ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ห้องปฏิบัติการทางสังคม บทสรุปแบบจำลอง Organic Tourism กับการปลดล็อกห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ไม่เป็นธรรม

ห้องปฏิบัติการทางสังคม บทสรุปแบบจำลอง Organic Tourism กับการปลดล็อกห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ไม่เป็นธรรม

26 มีนาคม 2019


แม้จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ก็มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนแนวคิด “ระบบอาหารยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ให้ทุกคนได้รับประโยชน์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหนในห่วงโซอาหารก็ตาม

หนึ่งในนั้นคือการเริ่มต้นขับเคลื่อน “organic tourism” หรือการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน มีการก่อตั้ง “แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) จำกัด” ขึ้นเป็นครั้งแรกของไทยและของโลก เมื่อเดือนธันวาคม 2560 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาเป็นภาคีพันธมิตร เชิญชวนให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร มาร่วมขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบอาหารของประเทศ

อย่างไรก็ตาม กว่า 1 ปีที่ผ่านมา การดำเนินงานของเครือข่ายเจออุปสรรคและปัญหาอยู่พอสมควร แต่หนึ่งในผู้ตั้งแล็บอาหารยั่งยืนอย่าง “อรุษ นวราช” กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน ได้กล่าวในงาน “สรุปผล 1 ปี การขับเคลื่อน Organic Tourism” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีปัญหามากมาย แต่ก็สามารถทำงานร่วมกันจนสามารถก้าวข้ามปัญหาไปได้ เกิดความเชื่อมั่นระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้แล็บอาหารยั่งยืนดำเนินงานมาได้ถึงปัจจุบัน และจะร่วมกำหนดทิศทางและขยายผลพัฒนาต่อไปในอนาคต

1 ปีแล็บอาหารยั่งยืน กับ Organic Tourism: เส้นทางแห่งการเรียนรู้

หนึ่งในกลไกขับเคลื่อนสำคัญของ organic tourism คือการใช้สามพรานโมเดล ซึ่งเป็นโมเดลวิสาหกิจเพื่อสังคม ดึงคนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม หรือโซเชียลแล็บ เปิดโอกาสให้คนตลอดห่วงโซ่อาหารมาทดลองทำงานร่วมกัน โดยมีทีมสามพรานโมเดล ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานกว่า 7 ปี ทำหน้าที่เป็นทีมพี่เลี้ยง ใช้สวนสามพรานเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ

โดยใน 1 ปีที่ผ่านมา ได้มุ่งขับเคลื่อนไปในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางภาคเหนือ มีความสนใจและตื่นตัวเรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นทุนเดิมอยู่บ้างแล้ว

จากข้อมูลของแล็บอาหารยั่งยืนระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เข้าร่วมขับเคลื่อนท่องเที่ยววิถีอินทรีย์กว่า 200 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล แบงค็อก, โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ, โรงแรมอนันตาสยาม กรุงเทพฯ เครือดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท ห้องอาหารสีฟ้า จำกัด, ร้าน Patom Organic Living เป็นต้น

ส่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น ตลาดจริงใจ มาร์เก็ต, โรงแรมรายาเฮอริเทจ, โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ, โรงแรม วิลล่ามหาภิรมย์, ร้านอาหารอิ่มเอม, ร้านอาหารจินเจอร์ฟาร์ม, อันจะกินวิลล่า, ซาร่าคิทเช่น, เลอ คริสตัล เป็นต้น โดยในพื้นที่เชียงใหม่ยังเกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม “เจียงใหม่ ออร์แกนิก” ทำหน้าที่เชื่อมโยงเชฟและผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้มาเรียนรู้ เข้าใจผู้ผลิต และเปลี่ยนวิถีการทำอาหารมาใช้วัตถุดิบอินทรีย์ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์มื้อค่ำอินทรีย์ เจียงใหม่ ออร์แกนิก เชฟเทเบิล อีกด้วย

อรุษเล่าว่า การขับเคลื่อนเรื่อง organic tourism กับสามพรานโมเดล ถือเป็นเรื่องเดียวกัน โดยใช้หลักการสามพรานโมเดลมาประยุกต์กับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สร้างสังคมใหม่ระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ใช้อาหารอินทรีย์เป็นตัวเชื่อมโยง ยกระดับทั้งห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเกษตรกรที่เคยพึ่งพาสารเคมี พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ก็หันกลับมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น

