ThaiPublica > เกาะกระแส > ส่องระบบเลือกตั้งต่างประเทศ เอสโตเนียล้ำสุดใช้สิทธิผ่านมือถือล่วงหน้า เปลี่ยนโหวตได้จนถึงวันจริง อินเดียใช้เครื่องลดทุจริต

ส่องระบบเลือกตั้งต่างประเทศ เอสโตเนียล้ำสุดใช้สิทธิผ่านมือถือล่วงหน้า เปลี่ยนโหวตได้จนถึงวันจริง อินเดียใช้เครื่องลดทุจริต

24 มีนาคม 2019


ที่มาภาพ: http:// estonianworld.com/technology/estonias-i-Voting-more-secure-more-popular/

“เข้าคูหา กาเบอร์ที่ชอบ แล้วหย่อนลงหีบ” เป็นวิธีการลงคะแนนเลือกตั้งที่ปฏิบัติกันทั่วไปในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย แต่ไม่ใช่ที่เอสโตเนีย ประเทศเล็กๆ ในยุโรปตะวันตก เพราะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการลงคะแนนเลือกผู้แทนผ่านระบบออนไลน์ ที่ส่งผลให้เกือบครึ่งหนึ่งของคะแนนมาจากการออกเสียงออนไลน์ คือ 247,232 คะแนนจากคะแนนทั้งหมด 561,131 คะแนน นับเป็นการลงคะแนนเสียงออนไลน์ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

พรรคปฏิรูป (Reform Party) ฝ่ายขวาที่มีลักษณะกลางๆ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดที่ผ่านการออกเสียงด้วยระบบออนไลน์ถึง 40% รองลงมาคือพรรค EKRE ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมได้คะแนนออนไลน์ 13.5% และพรรค Isamaa ได้คะแนนจากการออกเสียงออนไลน์ 12.5%

การออกเสียงลงคะแนนออนไลน์ในเอสโตเนียลักษณะนี้เรียกว่า i-Voting ซึ่งเปิดให้ลงคะแนนได้ในการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้คณะกรรมการเลือกตั้ง (State Electoral Office) ชี้แจงในเอกสารข่าวว่า ประชาชนสามารถลงคะแนนแบบ i-Voting ได้ที่ www.valimised.ee ตั้งแต่วันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2562

ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าในสถานที่จัดเตรียมไว้ให้นั้นมีขึ้นช่วงวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2562 และการลงคะแนนในวันเลือกตั้งที่ 3 มีนาคม 2562 ต้องไปใช้สิทธิที่คูหาเลือกตั้งตามเขตที่มีชื่อเท่านั้น โดยต้องมีบัตรประจำตัวชนิดที่มีรูปถ่ายนำไปแสดงด้วย

แต่ที่น่าสนใจคือ การลงคะแนนที่ได้ทำผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไปแล้วนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อีกระบบหนึ่ง หรือการไปใช้สิทธิลงคะแนนในสถานที่จัดเตรียมไว้ในช่วงการเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการลงคะแนนของตัวเองได้ในวันเลือกตั้ง ดังนั้นการนับคะแนนจะยึดตามการลงคะแนนครั้งสุดท้าย ที่สำคัญระบบจะทำการตัดชื่อผู้ลงคะแนนออกก่อนที่จะถูกบันทึก ซึ่งทำให้ไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้ลงคะแนน แต่มีเพียงการบันทึกคะแนนเท่านั้น

ในการเลือกตั้งครั้งนี้คณะกรรมการเลือกตั้งเอสโตเนียระบุว่า ระบบ i-Voting มีการเพิ่มเติมฟีเจอร์เข้าไปเล็กน้อย โดยให้ผู้ใช้สิทธิสามารถค้นหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งจากรายชื่อได้ หรือจะคลิกไปที่รายชื่อพรรคการเมืองก่อนแล้วค้นหาชื่อผู้สมัคร

