ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกสองใบของศิลปิน Struggle: The Life and Lost Art of Szukalski

โลกสองใบของศิลปิน Struggle: The Life and Lost Art of Szukalski

17 มีนาคม 2019


1721955

“ชูเคาว์สกี คือไมเคิลแองเจโลแห่งศตวรรษที่ 20”
“สมองของเขาเป็นงานสร้างสรรค์ที่เยี่ยมยอดของศตวรรษที่ผ่านมา”
“เขาคืออัจฉริยะเปี่ยมด้วยพรสวรรค์”

เหล่านี้คือคำสรรเสริญจากบรรดาผู้ถูกสัมภาษณ์ในสารคดีเรื่องนี้ Struggle: The Life and Lost Art of Szukalski (2018) ที่ดีกรีแต่ละคนเป็นระดับเทพในทางศิลปะโลว์โบรว์ (Lowbrow Art) หรือ Pop Surrealism อันเฟื่องฟูจากแถบแอลเอ แคลิฟอร์เนีย ในปลายยุค 70s มีต้นกำเนิดจาก คอมิกใต้ดิน, พังก์ร็อก, สตรีทอาร์ต และวัฒนธรรมย่อยแปลกใหม่ในเวลานั้น บ้างก็แฝงอารมณ์ขัน จิกกัดสังคม ซุกซน สนุกสนาน หรือสยดสยอง มักจะเป็นรูปวาด เป็นของเล่น หุ่นปั้น หรือไม่ก็อะไรล้ำๆ อย่างดิจิทัล 8 บิต ฯลฯ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันคือศิลปะต่ำตมที่คนทั่วไปมองว่าไร้คุณค่า ทว่าสำหรับคนเฉพาะกลุ่มที่เข้าถึงมัน มันคือประวัติศาสตร์ที่ผสมผสานจินตนาการได้อย่างกลมกลืน และลึกล้ำสำคัญสำหรับมวลมนุษยชาติที่โลกไม่ใส่ใจ มีเพียงบรรดาแฟนอาร์ตใต้ดินเท่านั้น จึงจะเข้าใจแก่นแท้แห่งความเสื่อมทรามสามานย์ของโลว์โบรว์ได้

ประติมากรรม Struggle

Struggle คือชื่อผลงานโลว์โบรวชิ้นสำคัญที่สาบสูญไปแล้ว (แต่ถูกค้นพบอีกครั้งในภายหลัง) ของสแตนิสลาว ชูเคาว์สกี มันคือประติมากรรมท่อนแขนอันทรงพลัง มีหัวนกอินทรีงอกออกมาจากปลายนิ้วทั้งห้า ที่บรรดาแฟนอาร์ตต่างเชิดชูว่ามันช่างเปี่ยมไปด้วยรายละเอียด พลิ้วไหวแต่กร้าวแกร่ง และถ่องแท้ในทางกายวิภาคอย่างแท้จริง

ขณะที่ในสารคดี เมื่อมีผู้ถามชูเคาว์สกีว่าเรียนกายวิภาคมาจากไหน เขาจะเล่าให้ฟังว่า “ผมรักพ่อมาก…มากกว่าใครทั้งหมดในโลกนี้…เช้าวันหนึ่ง ตรงถนนมีฝูงคนมากมาย ผมเดินไปดู เห็นพ่อนอนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชน ผมอุ้มศพของพ่อจนไปถึงโรงเก็บศพประจำเมือง ผมบอกพวกเขาว่า ‘นี่พ่อผมเอง’ แล้วผมก็ขออนุญาตทำสิ่งหนึ่งที่พวกเขาก็ยอม” ชูเคาว์สกีมักจะมีคำตอบน่าประหลาดใจอยู่เสมอ ชวนติดตาม มีเสน่ห์ และน่าลุ้นกว่าใครๆ เขาเล่าต่อว่า “พ่อเคยบอกว่าผมสามารถผ่าร่างกายของเขาได้… คุณถามผมว่าเรียนกายวิภาคมาจากไหน” เขาพูดด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ “พ่อสอนผมเอง”…

