ThaiPublica > คอลัมน์ > Reach for the SKY การสอบที่คนทั้งชาติเอาใจช่วย

Reach for the SKY การสอบที่คนทั้งชาติเอาใจช่วย

23 มีนาคม 2019


1721955

หากบรรดาชาวเน็ตและผู้คนใน ‘ข่าวกลุ่มวัยรุ่นงานบวชบุกถล่มโรงเรียนมัธยมระหว่างสอบ GAT-PAT’ กับ ‘ข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยร้องเรียนชุมชนเรื่องจัดงานบวชเสียงดัง’ ได้ดูสารคดีเกาหลีใต้เรื่องนี้…คงดีไม่น้อย เพราะ Reach for the SKY (2015) เล่าเกี่ยวกับการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยสุดเหี้ยม ที่เด็กๆ ต้องเตรียมตัวกันทั้งปี อันเป็นผลงานร่วมระหว่าง สตีเวน ดูท ผู้กำกับชาวเบลเยียม และ ชเว วู-ยัง ผู้กำกับเกาหลี ที่ดูทให้สัมภาษณ์ว่า “แม้หนังของผมจะวิจารณ์ระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ แต่ผมก็ชื่นชมในสปิริตของคนทั้งชาติที่ให้ความร่วมมืออย่างดี ต่อการสนับสนุนการสอบของเด็กๆ มันคือความงดงามที่ได้เห็นทั้งครู ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่างช่วยเหลือกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งให้การสอบมหาโหดนี้ลุล่วงไปด้วยดี สิ่งนี้น่ายกย่องมากจริงๆ ”

ในวันสอบที่มีสนามสอบกว่าสองพันแห่ง ผู้เข้าสอบมากกว่าเจ็ดแสนคน ทุกหน่วยงานจะช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ เริ่มจากประโคมออกข่าวไม่ให้พ่อแม่กดดันลูก เช่น “การส่งกำลังใจในบางครั้งก็อาจเป็นการกดดันเด็กโดยไม่ตั้งใจ” นักเรียนรุ่นน้องต่างระดมกันส่งเสียงเชียร์รุ่นพี่ บริษัทห้างร้านต่างๆ หน่วยงานราชการ หรือแม้แต่ทหารทุกกรมกอง รวมถึงตลาดหุ้น ต่างถูกบังคับให้เลื่อนเวลางานออกไปช้ากว่าเดิมหนึ่งชั่วโมง เพื่อเปิดทางให้การจราจรไม่ติดขัด มีการเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะ และจัดให้มีสายด่วนเรียกรถรับส่งพิเศษในกรณีฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งระหว่างสอบ รถเมล์ รถไฟ ยังต้องชะลอความเร็ว และรถทั่วไปต้องงดบีบแตร เพื่อไม่กวนการสอบ ถึงขนาดห้ามเครื่องบินขึ้นลง 35 นาที ในช่วงสอบการฟังภาษาอังกฤษ ซึ่งถ้ามีลำไหนกำลังบินอยู่ในขณะนั้น ก็ยังห้ามลดเพดานบินต่ำกว่า 3 กม. ด้วย

เพราะนี่คือการสอบ ซูนึง หรือ College Scholastic Ability Test (CSAT) อันเป็นการสอบเข้ามหาลัยแบบมหาโหดที่ใช้เวลาสอบตั้งแต่ 8 โมงเช้ายัน 6 โมงเย็น ต่อเนื่องกันราว 5-6 วิชา (มีพักคั่นวิชาเพียง 20 นาทีต่อเบรก) ที่จัดขึ้นเพียงวันเดียวในกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งอาจชี้ชะตาของเด็กๆ เหล่านี้ ว่าจะสอบติด SKY (ตัวย่อ 3 มหาลัยดัง ได้แก่ โซล, โคเรีย และยอนเซ) ได้หรือไม่ เพราะนั่นหมายถึงอนาคตของพวกเขา ในการจะไปสู่สายอาชีพที่ตนใฝ่ฝันไว้ ซึ่งโอกาสสอบติดแต่ละปีมีไม่ถึง 1%

