ThaiPublica > คอลัมน์ > รักษาไว้คู่แผ่นดิน : เมืองโบราณศรีเทพ วางแผนในการบริหารมรดกทางวัฒนธรรมในยุคนักล่าน้ำมัน

รักษาไว้คู่แผ่นดิน : เมืองโบราณศรีเทพ วางแผนในการบริหารมรดกทางวัฒนธรรมในยุคนักล่าน้ำมัน

8 มีนาคม 2019


พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

เราในฐานะมนุษย์ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันมีหน้าที่เป็น “ผู้ดูแล” และไม่ใช่เจ้าของ “มรดก” ไม่ว่าสิ่งดังกล่าวจะเป็นสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม หรือ ประวัติศาสตร์ เราต้องบำรุงรักษาและพัฒนามรดกเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นสิ่งที่คู่ควรแก่การสืบทอดต่อไปให้คนรุ่นหลังรวมทั้งชื่อเสียงของเราเองในฐานะผู้ดูแลมรดกดังกล่าวในปัจจุบันด้วย

นี่คือหลักการในการบริหารมรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นรากฐานของนโยบายอนุรักษ์ซึ่งได้เติบโตจากแนวคิดของ จอห์น รัสกิน ผู้ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว หลักการนี้ยึดว่าเมื่อเรารู้ว่าบางสิ่งบางอย่างอาจมีค่าเพราะมีผลต่อยอดได้ เราไม่ควรตัดช่องน้อยแต่พอตัวเลือกที่จะทำลายเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของเราเอง ทั้งๆ ที่เราไม่มีองค์ความรู้ที่จะนำคุณประโยชน์ของสิ่งดังกล่าวออกมาใช้ด้วยข้อจำกัดของเราเองในสมัยปัจจุบัน

หน้าที่ของเราคือเก็บรักษาเอาไว้ให้ดีที่สุดเพื่อที่คนรุ่นต่อไปจะได้นำสิ่งที่เรารักษาไปใช้ประโยชน์เมื่อปัจจัยพร้อมมากขึ้นในอนาคต

  • บ่อน้ำมันที่เมืองโบราณศรีเทพ หายนะที่ไม่ใช่แค่เรื่องการยื่นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม
  • จากกรณีที่การเสนอให้การมีขุดหลุมผลิตน้ำมัน STN-2 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับเมืองโบราณศรีเทพและกลุ่มโบราณสถานของเมือง ทำให้เกิดการวิพากษ์มากมายจากสังคม ระหว่างที่รอการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่สองในเดือนเมษายน และร่างการประเมิน environmental impact assessment (EIA) ผู้เขียนจึงอยากจะนำเสนอประเด็นเรื่องนี้เพิ่มเติมเพื่อให้สังคมเข้าใจการดูแลรักษาเมืองโบราณดังกล่าว

    ในบทความนี้จะจำแนกประเด็นเรื่องแนวทางการอนุรักษ์เมืองโบราณและป้องกันไม่ให้มีการขุดเจาะน้ำมันไม่ว่าในบริเวณใดๆ ที่ใกล้กับตัวเมืองโบราณ โดยจะชี้ให้เห็นปัญหาในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม

    การบริหารจัดการโบราณสถาน: 100 เมตร หรือ 1 กิโลเรื่องขุดเจาะบนภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ (historic landscape)

    ความขัดแย้งระหว่างมรดกทางวัฒนธรรมหรือธรรมชาติกับอุตสาหกรรมขุดเจาะ (extractive industries) ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกแต่เป็นปัญหาที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยด้วยการขยายตัวของอุตสากรรมและความต้องการน้ำมันและก๊าซที่เพิ่มมากขึ้น