การลงคะแนนออนไลน์ของเอสโตเนียไม่ยุ่งยาก โดยผู้ใช้สิทธิต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน หรือจะลงคะแนนผ่านเลขหมายโทรศัพท์มือถือที่ผ่านการรับรอง รวมทั้งต้องมีการเข้ารหัส เมื่อมีการดาวน์โหลดโปรแกรมลงเครื่องแล้ว ซอฟต์แวร์นี้จะตรวจสอบโดยอัตโนมัติว่า บุคคลนั้นมีสิทธิที่จะออกเสียงหรือไม่ รวมทั้งจะแสดงรายชื่อผู้สมัครแยกตามภาคตามเขตที่ผู้ใช้สิทธิมีชื่อในทะเบียน

หลังจากที่ผู้ใช้สิทธิตัดสินใจและลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้แล้ว ระบบจะทำการเข้ารหัส (encrypt) ไว้ และจัดส่งคะแนนนั้นไปยังเซิร์ฟเวอร์รวมคะแนน ทุกๆ คะแนนที่ส่งเข้าจะถูกบันทึกด้วยเวลาเข้าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการยืนยันว่าคะแนนได้ถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์แล้ว

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในปี 2015 ผู้ใช้สิทธิสามารถตรวจสอบได้ว่าคะแนนที่ลงผ่าน i-Voting นั้นได้มีการจัดส่งไปที่เซิร์ฟเวอร์แล้วหรือไม่ ด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งกล้องถ่ายรูปและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การที่ออกแบบระบบไว้แบบนี้เพื่อให้มั่นใจว่า เครื่องคอมพิวเตอร์นั้นไม่มีมัลแวร์ฝังตัวอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้มีการบล็อกการลงคะแนนได้

การลงคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ในเอสโตเนียเริ่มขึ้นปี 2005 โดยใช้ในการเลือกตั้งระดับเทศบาลเป็นครั้งแรก มีการใช้สิทธิออนไลน์ 9,287 คะแนน คิดเป็นไม่ถึง 2% ของคะแนนที่นับได้ และตอนนั้นการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ได้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนที่ฝังชิปซึ่งได้นำออกใช้เมื่อปี 2002 คู่กับเครื่องอ่านบัตรที่ติดตั้งโปรแกรมพิเศษ

ผู้ใช้สิทธิต้องมีกุญแจเข้ารหัส 2 ดอก (public key infrastructure: PKI) เพื่อเข้าระบบประกอบด้วยกุญแจส่วนตัว (private key) และกุญแจสาธารณะ (public key) กุญแจดอกหนึ่งเพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้สิทธิ อีกดอกหนึ่งเพื่อใช้เซ็นชื่อในเอกสารในรูปของลายเซ็นดิจิทัล (digital signature) ซึ่งในเอสโตเนียถือเป็นการเซ็นชื่อด้วยตัวเองและมีผลตามกฎหมาย ที่สำคัญบัตรประจำตัวประชาชนต้องมีรหัสพิเศษด้วย

ที่มาภาพ:https://e-estonia.com/i-voting-the-future-of-elections/

หลังจากที่ i-Voting เริ่มนำมาใช้ปี 2005 มีประชาชนที่หันมาลงคะแนนออนไลน์มากขึ้น โดยการเลือกตั้งผู้แทนเข้าสภาปี 2007 ที่การลงคะแนนออนไลน์ผ่าน i-Voting มีจำนวน 30,243 คะแนน แต่อีก 2 ปีต่อมาการเลือกตั้งสภายุโรปการลงคะแนนออนไลน์ผ่าน i-Voting เพิ่มเป็น 58,614 คะแนน และแตะระดับ 100,000 คะแนนในการเลือกตั้งระดับเทศบาลปี 2009 ส่งผลให้การลงคะแนนออนไลน์มีสัดส่วน 16% ของการลงคะแนนโดยรวม

ปี 2007 ได้มีการเปิดตัว Mobiil-ID เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นจากบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้การลงคะแนนง่ายขึ้นอีก เพราะไม่ต้องใช้เครื่องอ่านบัตร ประชาชนสามารถลงคะแนนผ่านโทรศัพท์มือถือโดยใช้รหัสพิเศษได้เลย แต่ระบบนี้ต้องทำผ่านซิมการ์ดโทรศัพท์ โดยผู้มีสิทธิออกเสียงต้องขอซิมการ์ดใหม่จากผู้ให้บริการ