เด็กคนหนึ่งบ่นในหนังว่า “คณะที่ฉันอยากได้ มีโอกาสติดแค่ 0.01% จากคนสอบตั้งห้าแสน” แปลว่าในจำนวนนี้จะมีผู้ได้ไปต่อเพียง 50 คนเท่านั้น ฉากนี้ผู้กำกับชาวเบลเยียมให้ความเห็นว่า “ทั้งที่ในการสอบคราวแรกเด็กคนนี้ทำได้ถึง 96 คะแนนจากร้อย ในประเทศผมถ้าคุณได้คะแนนสูงขนาดนี้ คุณคือนักเรียนอัจฉริยะของประเทศไปแล้ว แต่ที่เกาหลี คะแนนระดับนี้ก็ยังไม่พอจะติดมหาลัยที่ตัวเองหวังไว้”

ดูทเล่าให้ฟังต่อว่า “ผมมาเกาหลีครั้งแรกในปี 2009 เพื่อสัมภาษณ์นักออกแบบเกมชื่อดังสำหรับสารคดีเรื่อง Inside the Metaverse (2010) เกี่ยวกับโลกเวอร์ชวล กับเกมออนไลน์ประเภท MMORPG (เกมบทบาทสมมติที่เล่นร่วมกันได้หลายคนในคราวเดียว) จากเรื่องนั้น ทำให้ผมสนใจจะทำเรื่องเกี่ยวกับนักกีฬาอีสปอร์ต ใน State of Play (2013) ซึ่งคำตอบที่ผมมักจะได้จากการสัมภาษณ์เรื่องนั้น คือ ที่พวกเขาหันมาเล่นอีสปอร์ตกันก็เพราะอยากหนีจากระบบการศึกษา ซึ่งฟังดูย้อนแย้งมาก เพราะการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตต้องฝึกหนักและแข่งขันกันเดือดมากไม่แพ้กัน แต่ทำไมพวกเขาจึงยอมทุ่มเทแลกเพื่อจะไม่ต้องสอบเข้ามหาลัย นั่นก็เพราะว่าการสอบซูนึงนั้นโหดยิ่งกว่าการแข่งทัวร์นาเมนต์ใดในโลกนี้”

หนังเรื่องนี้เล่าผ่าน 3 ผู้เข้าสอบซูนึงในปีนั้น ได้แก่ ฮเยอิน ผู้สอบซูนึงเป็นครั้งแรกที่เธอว่า “ตอนเด็กๆ ฉันเรียนเก่งมากจนใครๆ คิดว่าฉันน่าจะเข้ามหาลัยแห่งชาติโซลได้ แต่หลังๆ เกิดรู้สึกเบื่อ …ฉันเองก็กลุ้มแต่แม่กลุ้มหนักกว่า…แม่กับญาติๆ ชอบกดดันว่า ฮเยอินเข้าหนึ่งในสามของ SKY ได้แน่นอน แต่นี่ฉันจะเข้าได้สักแห่งหรือเปล่ายังไม่รู้เลย…พอเกรดตกเหมือนแม่รู้สึกเสียหน้าและผิดหวังในตัวฉัน”

ฮยอนอา ผู้สอบซูนึงรอบสองเพราะยังไม่ค้นพบว่าตัวเธออยากจะเรียนอะไรแน่ เธอเล่าว่า “เกรดสำคัญกว่าเพื่อนอีก เราห่วงการสอบมากกว่าอยู่กับครอบครัวหรือไปเที่ยว เราต้องเรียนพิเศษกันถึงห้าทุ่ม เลยแทบไม่ได้เจอหน้าคนในบ้าน”

มินจุน ผู้ไม่ผ่านการสอบในรอบแรก เลยมาเข้าโรงเรียนกวดวิชาแบบกินนอนเพื่อเตรียมสอบหามรุ่งหามค่ำ เขาบอกว่า “ผมต้องเหนือกว่าคนอื่น ถ้าเข้าโคเรียได้ผมก็จะบินขึ้นไปอีกขั้น ได้เจอคนระดับเดียวกัน มีคนยอมรับนับถือ”

