ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้ทันข่าวปลอม (fake news) โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

รู้ทันข่าวปลอม (fake news) โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

18 มีนาคม 2019


สฤณี อาชวานันทกุล

ผู้เขียนเคยเขียนถึง “ข่าวปลอม” หรือ fake news มาแล้วหลายครั้งในคอลัมน์นี้ โดยพยายามชี้ให้เห็นความพยายามของประเทศต่างๆ ในการรับมือกับข่าวปลอม รวมถึงการปรับตัวของโซเชียลมีเดียยักษ์อย่าง เฟซบุ๊ก และ กูเกิล ในการช่วย ด้วยส่วนผสมของโค้ด (เช่น ขึ้นข้อความเตือนผู้ใช้เน็ตว่าเนื้อหานี้อาจเป็นข่าวปลอม พึงระวังก่อนกดแชร์) กลไกตลาด (ห้ามค่ายที่เห็นชัดว่าผลิตข่าวปลอมรับเงินโฆษณาหรือซื้อโฆษณา) และธรรมเนียมปฏิบัติ (ประสานงานกับสำนักข่าวที่เชื่อถือได้ในการตรวจสอบเนื้อหา)

น่าสังเกตว่าไม่มีประเทศอารยะประเทศไหนบ้าจี้หรือลุแก้อำนาจไปจับคนที่ ‘แชร์’ ข่าวปลอมในข้อหา “ภัยต่อความมั่นคง” หรือ “อาจก่อความตื่นตระหนกต่อประชาชน” เหมือนกับรัฐบาล คสช. สมัยนี้ เพราะประเทศอารยะเหล่านั้นรู้ดีว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งข่าว(ที่คนแชร์ไม่รู้ว่า)ปลอมนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาในโลกออนไลน์ เป็นหัวใจของการแสดงออกและขาดไม่ได้ในการพัฒนาตนเอง

ถ้ามีเนื้อหาไหนที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง คนทุกคนย่อมมีสิทธิ และควร ทำเนื้อหาโต้ตอบหรือไขความเข้าใจผิดของคนอื่น ยิ่งแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องออกไปมากๆ พิษสงของข่าวปลอมนั้นย่อมลดลงเรื่อยๆ จนหมดความหมาย และถ้ามีใครเสียหายจากการปล่อยข่าวปลอม ผู้เสียหายก็สามารถแจ้งความผู้สร้างข่าวปลอมได้อยู่แล้วด้วยกฎหมายหมิ่นประมาท ไม่ต้องวิ่งไปใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (ยอดแย่) แต่อย่างใด

การหมั่นตรวจสอบกันเองแบบนี้ คือธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีของสังคมออนไลน์และขาดไม่ได้ในการรับมือกับข่าวปลอม ฉะนั้นเราทุกคนควรพยายาม ‘รู้ทัน’ ข่าวปลอม เริ่มจากการไม่ปักใจเชื่อหรือแชร์เนื้อหาอะไรก็ตามทันทีที่พบเห็น ตั้งสติคิดก่อนว่ามันน่าจะจริงไหม

ทวนความจำกันอีกทีว่า “ข่าวปลอม” หมายถึง เนื้อหาอะไรก็ตามที่จงใจหลอกคนอ่านว่า 1) เป็นข้อเท็จจริง และ 2) มาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เพื่อโจมตีบุคคล กลุ่มบุคคล โดยหวังผลทางการเมืองหรือมีวาระซ่อนเร้น หรือเพื่อกอบโกยค่าโฆษณา (clickbait) ด้วยการพาดหัวข่าวล่อลวงให้คนคลิกอ่านเยอะๆ

ในยุค คสช. เราก็ได้เห็นแล้วว่า แม้แต่รัฐเองก็อาจเป็นผู้สร้าง “ข่าวปลอม” เสียเอง เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operations: IO) ของกองทัพ