การลงคะแนนด้วย Mobiil-ID เริ่มใช้ครั้งแรกสำหรับการเลือกตั้งระดับสภาปี 2011 โดยใช้ควบคู่กับบัตรประชาชน และยังมีการให้ลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้ง ในปีนั้นมีการลงคะแนนออนไลน์ 140,846 คะแนน

การเลือกตั้งระดับสภาปี 2015 มีการลงคะแนนออนไลน์ถึง 176,491 คะแนน ส่วนการเลือกตั้งระดับเทศบาลปี 2017 มีการลงคะแนนออนไลน์ 185,871 คะแนนหรือ 32% ของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ และการเลือกตั้งระดับสภาในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 44% ดังนั้นจึงต้องจับตาดูว่าการเลือกตั้งสภายุโรปในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ สัดส่วนการลงคะแนนออนไลน์จะเพิ่มเป็น 50% หรือไม่

เอสโตเนียจัดว่าเป็นผู้นำในการใช้ระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่ก้าวหน้า เพราะเป็นระบบอินเทอร์เน็ต นับจากที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2005 รัฐบาลระบุว่า 30% ของประชากรจำนวน 1.3 ล้านคนได้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการลดวันทำงานเตรียมการเลือกตั้งที่ต้องกินเวลาถึง 11,000 วันทำการในการเลือกตั้งแต่ละปี

อินเดียใช้เครื่องลดทุจริตเลือกตั้ง-ประหยัดเวลา

การเลือกตั้งของอินเดีย ประเทศที่มีประชากร 1.3 พันล้านคน แต่ละครั้งนับเป็นการเลือกตั้งรายการใหญ่ของโลกทีเดียว เพราะต้องใช้เวลานาน โดยการเลือกตั้งปี 2019 นี้ จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ตามประกาศเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ของคณะกรรมการเลือกตั้งอินเดีย (Indian Election Commission) แล้ว อีกทั้งจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีรายชื่อตามทะเบียนก็สูงถึง 815 ล้านคน เพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 543 คน เข้าสู่สภาหรือโลกสภา (Lok Sabha)

นอกจากนี้ยังต้องระดมเจ้าหน้าที่ราว 11 ล้านตั้งแต่จัดการเลือกตั้ง รักษาความปลอดภัยให้กับจุดเลือก 935,000 แห่ง ใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (electronic voting machine: EVM) ถึง 1.7 ล้านเครื่อง

การเลือกตั้งยังแบ่งออกเป็น 7 รอบ เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 แต่มีหลายรัฐที่ต้องเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว โดยผลการเลือกตั้งจะประกาศในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562

ด้วยจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงถึงกว่า 800 คนและพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องอีกเกือบ 2,000 พรรค การเลือกตั้งของอินเดียจึงมีความท้าทายอย่างมากในแง่การจัดการ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความเชื่อถือและความซื่อสัตย์ในการนับคะแนน

หลายทศวรรษที่ผ่านมาการลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งในอินเดียมีความวุ่นวายเกิดขึ้นเป็นระยะ มีการขัดขวางการลงคะแนนด้วยการทำลายคูหาเลือกตั้ง หรือมีการเข้าไปอัดกันอยู่ในคูหาเลือกตั้งด้วยฝูงชนที่ถูกว่าจ้างจากพรรคการเมือง แต่เหตุการณ์หล่านี้เริ่มลดลงหลังจากที่มีการนำระบบการลงคะแนนด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาใช้

การลงคะแนนด้วย EVM ใช้เป็นครั้งแรกในปี 1982 ในการเลือกตั้งซ่อมกับจุดลงคะแนน 50 แห่งในรัฐเกรละ ต่อมาปี 1998 ได้นำมาใช้กับการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 16 ที่นั่งในราชสถานและกรุงเดลี และปี 2004 การเลือกตั้งสมาชิกโลกสภาได้ใช้ EVM ทั้งหมด

ที่มาภาพ: https:// qz.com/199553/indias-democracy-runs-on-1-7-million-electronic-voting-machines/

เครื่อง EVM นี้จะติดตั้งโปรแกรมการทำงานและข้อมูลลงในชิปที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และหลังจากปิดการลงคะแนนเสียง หรือมีความพยายามจากคนบางกลุ่มที่จะใช้เครื่องลงคะแนนเพื่อทุจริตการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่จะกดปุ่มปิด เครื่องจะหยุดทำงานและไม่สามารถป้อนข้อมูลใหม่เข้าไปได้อีก คะแนนจะตรงกับผู้มีสิทธิออกเสียงรวมที่ลงทะเบียนและบันทึกไว้ นอกจากนี้เครื่อง EVM ทั้ง 1.7 ล้านเครื่องไม่มีการเชื่อมต่อเครือข่ายใดทั้งสิ้น ไม่มีการใช้ไฟฟ้า เพราะทำงานโดยแบตเตอรี่ขนาด 6 โวลต์ 2 ก้อน

เครื่อง EVM เหมาะกับการใช้งานในชนบทของอินเดีย ที่ประชากรอินเดียอาศัยอยู่คิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากร 1.3 พันล้าน รวมทั้งเหมาะกับในพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะพกพาสะดวก ใช้งานได้ในทุกสภาพอากาศของอินเดีย

เครื่อง EVM นี้ผลิตในประเทศ ซอฟต์แวร์ในเครื่องพัฒนาโดยทีมวิศวกรของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง ซึ่งทางการยืนยันว่าบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในเครื่องได้

EVM แต่ละเครื่องจะบันทึกการลงคะแนนได้ 2,000 คะแนน ขณะที่จำนวนผู้ลงทะเบียนตามจุดเลือกตั้งมีไม่เกิน 1,500 รายชื่อ และมีจำนวนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 64 ราย ผู้ใช้สิทธิเพียงแค่กดปุ่มบนเครื่องเพื่อลงคะแนนเท่านั้น

เครื่อง EVM แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเจ้าหน้าที่จะทำการควบคุม เครื่องนี้จะเชื่อมต่อกับเครื่องบันทึกคะแนน (balloting unit) ซึ่งเปรียบเสมือนหีบบัตร ด้วยสายเคเบิล เมื่อผู้ใช้สิทธิเดินเข้าคูหา เจ้าหน้าที่จะเปิดใช้เครื่องบันทึกคะแนน ผู้ใช้สิทธิก็กดปุ่มสีฟ้าเลือกหมายเลขผู้สมัครที่มีให้เลือกตั้งแต่ 1-64 ตามรายชื่อผู้สมัครและสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง

เพื่อป้องกันการทำการใดๆ กับเครื่องก่อนการลงคะแนนเริ่มขึ้น คณะกรรมการเลือกตั้งจะหุ้มเครื่องด้วย WAX พร้อมคาดด้วยเทปที่แสดงถึงการผ่านการตรวจสอบรวมทั้งแปะหมายเลขเครื่องไว้ด้วย

การลงคะแนนด้วยเครื่อง EVM ช่วยประหยัดเวลาเพราะการรวมคะแนนของสมาชิกสภา 1 ที่นั่งใช้เวลาเพียง 3-5 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องใช้เวลานับคะแนนแบบปกติถึง 40 ชั่วโมง เครื่อง EVM ยังมีฟีเจอร์ที่ตัดคะแนนที่เสียออก ทำให้ลดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งลดการทุจริตในการเลือกตั้ง ลดความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และส่งผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยในอินเดีย เพราะดึงให้คนยากจนและคนในกลุ่มเปราะบางออกมาใช้สิทธิลงคะแนน ตลอดจนทำให้การเลือกตั้งมีการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม แม้คณะกรรมการเลือกตั้งจะยืนยันว่าไม่สามารถเจาะระบบเครื่อง EVM ได้ แต่ก็มีกรณีร้องเรียนหลายระลอกจากพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งในช่วงก่อนหน้านี้ และยังมีกรณีการไม่เชื่อถือในเครื่องออกมาอีกครั้ง โดยในสัปดาห์ก่อน บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ออกมาระบุว่าเครื่อง EVM ถูกเจาะระบบ ทำให้พรรคภารตียชนตา ของนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที กวาดที่นั่งเข้าสภาได้อย่างลอยลำในปี 2014

การร้องเรียนที่นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาล ทำให้ปี 2012 ศาลมีคำสั่งให้ติดตั้งเครื่องพิมพ์ผลการเลือกตั้งด้วยกระดาษ (voter-verifiable paper audit trails: VVPAT) ให้ผู้ใช้สิทธิเห็น เพื่อความโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้กับการเลือกตั้ง

