่อย่างใดก็ตามผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ร่วมกันแสดงพลังในการออกเสียงเลือกตั้งในจำนวนมากพอสมควร”

“ผมก็จะตั้งในในการปฏิบัติหน้าที่ของผม ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และเป็นรัฐบาลไปจนมีรัฐบาลใหม่ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ในเมื่อเราให้ความสนใจกับเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเลือกตั้งไปแล้ว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สงบ สันติ วันนี้ผมอยากให้ทุกคนกลับมามุ่งสู่พิธีสำคัญของเราคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งมีหลายกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป”

ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน และคณะกรรมการในระดับจังหวัดทุกจังหวัดในการเตรียมการเรื่องเหล่านี้ พระราชพิธีจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2562 เป็นต้นไป ซึ่งพระราชพิธีจะแบ่งเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือช่วงก่อนพระราชพิธีฯ ในเดือนเมษายน ช่วงของพระราชพิธีฯ ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม และกิจกรรมและโครงการต่างๆ จากรัฐบาล หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนหลังจากพระราชพิธีฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับงานพระราชพิธีฯ นั้นจำเป็นต้องดำเนินไปให้สมพระเกียรติ และบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความรักความสามัคคี ซึ่งตนอยากให้ใช้โอกาสนี้ในการนำพาประเทศไทยไปสู่ความสงบ สันติ อย่างยั่งยืน ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10

“สำหรับรัฐบาลเองจะมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผู้มีรายได้น้อย แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง เรื่องน้ำ การเกษตร และเศรษฐกิจฐานรากที่ยังมีปัญหาอยู่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทุกรัฐบาลยังแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่สำเร็จ แต่รัฐบาลเรามีความแตกต่างที่จะแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างไปด้วย มากกว่าที่จะสนับสนุนด้านใดเพียงด้านเดียว สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถไปด้วย และข้อสำคัญคือใช้งบประมาณต่างๆ อย่างเหมาะสม โปร่งใส ไม่ซ้ำซ้อน มีประสิทธิภาพ ไม่มีการทุจริต” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันเคารพทุกคะแนนเสียง – มีเลือกตั้งชัดแล้ว “ไม่สืบอำนาจ”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปหลังจากได้กล่าวถึงข้อสั่งการต่างๆ ของตนในที่ประชุม ว่า นี่คือการบ้าน การบริหารราชการแผ่นดินไม่ใช่การเมือง ตราบใดที่ผมเป็นรัฐบาลอยู่ก็จะทำแบบนี้ ทำให้เหมือน 5 ปีที่ผ่านมา และทำให้ดีขึ้น เพียงแต่ขอความเข้าใจ และขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนโดยรวม วันหน้าจะเกิดอะไรขึ้นก็สุดแท้แต่ประชาชนจะพิจารณา

“วันนี้ต้องขอขอบคุณทุกคนในเรื่องของการเลือกตั้ง ทั้งข้าราชการ ตำรวจ ทหารที่ทำงานในพื้นที่ ถือเป็นหน้าที่ของทหารทุกคนที่ต้องทำงานทุกวัน คนไม่ดีก็ต้องถูกดำเนินการ ตามพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ระบุว่า ให้คนดีปกครองบ้านเมือง หรือปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อดูแลประชาชนทุกกลุ่มให้สมศักดิ์ศรีในการเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน เป็นพระบรมราโชวาทที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้เมื่อหลาย 10 ปีแล้ว ก็ยังคงมีความทันสมัยอยู่ในการสืบสานรักษาต่อยอด”

“ความมีอัตลักษณ์ของประเทศไทยอะไรที่เป็นอัตลักษณ์ไม่ดี ทุจริต โกงกิน การทำผิดกฎหมายเป็นบ่อเกิดของสังคมที่ไม่ปกติสุข เพราะฉะนั้นก็ต้องแลกถ้าอยากให้เป็นบ้านเมืองที่สงบก็ต้องกลับมาเคารพกฎหมาย ก็ต้องมาปรับแก้ทุกอย่างเพื่อไม่ให้มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ถ้ามองแต่ประโยชน์ส่วนตัวก็คงเป็นไปไม่ได้ เราต้องได้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและส่วนรวม ไม่มีอะไรที่จะได้มาง่ายๆ บนโลกนี้ไม่มีอะไรที่ง่ายขนาดนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามถ้าไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ ปัญหาที่ทับซ้อนก็คงไม่ได้”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ตนเคารพคะแนนเสียงของประชาชนทุกคนที่ออกมาเลือกตั้งในครั้งนี้ วันนี้ตนมีความสบายใจมากขึ้น และเคยบอกแล้วว่าประเทศไทยก็ต้องเดินหน้าไปแบบนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่การสืบอำนาจ

“ไม่ได้ไปรักษาอำนาจ สืบทอดอำนาจ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมคงไม่ต้องให้มีการเลือกตั้งหรอก แต่กลไกอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ ตามผลประชามติก็ว่ากันไปตามนั้น เคารพเสียงประชาชนเขาบ้าง แค่นั้นเอง อย่าให้ทะเลาะเบาะแว้งกันอีกเลย อย่าไปให้ความสนใจกันมากนัก เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองเขาไปดำเนินการ อย่ามาถามผมอีก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่บอกว่าสบายใจขึ้น เป็นเพราะได้เป็นนายกฯ ต่อใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ถึงกับส่ายหัวพร้อมกล่าวว่า “คำถามแบบนี้นี่แหละที่ไม่สบายใจ”