ด้วยความที่ข่าวปลอมหลายชิ้นแนบเนียนเหมือนข่าวจริง และความที่คนสมัยนี้ชอบแชร์หรือส่งต่ออะไรที่ ‘โดนใจ’ (โดยเฉพาะถ้าเนื้อหานั้นด่าคนที่เราไม่ชอบอยู่แล้ว) เร็วๆ โดยไม่คิด ทำให้การรู้ทันข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

On the Media พอดคาสท์โปรดของผู้เขียนรายการหนึ่ง เคยจัดทำ วิธีรู้ทันข่าวปลอม 11 วิธี เผยแพร่ในตอน “คู่มือผู้บริโภคสื่อ” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์มากและปรับใช้กับข่าวปลอมในไทยได้ด้วย จึงอยากเรียบเรียงและปรับปรุงมาแบ่งปันในวันนี้ โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่าเต็มไปด้วยมหกรรมปล่อยข่าวปลอม ข่าวลือ และโฆษณาชวนเชื่อขนาดไหนในสังคมออนไลน์

11 วิธีรู้ทันข่าวปลอม ฉบับข่าวปลอมแบบไทยๆ

1. สะกดผิดมากมาย ใช้ภาษาพูด เห็นชัดว่าภาพนั้นตัดต่อมา (ไม่เนียน)

2. พื้นที่รอบ ‘ข่าว’ เต็มไปด้วยแบนเนอร์โฆษณาและโฆษณาเด้งขึ้นมา (pop-up) นี่คือสัญญาณที่ดีว่าเนื้อหานั้นคือ clickbait (ล่อให้คนคลิกเพื่อโกยค่าโฆษณา)

3. เช็คโดเมน! (domain ชื่อเว็บที่แสดงในแถบบนของบราวเซอร์ เช่น www.domain.com) เว็บข่าวปลอมมักจะเติม .co เข้าไปท้ายโดเมนของสำนักข่าวจริงเพื่อขโมยความน่าเชื่อถือมา เช่น “abcnews.com.co”

สำหรับในไทย เว็บข่าวปลอมหลายแห่งตั้งชื่อโดเมนที่ล่อลวงให้คนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นสื่อกระแสหลัก ยกตัวอย่างเช่น www.one31news.com เว็บต้นตอข่าวปลอมหลายชิ้น (เช่น “พลเอกประวิตรดื่มกาแฟแก้วละ 12,000 บาท” วันนี้เว็บนี้ถูกลบไปแล้วหลังโดนฟ้อง) ตั้งใจตั้งโดเมนให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นช่องวัน (One31 เว็บจริงของค่ายนี้คือ www.one31.net)

นอกจากนี้ พึงระวังด้วยว่าเว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊กหลายแห่งพยายามตั้งชื่อให้ดูดี มีคำว่า “จริง” “ข่าว” หรือ “นิวส์” ในชื่อ เช่น “Thai Truth” หรือ “เดรัจฉานนิวส์” แต่ลำพังการตั้งชื่อแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเนื้อหาจะ “จริง” สมชื่อ ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณในการเสพทุกครั้ง

4. ถ้าเจอเว็บหรือเพจที่ไม่รู้จัก อ่านหน้า “เกี่ยวกับ” (About) เพื่อดูว่าเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ว่าใครเป็นคนทำ ถ้าไม่มีชื่อผู้ทำ ไม่มีอีเมลให้ติดต่อ พึงตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าอาจจงใจทำขึ้นมาผลิตข่าวปลอมหรือโฆษณาชวนเชื่อล้วนๆ และควรลองกูเกิลชื่อเว็บหรือเพจนั้น เพื่อดูว่ามีใครเปิดโปงเนื้อหาในเว็บหรือเพจนั้นไปแล้วหรือยัง (แต่ลำพังการไม่มีข้อมูลติดต่อผู้ทำไม่ได้แปลว่าจงใจจะผลิตข่าวปลอม เพราะผู้ทำอาจอยากปิดบังตัวตนเพราะกลัวอันตรายหรือกลัวถูกกลั่นแกล้งคุกคาม ในสังคมที่กลไกการคุ้มครองผู้ให้เบาะแสคอร์รัปชั่นยังอ่อนแอมาก)

5. ถ้าเนื้อหาแปะลิงก์ที่มา หรือรายละเอียดเพิ่มเติม ควรคลิกตามไปดู (ขยะจะนำทางไปหาขยะเช่นกัน) ถ้าไม่มีลิงก์ ไม่มีแหล่งอ้างอิงคำพูด (quote) หรือไม่บอกที่มาอะไรเลย ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นข่าวปลอม คือเต้าข่าวขึ้นมาเองล้วนๆ

6. พยายามเช็ค ‘ข่าว’ ที่ดูไม่น่าเชื่อ ด้วยการไปดูสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ(มากกว่า) ว่ารายงานเรื่องเดียวกันอย่างไร ผู้เขียนอยากเสริมด้วยว่า ในบรรยากาศที่สื่อไทยหลายค่ายเลือกข้างและแบ่งขั้วอย่างรุนแรงมานานนับสิบปี เราควรอ่านข่าวเรื่องเดียวกันจากสื่ออย่างน้อยสองสำนักที่เป็น ‘ขั้วตรงข้าม’ กัน และอ่านความเห็นโดยตรงของบุคคลที่ถูกพาดพิงในข่าว (เพราะวันนี้ทุกคนเป็นกระบอกเสียงของตัวเองแล้วด้วยเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรมและอื่นๆ) เพื่อเอามา ‘บวกกันหารสอง’ ในใจและพิจารณาเอาเองว่าความจริงน่าจะเป็นอย่างไร

7. เช็ควันที่ เพราะอาจเป็นข่าวเก่านานแล้วแต่ถูก ‘ขุด’ ขึ้นมาเล่นใหม่ (โซเชียลมีเดียเอื้อต่อการทำแบบนี้ มองแวบแรกเราอาจเข้าใจผิด คิดว่าเป็นข่าวใหม่เพราะมันเพิ่งถูกคนโพสหรือทวีตอีกรอบ)

8. อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าว คลิกเข้าไปอ่านเนื้อข่าวจนจบด้วย พาดหัวข่าวมักไม่เกี่ยวอะไรเลยกับเนื้อหาข้างใน แค่พาดหัว ‘เสี้ยม’ หรือชักจูงให้คนเข้าใจผิด

9. ภาพถ่ายมักถูกแปะวันที่หรือระบุผิดๆ รวมถึงภาพถ่ายประกอบคำพูดของคนที่ถูกเอาไปตัดต่อบิดเบือน ควรใช้เครื่องมือ reverse image search อย่าง TinEye ค้นหาว่าต้นตอจริงๆ ของภาพที่น่าสงสัยมาจากไหน

10. ความรู้สึกก็สำคัญ ถ้าเนื้อหาอะไรทำให้เรารู้สึกโกรธ แค้น หรือสะใจ ตั้งสติแล้วคิดเลยว่ามันน่าจะถูกออกแบบมาให้เรารู้สึกอย่างนั้น

11. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าเราทำทั้ง 10 ข้อแล้วยังไม่มั่นใจว่าเนื้อหานั้นจริงหรือเปล่า ก็อย่าแชร์ออกไป ง่ายๆ เท่านี้เอง

ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการรู้ทันข่าวปลอมทั้งหลายในโลกออนไลน์ ผู้เขียนขอทิ้งท้ายด้วยคำเตือนอีกข้อว่า ข้อความที่ส่งต่อกันในไลน์ (Line) นั้นน่ากลัวเป็นพิเศษ เพราะมันมักจะมาจากคนที่เรารู้จัก อย่าปักใจเชื่อข้อความใดๆ เพียงเพราะมันมาจากคนที่เรานับถือ เพราะเขาหรือเธอก็อาจจะถูกหลอกมาก่อนหน้าเรา!

ป้ายคำ :