ที่มาภาพ: https://www. hindustantimes.com/lok-sabha-elections/lok-sabha-elections-2019-what-s-in-a-name/story-bxxFbe18dNexgBUWqS4ltI.html

ในการลงคะแนนผู้ใช้สิทธิต้องดูว่าสัญญานไฟ LED บนเครื่อง EVM เป็นสีเขียวแสดงความพร้อม และเมื่อกดปุ่มเลือกหมายเลขผู้สมัคร เครื่อง EVM จะส่งเสียงบี๊บว่าได้บันทึกการลงคะแนนแล้ว และเครื่อง VVPAT ที่ทำงานด้วยแบตเตอรี่จะแสดงผลบนหน้าจอการลงคะแนนที่มีทั้งหมายเลขเครื่อง ชื่อและสัญลักษณ์ของผู้สมัครเป็นเวลา 7 วินาทีให้ผู้ใช้สิทธิเห็น เพื่อยืนยันการลงคะแนนของตัวเอง ก่อนที่เครื่องจะตัดกระดาษอัตโนมัติและเก็บสลิปไว้ในกล่องที่ปิดมิดชิด

นับจากปี 2015 ที่มีการใช้เครื่อง VVPAT กระดาษที่บันทึกการลงคะแนนจากเครื่อง 1,500 เครื่องที่มีการนับคะแนนเมื่อเทียบกับการนับคะแนนที่ใช้สิทธิผ่านอิเล็กทรอนิกส์ตรงกันและไม่มีข้อผิดพลาด

คณะกรรมการเลือกตั้งได้ขยายการใช้เครื่อง VVPAT มากขึ้นในการเลือกตั้งปีนี้ พร้อมปรับเครื่อง EVM ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้จัดพิมพ์รูปแสดงหน้าตาผู้สมัครทุกรายติดไว้บนเครื่องเพื่อให้ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่ชื่นชอบได้อย่างถูกต้อง และเป็นการแก้ปัญหาลงคะแนนผิดคนเพราะชื่อผู้สมัครซ้ำกัน เนื่องจากประชากรอินเดียมีจำนวนถึง 1.3 พันล้านคน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้สมัครจะมีชื่อซ้ำกันในเขตเลือกตั้งเดียวกัน

ที่มาภาพ: https:// eci.gov.in/evm/

สหรัฐฯ ให้ลงคะแนนผ่านอีเมลเฉพาะกลุ่ม

ในสหรัฐฯ มีการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์กันทั่วไปมาร่วม 15 ปี แต่ยังไม่มีการให้ลงคะแนนออกไลน์ แม้ว่าประชาชนผู้ใช้สิทธิร้องเรียนว่าเครื่องไม่ทำงานบ้าง มีปัญหาทางเทคนิคในการลงคะแนนบ้าง หรือเครื่องรวนจนทำให้คะแนนไปลงให้กับผู้สมัครที่ผู้ใช้สิทธิไม่ได้เลือก เนื่องจากยังไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยและเกรงว่าอาจจะมีการเจาะเข้าระบบ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 มีประชาชนที่เข้าแถวรอลงคะแนนนานนับหลายชั่วโมง เพราะเครื่องขัดข้อง เปลี่ยนใจไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งมีปัญหาการลงคะแนนเด้งหลายรอบเพราะหน้าจอทัชสกรีนรองรับไม่ดีพอ ปัจจุบันยังมีเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในสหรัฐฯ ราว 35,000 เครื่อง และยังเกรงว่าจะเกิดปัญหาเพราะไม่ได้มีเครื่อง VVPAT ใช้งานร่วมกัน

เจ อเล็กซ์ ฮัลเดอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งออนไลน์ยังมีความเสี่ยง โดยจากการเดินทางไปเอสโตเนียเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของระบบ ก็พบว่ามีสัญญานเตือนหลายจุด

ส่วนเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ เองก็ใช่ว่าจะมีความปลอดภัย เพราะเขาและทีมงานเคยเจาะเข้าระบบได้ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานการเลือกตั้งที่แม้จะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดก็ยังเสี่ยงต่อการถูกโจมตีหรือระบบล่มได้