ส่วนผู้ประกอบการ จากที่เคยซื้อผลผลิตที่ไหนก็ได้ ไม่ได้คิดว่าเกษตรกรสำคัญ ไม่เคยรู้จักเกษตรกรเลย ก็ได้รู้จักและเข้าใจเกษตรกรมากขึ้น กลายเป็นสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ ทำให้เข้าใจชีวิต เข้าใจโลกมากขึ้นกว่าเดิม แถมยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อย่างไรก็ตาม สังคมใหม่แบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย แล็บอาหารยั่งยืนเป็นเพียงผู้ประสานให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเท่านั้น

อรุษบอกว่า หลังจากนี้เครือข่ายฯ มีเป้าหมายที่จะขยายการขับเคลื่อน organic tourism ออกไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น เชียงราย ลำพูน ลำปาง รวมไปถึงภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์โยบายของ ททท. เรื่องการท่องเที่ยวเมืองรองได้ และจะเป็นจุดขายใหญ่ทางด้านการท่องเที่ยวที่สามารถส่งเสริมต่อยอดได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ขับเคลื่อนเรื่อง organic tourism ขณะเดียวกันยังตอบโจทย์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า ที่ไม่ได้ทำแค่เกษตรกรเท่านั้น แต่ทำทั้งห่วงโซ่อาหารทั้งหมด ทั้งผู้ประกอบการ ทั้งผู้บริโภค

“อยากให้เราภูมิใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ขับเคลื่อน organic tourism เพราะ gastro tourism หรือ green tourism ทุกที่มีหมดแล้ว แต่ organic tourism เราน่าจะเอาตรงนี้เป็นจุดขายของประเทศไทย ททท. น่าจะส่งเสริมตรงนี้ได้”

ขณะที่ “ดร.อุดม หงส์ชาติกุล” อีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแล็บอาหารยั่งยืน กล่าวเสริมว่า การขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวถือเป็นเส้นทางแห่งการเรียนรู้ ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัวในการที่จะทำให้ระบบอาหารในประเทศไทยยั่งยืนขึ้น แต่ได้นำแนวคิดและประสบการณ์จากสามพรานโมเดลมาปรับเปลี่ยน แก้ไข ประยุกต์ใช้ และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผลที่ทำแล้วทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ได้จริงๆ

“เส้นทางที่เริ่มต้นมาปีกว่าจนถึงวันนี้ และต่อจากนี้ไป ยังยืนยันว่าจะเป็นเส้นทางแห่งการเรียนรู้ ทุกคนที่เข้ามาขับเคลื่อนจะเรียนรู้ร่วมกัน และปรับตัวอยู่เสมอ เป็นการปรับตัวโดยเข้าใจเพื่อนร่วมทาง เกษตรกรเข้าใจผู้ประกอบการมากขึ้น เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น ในทางกลับกัน ผู้ประกอบและผู้บริโภคก็เข้าใจเกษตรกร เข้าใจผู้ผลิตมากขึ้น” ดร.อุดมกล่าว

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ หารือกันว่า ในอนาคตอาจจะนำประสบการณ์จากการขับเคลื่อน organic tourism ไปเผยแพร่ในเวทีนานาชาติ ในการจัดงานท่องเที่ยวระดับโลกที่น่าสนใจ เป็นพื้นที่ให้เรานำเสนอประเทศไทยในอีกรูปแบบหนึ่งได้

เสียงจากเกษตรกร

“ประหยัด ปานเจริญ” ประธานกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ บ้านหัวอ่าว อ.สามพราน จ.นครปฐม เล่าว่า จากการปรับตัวร่วมทำงานกับผู้ประกอบการ ทำให้รู้ความต้องการ เห็นปัญหาว่าผลผลิตยังไม่ได้คุณภาพ จึงมีการปรับปรุงผลผลิตและคุณภาพก่อนส่งมอบ ทำให้สามารถวางแผนและปรับตามความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น

ส่วน “อรุณี พุทธรักษา” ประธานกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ในเครือข่ายสามพรานโมเดล กล่าวว่า การทำงานร่วมกัน ทำให้รู้และเข้าใจปัญหาของทุกฝ่าย เมื่อมาคุยกัน เข้าใจกัน ยอดการผลิตก็เริ่มลงตัว รายได้ของเกษตรกรก็เพิ่มมากขึ้น

ผู้ประกอบการปรับตัว-สร้างสตอรีตอบโจทย์ธุรกิจ

“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมเดอะสุโกศล เล่าว่า เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนัก กระทั่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วได้รับตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อมสมาคมโรงแรมไทย ทำให้ได้เรียนรู้ เข้าใจ และเกิด passion ลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง บวกกับมีหน้าที่เชิญชวนให้โรงแรมเข้าร่วมโครงการฟาร์ม ทู ฟังก์ชั่น ซื้อข้าวโดยตรงจากเกษตรกร ซึ่งโรงแรมเดอะ สุโกศล ได้เข้าร่วมโครงการด้วย และซื้อข้าวจากเกษตรกรจริงๆ

“นี่คือการปรับตัวของโรงแรม เราต้องเปลี่ยนระบบภายใน เชฟของโรงแรมก็ต้องปรับการทำงานด้วย เราเริ่มรู้จักเกษตรกร เริ่มสั่งซื้อข้าวไรซ์เบอร์รี และแบบอื่นๆ มาให้บริการลูกค้า เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดี เชฟก็อยากทำ ลูกค้าก็ประทับใจ ส่วนปีที่แล้วก็เริ่มซื้อผักผลไม้จากเกษตรกรด้วยเช่นกัน”

“แต่การที่เราเข้าร่วมโครงการ หรือทำอะไรแบบนี้ ต้องตอบโจทย์ธุรกิจให้ได้ด้วย ต้องทำประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดสตอรีขึ้นมา สร้างแบรนด์ให้กับเราได้ด้วย เราถึงจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในแง่ธุรกิจ ยกตัวอย่าง เช่น มีการประชุมแบบ “กรีนมีตติง” ใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด หรือมี “กรีนคอฟฟีเบรก” ทำมาแล้ว 2-3 ปี” มาริสากล่าวถึงการปรับตัวของโรงแรม

แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับสามพรานโมเดล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดเวที “สรุปผล 1 ปี การขับเคลื่อน Organic Tourism” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

“ณภัทร นุตสติ” ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมรายาเฮอริเทจ และแทมมาริน วิลเลจ เชียงใหม่ บอกว่า ในฐานะที่เป็นคนกลางน้ำ เมื่อได้เข้าไปทำความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริงกับภาคเกษตรกรและภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดเรียนรู้จนนำไปสู่การขับเคลื่อนได้ เนื่องจากเกษตรกรและเพื่อนๆ ที่เชียงใหม่ให้ความร่วมมือสู้ไปด้วยกัน แม้ระหว่างทางจะมีปัญหาอยู่มากก็ตาม

“ทำให้เรารู้สึกว่าการทำ organic tourism ไม่ใช่เรื่องยาก แล้วก็ตอบโจทย์ในการสร้างจุดขายให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องวิถีชีวิตชุมชน เกษตรกร วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นจุดขาย เป็นเรื่องเล่าทั้งนั้น ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จไหม ตอบว่ามากค่ะ ที่สำคัญยังได้กัลยาณมิตรที่ดีมากมายในการทำงาน”

เช่นเดียวกับ “กร รัชไชยบุญ” ผู้บริหารร้านอาหารสีฟ้า ที่เล่าว่า จุดเริ่มต้นของสีฟ้าในการมาร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการที่คุณมาริสาชวนให้เข้าร่วมโครงการฟาร์ม ทู ฟังก์ชั่น จนได้มีโอกาสซื้อข้าวจากเกษตรกรกลุ่ม จ.สุรินทร์ ไปบริการให้ลูกค้าในโรงแรมที่ดูแลอยู่ หลังจากนั้นก็ได้รับการชักชวนจากคุณอรุษให้มาร่วมขับเคลื่อนเรื่อง organic tourism กระทั่งสามารถขยายการซื้อข้าวข้าวออร์แกนิกได้มากขึ้น จากที่เคยให้บริการแค่ลูกค้าของโรงแรม ปัจจุบันนี้สีฟ้าใช้ข้าวออร์แกนิกอย่างเดียวเท่านั้น ให้บริการร้านค้าในทุกสาขา

“ประโยชน์ที่ได้รับไม่ใช่เฉพาะกับลูกค้าอย่างเดียว แต่พนักงานเราทุกคนปัจจุบันได้ทานข้าวชนิดเดียวกับที่ลูกค้าทาน เราไม่มีแยกข้าวเกรดสำหรับพนักงานหรือว่าเกรดสำหรับลูกค้า เราให้ทุกคนทานเหมือนกัน เราอยากให้เขามีสุขภาพที่ดีเช่นกัน เห็นคุณค่ากับสิ่งที่เขารับประทาน พนักงานหลายคนก็มีความสุข”

ภาครัฐกับการขับเคลื่อน-ปลดล็อก “เกษตรอินทรีย์” ยั่งยืน

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะตัวแทนภาครัฐ กล่าวว่า การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาล แต่ภาครัฐทำคนเดียวไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกัน ที่ผ่านมาแม้มีความพยายามการขับคลื่อนเกษตรอินทรีย์มาโดยตลอด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีกลไกที่อยู่ข้างหลังระบบราชการคอยขวางทางอยู่

“โครงสร้างของระบบราชการมันแข็งมาก มันใหญ่ และมีประโยชน์ข้างหลัง ก็เห็นว่าในช่องทางนั้นไปไม่ได้ ต้องมาสร้างจากข้างนอก แต่ต้องมีหลายคนช่วย และคิดว่าแวดวงสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ”

ดร.วิวัฒน์ชี้ว่า ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนสังคมในเรื่องเกษตรอินทรีย์ ดูเหมือนจะทำได้เฉพาะในเกษตรกรรายเล็กๆ แต่หากจะขับเคลื่อนทั้งสังคม ต้องปลดล็อกใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. กฎหมาย 2. สร้างนโยบาย และ 3. สร้างตัวอย่างแห่งความสำเร็จ

“ปัจจุบันผมเห็นว่ากฎหมายยังไม่เป็นของเรา กฎหมายหลายฉบับพูดง่ายๆ ว่าเอื้อต่อระบบการค้าสารเคมีที่เป็นพิษทั่วโลก ผมประชุม ครม. มา 15 เดือน เห็นเลยว่ามีการทำสัญญาอะไรกับใครไว้ที่ไหน ในส่วนเอ็มโอยูไม่เป็นไร แต่สัญญาระดับที่ต้องผ่านสภา ต้องผ่านสภาก่อนจึงจะไปลงนามกับเขาได้ แต่ถ้าไปละเมิดเขา ก็จะเกิดปัญหาระดับโลก”

“คือโลกมันมีการวางระบบครอบงำไว้เต็มไปหมด เหมือนเป็นระบบการล่าเมืองขึ้นสมัยใหม่ ที่ใช้กฎหมายระหว่างประเทศเต็มไปหมด โลกมันเล็กจริงๆ มันมีกฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งอันนี้เราต้องแกะมันออกให้ได้” ดร.วิวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ กำลังผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน โดยที่ประชุม ครม. อนุมัติเห็นชอบไปแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกฤษฎีกา แต่ก็ทราบมาว่ามีคนไปวิ่งเต้นเพื่อจะหยุดกฎหมายฉบับนี้ให้ได้

ในเรื่องการสร้างนโยบาย ดร.วิวัฒน์กล่าวว่า ไม่มีปัญหามากนักเหมือนกับเรื่องกฎหมาย เพราะรัฐบาลไม่มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะต้องทำให้ชัดเจนว่าจะหยุด ลด ละ เลิก สารพิษทุกชนิดให้ได้ภายใน 2 ปี ไม่ใช่แค่ 3 ชนิด พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เท่านั้น

ส่วนเรื่องที่สามคือการสร้าง “ตัวอย่างความสำเร็จ” ดร.วิวัฒน์เห็นว่า ต้องพยายามสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นมากที่สุด โดยเฉพาะพลังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีหูตากว้างไกลกว่าคนรุ่นเก่า มองโลกเชื่อมโลกได้ดีกว่าคนรุ่นเก่า ทั้งนี้พลังของคนรุ่นหลังจะสามารถสร้างเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นได้

“การแปลงกฎหมายหรือนโยบายไปสู่การปฏิบัติ อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ขณะที่เกษตรกรบางส่วนก็อาจจะยังไม่เข้าใจ ดังนั้นเราจะต้องพยายามสร้างเครือข่าย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นมาปกป้องดิน ปกป้องน้ำ ปกป้องอาหาร ทำเป็นตัวอย่างที่จะทำให้เรามีอาหารที่แข็งแรงยั่งยืนที่สุดในโลกได้” รมช.เกษตรฯกล่าว