ชูเคาว์สกีในวัย 13 ขวบ

แต่ในอีกแง่หนึ่ง Struggle ยังหมายถึง ‘การดิ้นรนต่อสู้ฟันฝ่า’ อันเป็นคำอธิบายได้ดีที่สุดเกี่ยวกับชีวิตสุดพลิกผันของศิลปินผู้นี้ ชูเคาว์สกีเกิดในโปแลนด์ปี1893 แต่ไปๆ มาๆ ระหว่างโปแลนด์กับชิคาโก เนื่องจากพ่อเป็นช่างตีเหล็กในอเมริกา ทำให้เขาได้ร่ำเรียนในสถาบันศิลปะชื่อดังของชิคาโกตั้งแต่อายุ 13 กระทั่งหนึ่งปีผ่านไป แอนโทนิ โปปิเอล ประติมากรชื่อดังชาวโปลิชได้เห็นถึงพรสวรรค์ของเด็กคนนี้ จึงคะยั้นคอยอให้พ่อส่งเขาไปลองสอบที่สถาบันจิตรกรรมในเมืองคราคราว อันเป็นโรงเรียนศิลปะสอบเข้ายากที่สุดของโปแลนด์ แต่ชูเคาว์สกีกลับได้รับคัดเลือกอย่างง่ายดายด้วยวัยเพียง 14 ขวบ และอาจารย์ของเขาเป็นประติมากรชื่อดังในสมัยนั้น แต่ด้วยความหัวรั้นยากจะควบคุมให้อยู่ในกฎกรอบ ทำให้ทนเรียนอยู่ที่นั่นได้แค่ 3 ปี แล้วเขาก็หนีกลับมาชิคาโก ในปี 1913

ผลงานของเขาสมัยเรียนศิลปะในโปแลนด์

ผู้มาก่อนกาล

ทันทีที่ชูเคาว์สกีกลับมา เขาก็กลายเป็นศิลปินดังแห่งแวดวงศิลปะยุคทองในชิคาโกสมัยนั้น ด้วยวัยเพียง 18 ปี นับตั้งแต่ปี 1914 ที่เขาแสดงผลงานพรั่งพรูมากมายจนโด่งดังอย่างรวดเร็ว แรงจนฉุดไม่อยู่ แม้จะถูกนักวิจารณ์จวกหนัก ด้วยรูปแบบอันพิลึกผิดขนบนิยมสมัยนั้น แต่เขาก็กลายเป็นดาวเด่นทั้งในเรื่องผลงานและชีวิตส่วนตัวอีกครั้ง เมื่อตกถังข้าวสารแต่งงานกับลูกสาวสุดสวยของเศรษฐีเบอร์ต้นๆ แห่งชิคาโกในปี 1922 จนมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน แต่แล้วสวรรค์ก็ล่มกลายเป็นยาจกยากจน เมื่อเขาถูกฟ้องหย่าหลังจากไปคบชู้กับครูของลูกสาวเขาเอง

ศิลปินหลงยุค

แต่ทำไมโลกจึงไม่รู้จักศิลปินผู้นี้ ทั้งที่ชูเคาว์สกีมีผลงานอลังการมากมาย ทำไมคนยุคเราถึงเพิ่งจะรู้จักเขาจากสารคดีเรื่องนี้ นั่นก็เพราะชีวิตอันรุ่งโรจน์ของเขาเกิดขึ้นก่อนสงครามโลก และผลงานของเขาก็ล้ำสมัยเกินกว่าโลกในเวลานั้นจะยอมรับ รวมถึงบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาถูกตีพิมพ์ในภาษาโปลิช ซ้ำยังถูกทำลายในช่วงพลิกผันของสงคราม ก่อนจะถูกค้นพบอีกครั้งโดยบรรดาแฟนอาร์ตในช่วงยุค 70s ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ชูเคาว์สกีก็กลายเป็นเพียงตาแก่ป้ำๆ เป๋อๆ พล่ามเพ้อถึงอดีตที่ฟังเหลือเชื่อจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าเขามีความสามารถดังที่โอ้อวดไว้จริงๆ ก็คือผลงานทางศิลปะของเขาที่ส่วนใหญ่เหลือมาเพียงภาพถ่ายเก่าๆ กับโมเดลจำลองย่อส่วนเท่านั้นเอง