ฮัลเดอร์แมนแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัยและความถูกต้อง ให้ใช้การบันทึกด้วยกระดาษเสริมเข้าไปด้วย และควรใช้กับทุกการเลือกตั้ง

อเมริกันชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำกว่าประเทศประชาธิปไตยอื่นในฝั่งตะวันตก โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 มีผู้ลงคะแนน 60% ของผู้มีสิทธิออกเสียง แม้จะเพิ่มขึ้นจาก 36% ในการเลือกตั้งกลางสมัยปี 2014

มีการเสนอให้พัฒนาระบบการลงคะแนนออนไลน์เพื่อดึงประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิมากขึ้น เพราะทำให้การเลือกตั้งสะดวกสบายมากขึ้น และผลสำรวจเยาวชนสหรัฐฯ วัย 18-34 ปีพบว่า 49% มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่จะใช้สิทธิหากมีการลงคะแนนออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ในบางรัฐของสหรัฐฯ อนุญาตให้คนบางกลุ่มลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยผู้ที่จะส่งการลงคะแนนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง แฟ็กซ์ อีเมล หรือเว็บพอร์ทัลได้ต้องเป็นไปตามที่ Uniformed and Overseas Citizens Absentee Voting Act (UOCAVA) กำหนด ซึ่งเป็นการลงคะแนนโดยที่ไม่ต้องไปที่หน่วยเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สามารถเดินทางไปสถานที่เลือกตั้ง เช่น อาศัยอยู่ต่างประเทศ หรือเป็นทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ

ปัจจุบันมี 4 รัฐที่อนุญาตให้ส่งคะแนนผ่านเว็บพอร์ทัลได้ คือ แอริโซนา โคโลราโด มิสซูรี และนอร์ทดาโกตา แต่มิสซูรีอนุญาตให้เฉพาะทหารที่ประจำการในดินแดนที่ตึงเครียด ก่อนหน้านี้มีรัฐอลาบามาและอลาสกา ที่เปิดให้ลงคะแนนผ่านเว็บพอร์ทัลแต่ได้ยุติไป

เวสต์เวอร์จิเนียเป็นรัฐเดียวที่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือลงคะแนนผ่านแอปพลิเคชันได้ในปี 2018 ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน แต่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติตาม UOCAVA

อีก 19 รัฐและวอชิงตัน ดี.ซี. อนุญาตให้ลงคะแนนผ่านอีเมลหรือแฟ็กซ์ได้ ได้แก่ เดลาแวร์, ดี.ซี., ฮาวาย, ไอดาโฮ, อินเดียนา, ไอโอวา, แคนซัส, เมน, แมสซาชูเซตส์, มิสซิสซิปปี, มอนทานา, เนแบรสกา, เนวาดา, นิวเจอร์ซีย์, นิวเม็กซิโก, นอร์ทแคโรไลนา, โอเรกอน, เซาท์แคโรไลนา ยูทาห์ และวอชิงตัน

สำหรับรัฐที่อนุญาตให้ส่งคะแนนผ่านแฟ็กซ์มี 7 รัฐได้แก่ อลาสกา, แคลิฟอร์เนีย, ฟลอริดา ลุยเซียนา, โอคลาโฮมา, โรดไอแลนด์, เท็กซัส รัฐที่ไม่อนุญาตให้ส่งคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แต่จำกัดเฉพาะส่งไปรษณีย์เท่านั้นมี 19 รัฐ คือ อลาบามา, อาร์คันซอ, คอนเนติคัต, จอร์เจีย, อิลลินอยส์, เคนทักกี, แมรีแลนด์, มิชิแกน, มินนิโซตา, นิวแฮมเชียร์, นิวยอร์ก, โอไฮโอ, เพนซิลเวเนีย เซาท์ดาโกตา, เทนเนสซี, เวอร์มอนต์, เวอร์จิเนีย, วิสคอนซิน และไวโอมิง

ที่มาภาพ: https:// www.businessinsider.com/22-states-that-allow-you-to-vote-online-2016-9

ประเทศไหนใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันมีราว 33 ประเทศที่ใช้เครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเวเนซุเอลาใช้ในปี 2560 แต่ก็มีการกล่าวหาว่าทำให้เกิดการออกมาใช้สิทธิเกินจริงไปอย่างน้อย 1 ล้านเสียง แต่รัฐบาลปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ เวเนซุเอลาใช้ระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ปี 2541 โดยใช้เครื่อง DRE มีระบบสัมผัสหน้าจอที่มีระบบการพิมพ์ผลลงคะแนนบนกระดาษหรือ VVPAT ด้วย

ปีเดียวกัน ในอาร์เจนตินา นักการเมืองไม่ยอมรับแผนการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-voting จึงสร้างความกังวลต่อความโปร่งใสและการปั่นคะแนนเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้ปี 2004 อาร์เจนตินาเริ่มใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ในวงจำกัด และมีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งเพิ่มเติมปี 2559 และได้สั่งซื้อเครื่องจากเกาหลีใต้เพื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2560 แต่ไม่นำมาใช้เพราะวิตกเรื่องความปลอดภัย

ในอิรักต้องมีการนับคะแนนใหม่ส่วนหนึ่งในการเลือกตั้งระดับสภาปี 2561 เพราะเครื่องขัดข้องทางเทคนิค ขณะที่ปลายปีนั้นมีการทดสอบระบบที่คองโกกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ในปีก่อนรัฐบาลอินเดียได้จัดเครื่อง EVM ให้กับภูฏานจำนวน 4,130 เครื่องเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น เช่น เนปาลและนามิเบีย นำเข้าเครื่องจากอินเดีย เพราะมีราคาเพียง 150 ดอลลาร์

ณ เดือนกันยายน 2561 มีหลายประเทศทั่วโลกที่ใช้การลงคะแนนเลือกตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ระดับการใช้แตกต่างกัน บางประเทศทดสอบแล้วใช้จริง บางประเทศทดสอบแล้วไม่ใช้ และมีเพียงจำนวนหนึ่งที่ใช้ในการปฏิบัติงานต่อเนื่อง

สำหรับเครื่อง EVM แบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ หนึ่ง สแกนด้วยแสง optical scanning ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรุ่นแรกๆ สอง บันทึกคะแนน direct recording หรือ DRE เพิ่งพัฒนาไม่นานนี้และยังไม่ใช่แพร่หลาย สาม ลงคะแนนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (vote over internet) ที่ใช้น้อยมาก

สหรัฐใช้ทั้ง DRE, optical scanning และบัตรลงคะแนน ซึ่ง optical scanning คล้ายกับการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง โดยเครื่องจะอ่านคะแนนตรงเครื่องหมายที่ผู้ใช้สิทธิกาไว้ ทำให้การรับคะแนนทำได้เร็วขึ้น

ประเทศที่ใช้ระบบ optical scanningในระดับการเลือกตั้งเทศบาล คือ แคนาดา สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ส่วนอังกฤษและเยอรมนีเลิกใช้แล้ว

ส่วน DRE เครื่องจะบันทึกการลงคะแนนอัตโนมัติ ผู้มีสิทธิออกเสียงเพียงทำการลงคะแนนบนหน้าจอทัชสกรีน หรือกดปุ่ม และบางครั้งมีเครื่อง VVPAT บันทึกด้วยกระดาษเพิ่มเข้าไปเพื่อความโปร่งใส ซึ่งบราซิลและอินเดียใช้ระบบนี้กับการเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยบราซิลเริ่มใช้ DRE ในปี 1996 แค่จำกัดพื้นที่ แต่ขยายการใช้ออกไปในปี 2000 และใช้ทั่วประเทศ และในปี 2018 ได้ยกเลิกการใช้ VVPAT อย่างสิ้นเชิง

ประเทศที่กำลังทดสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์ คือ ภูฏาน, สหราชอาณาจักร, อิตาลี, นอร์เวย์, คาซัคสถาน, ออสเตรเลีย, เนปาล, กัวเตมาลา, อินโดนีเซีย, ฟินแลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, รัสเซีย แต่ประเทศที่ยุติการทดสอบคือ เบลเยียม ญี่ปุ่น เยอรมนี เนเทอร์แลนด์

เรียบเรียงจาก e-estoniabnn-news, time, zdnet, eci, economictimes, ncsl, bbc, qz, businessinsider, hindustantimes , lifewire