ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > ธ.กรุงไทย – สำนักงานศาลยุติธรรมพัฒนาระบบศาลดิจิทัล พร้อมรับชำระค่าธรรมเนียมผู้ใช้บริการ e-filing ไตรมาส 3

ธ.กรุงไทย – สำนักงานศาลยุติธรรมพัฒนาระบบศาลดิจิทัล พร้อมรับชำระค่าธรรมเนียมผู้ใช้บริการ e-filing ไตรมาส 3

15 มีนาคม 2019


นายสราวุธ เบญจกุล (ที่2 จากซ้าย)เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ นายผยง ศรีวณิช (ที่ 2จากขวา)กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาระบบศาลดิจิทัล โดยมี ศาตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์(กลาง) กรรมการธนาคาร ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน ที่อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 สำนักงานศาลยุติธรรมโดยนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงาน และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) โดย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาระบบศาลดิจิทัล เพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษาคดี การบริหารจัดการ และการให้บริการประชาชน เชื่อมฐานข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม เพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน

นายผยง ศรีวณิช เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายสำคัญๆรวมทั้ง National e-Payment ของภาครัฐ การร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อพัฒนาระบบศาลดิจิทัลในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ธนาคารให้ความสำคัญ โดยเป็น 1 ใน 5 Ecosystems ที่ธนาคารมุ่งเน้น ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ธนาคารได้รับความไว้วางใจ ในการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม มาส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษาคดี การบริหารจัดการ และการให้บริการประชาชน ซึ่งทั้ง 2 สถาบัน จะร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อก้าวสู่ระบบศาลดิจิทัลในอนาคต โดยการพัฒนาและขยายผลระบบการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ให้ครอบคลุมศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ศาลชั้นต้นที่เป็นศาลชำนาญพิเศษและศาลพิเศษ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการเพิ่มเติม เช่น การยื่นฟ้องคดีอาญา การขอหมายจับ หมายค้น การจัดเก็บและให้บริการคัดถ่ายสำเนาพิพากษาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

“นอกจากนี้ ยังเตรียมเชื่อมต่อระบบของสำนักงานศาลยุติธรรมกับศาลต่างๆที่เข้าร่วมโครงการ การประสานงานขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมบังคับคดี เพื่อใช้ระบบงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของคู่ความ ทนายความ ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ศาล หรือประชาชนทั่วไป ในการเข้าถึงระบบของสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน ช่วยให้สามารถติดตามได้ง่าย รวมทั้งเพิ่มความสะดวก ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการติดต่อราชการศาลยุติธรรมของประชาชน”

นายผยง ศรีวณิช กล่าวต่อไปว่า ธนาคารยังเป็นผู้ให้บริการรับชำระเงินกับผู้ใช้บริการ e-Filing ค่าธรรมเนียมต่างๆของสำนักงานศาลยุติธรรมอย่างครบวงจร ด้วยชำระผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิต ชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ชำระผ่านตู้ ATM เว็บไซต์ ตลอดจนกรุงไทย NEXT โดยจะเริ่มทยอยติดตั้งและให้บริการกับศาลต้นแบบในต้นไตรมาส 3 นี้