เซอร์มาทิซึม

ชูเคาว์สกีเชื่อในเซอร์มาทิซึม (Zermatism) ในหนังอธิบายว่า “คือผลงานชิ้นมหึมาของการเขียนประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ศิลปะ สัตวศาสตร์และดาราศาสตร์” เขาเชื่อว่าจุดกำเนิดของโลกมาจากอารยธรรมโบราณบนเกาะอีสเตอร์ที่ถูกกระจายไปทั่วโลก แต่ยังเหลือรูปรอยเชื่อมโยงถึงกันได้ ผ่านรูปแบบซ้ำๆ คล้ายคลึงกัน เขาว่า “เห็นไหมมันเกิดขึ้นที่นี่ แล้วก็ที่นั่น แล้วก็ตรงนี้ ที่ประเทศจีน แล้วก็ตรงโน้น ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันไปหมด มันคือสัญลักษณ์ของสิ่งเดียวกัน และผมรู้ดีกว่านักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีทุกคนในโลกรวมกันเสียอีก”

โลกสองใบ

ทิโมที สไนเดอร์ นักประวัติศาสตร์ผู้ช่ำชองเกี่ยวกับศตวรรษที่ 20 แห่งมหาวิทยาลัยเยล ให้ความเห็นว่า “ช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คือช่วงที่โปแลนด์กลายเป็นรัฐอิสระ และชูเคาว์สกีเล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เขาจะกลายเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลก เขาตระหนักดีว่าโปแลนด์ต้องการศิลปินประจำชาติ เขากลับไปโปแลนด์อีกครั้งเพื่อถ่ายทอดความเป็นชาตินิยมสู่พลเมือง โดยเริ่มจากวิจารณ์แวดวงศิลปะโปแลนด์อย่างเผ็ดร้อน เช่น ‘เผาสถาบันศิลปะให้สิ้นซาก’ ‘โปแลนด์ควรมีศิลปะแบบของโปแลนด์เอง’ เขาเชื่อว่าสิ่งเดียวที่จริงแท้คือมรดกทางชาติพันธุ์ แบบดั้งเดิมและบริสุทธิ์…เขาเชื่อในลัทธิบูชาบุคคลตามอุดมคติแบบโรแมนติกว่า ต้องมีเพียงบุคคลเดียวที่จะรวมศูนย์ประเทศได้ และเขาเคลมว่าตัวเองคืออัจฉริยะแห่งชาติ”

“ซึ่งเขาทำได้สำเร็จด้วยการแสดงนิทรรศการเพียงครั้งเดียว เขากลายเป็นวีรบุรุษในชั่วข้ามคืน สื่อทุกสื่อต่างหันไปจับจ้องเขา โดยเฉพาะเมื่อเขาก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกว่า เผ่าพันธุ์ Horned Heart ที่ปลูกฝังว่า ‘จงทำในสิ่งที่คุณรักหรือเกลียดด้วยงานศิลปะของคุณ’ ‘คุณต้องเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อ’ พวกเขาเริ่มแต่งตัวเหมือนกัน ไว้ผมทรงเดียวกัน จินตนการถึงโปแลนด์ในยุคสร้างชาติ ออกแบบผังเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างขนาดมหึมา ชวนตะลึง เต็มไปด้วยสัญลักษณ์จากอารยธรรมโบราณ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างรูปสลักวีรบุรุษมากมาย และสอนว่าวีรบุรุษโปแลนด์ถูกพระเจ้าหลงลืม ซึ่งไม่เป็นความจริงตามประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันออกเลย”

สไนเดอร์อธิบายต่อว่า “แต่ในช่วงปี 1926-1935 โปแลนด์มีโจเซฟ ฟิชซอฟสกี เป็นผู้นำ และเขาต้องการให้ประเทศมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นที่อยู่สำหรับชาวยิว ยูเครน และชาติพันธุ์อื่นๆ อันตรงข้ามกับหลักคิดของชูเคาว์สกี เลยกลายเป็นว่าผลงานของเขาคุกคามวัฒนธรรมโปแลนด์” เขาจึงต้องหนีหัวซุกหัวซุนกลับมาสหรัฐฯ หลังจากผลงานของเขากลายเป็นที่โต้เถียงในเหตุจลาจลกลางเมือง จากนั้นเขาก็พยายามสร้างชื่ออีกครั้งในฮอลลีวูด

สไนเดอร์ปิดท้ายว่า “ชูเคาว์สกีที่อยู่ในอเมริกากับที่อยู่ในโปแลนด์เป็นคนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในอเมริกาพวกเราได้รู้จักเขาเพียงครึ่งเดียว เขาคือศิลปินล้ำยุค หัวก้าวหน้า สมัยใหม่ ยกระดับผลงานสู่สากล แต่ในโปแลนด์เขาคือผู้นำลัทธิทางศิลปะแหวกๆ หัวรุนแรงสุดโต่งและชาตินิยมสุดขั้ว”