อนึ่งคำถามที่สื่อมวลชนได้ถาม พล.อ. ประยุทธ์ และไม่ได้รับคำตอบ เช่น หลายพรรคการเมืองมองว่า “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” จะสง่างาม ถ้า ส.ว. 250 คน งดออกเสียง และให้ ส.ส. ในสภา 500 คนเลือกกันเองก่อน เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด, นายกฯ มีความเห็นอย่างไรต่อกรณีการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งสังคมมีข้อกังขาว่าการจัดตั้งรัฐบาลควรยึดจากจำนวนตัวเลข ส.ส. ที่ได้ หรือจำนวนคะแนนปอปปูลาร์โหวต, ส่วนตัวนายกฯ พอใจกับจำนวนตัวเลข ส.ส.ที่ พปชร. ได้หรือไม่ หลังจากที่ไปช่วยปราศรัยในเวทีสุดท้ายที่สนามเทพหัสดินทร์, นายกฯ ประเมินการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ของ กกต. อย่างไร สอบผ่านหรือไม่ เพราะมีคำร้องเรียนจำนวนมาก และกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมามีการทุจริต

แนะอ่าน “สู่จุดจบ” หนังสือที่ “ทักษิณ” ไม่อยากให้อ่าน

พล.อ. ประยุทธ์ ได้แนะนำให้อ่านหนังสือ “สู่จุดจบ! The Coming Collapse of Thailand” โดยระบุว่า อยากให้ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ ดร.ไสว บุญมา อดีตนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำธนาคารโลก เขียนไว้ ชื่อ สู่จุดจบฯ เพราะทุกประเทศในโลกนี้จุดจบคือหากเดินหน้าพัฒนาประเทศจากประวัติศาสตร์ชาติที่ทำมาตั้งแต่โบราณกาลในทุกภูมิภาคของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน ยุโรป หรือตะวันตก

“หากเราไม่ได้ศึกษาเนื้อของประวัติศาสตร์ ความเป็นมาชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีความแตกต่าง มันจะมุ่งไปสู่จุดจบเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีข้อมูลศึกษาวิจัยเปรียบเทียบให้เห็น ขอให้ไปค้นคว้าดู ตนได้อ่านแล้ว โดยจำเป็นจะต้องนำหลักการเหล่านี้มาใช้ด้วย ทำอย่างไรเราจะลดความเสี่ยง ลดปัญหาการแทรกแซงจากภายนอกมาจากประเทศของเรา”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเช้าได้หยิบหนังสือขึ้นมา 1 เล่ม เกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป แต่มีข้อความสำคัญอันหนึ่งเขียนมาประมาณ 2 บรรทัดว่าประชาชนทุกคนมีความหวัง มีความฝัน แต่ทุกคนอาจจะปล่อยความฝันความหวังเหล่านี้ไป เหมือนปล่อยว่าวขึ้นไปตัวหนึ่งบนอากาศ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป สายป่านอาจจะขาด หรืออาจจะไปพันต้นไม้เสาไฟฟ้า อะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านั้นจะทำให้ความหวังความฝันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ต้องทำทุกอย่างให้เข้มแข็งขึ้นในทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติ กฎหมายหรือองค์กรอะไรต่างๆ ตรงนี้ เป็นการแปลความของตนเอง ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพควรเดินหน้าหน้าต่อไปภายใต้ศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้นำมาขับเคลื่อนในทุกมิติ

“ผมเคารพในเสียงการตัดสินใจของประชาชนทุกคนในประเทศไทยเพราะถือว่าทุกคนคือคนไทย นั่นแหละคือการแสดงออกของคนในประเทศนี้ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน โลกเทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัลที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนให้ได้ ผมยืนยันจะนำพาประเทศชาติไปสู่เส้นทางที่มีความรัก ความสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ ในการเดินหน้าประเทศไทยต่อไปในอนาคต ปัญหาต้องแก้ไปด้วยกัน แยกแยะฐานรากให้ออก จะพูดกันลอยๆ ไม่ได้ ปล่อยว่าวไปในอากาศบางทีไม่ได้ มันต้องหาสายป่านที่แข็งแรง ไปเล่นว่าวที่ไม่มีสายไฟ ไม่มีต้นไม้ ไม่เช่นนั้นว่าวก็จะหลุดลอยไปเรื่อย ความฝันก็ลอยหายไปเฉยๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

อนึ่ง หนังสือ “สู่จุดจบ” ของดร.ไสว บุญมา เป็นหนังสือที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยสั่งเก็บออกจากแผงหนังสือทั้งหมด แต่มีการนำมาแจกให้อ่านฟรี ซึ่งเนื้อหาในหนังสือ ผู้เขียนได้ทำนายเกี่ยวกับประเทศที่เจริญและประเทศที่เสื่อมสลายในประวัติศาสตร์โลกเมื่อเทียบกับประเทศไทย ไทยมาถึงจุดจบที่จุดใด

ศุกร์สุดท้าย 29 มี.ค. ขอยุติจัดรายการ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่ออกอากาศทุกวันศุกร์ว่า ตนเองจะจัดรายการฯ ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 นี้ เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นการแถลงถึงความก้าวหน้าในการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อไป

“หลายคนก็ถามมาว่า เมื่อไรจะเลิกพูด ผมก็จะเลิกพูด ผมจะพูดอีกครั้งเดียวเป็นการขอบคุณ และจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมจะพูดผ่านรายการฯ ต่อไปจะเอาเวลานั้นสัก 10 นาที ให้มีการแถลงความก้าวหน้าการเตรียมงานพิธีบรมราชาภิเษก ในด้านต่างๆ แทน เพราะพูดมาหมดแล้ว ทั้งความคิด วิสัยทัศน์ หรือการแก้ปัญหาการทำงาน เป็นการดีเบตมาตลอด 5 ปีของผม อาจจะไม่มีใครมาดีเบตกับผม แต่ผมชี้แจงอธิบายหลักการและเหตุผลของผมสมบูรณ์ครบถ้วน รวมทั้งบอกวิธีการทำ ให้ทุกท่านดูให้ทุกท่านฟังแล้ว เพราะฉะนั้นก็กรุณาฟังรัฐบาลใหม่ต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ขยายเวลาหนุนเด็กแรกเกิด จาก 3 ปี เป็น 6 ปี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี แบบขยายฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป ให้กลุ่มเป้าหมายเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป ดังนี้