ผู้กำกับชเวเล่าวิธีคัดเลือกเด็กเหล่านี้ให้ฟังว่า “เราเฟ้นหาพวกเขาจากโรงเรียนไม่ต่ำกว่า 40 แห่ง ติดต่อกับสถาบันกวดวิชาต่างๆ อีก 10 แห่ง ผมต้องการเด็กที่สามารถสะท้อนภาพสังคมเกาหลีออกมาจากกระบวนการสอบหฤโหดแบบนี้ ให้คนดูได้เห็นว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่สู้ทนกันขนาดไหน”

ส่วนดูทเสริมว่า “ก่อนอื่นเราต้องหาโรงเรียนที่ยอมให้ทีมงานเข้าไปถ่ายทำให้ได้เสียก่อน อย่างโรงเรียนประจำที่เห็นในหนัง เราต้องทำเรื่องทั้งปีกว่าจะได้รับอนุญาต หลายโรงเรียนปฎิเสธเพราะกลัวจะเป็นการรบกวนการสอน ในที่สุดเราก็ได้เด็กมาทั้งหมด 5 คน หนึ่งในนั้นถอนตัวกลางคัน สุดท้ายเราใช้ฟุตเทจเพียง 3 คนจากที่ถ่ายมาทั้งหมด”

ดูทเล่าต่อด้วยว่า “เราไม่อาจจะเข้าถึงหัวใจของหนังเรื่องนี้ได้ ถ้าไม่รู้จักเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้นอกจากเราจะเลือกเด็กที่มีพื้นเพที่ต่างกันแล้ว เรายังเลือกพ่อแม่ที่มีนิสัยต่างกันด้วย รวมถึงการที่ครอบครัวหนึ่งเป็นชาวพุทธ กับอีกครอบครัวเป็นคริสต์ ก็เป็นปัจจัยในการเลือกด้วยเช่นกัน เพราะศาสนามีความสำคัญแนบแน่น และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจต่อชาวเกาหลีมาทุกยุคสมัย ในหนังเราจึงเน้นให้เห็นพิธีกรรมที่แม้จะแตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกตัวเองเข้ามหาลัยดังๆ ได้”

แน่นอนว่าในการถ่ายทำจะเห็นนักเรียนคนอื่นๆ ด้วย ในบรรดานั้นย่อมมีคนที่ไม่อยากจะออกกล้อง ปัญหานี้ดูทเล่าวิธีแก้ไขว่า “เราจะถามทุกคนก่อนว่ามีใครไม่สบายใจที่จะอยู่ในหนังบ้าง แล้วเราก็จะนัดแนะกันว่าในวันถ่ายทำให้พวกเขาใส่เสื้อฮูดสีเหลือง เพื่อจะได้เห็นชัด แล้วเราจะหลบมุมกล้องไม่ถ่ายติดพวกเขา”

แต่นอกจากเด็กๆ และครอบครัวแล้ว คนสำคัญที่สารคดีนี้จงใจจะโฟกัสคือ คิม คี-ฮุน ติวเตอร์วิชาภาษาอังกฤษคนดัง ที่ทำรายได้มากกว่าสี่ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งดูทบอกว่า “แต่จริงๆ ภาษาอังกฤษของ คี-ฮุน ดีกว่าคนเกาหลีทั่วไปแค่หน่อยเดียว ซึ่งตัวเขาเองก็ยอมรับตรงๆ ว่าสิ่งที่เขาสอนในคลาสไม่ได้ช่วยให้เด็กๆ สนทนาภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น เพราะหน้าที่ของเขาคือทำให้เด็กได้คะแนนสอบเพิ่มขึ้นต่างหาก และนี่คือสิ่งที่โรงเรียนทั่วทั้งเกาหลีเป็นกัน มันไม่สำคัญว่าเด็กๆ จะพูดอังกฤษได้คล่อง แต่สำคัญว่าจะมีกลวิธีไหนช่วยเพิ่มคะแนนสอบได้มากขึ้น เพราะสิ่งที่ชี้ชะตาคุณตราบที่ยังอยู่ในเกาหลีคือการทำคะแนนสอบได้มากกว่าคนอื่น แต่ผมไม่ได้มองว่าคนแบบคี-ฮุนเป็นตัวปัญหา เพราะเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เห็นช่องทางทำกำไรจากการทำมาหากินในระบบนี้ ซึ่งในขณะเดียวกันคุณก็จะเห็นด้วยว่า เขาทุ่มเทอย่างหนักเพื่อตั้งใจจะช่วยเหลือนักเรียนให้สอบได้จริงๆ ”