    ในการกำหนดพื้นที่แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมหรือธรรมชาติจะต้องมีการแบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่ใจกลางและพื้นที่กันชน (buffer zone) และพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่กันชน ทั้งนี้เพื่อให้ขั้นตอนการอนุรักษ์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลักการแล้ว World Heritage Committee ใช้หลักการ “no-go” ปี ค.ศ 2003 ของ International Council of Mining and Metals (ICMM) และบริษัท Shell ซึ่งได้ทำการศึกษาผลกระทบของการสำรวจและขุดเจาะบริเวณแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ กล่าวคือ จะไม่มีการสำรวจหรือใช้ทรัพยากรกลุ่มแร่หรือไฮโดรคาร์บอนในพื้นที่มรดกโลกโดยเด็ดขาด รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่รอบบริเวณที่เป็นแหล่งมรดก ไม่ว่าจะธรรมชาติหรือวัฒนธรรมก็จะยึดหลักการลดผลกระทบให้น้อยที่สุด

    เป็นเหตุให้นำมาซึ่งความจำเป็นในการปรับแผนบริหารพื้นที่คาบเกี่ยวไม่ว่าจะเป็นทางวัฒนธรรมหรือธรรมชาติ หากยิ่งเป็นมรดกทางโบราณคดีด้วยแล้วหลักการและขั้นตอนของรัฐที่นำมาปฏิบัติจะต้องละเอียด

    ภูมิประวัติศาสตร์ (historic landscape) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการรักษาแหล่งโบราณคดีนั้นมีประโยชน์ทั้งในเชิงการศึกษาและการพัฒนาในอนาคตในระดับองค์รวม มิใช่แค่เพียงมิติเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ภูมิประวัติศาสตร์คือการรวมกันของกิจกรรมมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงในเชิงธรรมชาติ ที่ทำให้การจัดระบบพื้นที่อนุรักษ์ครอบคลุมและลดความเสี่ยงในการทำลายสิ่งที่มองไม่เห็น โดยสามารถทำได้หลายระดับ

    ตัวอย่างการจัดโซนโดยละเอียดในพื้นที่ภูมิประวัติศาสตร์ของ Oxfordshire มีการแบ่งแม้แต่พื้นที่เกษตรกรรมหรือป่าที่มีความหมายเชิงประวัติศาสตร์ความเกี่ยวข้องกับชุมชน ในการกำหนดพื้นที่สัมปทานต่างๆ จะต้องนำปัจจัยย่อยเหล่านี้มาประกอบการออกสัมปทาน (ที่มาของภาพ: https://historicengland.org.uk/research/methods/characterisation-2/historic-landscape-characterisation/#Section1Text)

    ภูมิประวัติศาสตร์และการบริหารทรัพยากรในพื้นที่

    การสำรวจขุดเจาะนั้นมีหลายชนิดซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีความชำนาญการเรื่องนี้แต่ก็มีความรู้ทางธรณีวิทยาและโบราณคดีกับการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอยู่บ้าง จึงจะขออธิบายคร่าวๆ ในมิติของตน ที่ถกเถียงกันขณะนี้มีสองเรื่อง คือ ลักษณะการขุดเจาะที่เป็นแนวดิ่งและแนวเฉียงหรือที่เรียกกัน ว่า (horizontal directional drilling: HDD) ที่เน้นการขุดเจาะจากบริเวณที่ห่างออกไป ซึ่งเคยถูกนำมาศึกษาเป็นโครงการโดยบริษัท ปตท. แต่ก็มีข้อจำกัดเยอะโดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบบนข้อมูลทางโบราณคดีที่ไม่เพียงพอ

    การขุดเจาะไม่ว่าแบบใดควรมีการศึกษาให้ดีก่อนที่จะทำ โดยเฉพาะข้อมูลทางโบราณคดีและมรดกทางวัฒนธรรมที่มีหลายระดับและมีความสัมพันธ์กับชั้นดิน หลายๆ กรณีในสหราชอาณาจักรจะมีการนำภูมิศาสตร์ทางวัฒนธรรมเข้ามากำหนดเขตที่ดินก่อนที่จะประกาศสัมปทานต่างๆ เพราะแหล่งโบราณคดีหรือมรดกทางวัฒนธรรมนั้น มีสองมิติ

    1. มิติแรกคือเรื่อง “สิ่งที่มองเห็น”