  • เด็กที่รับสิทธิ์ในปีงบประมาณ 2559 – 2561 รับต่อเนื่องจนครบอายุครบ 6 ปี
  • เด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 ที่มีคุณสมบัติและไม่เคยได้รับสิทธิ์ มีสิทธิ์ได้รับเงินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 จนอายุครบ 6 ปี
  • เด็กที่เกิดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ได้รับสิทธิ์จนอายุครบ 6 ปี

“การปรับเกณฑ์ดังกล่าวเนื่องจากเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโต โดยเฉพาะพัฒนาการด้านสมอง ดังนั้น การลงทุนพัฒนาเด็กในช่วงอายุดังกล่าวจึงเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดต่อสังคมในระยะยาวและจากรายงานการติดตามประเมินผลโครงการเงินอุดหนุนฯ ประจำปี 2561 พบว่าเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ ได้รับประโยชน์มากกว่าทั้งในด้านภาวะโภชนาการและการเข้าถึงการบริการทางสังคม เช่น การพาเด็กไปรับบริการตรวจทางการแพทย์หลังคลอด และการขยายฐานรายได้ของกลุ่มเป้าหมายการรับเงินอุดหนุนฯ แบบฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี เนื่องจากสอดคล้องกับการใช้ฐานเกณฑ์รายได้ของผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ครอบคลุมเด็กในครอบครัวยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจนเพิ่มขึ้นและไม่ซ้ำซ้อนกับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของรัฐในปัจจุบัน”

ทั้งนี้ กรอบงบเงินงบประมาณมีรายละเอียดดังนี้ ในปี 2562 จะมีจำนวนเด็ก 14 ล้านคน วงเงิน 10,390 ล้านบาท ปี 2563 1.75 ล้านคน วงเงิน 12,500 ล้านบาท ปี 2564 2 ล้านคน วงเงิน 14,500 ล้านบาท ปี 2565 1.9 ล้านคน วงเงิน 14,000 ล้านบาท และปี 2566-2567 ปีละ 1.8 ล้านคน วงเงินปีละ 13,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2562 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ งบประมาณได้ถูกจัดสรรสำหรับโครงการเดิมที่อุดหนุนเด็กตั้งแต่ แรกเกิดถึง 3 ปี ยังคงเหลือ 3,500 ล้านบาท และต้องขออนุมัติงบเพิ่มเติมประมาณ 6,873 ล้านบาท ขณะที่ปีต่อๆ ไปให้จัดสรรจากงบประมาณประจำปี

อนุมัติเป้าหมายหนุนเกษตรกรปาล์มน้ำมัน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการเพิ่มเป้าหมายเกษตรกรในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน จากเดิม 150,000 ครัวเรือน เป็น 249,918 ครัวเรือน หรือเพิ่มเป้าหมาย 99,918 ครัวเรือน เนื่องจากมีเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เข้ามาปรับปรุงทะเบียนเพิ่มเติมภายในกรอบเวลาที่กำหนด และยังอยู่ในวงเงินเดิมที่เคยอนุมัติไว้ที่ 3,457.76 ล้านบาท

“เดิม ณ วันสิ้นสุดระยะเวลาการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ปรากฏว่า มีเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขโครงการฯ จำนวน 150,000 ครัวเรือน ครบตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ จำนวน 1.35 ล้านไร่ เป็นจำนวนเงิน 2,025.02 ล้านบาท ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดีมีเกษตรกรที่เกินจากเป้าหมายโครงการฯ จำนวน 99,918 ครัวเรือน จำนวน 0.90 ล้านไร่ ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการฯ เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เข้ามาปรับปรุงทะเบียนเพิ่มเติมภายในกรอบเวลาที่กำหนด”

“และสมควรได้รับการช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ คิดเป็นวงเงินรวมจำนวน 1,348.87 ล้านบาท และมีค่าธรรมเนียมการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รายละ 7 บาท รวมเป็นเงิน 0.70 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 1,349.57 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่เกินจากกรอบวงเงินเดิมที่ ครม. อนุมัติไว้ เป็นเพียงการเพิ่มเป้าหมายเกษตรกรที่เข้าคุณสมบัติเพิ่มเติม” นายณัฐพรกล่าว

ผ่าน พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ดึงเอกชนช่วยอย.

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ เพิ่มนิยาม คำว่า “สถานประกอบการ” “กระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องสำอาง” และ “คณะกรรมการ” เพื่อกำหนดขอบเขตของพื้นที่และภารกิจในการปฏิบัติให้ชัดเจน รวมทั้งเพื่อให้กระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องสำอางเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของกระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องสำอาง

  • กำหนดให้ อย. มีการขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องสำอางเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  • กำหนดให้เลขาธิการ อย. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเครื่องสำอางมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องสำอาง และการได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
  • กำหนดให้รัฐมนตรี สธ. โดยคำแนะนำของคณะกรรมการเครื่องสำอางมีอำนาจประกาศกำหนดค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญองค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และกำหนดค่าใช้จ่ายและค่าใช้จ่ายสูงสุด ที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องสำอาง
  • กำหนดให้ค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นเงินของ อย. หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้ใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด
  • กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงินและการจ่ายเงินต่อไป

พร้อมกันนี้ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 77/2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอาง เมื่อประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว แต่ในระหว่างนี้ให้ใช้คำสั่ง คสช. ดังกล่าวไปก่อนในส่วนที่เกี่ยวข้องเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีประกาศ

“กฎหมายเครื่องสำอางจะคล้ายกับเรื่องของอาหารที่ ครม. อนุมัติไปเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นข้อติดขัดเกี่ยวกับงบประมาณและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เพียงพอจะตรวจสอบและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ จึงแก้กฎหมายให้ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รับมอบอำนาจไปตรวจสอบแทนได้ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ อย. ไม่ต้องรับผิดชอบต่อไป แต่การขึ้นทะเบียนจะยังอยู่กับ อย. เหมือนเดิม” นายณัฐพรกล่าว