อิทธิพลแห่งผลงานสุดสะพรึง

แต่เรื่องสุดสะพรึงกว่านั้นที่ชูเคาว์สกีเว้นไว้ไม่เคยปริปากเล่าออกมา ถูกยกประเด็นขึ้นในในหนังโดย ศ. ดร.แฮบ ลาเมนสกี ผู้เขียนชีวประวัติของชูเคาว์สกี ว่า “ในปลายยุค 30s เมื่อแนวคิดของโปแลนด์เปลี่ยนไป หลังจากยุโรปกลายเป็นชาตินิยมภายใต้เผด็จการทหาร และพยายามจะผลักดันคนที่ไม่ใช่โปแลนด์ออกไป ชูเคาว์สกีได้รับคำสั่งให้กลับไปโปแลนด์ เพื่อสร้างผลงานเพื่อชาติอีกครั้ง ชีวิตของเขากลับมาหรูหรารุ่งโรจน์ ครั้งนี้เขามีสตูดิโอทำงานกว้างขวาง ได้ออกแบบสถานที่สำคัญทางราชการหลายแห่ง และอนุสาวรีย์เพื่อชาติใหญ่ยักษ์ จนกลายเป็นศิลปินแห่งชาติผู้ยิ่งใหญ่ โด่งดังถึงขนาดรัฐมนตรีแห่งนาซีต้องยกหูโทรหาเขา เพื่อให้สร้างอนุสาวรีย์ฮิตเลอร์ รวมถึงเขาได้แอบผลิตแผ่นพับใต้ดินด้วยดีไซน์ล้ำๆ ชื่อว่า Krak เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมและเหยียดยิวอย่างแรง ในเวลาที่โปแลนด์ยึดตามแนวคิดของนาซี คือ ปลุกระดมให้ประชาชนเกลียดชังยิว”

อันเป็นประเด็นสำคัญที่สารคดีเรื่องนี้พยายามจะชี้ให้เห็นว่า ผลงานของชูเคาว์สกีมีส่วนไม่น้อยในการสร้างกระแสนี้ ที่คนทั้งโลกต่างรู้ดีว่าปลายทางคือการสังหารหมู่ชาวยิวกว่าหกล้านคนในสมัยนาซี และไม่เพียงแต่ในสมัยนั้น สิ่งที่น่าตกใจคือ ผลงานดีไซน์ต่างๆ ของชูเคาว์สกี ถูกกลุ่มนีโอนาซีและชาตินิยมสมัยใหม่หยิบกลับมาใช้เป็นเครื่องมือปลุกปั่นความเกลียดชังอีกครั้งในโลกปัจจุบัน

สารคดีเรื่องนี้กำกับโดย เออร์เรก โดโบรวโวลสกี ผู้เคยคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมในเทศกาลคลาคาว จากเรื่อง The Portraitist (2006) อำนวยการสร้างโดย พ่อลูกคนดัง จอร์จ (นักวาดคอมิกใต้ดิน) กับ ลีโอนาร์โด ดิแคปริโอ (ดาราฮอลลีวูด) ซึ่งสมัยที่ลีโอนาร์โดยังเด็ก เขาเคยถูกพ่อ (ผู้เป็นแฟนโลว์โบรว์ตัวยง) กระเตงไปแวะเวียนหาชูเคาว์สกีอยู่บ่อยๆ และความตั้งใจแรกพวกเขาเพียงอยากจะถ่ายทอดชีวประวัติของชูเคาว์สกีออกมาเท่านั้นเอง

แต่ระหว่างถ่ายทำ จอร์จ ดิแคปริโอ หนึ่งในผู้ลงหุ้นทำหนังเรื่องนี้ก็เอ่ยขึ้นว่า “ตอนเริ่มทำสารคดีนี้ไม่มีใครรู้เลยว่าจะกลายเป็นแบบนี้ พวกเรามืดบอด ถูกหลอกให้ไขว้เขว เขาไม่ใช่คนแบบที่เราจินตนาการเอาไว้ ผมเหมือนสูญเสียเพื่อนที่ไม่เคยมีตัวตนอยู่จริงๆ”