ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจคนรุ่นใหม่ “First Voter ” 4 ประเทศในเอเชีย ตัดสินอนาคตชาติอย่างไร

สำรวจคนรุ่นใหม่ “First Voter ” 4 ประเทศในเอเชีย ตัดสินอนาคตชาติอย่างไร

23 มีนาคม 2019


การเลือกตั้งล่วงหน้าของไทย 17 มีนาคม 2562 ที่มาภาพ:https:// www.matichon.co.th/news-monitor/news_ 1410724

ปี 2562 เป็นแห่งการเลือกตั้งของกลุ่มประเทศในเอเชีย ตั้งแต่อินเดียในเอเชียใต้ ไปจนถึง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและประเทศไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นจุดตัดสินว่า ประเทศเหล่านี้จะยังเดินบนเส้นทางประชานิยม อำนาจนิยม ที่ยึดภูมิภาคและโลกในช่วง 2-3 ปีนี้ หรือเริ่มที่จะมีกระแสตีกลับ การเลือกตั้งปีนี้จึงเป็นจุดกำหนดชะตากรรมของประเทศในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

การเลือกตั้งของอินโดนีเซียจะมีขึ้นในวันที่ 17 เมษายนนี้ ขณะที่การเลือกตั้งกลางสมัยในฟิลิปปินส์ กำหนดไว้วันที่ 29 เมษายนถึง 1 พฤษภาคม 2562 สำหรับการลงคะแนนในประเทศและ 13 เมษายนถึง 13 พฤษภาคม 2562 สำหรับการลงคะแนนในต่างประเทศ การเลือกตั้งในประเทศไทยมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 หลังจากที่มีการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ววันที่ 17 มีนาคม 2562 ส่วนการเลือกตั้งของอินเดียกินเวลานานที่สุดคือตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2562

แม้ผลที่จะเกิดขึ้นในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป แต่ที่เหมือนกันคือ คนที่จะมาเลือกตั้งและกำหนดทิศทางของประเทศ โดยทั้ง 4 ประเทศนี้มีผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ เป็นคนรุ่นใหม่ กลุ่มหนุ่มสาวในช่วงอายุ 17-35 ปีและบางส่วนเป็นคนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งเป็นครั้งแรก หรือที่เรียกว่า First Voter หรือ New voter

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประชากรมากกว่าครึ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าคนกลุ่มนี้จะมีผลอย่างมากต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในหลายประเทศตั้งเป้าหมายที่จะได้คะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้

แนวคิดที่ก้าวหน้า การพูดแบบมีประเด็น ดึงความสนใจของคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ได้มากกว่า การหาเสียงแบบเดิมๆ หรือกลุ่มศักดินาทางการเมืองแบบเก่า และแนวคิดอนุรักษ์นิยม จึงส่งผลต่อฐานเสียงและวิธีการหาเสียงของนักการเมืองในภูมิภาคนี้

อินโดนีเซียจับตากระแสงดออกเสียง

ในอินโดนีเซีย การเลือกตั้งในวันที่ 17 เมษายน 2562 ก็จะเป็นหลักไมล์ใหม่ของเส้นทางประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นในปี 1998 เพราะเป็นการเลือกครั้งใหญ่ที่มีทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกสมาชิกสภา ในระดับประเทศและระดับจังหวัด

กลุ่มคนใน วัย 17-35 ปีมีมากกว่าหนึ่งของคนที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดที่มีจำนวนกว่า 190 ล้านคน โดยกฎหมายอินโดนีเซียกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิออกเสียงไว้ที่ 17 ปี ดังนั้นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจึงต้องทำงานหนักเพื่อดึงคนรุ่นใหม่เป็นมาลงคะแนนเสียง เพราะงานวิจัยระบุว่า การดึงดูดคนที่มีสิทธิออกเสียงกลุ่มนี้ยากที่สุด ประกอบกับคนกลุ่มนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเมืองมากนัก และในกลุ่มนี้มีจำนวนคนไม่ใช้สิทธิลงคะแนนเพิ่มขึ้นด้วย

การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกสมาชิกสภาในปี 2014 มีประชากรที่อายุต่ำกว่า 30 ปีไม่ได้ใช้สิทธิลงคะแนนในสัดส่วนที่สูงขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์งดใช้สิทธิ หรือบางครั้งทำบัตรเสียด้วยคำว่า Golput ย่อมาจาก golongan putih เมื่อไม่พอใจในผู้สมัครบางราย โดย golput เป็นคำที่เริ่มใช้ในปี 1971 เมื่อมีการประท้วงการเลือกตั้งในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต การลงคะแนนเลือกตั้งจึงยังไม่เป็นประชาธิปไตย

การงดออกเสียงเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยทั้งโลกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยคนหนุ่นสาวใช้สิทธิตามประชาธิปไตยด้วยการไปลงคะแนนน้อยกว่ารุ่นก่อนๆ นอกจากนี้การออกไปใช้สิทธิที่ลดลงยังแสดงให้เห็นว่าภาพการเมืองที่เชื่อมโยงกับการทุจริตคอร์รัปชัน กรณีอื้อฉาวและเล่ห์เหลี่ยมกลโกง และการงดออกเสียงมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในอินโดนีเซีย

สัดส่วนการไม่ใช้สิทธิลงคะแนนในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 1999 โดยมีผู้มีสิทธิซึ่งมีรายชื่อตามทะเบียนไม่ไปลงคะแนนในการเลือกตั้งปี 2014 ถึง 30% ของผู้มีสิทธิทั้งหมดหรือมีจำนวน 58.9 ล้านคน ซึ่งผู้ที่งดใช้สิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ส่วนในปี 2009 มีผู้งดใช้สิทธิ 48.3 ล้านคน สาเหตุหลักของการงดใช้สิทธิออกเสียงคือไม่พอใจในตัวผู้ลงสมัครชิงประธานาธิบดี

ที่มาภาพ:https:// aijac.org.au/australia-israel-review/young-people-shake-up-indonesias-election/

การเลือกตั้งในปี 2019 นี้ ก็มีกระแส golput จากสาเหตุเดียวกัน คือ คนรุ่นใหม่แสดงความไม่พอใจในตัวผู้ลงสมัคร โดย ไรวันลี อนันดาร์ วัย 25 ปี นักวิจัยแห่งสำนักงานข้อมูลคนหายและเหยื่อความรุนแรง(Commission for Missing Persons and Victims of Violence:kontras) ให้สัมภาษณ์ VOA ในอินโดนีเซียว่า จะไปใช้สิทธิแต่จะกาเลือกผู้สมัครทั้งสองคน ซึ่งจะทำให้บัตรนั้นไม่มีการนับคะแนน

สาเหตุที่จะทำเช่นนั้น อนันดาร์กล่าวว่า ตีความได้สองด้านว่า ชอบทั้งสองคนหรือไม่ไว้ใจทั้งสองคน ซึ่งเป็นการกระทำที่มากกว่าทางเลือกที่สอง โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน

ส่วนนาเบีย เออร์นาดา วัย 22 ปี ให้สัมภาษณ์ VOA ในอินโดนีเซีย ว่าจะไปใช้สิทธิในเดือนเมษายน เพราะเป็นหน้าที่ แต่ไม่คิดว่าคะแนนที่ลงไปจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเมืองอินโดนีเซียได้ เช่นเดียวกับ มูดี้ อัลเฟียนา วัย 23 ที่จะไปใช้สิทธิ แต่กล่าวว่า หลายคนเชื่อว่าผู้สมัครทุกคนไม่ต่างกัน แต่เมื่อดูที่วิสัยทัศน์ก็พบว่าไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามแคมเปญหาเสียงก็เป็นแค่คำสัญญา

คณะกรรมการเลือกตั้ง (General Elections Commission:KPU) เกรงว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยจึงได้มีการรณรงค์ให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น ทั้งนี้กกต.อินโดนีเซียเผยรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด 187.1ล้านคน โดยเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนในประเทศ 185.08 ล้านคน ลงทะเบียนใช้สิทธินอกประเทศ 2.04 ล้านคน ส่วนผู้มีสิทธิออกเสียงในวัย 17-35 ปีมีจำนวน 79 ล้านคน หรือ 42% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

Alvara Research Center สถาบันวิจัยโพลล์แห่งหนึ่งในจาการ์ต้า เผยผลสำรวจว่า มีคนหนุ่มสาวเพียง 23.4% ที่ตอบแบบสอบถามว่า ติดตามข่าวการเมือง และยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ใช้สิทธิลงคะแนนมาก่อนอีกด้วย

คนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซียจึงเป็นกลุ่มคะแนนเสียงที่มีจะมีผลต่อการเลือกตั้งปี 2019 อย่างมาก ฉะนั้นการหาเสียงส่วนใหญ่ของการเลือกตั้งปี 2019 จึงมุ่งที่กลุ่มมิลเลนเนียลเพื่อรู้จักผู้สมัครและออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้ตัวแทนของหลายพรรคจึงเข้ากิจกรรมคนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีมากขึ้น เช่น งาน Millennial Summit 2019 แม้แต่ประธานาธิบดีโจโควี วิโดโก ก็ได้อาศัยพันธมิตรทางการเมืองรุ่นเยาว์ เพื่อดึงการสนับสนุน เพราะมีเป้าหมายที่จะให้ได้เสียงจากกลุ่มมิลเลนเนียลถึง 45%

ที่มาภาพ:https:// busy.org/@ayijufridar/millennial-voters-in-the-2019-election-in-indonesia-or-pemilih-milenial-dalam-pemilu-2019-di-indonesia-or

เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มมิลเลนเนียลไม่ใช่คนที่ลงคะแนนเสียง แต่กลับมีส่วนในการเมืองโดยตรง ด้วยการลงสมัครเป็นผู้แทน โดยราว 21% ของผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 7,991 คนมีอายุ 21-35 ปี และผู้สมัครเหล่านี้ไม่ได้วิธีการแบบเดิมๆในการสื่อสารกับกลุ่มฐานเสียง เช่น กีรณา ลาราซาติ นักแสดงหญิงจอแก้ววัย 31 ปีที่ลงสมัครในเขตชวาตะวันตก ได้ใช้ Vlog(มาจาก Video ผสมกับ Log) บันทึกวิดีโอเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งตอบคำถามจากแฟนๆ สื่อสารผ่านทวิตเตอร์

จากการสัมภาษณ์เยาวชนที่มีสิทธิออกเสียงเป็นครั้งแรก เดอะจาการ์ต้าโพสต์พบว่า ส่วนใหญ่ตื่นเต้นและต้องการรู้เกี่ยวกับกระบวนการทาง การเมืองมากขึ้น เช่น ฮันนาเลีย วาเลนไทน์ วัย 19 ปี ที่บอกว่าจะออกไปใช้สิทธิเป็นครั้งแรก รวมทั้งต้องการดูข้อมูลที่คูหาเลือกตั้ง และเข้าไปในคูหาแล้วจะต้องทำอะไรต่อ ที่ผ่านมาเคยเห็นการนับคะแนนมาบ้าง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม และตั้งใจที่จะได้รับข้อมูลครบถ้วนก่อนก่อนใช้สิทธิ ตลอดจนต้องการเรียนรู้กระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ

ทางด้าน แดริล วิดธี วิกาสานะ วัย 21 ปีแสดงความหวังว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ประธานาธิบดีจะต้องแก้ไขปัญหาสังคม รวมทั้งสิทธิคนกลุ่มน้อย รวมทั้งแก้ไขในภาคส่วนที่เป็นปัญหาของประเทศ ขณะที่ เกรกอเรียส นิโคลัส วัย 21 ปี ที่อาศัยในจาการ์ต้า บอกว่า ความหวังของเขาคือการปรับปรุงในหลายภาคส่วน ไม่เฉพาะในชวาเท่านั้น และควรมีการกระจายหากเป็นไปได้

ฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับการขจัดคอร์รัปชัน

ในฟิลิปปินส์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง(Commission on Elections:Comelec )เจมส์ จิเมเนซ เปิดเผยว่าผู้มีสิทธิออกเสียง 1 ใน 3 มีอายุ 18-35 ปีมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด ตามกฎหมายแล้วผู้ที่มีสิทธิออกเสียงในฟิลิปปินส์ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 13 พฤษภาคม

จากกการเปิดให้ลงทะเบียนครั้งสุดท้ายระหว่างวันที่ 2 กรกฎาคมถึง 29 กันยายนปี 2561 เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้ออกเสียงครั้งแรกได้ลงทะเบียนมากกว่า 2.5 ล้านคน มากกว่า 1.5 ล้านคนที่คาดไว้

เจ้าหน้าที่รัฐและหลายองค์ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีส่วนในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น โดยแนะนำในการเลือกผู้สมัครว่า หนึ่ง เลือกคนที่รู้จัก สอง เลือกในนโยบายที่ตรงกับประเด็นที่สนใจ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญ

องค์กรภาคประชาชน Parish Pastoral Council for Responsible Voting ได้ให้แนะนำให้คนหนุ่มสาวเลือกผู้สมัครจากหลัก 3 ข้อได้แก่ บุคคลิก ความสามารถและความซื่อสัตย์ ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง โดยรายงานจาก ฟิลิปปินส์ เดลี่ อินไควเรอร์ ต้นปี 2018 ระบุว่า คนรุ่นหนุ่มสาวที่คิดจะมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ว่าจะลงสมัครเป็นผู้แทนด้วยตัวเองหรือไปลงใช้สิทธิลงคะแนนต่าง พากันหันหลังให้เพราะมีการทุจริตคอร์รัปชันและการเลือกปฏิบัติ

PPCRV จัดกิจกรรมแนะนำการเลือกตั้งให้เยาวชนที่มาภาพ:https:// www.rappler.com/move-ph/226331-ppcrv-encourages-youth-community-effort-honest-polls

ประเด็นที่ผู้มีสิทธิออกเสียงรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากคือการทุจริตคอร์รัปชัน โดย จีน เซซิลลาโน กล่าวว่า ความหวังที่ต้องการจากประเทศคือการขจัดการติดสินบน ต้องการความเป็นระเบียบ ความสงบและความเจริญ ฟิลิปปินส์ไม่ใช่ประเทศยากจน แต่ประชาชนต้องประสบความแร้นแค้นเพราะนักการเมืองที่ฉ้อฉลในรัฐบาล

ขณะที่เคนเน็ธ ทากายูนา วัย 23 แสดงออกอย่างชัดเจนว่า หวังว่าผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจะให้ความสำคัญกับการศึกษากับคนรายได้น้อย และขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะสำหรับประธานาธิบดีดูเตอร์เต้แล้ว การทุจริตคอร์รัปชันไม่สำคัญมากพอ แต่มุ่งไปที่การกำจัดยาเสพติด

นอกจากนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงที่มีอายุน้อยยังหึ้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่มีอิสระและเป็นธรรม โดย เกเบรียล โมเรโน วัย 20 ปี กล่าวว่า หวังว่าจะมีผู้ชนะที่เป็นคนที่สาธารณชนลงคะแนนให้

ข้อมูลจาก Comelec แสดงให้เห็นว่า มีผู้ลงทะเบียน 61.84 ล้านคนและลงทะเบียนใช้สิทธินอกประเทศ 1.82 ล้านคน

Rappler สำนักข่าวออนไลน์ในฟิลิปปินส์ได้จัดทำข้อมูลผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตามอายุดังนี้ กลุ่ม Gen X mที่เกิดในยุค 1960 ถึงช่วงต้น 1980 มีจำนวน 19.91 ล้านคนหรือคิดเป็นสัดส่วน 32%

กลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen X ที่เกิดในช่วง 1990 ถึงต้น 2000 มีจำนวน 18.84 ล้านคนคิดเป็น 31% ส่วนกลุ่ม เบบี้บูมมีจำนวน 17.21 ล้านคนหรือ 28% และที่เหลือ 9% หรือ 5.86 ล้านคนมีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งที่เป็นหญิงมีจำนวน 31.81 ล้านคนส่วนผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งชาย 30.02 ล้านคน

ที่มาภาพ:https:// www.rappler.com/newsbreak/iq/226121-number-registered-voters-elections-2019

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่เฉพาะในฟิลิปปินส์เท่านั้นแต่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่แม้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงทะเบียนไว้แล้ว แต่ไม่ได้รับรองว่าจะไปใช้สิทธิลงคะแนนจริง แต่ในการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมามีผู้มาใช้สิทธิเฉลี่ย 78% สูงสุดในปี 2016 ที่ 84% และยังเป็นปีที่ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งต่างประเทศใช้สิทธิสูงในรอบ 10 ปีด้วย ปี 2013 ใช้สิทธิ 77% และปี 2010 ใช้สิทธิ 74%

Young Voter ของไทย

จาการ์ต้าโพสต์ วิเคราะห์การเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ว่าถือเป็นการเดิมพันอนาคตประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งมีพรรคการเมืองที่ได้รับแรงหนุนจากทหารส่งผู้แทนลงรับสมัครเลือกตั้งด้วย และมีโอกาสที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้งผ่านการเลือกตั้ง

โดยชี้ให้เห็นว่าผู้มีสิทธิออกเสียงรุ่นใหม่ถูกปัดแข้งปัดขาจากทหาร โดยพรรคอนาคตใหม่ ถูกขู่ว่าอาจจะต้องยุบพรรคฐานที่วิจารณ์รัฐบาลทหาร นอกจากนี้นักศึกษาที่ออกมาประท้วงต่อการห้ามชุมนุมทางการเมืองถูกจับกุม คุมขังและปิดกั้นไม่ให้ใช้สิทธิ

หากพรรคการเมืองต้องการที่จะลอกคราบประชาธิปไตยภายใต้การกุมอำนาจของทหาร คนรุ่นใหม่จำเป็นที่ต้องระดมกำลังและแสดงออกถึงความต้องการมากขึ้น

การเลือกตั้งปี 2562 จะมีผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนครั้งแรกมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองด้วยในรอบ 8 ปี ทำให้มีการใช้สื่อโซเชี่ยลในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่มากขึ้นเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในครั้งก่อนๆ

ข้อมูลจาก Hootsuite และ We Are Social พบว่าปี 2562 ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์จำนวน 57 ล้านคน มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวน 46 ล้านคน

เดือนพฤศจิกายนปี 2561 กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “วัยใสจะไปเลือกตั้ง” โดยเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งแรก จำนวน 1,202 คน พบว่า ส่วนใหญ่ 85.8% จะใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เช่น facebook youtube ติดตามข่าวสารการเลือกตั้งและข่าวเกี่ยวกับพรรคการเมือง รองลงมา 36.5% จะติดตามผ่านช่องทางทีวี และ 20.8% จะติดตามผ่านเว็บไซต์

กลุ่มตัวอย่าง 78.6 ตั้งใจว่าจะไปเลือกตั้ง ขณะที่ 15.1% ตั้งใจว่าจะไม่ไป โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่าต้องเรียน ทำงาน ติดธุระ 8.7% รองลงมาคือ ไม่เคยไปเลือกอยู่แล้ว 2.2% และเบื่อหน่ายการเมือง 1.4% ส่วน 6.2% ยังไม่แน่ใจ

ทางด้านนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ มีจำนวนประมาณ 51,427,628 คน

ในประเทศไทยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนมาก เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยจากข้อมูลจำนวนประชากรของประเทศเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยและมีชื่อในทะเบียนบ้าน ณ สิ้นปี 2560 ที่มีจำนวนรวม 64,816,825 คน เป็นชาย 31,689,692 คน และหญิง 33,127,133 คนในฐานข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้นำมาแยกออกเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 95 ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 18 ปีในวันเลือกตั้ง

การเลือกตั้งในประเทศไทยปีนี้เป็นการเลือกครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายปี 2554 และหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เป็นโมฆะ เพราะมีการขัดขวางการเลือกตั้ง ประเทศไทยจึงว่างเว้นการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2555

ในช่วงปี 2555-2560 ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มคนที่มีอายุ 18-25 ปียังไม่ได้สิทธิมีจำนวน 7,368,589 คน ชาย 3,752,039 คน หญิง 3,616,550 คน

สำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงที่มีอายุครบ 18 ปีในปีนี้และจะได้ออกเสียงเป็นครั้งแรกมีจำนวน 838,378 คน ชาย 428,777 คน หญิง 409,601 คน ผู้มีสิทธิออกเสียงที่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล อายุ 18-35 ปีมีจำนวน 16,704,148 คน ชาย 8,458,419 คน หญิง 8,245,729 คน

อินเดียสนใจการศึกษา การจ้างงาน

คณะกรรมการเลือกตั้งอินเดีย(Indian Election Commission) ประกาศเมื่อวันที่ 10 มีนาคมกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 11 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 800 ล้านคนจะเลือกสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจำนวน 543 คน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรหรือที่เรียกกันว่า โลกสภา(Lok Sabha) โดยผลการเลือกตั้งจะประกาศในวันที่ 23 พฤษภาคม

การเลือกตั้งจะแบ่งออกเป็นรอบ คือ รอบแรกวันที่ 11 เมษายน รอบที่สอง 18 เมษายน 2562 รอบที่สาม 23เมษายน รอบที่สี่ 29 เมษายน 2562 รอบที่ห้า 6 พฤษภาคม รอบที่หก 12 พฤษภาคม 2562 และรอบที่เจ็ด 19 พฤษภาคม 2562 แต่มีหลายรัฐที่ต้องเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว เช่น อันตระประเทศ คุชราช เกรละ เป็นต้น ขณะที่อีกหลายรัฐดำเนินการเลือกตั้งออกเป็นรอบ ที่แตกต่างกันออกไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น การเลือกตั้งรอบแรกในรัฐชัมมูและกัศมีร์ รัฐโอฑิศา สิกขิม อุตรประเทศ ต้องเลือกส.ส.จำนวน 91 ที่นั่ง

ที่มาภาพ:https:// www.indiaspend.com/with-45-million-new-young-voters-political-parties-will-need-to-talk-jobs-education/

การเลือกตั้งส.ส.เข้าสู่โลกสภาจะเป็นการกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะบริหารประเทศ 5 ปี โดยที่พรรคการเมืองจะต้องได้ 272 ที่นั่งจาก 543 ที่นั่งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องมีพรรคอื่นเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสม ในการเลือกตั้งปี 2014 พรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party :BJP) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้รับเลือก 282 ที่นั่ง

สำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงในอินเดียมีจำนวนกว่า 800 ล้านคนในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีและมีสิทธิออกเสียงครั้งถึง 45 ล้านคน ส่งผลให้ผู้มีสิทธิออกเสียงโดยรวมเพิ่มขึ้น 5% จากการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายปี 2014

การออกเสียงของคนรุ่นใหม่จะเป็นตัวตัดสินในการเลือกตั้งปี 2019 นี้ที่การบริหารประเทศของพรรคภารตียชนตาครบเทอม 5 ปี ดังที่เคยเกิดมาแล้วในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2014 ที่ผู้มีสิทธิออกเสียงครั้งแรกจำนวน 24 ล้านคนออกมาใช้สิทธิ