    โบราณวัตถุหรือโบราณสถานที่มองเห็น เช่น โบราณสถานเขาคลังนอก การบริหารสิ่งที่มองเห็นเกี่ยวข้องกับการดูแลความสวยงามและจัดระเบียบผังเมืองและชุมชน การรักษาภูมิทัศน์ของโบราณสถานและเมืองโบราณไม่ให้เสียต่อการศึกษาและอนุรักษ์ไว้พัฒนาในระยะยาว

    2. มิติที่สองคือเรื่อง “สิ่งที่มองไม่เห็น”

    สิ่งที่มองไม่เห็น คือชั้นดินสมัยประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่บนพื้นดิน หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ยังไม่ได้ขุดแต่งให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือเพื่อศึกษา สิ่งที่มองไม่เห็นรวมไปถึงรากฐานของโครงสร้างที่อยู่บนพื้นดิน เช่น โบราณสถานเขาคลังนอกจะมีการปรับพื้นดินโดยปูอิฐไว้เป็นชั้นใต้ฐาน

    ในทางโบราณคดี “ชั้นดิน” เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะมีข้อมูลการศึกษาหลายระดับ ทุกโบราณสถานจะมีแหล่งโบราณคดีที่ได้ทำการขุดแต่งสำหรับการท่องเที่ยวและแหล่งที่ได้ทำการขุดแล้วกลบหรือยังไม่ได้ขุดเพื่อการอนุรักษ์เนื่องจากการดูแลรักษาที่จะแปรรูปจาก “สิ่งที่มองไม่เห็น” เป็น “สิ่งที่มองเห็น” เป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งทรัพยากรทางทุนทรัพย์และบุคคลสูง

    ชั้นดินและรากฐานของโบราณสถานเป็นเรื่องที่เปราะบางมาก แม้ว่าหน้าดินของแหล่งโบราณคดีจะถูกรบกวนด้วยกิจกรรมทางการเกษตร แต่หากชั้นดินไม่ได้โดนขุดเจาะในระดับอุตสาหกรรม โดยมากแล้วการวิเคราะห์สมัยใหม่สามารถทำให้เห็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างได้ และหากมีการลงทุนสามารถขุดซ่อมแซมแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ขึ้นมาเพิ่มความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวได้เมื่อปัจจัยทางการพัฒนาพร้อม มากไปกว่าการทำลายแหล่งโบราณคดีที่มองไม่เห็นในชั้นดินแล้ว การขุดเจาะยังสร้างความเสี่ยงให้แก่โครงสร้างโบราณคดีที่มองเห็นด้วย แม้ว่าจะขุดแบบ HDD แต่ถ้าการบริหารในการปิดหลุมไม่ดีพอหรือสภาพดินมีปัญหา โครงสร้างโบราณคดีส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างโบราณที่ไม่มีเสาเข็มหรือรากฐานมั่นคงอะไร

    ยกตัวอย่างเช่นกรณีการระเบิดเหมืองในประเทศเมียนมา ซึ่งแม้จะห่างไปเป็นสิบกิโลเมตรแต่ก็ทำให้ภาพเขียนสีและลายปูนแต่งภายในสถูปพุกามโบราณหลุดออกมาได้ ปัจจัยนี้ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาด้านเหมืองแร่กับรัฐบาลพม่าก็คาดไม่ถึงว่าแรงระเบิดจะสามารถไปถึงเจดีย์ดังกล่าวได้ เพราะทางผู้รับเหมาคิดว่าการเว้นระยะทางนั้นห่างจากตัวโบราณสถานเพียงพอแล้ว แต่เหมืองดังกล่าวเมื่อนำมาดูในเชิงความสัมพันธ์ภูมิศาสตร์แล้วกลับตั้งอยู่ในพื้นที่ buffer zone ของพุกาม

    อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อเร็วๆ นี้เหล่านักโบราณคดีในอเมริกาที่ศึกษาเมืองโบราณของวัฒนธรรม Chaco ได้ออกมาเรียกร้องเนื่องจากการขยายสัมปทานนำมันโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใกล้ตำแหน่งการกระจายตัวของโบราณสถานมากเกินไปและอาจจะสร้างความเสียหายได้ โดยการใช้ไลดาร์ศึกษาทำให้นักโบราณคดีพบระบบถนนในบริเวณพื้นที่ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเริ่มโดนรุกจากบ่อขุดน้ำมัน ทำให้ระบบถนนซึ่งมีความยาวกว่าห้ากิโล (เส้นสีเหลืองในภาพ) กำลังถูกทำลายเนื่องจากการสำรวจด้วยตาภาคพื้นไม่ได้ทำให้การประเมินความเสี่ยงในการทำลายแหล่งโบราณคดีที่ยังไม่ได้ค้นพบแต่เป็นส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองโบราณหลัก นอกจากนี้การขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ยังทำให้เกิดปัญหาสุขภาพด้านทางเดินหายใจด้วย

    เมืองในกลุ่มวัฒนธรรม Chaco (สีเขียว) บ่อขุดเจาะน้ำมัน (สีแดง) การขุดเจาะแบบ fracking ได้สร้างความเสียหายให้กับชุมชนที่ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการขุดเจาะน้ำมันทำให้เกิดมลภาวะและโลกหอบหืดในเด็ก มากไปกว่านั้นคือทำลายโบราณถานโดยรอบ ที่มาภาพ: https://www.sierraclub.org/sites/www.sierraclub.org/files/uploads-wysiwig/2018-5-Feature-Chaco-New-Mexico-Map-WB_0.jpg

    ในการประเมินเขตสัมปทานหรือการขุดเจาะในพื้นที่ส่วนควบที่บริษัทที่ยึดหลักการของ ICMM หรือมีแผนอนุรักษ์ตาม World Heritage Committee มักจะมีการศึกษาตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนออกสัมปทานและการขุด โดยจะนำเทคนิคทางจีโอฟิสิกส์เข้ามาใช้สำรวจชั้นดิน และทำหลายๆ อย่างประกอบกันดังต่อไปนี้

      1. การสำรวจทางอากาศ การตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม การสำรวจด้วยไลดาร์
      2. การสำรวจบนพื้นดิน การสำรวจบนดินจะใช้ข้อมูลที่มีอยู่ทางโบราณคดี เช่น แหล่งโบราณสถาน การสำรวจแบบเดินหน้ากระดานในพื้นที่ ประวัติการวิจัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี หากเป็นโบราณคดีใต้น้ำจะมีการนำระบบคลื่นโซนาร์เข้ามาสำรวจ
      3. การสำรวจใต้พื้นดิน ใช้ระบบการสำรวจด้วย ground penetrating radar โดยคลื่นไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็ก เพื่อหาตำแหน่งของโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน โดยเฉพาะตำแหน่งในความลึกของชั้นดิน

    ภาพทั้งหมดนี้จะถูกทำออกมาเป็นผังกริดก่อนที่จะมีการแบ่งที่ดินสัมปทานเพื่อให้ผลประโยชน์ในการจัดสรรค์ที่ดินสำหรับสัมปทานอุตสาหกรรมการขุดเจาะและการบริหารมรดกทางวัฒนธรรมไม่ชนกัน

    ทุกอย่างนี้จะถูกรวมออกมาเป็นผังพื้นที่ ซึ่งจะประกอบด้วย core zone (บริเวณที่มีโบรานสถานและโบราณวัตถุแน่นหนา) buffer zone (บริเวณกันชนซึ่งความแน่นหนาเบาบางแต่มีโบราณวัตถุอยู่) และ peripheral zone (พื้นที่รอบบริเวณกันชน กิจกรรมการขุดเจาะใช้การประเมินผลกระทบต่อภูมิวัฒนธรรมความสวยงาม)

    การจัดระบบผังเมืองและที่ดินของเมืองมรดกโลกที่ Freiberg มีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนต่างๆ รวมถึงพ่วงเอาภูมิวัฒนธรรมและภูมิประวัติศาสตร์ซึ่งก็คือขอบเขตการมองเห็นจากจุดชมวิวซึ่งเป็นจุดชมวิวทางประวัติศาสตร์เข้าไปด้วย

