ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ “มติเอกฉันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ ‘ประยุทธ์’ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ” และ “กราดยิงมัสยิดนิวซีแลนด์ เจ็บ 48 ตาย 49”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ “มติเอกฉันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ ‘ประยุทธ์’ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ” และ “กราดยิงมัสยิดนิวซีแลนด์ เจ็บ 48 ตาย 49”

16 มีนาคม 2019


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 9-15 มี.ค. 2562

  • มติเอกฉันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ “ประยุทธ์” ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะลักษณะไม่ครบถ้วน
  • กกต. แจง โต๊ะจีน พปชร. รอดยุบพรรคแค่เรื่องต่างชาติบริจาค เรื่องอื่นยังไม่แล้วเสร็จ
  • นายกฯ เตือนพรรคการเมือง หาเสียงต้องดู กม.-รายได้รัฐ
  • อย. ชี้ชัด โฆษณาเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ “ห้ามโยงเบียร์”
  • กราดยิงมัสยิดนิวซีแลนด์ เจ็บ 48 ตาย 49
  • มติเอกฉันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ “ประยุทธ์” ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะลักษณะไม่ครบถ้วน

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กแฟนเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha (http://bit.ly/2FgPuQP)

    วันที่ 14 มี.ค. 2562 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า สำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ได้มีประชุมพิจารณาการวินิจฉัยกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบกรณีพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 นั้น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 88 และ 89 และมาตรา 160 ประกอบมาตรา 98 คือ ตำแหน่ง หัวหน้า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย จะถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่

    นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดิน เปิดเผยผลประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ในที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุติการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และจะไม่ส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยกรณีดังกล่าวเช่นกัน

    ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเห็นว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งเคยบัญญัติไว้ในมาตรา 109 และ 40 ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะดังนี้ 1. ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และ มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตามกฎหมาย

    ทั้งนี้คำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” เป็นถ้อยคำเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ว่า จะต้องมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานเดียวกันกับพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

    แต่เมื่อพิจารณาสถานะของ พล.อ. ประยุทธ์ แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติงานประจำโดยมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้บริหารราชการแผ่นดินตามประกาศแต่งตั้งหัวหน้า คสช. ทำให้ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้มีสถานะครบถ้วนทั้ง 4 ประการ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

    ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงไม่ได้มีสถานะเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามที่ถูกร้องเรียน ดังนั้นการที่ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ประกาศรายชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าว

    กกต. แจง โต๊ะจีน พปชร. รอดยุบพรรคแค่เรื่องต่างชาติบริจาค เรื่องอื่นยังไม่แล้วเสร็จ

    นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)

    จากกรณีการตรวจสอบการระดมทุนโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบนิติบุคคล 40 ราย และบุคคล 84 คน ที่เกี่ยวข้องกับเงินบริจาคดังกล่าว ไม่พบการบริจาคจากต่างชาติ จึงถือว่ากรณีดังกล่าวไม่มีความผิดเข้าข่ายยุบพรรค ซึ่งจะมีการสรุปเรื่องดังกล่าวส่งให้กรรมการ กกต.ต่อไป

    การเปิดเผยดังกล่าว ได้ทำให้เกิดความสงสัยว่า กกต. พิจารณาไม่เป็นไปตามคำร้อง ดังที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตั้งข้อสงสัยตามการรายงานของเว็บไซต์ข่าวสดว่า ไม่ทราบว่าเลขาฯ กกต. นำมาจากคำร้องของผู้ใด เพราะสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยไม่เคยร้องว่าเงินที่พรรค พปชร. จัดระดมทุนโต๊ะจีนนั้น มีบุคคลต่างชาติบริจาคหรือไม่ แต่คำร้องที่สมาคมฯร้องให้ กกต.ตรวจสอบ คือ 

    1) มีข้าราชการและหรือหน่วยงานรัฐร่วมบริจาคทั้งทางตรงหรือทางอ้อมตามมาตรา 76 แห่งพรป.พรรคการเมือง 2560 หรือไม่ อย่างไร

    2) เงินที่นิติบุคคลบางแห่งบริจาคนั้น เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด แต่ทำไมจึงมีศักยภาพในการบริจาคได้ ซึ่งอาจเข้าข่ายมาตรา 72 และหรือมาตรา 29 แห่ง พรป.พรรคการเมือง 2560 หรือไม่

    3) มีพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กทม. ททท. ฯลฯ มาร่วมซื้อโต๊ะและหรือบริจาคด้วยหรือไม่ ตามที่มีชื่อปรากฎในแผนผังของการจัดโต๊ะจีนดังกล่าว

    เว็บไซต์ไทยพับลิก้ารายงานว่า นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองยุติการสอบสวนการระดมทุนโต๊ะจีนของพรรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากไม่เข้าข่ายเป็นความผิด ว่าได้รับทราบจากนายทะเบียนว่าตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่ามีหน่วยงานของรัฐ บุคคลต่างชาติให้เงินสนับสนุน จึงจะเสนอ กกต. ยุติเรื่อง ซึ่งตามกฎหมายแล้ว กกต. คงทำได้เพียงการรับทราบ ไม่สามารถที่จะให้นายทะเบียนตั้งกรรมการสอบใหม่ แต่ในคำร้องเรื่องดังกล่าวมีหลายประเด็น อาจจะมีบางประเด็นอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสำนักงาน

    ส่วนที่ผู้ร้องมองว่าเรื่องดังกล่าว กกต. พิจารณาไม่เป็นไปตามคำร้องนั้น เรื่องนี้เข้าใจว่ายังอยู่ในการดำเนินงานของสำนักงานซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ การตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริจาคไปเป็นคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐอาจเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ปรากฏ ต้องไปถามเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง

    นายกฯ เตือนพรรคการเมือง หาเสียงต้องดู กม.-รายได้รัฐ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ (http://bit.ly/2Feqc5Y)

    เว็บไซต์ไทยรัฐรายงาว่า ได้มีการส่งสารจากนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงวันที่ 15 มี.ค.2562 โดยมีใจความว่า

    นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นถึงการหาเสียงของทุกพรรคการเมือง กรณีการชูนโยบายว่าจะดำเนินการเรื่องใดๆ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณรัฐจำนวนมากบางเรื่องก็อาจกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ เอกชนรวมถึงภาครัฐ เช่น ด้านการศึกษา สวัสดิการและการขึ้นค่าแรง จึงขอยืนยันว่า ทุกรัฐบาลจะต้องดำเนินการภายใต้ระเบียบ วิธีการ กฎหมายด้านงบประมาณ การเงิน การคลังและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับรายได้และสัดส่วนงบประมาณโดยรวมของรัฐ

    มีทางเดียวที่จะทำได้ตามที่หลายพรรคการเมืองหาเสียงกันไว้ คือ รัฐต้องมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการเก็บภาษีทั้งทางตรงทางอ้อมกำไรและรายได้ของรัฐวิสหกิจ ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยให้มากขึ้น และหากงบประมาณไม่เพียงพอก็ต้องกู้เงิน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นด้วย การขึ้นค่าแรงก็ต้องไม่กระทบต่อการลงทุน การย้ายฐาน การผลิต การลงทุน ในขณะที่เรากำลังเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐ เพิ่มงาน เพิ่มอาชีพ และเพิ่มการดูแลสวัสดิการให้กับประชาชนคนไทย 

    ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่า หากเรายังหารายได้ให้รัฐมากขึ้นไม่เพียงพอ ก็จะไม่สามารถทำตามนโยบายที่หลายพรรคการเมืองหาเสียงไว้ได้ ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะเป็นใครพรรคใด จะต้องมีธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน อันได้แก่ หลักคุณธรรม ความโปร่งใส ความมีส่วนร่วมความรับผิดชอบ ความคุ้มค่า เราควรต้องได้นายกรัฐมนตรีแบบนี้ที่มีธรรมาภิบาล บริหารราชการอยู่ในกฎระเบียบ กติกา กฎหมาย การดำเนินโครงการและงบประมาณจะต้องชี้แจงได้ว่าเราจะหางบประมาณมาจากไหน และอยู่ในวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูแลประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ

    อย. ชี้ชัด โฆษณาเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ “ห้ามโยงเบียร์”

    ที่มาภาพ: Adam Wilson บนเว็บไซต์ Unsplash (http://bit.ly/2O5YCKR)

    วันที่ 13 มี.ค. 2562 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปิดตัวสินค้าใหม่เป็นเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ และพบว่ามีการโฆษณาในทำนองว่าเป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาขอชี้แจงว่า เบียร์จัดเป็นสุราตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งหมายถึงวัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา แต่ไม่รวมถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5 ดีกรี การนำเบียร์ มาสกัดแอลกอฮอล์ออกหรือลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงให้ไม่เกิน 0.5 ดีกรี หรือไม่เกินร้อยละ 0.5 จัดเป็นเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท โดยผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และต้องส่งผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ประกอบการพิจารณา โดยต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์คงเหลือในผลิตภัณฑ์ไม่เกินร้อยละ 0.5 จึงจะได้รับเลขสารบบอาหาร ซึ่งจากการตรวจสอบฐานข้อมูลการอนุญาตของ อย. พบการอนุญาตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ ภายใต้ชื่อ “เครื่องดื่มมอลต์ที่สกัดแอลกอฮอล์ออก” และ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์” จำนวนทั้งสิ้น 23 รายการ