หลังการเลือกตั้งปี 2014 IndiaSpend สำนักข่าวออนไลน์ที่นำเสนอข่าวแบบ Data Journalism ได้วิเคราะห์ว่า รัฐที่มีพลเมืองรุ่นใหม่จำนวนมากลงคะแนนอย่างไร พบว่าผู้มีสิทธิออกเสียงรุ่นใหม่จากรัฐที่มีพลเมืองรุ่นใหม่จำนวนมากได้หนุนพรรคภารตียชนตาให้ขึ้นสู่อำนาจ

ที่มาภาพ:https:// www.business-standard.com/article/elections/with-45-million-new-voters-parties-need-to-talk-jobs-education-in-2019-119021500349_1.html

การเลือกตั้งครั้งที่แล้วประเด็นที่เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ได้แก่ การศึกษา การมีงานทำ ดังนั้นจึงคาดว่ายังคงเป็นประเด็นหลักของการเลือกตั้งครั้งนี้

ตั้งแต่ปี 2000 งบประมาณด้านการศึกษาในระดับสูงขึ้นมีสัดส่วน 0.73%-0.87% ของรายได้ประชาชาติ(GDP) และลดลงมาที่ 0.62% ในปี 2015 อีกทั้งการเข้าโครงการพัฒนาทักษะ (Pradhan Mantri Kaushal Vikas Yojana)มีเพียง 64% ต่ำกว่าเป้าหมาย

การจ้างงานยังเป็นประเด็นหลักของผู้มีสิทธิออกเสียงรุ่นใหม่ แม้ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่พรรคการเมืองไม่สามารถละเลยได้และจากรายงานที่มีการรั่วไหลออกของสำนักงานสถิติแห่งชาติ(National Sample Survey Office :NSSO) การว่างงานสูงขึ้น 6.1% สูงสุดในรอบ 45 ปี

เมื่อสำรวจลึกลงไปอายุประชากรของอินเดียเฉลี่ยอยู่ที่ 27.9 ปี และคาดว่าปี 2020 สัดส่วนประชากรอายุน้อยจะสูงถึง 34 % ของประชากรรวมทั้งประเทศ ขณะที่รายงาน Youth in India ปี 2017 ของ NSSO สัดส่วนคนรุ่นใหม่ปี 2010 สูงถึง 35.11% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นราว 4.2% นับตั้งแต่ปี 1971 จาก 168 ล้านคน เป็น 423 ล้านคน

ประชากรวัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคน จัดว่าเป็นคนรุ่นใหม่ แต่บางครั้งก็แตกต่างกันไปตามการใช้ของแต่ละหน่วยงาน โดยองค์การสหประชา
ชาติกำหนดว่า คนอายุ 15-24 ปีเป็นเยาวชน แต่นโยบายเยาวชนแห่งชาติของอินเดียปี 2003 กำหนดอายุไว้ที่ 13-35 ปี ต่อมาในปี 2014 ได้ปรับใหม่เป็นอายุ 15-29 ปีและเป็นอายุแรงงานที่จัดเก็บเข้าระบบ

รัฐที่มีประชากรวัยเยาว์อาศัยอยู่จำนวนมาก ได้แก่ พิหาร เบงกอลตะวันตก ราชสถาน มหาราษฏระ และอุตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากสุดรวมทั้งเป็นรัฐที่มีจำนวนส.ส.เข้าโลกสภามากสุดด้วย ส่งผลให้โดยรวมส.ส.จาก 5 รัฐนี้มีสัดส่วน 43% ของที่นั่งทั้งหมด ดังนั้นพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับ 5 รัฐนี้มีโอกาสมากขึ้นที่จะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในโลกสภา

ที่มาภาพ:https:// www.business-standard.com/article/elections/with-45-million-new-voters-parties-need-to-talk-jobs-education-in-2019-119021500349_1.html

เรียบเรียงจาก AIJAC,VOANews,asianews,ottawape,thediplomat