แน่นอนว่าเมื่อหนังชูประเด็นวิพากษ์การศึกษา หนังก็จงใจที่จะข้ามรายละเอียดบางประการไปด้วยเช่นกัน เช่น ประเด็นที่ในหนังว่า “ในเวลานั้นมีการปรับวิธีการสอบแต่กลับทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา” ซึ่งอันที่จริงรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาพยายามจะเข้าไปจัดระเบียบธุรกิจกวดวิชา เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง และเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตของเด็กด้วย โดยห้ามให้มีการสอนพิเศษเกินสี่ทุ่ม มีการกำหนดเพดานค่าเรียน ห้ามสอนเกินจากเนื้อหาในโรงเรียน รวมถึงยังมีแนวคิดจะเปลี่ยนระบบการสอบ ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้คะแนนเก็บจากวิธีอื่นด้วย เช่น กิจกรรมอาสาสมัคร การติวหนังสือให้เพื่อน และการสอบย่อยแบบอื่นในโรงเรียน ฯลฯ

รวมถึงปัญหาที่ว่าเมื่อเด็กถูกโดดเดี่ยวให้เข้าสู่สนามแข่งขัน พวกเขาจะเริ่มแปลกแยก ซึมเศร้า ซึ่งล่าสุด องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ยังระบุด้วยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักในการฆ่าตัวตาย อันเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในหมู่ผู้เสียชีวิตระหว่างวัย 11-15 ปีในเกาหลี และเกาหลียังมีอัตราฆ่าตัวตายเป็นลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งตัวเร่งสำคัญคือโอกาสในการจ้างงาน และความคาดหวังในการประสบความสำเร็จ รวมถึงสังคมเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ความสัมพันธ์แบบครอบครัวใหญ่ของเกาหลีจางหายไป

แม้ว่าช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลจะพยายามรณรงค์ จัดสายด่วนช่วยเหลือ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยจิตเวช แต่อัตราการฆ่าตัวตายกลับยังคงเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเล่าเรียนที่สูงมาก (นักศึกษามหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นบาทต่อเดือน) อันส่งผลให้อัตราการเกิดในเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลกด้วย

สารคดีเรื่องนี้นอกจากจะเปิดตัวในเทศกาลหนังปูซาน และคว้ารางวัล จูรี อะวอร์ด จากเทศกาลหนังด็อควิลล์แล้ว ยังมีฉบับสั้นในชื่อ We Repeat (2016) ที่โฟกัสไปยัง ฮยอนอา กับ มินจุน สองผู้เข้าสอบซูนึงรอบสอง อันเป็นฉบับออนแอร์ทางทีวี รวมถึงล่าสุดดูทมีผลงานโปรดิวซ์เรื่อง I Am Golden Karen (2018) ที่เล่าถึงแรงงานกะเหรี่ยงมาทำงานในไทย และได้รับผลกระทบจากนโยบายผลักดันแรงงานต่างด้าวในสมัย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ด้วย ส่วนชเวหันไปโปรดิวซ์สารคดีจีน ที่เล่าเกี่ยวกับศิลปินเพลงชาวเรือผู้มุ่งสู่เมืองใหญ่ เพื่อแต่งเพลงจากชาวบ้านที่เขาได้พบเห็น ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน และความกราดเกรี้ยว ใน Stammering Ballad (2018) สามารถรับชมแบบออนไลน์และมีซับไทยได้ทาง https://www.monomax.me/korean-movies/documentary/98871_ReachfortheSky.html ซึ่งใจดีเปิดให้ดูฟรีในหนึ่งเดือนแรกด้วย