ขับเคลื่อนการแพทย์พันธุศาสตร์ – Genomics

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563-2567) และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำคำของบประมาณและจัดสรรงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนแผนภายใต้งบบูรณาการ รวม 4,570 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี และอนุมัติให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานกลางและมีโครงสร้างองค์กรเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานหลัก และอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รวบรวมความต้องการพัฒนา Genomics Thailand เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนที่เหมาะสม ให้มีอุตสาหกรรมการแพทย์ เกิดการบริการและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในไทย โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูง และมีการเพิ่มตำแหน่งงานสำหรับคนไทย

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563-2567) เป็นแผนที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งร้อยละ 30 ของโรคในมนุษย์เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งปัจจุบันการถอดรหัสพันธุกรรมมีต้นทุนลดลงอย่างมาก และมีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น การตรวจเพื่อคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์ การตรวจพันธุกรรมเพื่อป้องกันมะเร็ง โรคไม่ติดต่อ โรคติดเชื้อ หรือการป้องกันการแพ้ยา

แผนปฏิบัติการฯ มีเป้าหมายที่จะบูรณาการการใช้ข้อมูลพันธุกรรมในด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.), สธ., กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน ซี่งในอนาคตการแพทย์จีโนมิกส์จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสุขภาพที่ดีของประชากรตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งเสียชีวิต ทั้งนี้ ในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (Health Economics) การลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค วินิจฉัยโรค และดูแลผู้ป่วยจะนำมาสู่การลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมาก โดย สธ. ประมาณการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้จากการให้บริการทางการแพทย์แบบจีโนมิกส์ประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี (ประเมินจากการลดอัตราการเกิด 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อ HIV โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง) รวมทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและการให้บริการใน Medical Hub

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯประกอบด้วย 6 มาตรการ

1. ด้านการวิจัยและการประยุกต์ใช้ (Research and Implementation) กำหนดหัวข้อการวิจัยหลัก 5 หัวข้อ ได้แก่ โรคมะเร็ง, โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและโรคหายาก และโรคที่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์มารดาและทารก, โรคไม่ติดต่อและการศึกษาในกลุ่มประชากรแบบระยะยาว, โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์

2. ด้านการบริการ (Service) จะพัฒนามาตรฐานและคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการในระบบประกันสุขภาพของไทย ซึ่งรวมถึงการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติและการควบคุมดูแลชุดทดสอบให้มีมาตรฐาน

3. ด้านการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล (Data Analysis and Management) เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคำนวณและการจัดการข้อมูล ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบุคลากร ด้านชีวสารสนเทศ (Bioinfomaticians) การผลิตเครื่องมือทางชีวสารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดจั้งศูนย์ข้อมูลประมวลผลเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการรักษาตามแนวทางของการแพทย์จีโนมิกส์

4. Ethical, Legal and Social Implications (ELSI) เป็นการศึกษาและวางแผนการจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการแพทย์จีโนมิกส์ เช่น ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การจัดการความเป็นส่วนตัว การรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูล การจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนา โดยเป็นการศึกษาทั้งในด้านจริยธรรม กฎหมาย และสังคม เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย กฎหมาย หรือแนวปฏิบัติต่อไป

5. ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากร (Human Resource Production and Development) มีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์จีโนมิกส์จำนวน 794 คน ภายใน 5 ปี ประกอบด้วย 4 สาขา ดังนี้ แพทย์ด้านเวชพันธุศาสตร์ 34 คน, ผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ 110 คน, สหสาชาวิชาชีพด้านพันธุศาสตร์ ชีววิทยาระดับโมเลกุลและพยาธิวิทยาระดับโมเลกุล 150 คน, นักชีวสารสนเทศ (Bioinfomaticians) และนักระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ 500 คน

6. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย (New Industry Development) เนื่องจากการแพทย์จีโนมิกส์เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curves) ซึ่งมาตรการนี้การเป็นบูรณาการแนวโน้มความต้องการการแพทย์จีโนมิกส์ของไทย สนับสนุนให้เกิดการลงทุนหรือร่วมลงทุนจากภาคเอกชนในการจัดทำห้องปฏิบัติการมาตรฐานนานาชาติ การส่งเสริมงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านการบริการด้วยระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์จีโนมิกส์

ปรับโครงสร้างบริหาร “นมโรงเรียน” กระจายอำนาจมากขึ้น

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน และให้ใช้แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนกลไกในการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทั้งระบบ เพื่อให้การบริหารจัดการเกี่ยวกับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เดิมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียน และสนับสนุนการใช้น้ำนมดิบในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของรัฐบาล โดยการดำเนินการในปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมตามพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 และได้ยึดแนวทางการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ที่มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนมาโดยตลอด

แต่ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาให้มีการทบทวนแนวทางการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทั้งระบบ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรายงานผลการพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 โดยมีสาระสำคัญคือ

โครงสร้างระบบบริหารนมโรงเรียน จากเดิมให้มีองค์กรกลาง เป็นคณะอนุกรรมการในกำกับดูแลของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม มีผู้แทน 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาคราชการ ฝ่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปและผู้แทนฝ่ายจัดซื้อ รวม 19 คน โดยให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติโครงการฯ ในแต่ละภาคเรียนหรือปีการศึกษา พิจารณาจัดสรรปริมาณน้ำนมดิบ ปริมาณการจำหน่ายและพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ

เป็นการแยกโครงสร้างการบริหารออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน จำนวน 15 คน มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ มีหน่วยงานที่กำกับดูแล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการผลิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้รับบริการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ และมีอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยไม่มีองค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการฯ ร่วมเป็นกรรมการ และมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และรณรงค์การบริโภคนมไปยังสถาบันการศึกษาทุกระดับ

และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน) 2) คณะอนุกรรมการรณรงค์บริโภคนมในสถาบันการศึกษาทุกระดับ (จัดทำโครงการรณรงค์บริโภคนมในสถาบันการศึกษาทุกระดับ) (3) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) (ดำเนินงานตามที่คณะอนุกรรมการทั้ง 2 ตาม 1) และ 2) ได้วางหลักเกณฑ์และวิธีการไว้) และ 4) คณะอนุกรรมการอื่นๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ ให้กรรมการในคณะกรรมการอาหารเสริมนมเพื่อเด็กและเยาวชนและอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ด้านสถานภาพขององค์การส่งเสริมกิจการโคมนมแห่งประเทศไทย จากเดิมองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยทำหน้าที่แทนองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยแยกระบบการบริหารเงิน และการดำเนินงานออกจากภารกิจที่ดำเนินการตามปกติขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และให้ดำเนินการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ให้ปรับเป็นทำหน้าที่เป็นเพียงองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และมอบให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำระบบฐานข้อมูล Big Data สำหรับโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนแทน

ส่วนงบประมาณจากเดิมใช้วิธีการกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นหรือหน่วยจัดซื้อเพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และพระราชบัญญัติงบประมาณฯ เปลี่ยนเป็นให้งบประมาณอาหารเสริม (นม) อยู่ที่ท้องถิ่นหรือหน่วยจัดซื้อเช่นเดิม แต่ขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารจัดการให้แก่คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน และคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนทุกคณะ เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 3 ของงบประมาณค่าอาหารเสริม (นม) ทั้งหมด โดยให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อนำเสนอขออนุมัติในแต่ละปี

ด้านวิธีการจัดซื้ออาหารเสริม (นม) โรงเรียน จากเดิมวิธีกรณีพิเศษ เป็นวิธีเฉพาะเจาะจง (วิธีกรณีพิเศษ เดิม) ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนและกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีคัดเลือกและวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2560 เนื่องจากเป็นโครงการที่ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และเด็กนักเรียน

สุดท้าย ด้านคู่สัญญาซื้อขาย จากเดิมองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยจะเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกราย โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยสามารถมอบอำนาจให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ส่งมอบสินค้า และรับชำระเงินตลอดจนรับผิดชอบความเสียหายตามสัญญาที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยทำกับหน่วยจัดซื้อทั่วประเทศ เปลี่ยนเป็นให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกราย โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยสามารถมอบอำนาจให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจัดซื้ออาหารเสริม (นม) โรงเรียน แทนองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยและเป็นผู้ส่งมอบสินค้า รวมทั้งรับชำระเงิน ตลอดจนรับผิดชอบความเสียหายตามสัญญาที่ทำกับหน่วยจัดซื้อทั่วประเทศแทนองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ จะกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกราย ต้องจัดทำประกันประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance)

“นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการบริหารจัดการนมโรงเรียน โดยการจัดสรรปริมาณน้ำนมดิบ ปริมาณการจำหน่าย และพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการ จากเดิมจะใช้คณะกรรมการกลางเปลี่ยนเป็นคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ภายใต้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน และให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) ทำหน้าที่จัดสรรสิทธิหรือโควตารวมทั้งพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และเกษตรกรผู้มีสิทธิ์จำหน่ายน้ำนมดิบจะต้องลงทะเบียนพร้อมกับศูนย์รวบรวมน้ำนมโค และผู้ประกอบการแปรรูปนมที่รับซื้อน้ำนมโคทั้งระบบผ่านแอปพลิเคชันเพิ่มเติม ได้แก่ ระบบทะเบียนฟาร์ม ระบบซื้อขาย และระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วย” นายณัฐพรกล่าว

แก้ระเบียบป้องเลี่ยงภาษีข้ามชาติตาม OECD

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมตินุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ซึ่งเป็นการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters หรือ ROH) สำนักงานใหญ่ ข้ามประเทศ (International Headquarters หรือ IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center หรือ ITC) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย อันเป็นการปฏิบัติตามโครงการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร (BEPS) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD)

“มาตรฐาน BEPS ยกตัวอย่างเช่นการที่ประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สำนักงานหรือบริษัทดังกล่าว แต่ในกรณีเช่นเดียวกัน ประเทศอื่นไม่ให้สิทธิประโยชน์ในทางภาษี ทำให้บริษัทเหล่านี้โอนรายได้บางส่วนเข้ามายังประเทศไทยแทน ทำให้ประเทศต้นทางสูญเสียรายได้ทางภาษีไป ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (Inclusive Framework on BEPS) ประเทศไทยจึงต้องนำโครงการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีดังกล่าวมาปฏิบัติ มิฉะนั้นอาจถูก Forum on Harmful Tax Practices (FHTP) และ Inclusive Framework on BEPS ให้สถานะประเทศไทยเป็น Potentially Harmful หรือ Actually Harmful รวมทั้งการถูกบรรจุชื่ออยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือด้านภาษีของสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบเกิดแก่การลงทุนในประเทศได้” นายณัฐพรกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่า การยกเลิกมาตรภารภาษีในเรื่องนี้มิได้ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้แต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้มาตรการภาษีเกี่ยวกับ ROH2 IHQ และ ITC สิ้นสุดลงในวันที่ 1 มิถุนายน 2562 และทำให้ไม่ได้รับสถานะเป็น Potentially Harmful หรือ Actually Harmful จาก FHTP และ Inclusive Framework on BEPS อีก และทำให้ประเทศไทยไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือด้านภาษีของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ยังรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของไทยและป้องกันไม่ให้ถูกมาตรการตอบโต้จากนานาประเทศ อันจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว

สำหรับรายละเอียดยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ ROH จะยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป, ยกเลิกการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ ดอกเบี้ยที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือและเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2562, ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ ROH2 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป, ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ROH2 แต่ยังคงยกเว้นสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิ.ย. 2562 และจ่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563

ส่วนการยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ IHQ ซึ่งยุติการอนุมัติรายใหม่เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561 จะยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IHQ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยคนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IHQ, ยกเลิกการลดอัตราและการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ เงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ รายได้จากการโอนหุ้นของวิสาหกิจในเครือ รายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศและรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป, ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลและดอกเบี้ยที่ได้รับจาก IHQ แต่ยังคงยกเว้นสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิ.ย. 2562 และจ่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563

สุดท้ายการยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ ITC จะยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ ITC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป และยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ ITC สำหรับรายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศและรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป และยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในไทยสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ITC แต่ยังคงยกเว้นสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ITC ซึ่งจ่ายจากรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิ.ย. 2562 และจ่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563

ปรับปรุงแนวทางกำกับรัฐวิสาหกิจ เน้นนวัตกรรม-บริหารความเสี่ยง

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. … เพื่อใช้แทนหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ปี 2552 โดยให้รัฐวิสาหกิจ รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจเป็นการทั่วไป นำหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ไปปฏิบัติและนำไปใช้กับบริษัทย่อยของรัฐวิสาหกิจด้วย โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของหลักการและแนวทางฯ ประกอบด้วย 9 หมวด ดังนี้

หมวดที่ 1 บทบาทของภาครัฐ

หลักการ ภาครัฐควรมีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลที่ดีในการกำกับดูแลรวมถึงควรมีส่วนในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงการบริหารงานประจำ แต่ยังควรมีการติดตามและกำกับให้รัฐวิสาหกิจดำเนินตามพันธกิจและวัตถุประสงค์ของงองค์กร

สรุปแนวทางที่สำคัญ

    – ภาครัฐควรพิจารณาแยกบทบาทหน้าที่ของภาครัฐในการกำหนดนโยบาย (Policy Maker) การกำกับดูแล (Regulator) การดำเนินการ (Operator) และเจ้าของ (Owner) ออกจากกันให้ชัดเจน
    – ภาครัฐควรมีการรับภาระการชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้จากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ
    – ภาครัฐควรมีหน้าที่กำกับดูแลและติดตามให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการตามพันธกิจและวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการบริหารงาน
    – ภาครัฐในฐานะเจ้าของควรร่วมประชุมในที่ปรุชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและทำหน้าที่โดยชอบผ่านการออกเสียงลงมติ

หมวดที่ 2 สิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น

หลักการ ผู้ถือหุ้นทุกรายถือเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ มีสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกันทุกประการตามที่กฎหมายกำหนดโดยผู้ถือหุ้นสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการให้ทำหน้าที่แทนตน และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญโดยการออกเสียงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจึงควรมีสิทธิได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง เพียงพอและทันเวลาต่อการตัดสินใจ ดังนั้น คณะกรรมการต้องให้ความสำคัญในสิทธิของผู้ถือหุ้นและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ถือหุ้น

สรุปแนวทางที่สำคัญ

    1. การจัดประชุมผู้ถือหุ้น คณะกรรมการควรเสนอเรื่องสำคัญและประเด็นที่อาจมีผลกระทบต่อทิศทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงควรจัดทำข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอต่อการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น และควรอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
    2. การดำเนินการในวันประชุมผู้ถือหุ้น เช่น ประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีหน้าที่ดูแลให้การประชุมผู้ถือหุ้นเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการควรอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสแสดงความเห็นและตั้งคำถามใดๆ ต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งควรสนับสนุนให้มีบุคคลที่เป็นอิสระเป็นผู้ตรวจนับหรือตรวจสอบคะแนนเสียงในการประชุม และเปิดเผยผลการลงทคะแนน พร้อมทั้งบันทึกไว้ในรายงานการประชุม
    3. การจัดทำรายงานการประชุมและการเปิดเผยมติการประชุมผู้ถือหุ้น คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจเปิดเผยมติและรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นให้ถูกต้องครบถ้วน

หมวดที่ 3 คณะกรรมการ
หลักการ คณะกรรมการเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีการปฏิบัติงานเป็นไปตามพันธกิจ วัตถุประสงค์ และนโยบายของภาครัฐ ดังนั้น ควรปฏิบัติงานตามหลักความไว้วางใจ (Fiduciary Duty) และดูแลให้กรรมการ ฝ่ายจัดการ ตลอดจนพนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบระมัดระวัง (Duty of Care) และซื่อสัตย์ต่อองค์กร (Duty of Loyalty) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคณะกรรมการควรมีองค์ประกอบทางความรู้ความสามารถที่เหมาะสม และควรเข้าใจขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการรวมถึงกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุพันธกิจ วัตถุประสงค์ และนโยบายของภาครัฐ

สรุปแนวทางที่สำคัญ

    1. โครงสร้างคณะกรรมการและการสรรหากรรมการ เช่น มีกรรมการที่เป็นอิสระอย่างน้อยจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และควรดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจไม่เกิน 3 แห่ง ในเวลาเดียวกัน รวมถึงไม่ควรดำรงตำแหน่งในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการ (Regulator) ของรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการควรจัดตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รวมถึงทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการอย่างสม่ำเสมอ
    2. การดำเนินงานของคณะกรรมการ โดยได้กำหนด (1) บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ (2) การประชุมคณะกรรมการ (3) การพัฒนาคณะกรรมการ (4) การกำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการ และ (5) การดำเนินงานเกี่ยวกับผู้บริหารสูงสุด ผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน
    3. การประเมินผลคณะกรรมการ คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งแบบรายคณะและรายบุคคล อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งควรนำผลการประเมินคณะกรรมการไปใช้ในการประกอบการพิจารณาความเหมาะสมขององค์ประกอบคณะกรรมการและการดำรงตำแหน่งของกรรมการในวาระถัดไป

หมวดที่ 4 บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
หลักการ ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมีความสำคัญในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปอย่างยั่นยืน ดังนั้น คณะกรรมการควรกำหนดนโยบายให้มีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวตามกฎหมายหรือตามข้อตกลงที่มีกับผู้มีส่วนได้เสีย และกำกับดูแลให้มีกลไกและการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่ผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการพัฒนาการดำเนินงาน และไม่ควรกระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น

สรุปแนวทางที่สำคัญ

    – คณะกรรมการควรกำหนดนโยบายการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียให้ชัดเจน และควรระบุความสำคัญของผู้มีส่วนได้เสียเพื่อกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
    – คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้มีการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

หมวดที่ 5 ความยั่งยืนและนวัตกรรม

หลักการ คณะกรรมการมีหน้าที่กำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานขององค์กรที่คำนึงถึงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการทำงาน การให้บริการ และการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

สรุปแนวทางที่สำคัญ

    – คณะกรรมการควรกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่คำนึงถึงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
    – คณะกรรมการควรส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรมและนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการทำงาน การให้บริการและบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

หมวดที่ 6 การเปิดเผยข้อมูล

หลักการ คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ อย่างถูกต้อง เชื่อถือได้ ครบถ้วน เพียงพอ ทันเวลา และเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สาธารณชนและผู้มีส่วนได้เสียสามารถใช้ในการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม และคณะกรรมการควรดูแลช่องทางการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนและผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

สรุปแนวทางที่สำคัญ

    – คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้มีกระบวนการการจัดทำข้อมูลที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจและกำกับดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญได้อย่างถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
    – คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านทางช่องทางต่างๆ ที่เข้าถึงได้อย่างสะดวก

หมวดที่ 7 การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน

หลักการ ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่อาจทำให้แผนงานหรือการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจไม่บรรลุตามพันธกิจและวัตถุประสงค์ โดยก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อองค์กร โดยการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในที่เหมาะสมจะสามารถป้องกันหรือลดโอกาสที่เกิดผลเสียหายจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น คณะกรรมการจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายใน เพื่อให้สามารถกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

สรุปแนวทางที่สำคัญ

    1. การบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการควรมีความรู้ความเข้าใจในความเสี่ยงที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจและการบริหารความเสี่ยง และควรพิจารณากำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงและจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยง รวมถึงควรจัดให้มีคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและหน่วยงานที่มีหน้าที่ประเมินและกำกับดูแลความเสี่ยง
    2. การควบคุมภายใน เช่น คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้มีบุคคลหรือหน่วยงานตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาและสอบทานประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายในและจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันที่ชัดเจน และสื่อสารให้บุคลากรทุกระดับในรัฐวิสาหกิจได้รับทราบ

หมวดที่ 8 จรรยาบรรณ

หลักการ คณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องของจรรยาบรรณและกำกับดูแลให้กรรมการผู้บริหาร และพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกคนยึดถือและปฏิบัติให้สอดคล้องและอยู่ในทิศทางเดียวกัน รวมถึงจัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนเมื่อพบเห็นการประพฤติปฏิบัติที่ผิดจรรยาบรรณหรือไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติ

สรุปแนวทางที่สำคัญ

    – คณะกรรมการควรกำหนดแนวปฏิบัติด้านจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและควรดูแลให้เรื่องจรรยาบรรณเป็นเรื่องที่กรรมการ ฝ่ายจัดการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกคนยึดถือและปฏิบัติ
    – คณะกรรมการควรกำหนดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน และมีมาตรการในการตรวจสอบและคุ้มครองผู้ที่ร้องเรียนอย่างเหมาะสม

หมวดที่ 9 การติดตามผลการดำเนินงาน

หลักการ ภาครัฐในฐานะเจ้าของควรหารือกับคณะกรรมการเพื่อกำหนดข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายและขอบเขตการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และควรจัดให้มีผู้ประเมินผลการดำเนินงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเข้าใจในเป้าหมายและขอบเขตการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งติดตามให้รัฐวิสาหกิจนำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานต่อไปโดยคณะกรรมการมีบทบาทในการกำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจ ดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตกลงไว้ในข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงาน

สรปุแนวทางที่สำคัญ
– คณะกรรมการควรหารือร่วมกับภาครัฐในฐานะเจ้าของในการจัดทำข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน รวมถึงควรกำกับดูแลให้มีการนำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และควรเผยแพร่ผลการดำเนินงานเทียบกับเป้าหมายตามข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานให้กับผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และ พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ลดเบี้ยประชุมคณะกก.อีอีซี – จาก 2.5 หมื่นเหลือ 1 หมื่น

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สกพอ. กำหนดมาตรฐานระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก บริการที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรม รูปแบบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเฉพาะด้าน (Cluster) และให้ กนอ. พิจารณารับรองมาตรฐานระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกบริการที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมรูปแบบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเฉพาะด้าน (Cluster) และการกำกับดูแลเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษต่อไป

สุดท้าย เห็นชอบให้ปรับอัตราค่าเบี้ยประชุมและอัตราค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของสกพอ. ให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) กำหนด ทั้งนี้ กค. เห็นว่า การกำหนดค่าตอบแทนเบี้ยประชุมสำหรับคณะกรรมการนโยบายคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการเฉพาะกิจ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เห็นควรกำหนดให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน ดังนี้ ประธานกรรมการนโยบาย 10,000 บาท/เดือน, กรรมการนโยบาย 8,000 บาท/เดือน, ประธานกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ประธานกรรมการตรวจสอบ ประธานกรรมการเฉพาะกิจ 5,000 บาท/เดือน, กรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรรมการตรวจสอบกรรมการเฉพาะกิจ 4,000 บาท/เดือน, ประธานอนุกรรมการ 5,000 บาท/เดือน และอนุกรรมการ 4,000 บาท/เดือน

“การปรับเบี้ยประชุมลดลงจากเดิมที่คณะกรรมการฯอ้างอิงกับองค์การมหาชน ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่าควรเทียบกับคณะกรรมการระดับชาติต่างๆ แทน เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น จึงเห็นชอบให้ปรับลดลงมา โดยของเดินประธานกรรมการจะได้รับเบี้ยประชุมอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาทต่อเดือน ส่วนตำแหน่งอื่นๆ จะลดหลั่นกันลงมาเช่นเดียวกัน” นายณัฐพรกล่าว

แก้กฎหมาย ป.ป.ท. เพิ่มอำนาจสั่งฟ้อง-พกอาวุธ-เร่งกรอบเวลาไต่สวน

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเสนอ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น

กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลเกี่ยวกับการกระทำการทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสรุปสำนวนพร้อมทั้งความเห็นส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีอาญา และมีอำนาจขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจออกหมายจับและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนีในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง หรือไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลว่าผู้ใดกระทำความผิดและความผิดนั้นมีโทษทางอาญา

มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ซึ่งเป็นพยาน

เพิ่มเติมบทกำหนดโทษกรณีเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมิได้รับมอบหมาย กรณีขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. อนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง พนักงาน ป.ป.ท. หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ในการปฏิบัติหน้าที่และกรณีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฟ้องเท็จหรือเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเพื่อจะแกล้งบุคคลใดให้ถูกไต่สวนข้อเท็จจริง

กำหนดให้กรรมการ อนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง พนักงาน ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. มี ใช้ และพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ รวมถึงกำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ท. มีอำนาจในการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุน โครงการ บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินแผ่นดิน ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินโครงการใดมีการกำหนดวงเงินสูงเกินที่เป็นจริง หรือไม่คุ้มค่า ให้สำนักงานมีอำนาจในการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริง แล้วแจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ไฟเขียว 34,838 ล้าน ผลิตแพทย์ระยะแรก 9,000 คน

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการผลิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 (ดำเนินการเฉพาะในระยะที่ 1 พ.ศ.2561-2564) ในวงเงินงบประมาณ 34,838.4 ล้านบาท คิดเป็นเงินอุดหนุน 3.8 ล้านบาทต่อแพทย์หนึ่งคน เพื่อรองรับระบบบริการสาธารณะสุขทั้งประเทศให้มีคุณภาพเพียงพอ ในสัดส่วนประชาชนที่จะเข้ารับบริการ 3,100 คนต่อปี โดยตั้งเป้าให้มีจำนวนแพทย์ต่อประชากรในอัตราส่วน 1:1,200 ในปี 2576 เพื่อให้ใกล้เคียงกับสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ทั้งนี้รายละเอียดของโครงการ แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่1 ระหว่างปี 2561-2564 เป็นงบดำเนินการผลิตบัณฑิตในอัตรา 1.8 ล้านบาทต่อคนต่อหลักสูตร หรือ 300,000 บาทต่อคนต่อปี รวมวงเงิน 16,502.4 ล้านบาท และงบลงทุนเพื่อสนับสนุนโครงการพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนด้านแพทย์ในอัตรา 2 ล้านบาทต่อคนต่อหลักสูตร รวม 18,336 ล้านบาท สำหรับผลิตนักศึกษาแพทย์จำนวน 9,168 คน และแผนระยะที่ 2 ระหว่างปี 2565-2570 กรอบวงเงินงบประมาณ 58,497.2 ล้านบาท สำหรับผลิตนักศึกษาแพทย์จำนวน 15,394 คน

อนึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย 2556-2560 ซึ่งรับนักศึกษาแพทย์ได้ทั้งสิ้น 8,137 คน จากเป้าหมาย 9,039 คน คิดเป็นร้อยละ 90.02 ซึ่งในครั้งนี้มีแผนการรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มจากแผนการรับปกติ จำนวน 24,562 คน กรอบวงเงินรวมทั้งโครงการ 93,335.6 ล้านบาท

เห็นชอบ ขรก.บรรพชาอุปสมบท เฉลิมพระเกียรติฯ ไม่เป็นวันลา

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 2-16 พฤษภาคม 2562 รวมระยะเวลา 15 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา และได้รับเงินเดือนตามปกติ สำหรับข้าราชการทุกประเภท พนักงานข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป้าหมายจำนวนไม่น้อยกว่า 6,810 รูป

ทั้งนี้บุคคลากรที่เคยลาบรรพชาอุปสมบทระหว่างรับราชการมาแล้วสามารถลาบรรพบาชอุปสมบทเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ตามมติ ครม. ครั้งนี้ได้อีก และบุคคลที่ไม่เคยลาบรรพชาอุปสมบท หากได้ลาบรรพชาอุปสมบทเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ตามมติ ครม. ในครั้งนี้แล้ว จะไม่มีผลกระทบถึงสิทธิในการลาบรรพชาอุปสมบทในอนาคต

โดยผู้ลาบรรพชาอุปสมบทจะต้องเข้าร่วมบรรพชาอุปสมบทในโครงการที่ส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนร่วมกับคณะสงฆ์จัดขึ้นเป็นโครงการอย่างชัดเจน และมีการจัดอบรมหลักสูตรสำหรับผู้บวชระยะสั้นที่คณะสงฆ์กำหนด ภายในระยะเวลากำหนดโครงการไม่เกิน 15 วัน หากไม่เข้าร่วมโครงการตามที่กำหนดจะไม่ได้รับสิทธิการลาตามมติ ครม.

รับทราบแผนลดอุบัติเหตุ ช่วงสงกรานต์

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานที่ประชุม ครม. ถึงแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงสงกรานต์ 2562 ในปีนี้จะมีการรณรงค์ช่วยสงกรานต์โดยใช้ชื่อว่า “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกประชาสัมพันธ์ในวันที่ 11 มีนาคม – 17 เมษายน 2562 ช่วงที่ 2 การเตรียมความพร้อมและรณรงค์ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม – 20 เมษายน และช่วงที่ 3 ควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุและการป้องกันการเกิดอุบัติภัยต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และมาตรการต่างๆ ที่การกระทรวงมหาดไทยกำหนดจะมีมาตรการที่สำคัญ เช่น ลดปัจจัยเสี่ยงด้านคนเช่นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจึงกันต่อเนื่อง, ด้านสังคมและชุมชน, การรับรู้และสร้างจิตสำนึกการสร้างความปลอดภัยทางถนน, การดำเนินการมาตรการขององค์กรหน่วยงานภาครัฐ, ลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม และทางแยกต่างๆให้สมบูรณ์ 100%, การลดปัจจัยเสี่ยงของยานพาหนะ, การช่วยเหลือนักท่องเที่ยว, การสร้างความปลอดภัยการสัญจรทางน้ำ, มาตรการบริหารจัดการ