    การจัดระบบเมืองและโบราณสถานในการบริหารมรดกทางวัฒนธรรมที่คำนึงถึงภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์ เมืองโบราณเขาคลังนอกมีภูมิทัศน์จากเขาคลังนอกไปถึงเขาถมอรัตน์เป็นจุดชมวิวทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ซึ่งมองเห็นเหล่านี้ควรมีการจัดระบบเพื่อไม่ให้เสียภูมิทัศน์ ในภาพจะเห็นการแบ่งบริเวณที่มองเห็นออกเป็น core zone กับ buffer zone คือพื้นที่ป้องกันไม่ให้มีกิจกรรมที่อาจจะมาทำลายมรดกทางวัฒนธรรมได้

    การจัดระบบเมืองและโบราณสถานในการบริหารมรดกทางวัฒนธรรมที่คำนึงถึงภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์ เมืองโบราณเขาคลังนอกมีภูมิทัศน์จากเขาคลังนอกไปถึงเขาถมอรัตน์เป็นจุดชมวิวทางประวัติศาสตร์ โดยมีบริเวณลำน้ำป่าสัก ระบบคลองโบราณ คูน้ำ บ่อน้ำ และถนนที่ซับซ้อนและยังไม่ได้ศึกษาให้ดี

    ในเอกสารนำเสนอรับฟังความเห็น บริษัทต้องใช้เวลาการก่อสร้างสองเดือนถึงสองเดือนครึ่ง มีการเจาะลึกถึง 1,200 เมตร แม้จะใช้ระบบเจาะแบบแนวเฉียง แต่การใช้เครื่องจักรกลหนักก่อสร้างทำถนนและปรับพื้นที่ในการรองรับหลุมขุดอาจจะทำให้แรงสั่นสะเทือนส่งผลต่อเมืองโบราณศรีเทพ ทั้งในเชิงฝุ่นและผลกระทบต่อความมั่นคงในโครงสร้างโบราณต่างๆ เช่น สถูปโบราณ บ่อน้ำโบราณ ซึ่งอยู่รอบๆ เมืองโบราณศรีเทพ ทั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อหน้าดินอย่างถาวรรวมถึงถ้าหากมีการรั่วไหลใดๆ เกิดขึ้นอาจทำให้พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสี่ยง

    ของเสียที่เกิดจากการขุดเจาะมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนน้ำบาดาลและระบบน้ำโบราณของเมืองศรีเทพ ซึ่งนอกจากจะยังใช้ในชุมชนปัจจุบันแล้วยังเป็นแหล่งโบราณสถานด้วย มลพิษจากกิจกรรมการขุดเจาะ เช่น การปล่อยก๊าซ ยังกระทบชุมชนและระบบนิเวศน์ของเมืองทั้งอากาศ น้ำ และดิน

    นอกจากในมิติทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์แล้ว เมืองโบราณศรีเทพยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ในเชิงระบบนิเวศน์ เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และนกมากมาย การสร้างบ่อขุดเจาะน้ำมันกระทบวงจรนิเวศน์ด้วยฝุ่นและเสียง ส่งผลกระทบต่อที่ดินในเมืองศรีเทพ ทำให้เป็นพื้นที่ไม่น่าอยู่อาศัยหรือพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงมูลค่าเพิ่ม และต่อยอดเป็นมรดกที่มีชื่อเสียงระดับโลก

    ดังนั้น สำหรับกรณีเมืองโบราณศรีเทพและแหล่งใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องไปจนถึงพื้นที่แถบวิเชียรบุรี ซึ่งมีจารึกโบราณปรากฏอยู่ในพื้นที่ เช่น บ่อรัง ซึ่งกำลังโดนรุกด้วยการขุดน้ำมันอย่างกว้างขวาง จำเป็นจะต้องมีการประเมินพื้นที่ในเชิงภูมิประวัติศาสตร์ใหม่ หากจังหวัดเพชรบูรณ์คิดจะเป็น “เมืองมรดกโลก” ไม่มีนักลงทุนในเชิงอุตสาหกรรมบริการ การท่องเที่ยว หรือแม้แต่ตัวนักท่องเที่ยวเองที่ต้องการจะเห็นแท่นขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่บริเวณโบราณสถาน