    ทั้งนี้ การโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่สกัดแอลกอฮอล์ออก/ลดปริมาณแอลกอฮอล์ที่เป็นการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ ต้องขออนุญาตโฆษณากับ อย. ก่อนจึงจะสามารถเผยแพร่ได้ โดยการโฆษณาแจกแจงคุณประโยชน์ของสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารจะสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริง และต้องแสดงข้อมูลบนฉลากโภชนาการเพื่อให้ผู้บริโภคทราบด้วย

    และการโฆษณาดังกล่าวต้องไม่สื่อในทำนองที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงถึงเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมแสดงข้อความ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์/สกัดแอลกอฮอล์ออก” ปรากฏคู่กับการแสดงภาพเครื่องดื่มดังกล่าวทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์

    หากตรวจพบการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากพบการเชื่อมโยงกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือชักจูงให้ผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือการแสดงคุณภาพ สรรพคุณ คุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้เข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ ที่ยังไม่ผ่านการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    สำหรับกรณีผลิตภัณฑ์ที่เป็นข่าว อย. ตรวจสอบแล้วพบเป็นการรีวิวผลิตภัณฑ์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และ อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้รีวิวต่อไป

    นอกจากนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากพบความเชื่อมโยงกับเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกด้วย จึงขอให้ผู้บริโภควางใจ

    เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในการดำเนินงานของ อย. ซึ่ง อย. ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้และไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีดังกล่าว

    กราดยิงมัสยิดนิวซีแลนด์ เจ็บ 48 ตาย 49

    วันที่ 15 มี.ค. 2562 เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่า เกิดเหตุกราดยิงภายในมัสยิดแห่งหนึ่งใจกลางเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ หลังพิธีละหมาดใหญ่ สื่อบางสำนักรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 40 คน ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

    เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอต มอร์ริสัน ระบุว่า มือปืนเป็นผู้ก่อการร้าย “หัวรุนแรง ขวาจัด” ขณะที่นิวซีแลนด์รับมือกับเหตุการณ์นี้ในฐานะการก่อการร้าย และยกระดับเตือนภัยขั้นสูงสุด

    ตำรวจระบุว่าจะนำตัวชายวัย 28 ปี ซึ่งถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมไปขึ้นศาลในเช้าวันเสาร์ นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกจับกุมอีกสองคนที่ถูกควบคุมตัว ส่วนอีกคนหนึ่งไม่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

    เหตุกราดยิงเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นที่มัสยิด อัล นูร์ ใจกลางเมืองไครสต์เชิร์ช เป็นจุดที่สื่อรายงานว่ามีประชาชนพยายามหนีเอาตัวรอด และมีคนนอนจมกองเลือดด้านนอกมัสยิด

    ส่วนเหตุการณ์ที่สองเกิดที่มัสยิดชานเมืองลินวูด ซึ่งในจุดที่สองนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์น้อยมาก แต่ที่นี่ตำรวจสามารถปลดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่ติดอยู่กับรถยนต์ออกไปได้

    ด้านนางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ ซึ่งได้เรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อรับมือสถานการณ์วิกฤต เป็นผู้เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้นางอาร์เดิร์นกล่าวว่าวันนี้ถือเป็นวันแห่งความมืดมนที่สุดของนิวซีแลนด์ ส่วนที่นิวซีแลนด์ตกเป็นเป้านั้นไม่ใช่เพราะเป็นสถานที่รองรับความเกลียดชังและความแตกแยก

    นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์กล่าวด้วยว่า บุคคลที่ถูกจับกุมไม่ได้อยู่ในบัญชีผู้ก่อการร้ายที่ถูกจับตา แต่ชัดเจนว่าเป็นผู้ที่มีแนวคิดสุดโต่ง

    นางอาร์เดิร์น ยังยืนยันถึงการพบระเบิดแสวงเครื่องที่ถูกนำไปติดไว้กับรถยนต์ของผู้ก่อเหตุ แต่ไม่อาจระบุได้ว่า เป็นแผนที่จะก่อเหตุระเบิดรถยนต์หรือไม่

    อนึ่ง จากรายงานของบีบีซีไทย เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้บาดเจ็บ 48 คน และเสียชีวิต 49 คน