    ผู้เขียนขอเสนอให้ทางจังหวัดจัดเขตพิเศษห้ากิโลเมตรออกจากโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญในทะเบียนของกรมศิลปากรและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะไม่ต้องเสี่ยงในการทำลายมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณให้คณะกรรมการมรดกโลกเห็นถึงความเข้มแข็งในการวางแผนบริหารผังเมืองของจังหวัดในระยะยาวซึ่งมักเป็นประเด็นที่หลายๆ แหล่งโบราณคดีของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดนวิจารณ์ ทำให้การประกาศเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ที่กำลังถูกพิจารณาอยู่แทบจะเป็นไปไม่ได้

    สร้างงานจริงหรือ?

    สุดท้ายผู้เขียนอยากฝากประเด็นเชิงมูลค่า งานวิจัยของการสร้างงานของอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมนั้นมีการเพิ่มมูลค่าและผลขยายตัวสูงระหว่าง 1.6 ถึง 2 เท่าต่อหน่วยการจับจ่ายซึ่งเกี่ยวข้องกับโบราณสถานและพิพิทธภัณฑ์ อุตสาหกรรมการขุดเจาะมีผลกระทบในเชิงลบสูง (negative externalities) แม้ว่าเราจะห้ามการขุดเจาะน้ำมันไม่ได้ แต่ควรมีการเก็บภาษีสำหรับชดเชยค่าเสียหายอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะในเชิงสาธารณสุขหรือในการอนุรักษ์และศึกษาโบราณสถานต่างๆ การบริหารไม่ควรให้อุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมันซึ่งสร้างงานน้อยเนื่องจากเป็นงานซึ่งมีความซับซ้อนสูง ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานมีทักษะพิเศษจากนอกพื้นที่และใช้คนทั่วไปในท้องที่เพียงแค่ไม่กี่คน

    หลุมขุดเจาะน้ำมันสร้างงานได้จำนวนน้อยสำหรับท้องถิ่น และที่สำคัญคือเป็นระยะสั้น เพราะเมื่อน้ำมันหมดบ่อก็จะถูกปิดตัวลง ในสหรัฐอเมริกาการขุดเจาะน้ำมันสร้างงานน้อยกว่าอุตสาหกรรมทางการแพทย์หรือแม้กระทั่งสังคมสงเคราะห์ถึงสามเท่า ไม่ต้องเทียบกับอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมที่สามารถขยายตัวได้อย่างหลากหลาย เช่น งานพิพิธภัณฑ์ งานบริการด้านอาหารและการท่องเที่ยว งานการผลิตศิลปะและของฝาก งานด้านการศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย

    นอกจากนี้ การศึกษาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมของอุทยานประวัติศาสตร์ยังแสดงให้เห็นว่าคาร์บอนที่โดนเก็บจากพื้นที่ธรรมชาติในโบราณสถานมีมูลค่ามากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์ เท่ากับอุทยานประวัติศาสตร์ทำหน้าที่ในฐานะพื้นที่มลภาวะต่ำให้กับผู้อยู่อาศัยอีกด้วย

    ดังนั้น บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และ อีโค่ โอเรียนท์ เอ็นเนอยี่ (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด หรือผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถอนโครงการออกจากพื้นที่ดังกล่าวแทนที่จะหาทางประเมินพื้นที่หรือจัดการฟังความเห็นประชาชนใหม่ในเดือนเมษายน เพราะพื้นที่ดังกล่าวควรละไว้ให้แก่อนาคตของชาวเพชรบูรณ์ และมีมูลค่ามากมายในเชิงของการเป็นภูมิประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเอเชีย