ThaiPublica > เกาะกระแส > นับถอยหลัง Brexit …อังกฤษจะออกแบบไร้ข้อตกลงหรืออยู่ต่อ สภายึดอำนาจรัฐบาลเริ่มกระบวนการลงมติชี้อนาคต

นับถอยหลัง Brexit …อังกฤษจะออกแบบไร้ข้อตกลงหรืออยู่ต่อ สภายึดอำนาจรัฐบาลเริ่มกระบวนการลงมติชี้อนาคต

28 มีนาคม 2019


ที่มาภาพ: https:// www.bbc.com/news/uk-politics-47678763

ความไม่แน่นอนในการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ซึ่งย่อมาจาก British Exit ยังมีอยู่ ขณะที่นับถอยหลังเข้าสู่เส้นตายวันที่ 29 มีนาคม 2562 นี้ แม้ผ่านการลงมติให้แยกตัวมาตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากกระบวนการเตรียมในการแยกตัวที่ใช้เวลานาน กอปรกับร่างข้อตกลงการแยกตัวที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝั่งการเมืองในประเทศ โดยรัฐสภาตีกลับถึง 2 ครั้ง ขณะที่รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลของนางเมย์ได้ลาออกไป

สหภาพยุโรปได้ตกลงขยายระยะเวลาการถอนตัวออกไปเป็นวันที่ 12 เมษายน หากสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษยังไม่มีข้อสรุปและมีมติเห็นชอบร่างข้อตกลง Brexit ได้ภายใน 29 มีนาคม ซึ่งจะมีผลให้ต้องถอนตัวแบบไร้ข้อตกลง (no-deal Brexit) แต่หากรัฐสภาเห็นชอบในข้อตกลงที่จัดทำโดยนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ระยะเวลาการถอนตัวจะยืดไปถึงวันที่ 22 พฤษภาคม

การถอนตัวที่ยังไม่มีความชัดเจนทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายจนออกมาเดินขบวนประท้วงเพื่อลงมติให้หยุดกระบวนการแยกตัวไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม

ล่าสุดวันที่ 25 มีนาคม 2562 สภาลงมติยึดอำนาจในการจัดการกับกระบวนการแยกตัวจากรัฐบาลที่นำโดยนางเมย์ และนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมสภาจะดำเนินการทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการแยกตัว

การถอนตัวของอังกฤษจะออกมาในรูปแบบใดก็ต้องติดตามสถานการณ์ในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด แต่เพื่อให้เข้าใจที่มาของการถอนตัวและสถานการณ์ได้ดีมากขึ้น สำนักข่าวบีบีซีได้สรุปเรื่องราว Brexit ย้อนหลัง ในรายงานข่าวเรื่องBrexit: Your simple guide to the UK leaving the EU

โดยเริ่มจากการแนะนำให้รู้จักกับสหภาพยุโรปหรือ European Union (EU) ว่าเป็นการรวมกลุ่มทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปมีสมาชิก 28 ประเทศ ซึ่งมีการค้าระหว่างกันและเปิดให้พลเมืองแต่ละประเทศเดินทางเข้าออก หรือพำนัก หรือทำงานอย่างเสรีและสะดวก

สหราชอาณาจักรได้เข้าเป็นสมาชิกอียูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2516 ขณะนั้นยังใช้ชื่อประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community: EEC)

การแยกตัวออกจากอียูเกิดขึ้นจากลงมติของประชาชน (referendum) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 เนื่องจากมีประชาชนส่วนหนึ่งต้องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยฝั่งที่ต้องการแยกตัวชนะไปด้วยคะแนน 52% ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการแยกตัวมีคะแนน 48% หรือมีคนที่ต้องการแยกตัว 17.4 ล้านคน แต่คนที่ต้องการให้คงอยู่ในสหภาพยุโรปมีจำนวน 16.1 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การแยกตัวไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังการลงมติของประชาชน วันที่ 29 มีนาคม 2560 นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้ประกาศเริ่มกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปต่อสภาอย่างเป็นทางการ พร้อมยื่นหนังสือถึงนายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะกรรมการธิการยุโรป (European Council) เพื่อเริ่มกระบวนการแยกตัวจากการเป็นสมาชิกอียูอย่างเป็นทางการ ตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาสหภาพยุโรป

อังกฤษได้ตั้งกระทรวง Brexit ขึ้นเพื่อดำเนินการแยกตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีเวลาในการเจรจารวม 2 ปี หรือสิ้นสุดวันที่ 28 มีนาคม 2562 โดยนางเมย์ได้เสนอร่างกฎหมายการแยกตัวจากอียูผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาสามัญชน (House of Common) และวุฒิสภา (House of Lord) หรือสภาขุนนาง และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรได้ลงพระนามเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้นจึงกำหนดวันถอนตัวไว้เป็นวันที่ 29 มีนาคม 2562 (ซึ่งขณะนี้อียูได้เลื่อนให้เป็น 2 ขยัก คือ 12 เมษายนและ 22 พฤษภาคม)

นับจากนั้นได้มีการเจรจาระหว่างอังกฤษกับอียูมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งประเทศสมาชิกรายอื่นในสหภาพยุโรป โดยมุ่งไปที่ข้อตกลงของการถอนตัว ที่จะกำหนดวิธีการถอนตัวของอังกฤษ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการถอนตัว โดยข้อตกลงนี้เรียกว่าข้อตกลงการแยกตัว (Withdrawal Agreement)

ในข้อตกลงการถอนตัวนี้ครอบคลุมประเด็นหลักๆ คือ หนึ่ง จำนวนเงินที่อังกฤษจะต้องจ่ายให้อียูเพื่อการแยกตัวออกไป โดยมีมูลค่าราว 39 พันล้านปอนด์ สองการดูแลประชาชนของอังกฤษที่อาศัยอยู่ในอียู และประชาชนของอียูที่พำนักอยู่ในอังกฤษ และสาม แนวทางหลีกเลี่ยงการกั้นพื้นที่ชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือที่อยู่ในอังกฤษกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ที่อยู่ในอียู (Backstop)

นอกจากนี้ยังมีการตกลงเรื่องระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ทั้งอังกฤษและยุโรปสามารถตกลงเรื่องการค้ากันได้ และให้เวลาภาคธุรกิจในการปรับตัว ซึ่งหมายความว่าหากข้อตกลงการถอนตัวได้รับความเห็นชอบ การถอนตัวไม่ว่าจะเป็นวันที่เท่าไรกับวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของช่วงการเปลี่ยนผ่านสถานการณ์ก็จะไม่แตกต่างกันมาก

ส่วนด้านอื่นๆ ก็มีการจัดทำเอกสารเพื่อแสดงถึงภาพรวมอนาคตความสัมพันธ์ของอียูและอังกฤษในระยะยาว ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปฏิญญาความสัมพันธ์ในอนาคต (political declaration) ที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยึดถือจริงจังมากนัก เป็นเพียงการวางรากฐานเพื่อการเจรจาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ร่างข้อตกลงการถอนตัวและปฏิญญาได้รับความเห็นชอบจากอังกฤษและอียูในเดือนพฤศจิกายน 2018 แต่ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของอังกฤษ

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/uk-politics-47715933

สมาชิกสภาตีกลับข้อตกลง 2 รอบ

กำหนดการลงมติรับร่างข้อตกลงเดิมคือวันที่ 13 ธันวาคม 2561 แต่ได้เลื่อนออกเป็นวันที่ 15 มกราคม 2562 เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับประเด็น backstop ทำให้นางเมย์ ต้องให้อียูยืนยันระยะสิ้นสุดของ backstop อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเข้าสู่สภา ร่างข้อตกลงนี้ถูกตีกลับด้วยคะแนนไม่เห็นชอบ 432 ต่อ 20 ต่อมาหลังจากที่นางเมย์ได้กลับไปเจรจากับอียูเพื่อแก้ไขร่างข้อตกลงและนำเข้าสู่สภาเพื่อลงมติอีกครั้งในวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ร่างข้อตกลงก็ถูกตีกลับอีกครั้ง

นางเมย์ต้องเสนอร่างข้อตกลงให้กับสภาพิจารณาเป็นครั้งที่ 3 และในขณะเดียวกันได้ขอให้อียูขยายเวลาการถอนตัวออกไปเพื่อให้อังกฤษมีเวลาเตรียมการที่จะทำให้สภาเห็นชอบ หรือหาทางออกอื่น ซึ่งจากการหารือในเบลเยียม สหภาพยุโรปตกลงที่จะขยายเส้นตายการถอนตัวออกไปเป็น 2 ขยัก คือ วันที่ 12 เมษายน 2562 ในกรณีที่ร่างข้อตกลงของนางเมย์ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา และอังกฤษต้องแจ้งอียูถึงสิ่งที่จะดำเนินการภายในวันที่ 12 เมษายน เช่น ขอขยายเวลาการแยกตัวสำหรับการแยกตัวแบบไร้ข้อตกลง แต่หากมีระยะเวลานาน อังกฤษจะต้องมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสภาของสหภาพยุโรป ส่วนกำหนดวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ให้ไว้หากสภาให้ความเห็นชอบกับร่างข้อตกลง ซึ่งเป็นการแยกตัวแบบมีข้อตกลง และยังให้เวลาอังกฤษรับรองร่างข้อตกลงอย่างเป็นทางการด้วยกระบวนการทางกฎหมาย

สาเหตุที่มีสภาไม่เห็นชอบต่อร่างข้อตกลงมีหลากหลายความเห็น ส่วนใหญ่อ้างว่าร่างข้อตกลงไม่ได้ให้อำนาจอังกฤษในการจัดการกับกิจการของประเทศตัวเอง เพราะการที่อังกฤษยังคงอยู่ใน EU Customs Union และในกฎหมายการค้าอียู แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียงใดๆ ในสภายุโรป ทำให้ฐานะของอังกฤษแย่ลงกว่าการอยู่ในอียู เสมือนว่าอังกฤษไม่มีอิสระในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ด้วยตนเอง แต่ประเด็นใหญ่อยู่ที่ backstop เพราะทั้งอังกฤษและอียูไม่ต้องการส่งมอบจุดตรวจค้นและรักษาความปลอดภัยระหว่างกัน

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้รับแรงกดดันอย่างมาก มีรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งได้ลาออกไป และล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 มีนาคม ได้มีการกดดันให้นางเมย์ลาออก เพราะไม่เห็นด้วยกับร่างข้อตกลงการถอนตัวที่นางเมย์เสนอ และคาดว่าการลาออกของนางเมย์จะทำให้สภาผ่านร่างข้อตกลงได้ง่ายขึ้น

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 นางเมย์ผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจจาก ส.ส. ด้วยคะแนน 200 ต่อ 117 เสียง

ที่มาภาพ: https:// twitter.com/NatCen

ประชาชนเรียกร้องโหวตใหม่

โดยที่กระบวนการถอนตัวออกจากอียูไม่ใช่เรื่องง่าย และร่างข้อตกลงถูกตีกลับจากรัฐสภาหลายรอบทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับอุปสรรคและความยากลำบากในการถอนตัว และดูเหมือนว่ายังไม่มีทางออก แม้นางเมย์ยืนยันว่าร่างข้อตกลงที่จัดทำสอดคล้องกับแนวทางที่ประชาชนลงได้มติไว้

ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มไม่เห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อแยกตัวออกจากอียู โดย National Centre for Social Research เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของประชาชนต่อ Brexit ที่จัดทำ ณ 17 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งได้จากการสอบถามผู้ที่ได้ลงมติแยกตัวเมื่อปี 2559 ซึ่ง 80% ให้คำตอบว่ารัฐบาลจัดการได้แย่มาก และเริ่มไม่พอใจตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ซึ่งใกล้เคียงกับ 85% ของผู้ที่โหวตอยู่ต่อที่เห็นว่ารัฐบาลจัดการได้แย่มากเช่นกัน

เมื่อถามว่าคิดว่าอังกฤษจะได้ข้อตกลงแยกตัวที่ดีหรือไม่ 2 ปีก่อนคำตอบ 33% เชื่อว่าจะได้ข้อตกลงที่ดี แต่ล่าสุด 57% เปลี่ยนคำตอบเป็น อังกฤษจะได้ข้อตกลงที่แย่และหลังจากที่สภาไม่ผ่านร่างข้อตกลงคำตอบนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 63% ทั้งจากผู้ที่โหวตแยกตัวและโหวตให้อยู่ต่อ

คำถามต่อมาคือ ยังต้องการที่จะแยกตัวหรือไม่ ปรากฏว่า คำถามส่วนใหญ่ 54% บอกว่าให้อยู่ต่อ และ 46% บอกว่าให้แยกตัว ซึ่งเป็นคำตอบล่าสุดในเดือนมีนาคมนี้

นอกจากนี้ผลสำรวจของ You Gov Poll จากรายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทม์ ประชาชนส่วนใหญ่บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดระหว่าง หนึ่ง การแยกตัวแบบ Soft Brexit มีสถานะในตลาดเดียวภายใต้อังกฤษยังคงอยู่ใน EU Customs Union และในกฎหมายการค้าอียู สอง การลงมติครั้งที่ 2 เพื่อยุติการแยกตัว สามสนับสนุนร่างข้อตกลงของนางเมย์ หรือสี่ แยกตัวแบบไร้ข้อตกลง ก็ให้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายมากกว่าดี

ผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการลงมติครั้งที่ 2 ซึ่งรวมการลงมติไม่แยกตัวไว้ด้วยนั้นในสัดส่วน 52% แต่ 38% เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม วันที่ 22 มีนาคม ประชาชนกว่า 1 ล้านคนจึงได้ออกมาเดินขบวนประท้วงภายใต้แนวคิด Put It To The People หน้ารัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้มีการลงมติใหม่ โดยผู้จัดการเดินขบวนอ้างผลสำรวจของหลายโพลที่ระบุว่ามีจำนวนผู้ต้องการลงมติรอบ 2 มากกว่าคัดค้าน และมีผู้ลงชื่อออนไลน์ให้รัฐบาลยุติกระบวนการ Brexit และยกเลิกการดำเนินการตามมาตรา 50 สนธิสัญญาสหภาพยุโรปและคงอยู่ในอียู ณ วันที่ 22 มีนาคม ถึง 4,151,815 คน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการให้ลงมติที่เกี่ยวกับ Brexit ในปี 2559 และ ณ วันที่ 25 มีนาคม จำนวนผู้ลงชื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 5.5 ล้านคน

ที่มาภาพ: https:// www.bbc.com/news/uk-politics-47715933

สภายึดอำนาจจัดการ Brexit จากเทเรซา เมย์

ต่อมาวันที่ 25 มีนาคมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรลงมติด้วยคะแนน 329 ต่อ 302 ให้ความเห็นชอบยึดอำนาจในการจัดการกับกระบวนการ Brexit จากนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ และเพื่อให้สภาสามารถลงคะแนนให้ความเห็นชอบในทางเลือกอื่นๆ แทนร่างข้อตกลงของรัฐบาลได้

ร่างแก้ไขข้อตกลงเพื่อให้อำนาจรัฐสภาดำเนินการได้นั้นเสนอโดย นายโอลิเวอร์ เลตวิน สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมที่นางเมย์เป็นหัวหน้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายฮิลารี เบนน์ สมาชิกพรรคแรงงาน รัฐบาลได้คัดค้าน แต่มีสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมแปรพักตร์ รวมทั้งมีรัฐมนตรี 3 รายลาออกเพื่อสนับสนุน

การลงมติดึงการจัดการกระบวนการแยกตัวครั้งนี้นับเป็นการยึดอำนาจของรัฐสภาครั้งแรกในรอบ 100 ปี และเกิดขึ้นเพราะสมาชิกสภาไม่พอใจที่รัฐบาลไม่สามารถนำเสนอร่างข้อตกลงการแยกตัวที่รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบได้ และหลายคนยอมรับว่าโอกาสที่ร่างข้อตกลงของนางเมย์จะผ่านสภามีน้อยมาก

ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวว่า นางเมย์เตือนว่า ทางเลือก Brexit อื่นที่ไม่ใช่ร่างข้อตกลงที่นำเสนอโดยรัฐบาลซึ่งผ่านการเจรจากับอียูนั้นจะทำให้การแยกตัวช้าออกไปอีก หรือ Slow Brexit ที่ขยายเส้นตายการถอนตัวออกไปเป็นวันที่ 22 พฤษภาคมนั้น จะส่งผลให้ประชาชนอังกฤษต้องมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสภายุโรปและสละสิทธิการควบคุมพื้นที่พรมแดน กฎหมาย การเงินการค้า

นอกจากนี้ยังคาดว่านางเมย์จะชี้แจงต่อคณะกรรมการ 1922 (Conservative Private Members’ Committee) ในวันที่ 27 มีนาคมนี้ และระบุวันที่จะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กระบวนการจัดการ Brexit ง่ายขึ้น หลังจากที่ถูกกดดันและสภายึดอำนาจการจัดการกระบวนการ Brexit ไป

คณะกรรมการ 1922 ที่ประกอบด้วยสมาชิกจากสภาสามัญชน มีอำนาจที่จะปลดหัวหน้าพรรคการเมืองได้ด้วยการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ แต่การที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 การลงมติไม่ไว้วางใจนางเมย์ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ไม่สามารถยื่นญัตติเดียวกันนี้ได้อีกภายใน 12 เดือน

อียูเตรียมพร้อมรับการถอนตัว

ทางด้านสหภาพยุโรปประกาศมีความพร้อมกับการถอนตัวของอังกฤษแบบไร้ข้อตกลง แถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปที่เผยแพร่วันที่ 25 มีนาคมระบุว่า “จากการที่ความเป็นไปได้สูงขึ้นว่าสหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลงในวันที่ 12 เมษายน นี้ คณะกรรมาธิการในวันนี้ได้เตรียมความพร้อมรองรับกับการถอนตัวแบบไร้ข้อตกลงไว้เรียบร้อยแล้ว”

ในสัปดาห์ก่อน นางเมย์ได้ยื่นขอขยายเวลาการถอนตัวออกไปจากวันที่ 29 มีนาคมเป็นวันที่ 30 มิถุนายน แต่สหภาพยุโรปได้ให้เวลาถึงวันที่ 22 พฤษภาคม โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐสภาจะต้องให้ความเห็นชอบ แต่หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบเส้นตายการถอนตัวจะร่นขึ้นมาเป็นวันที่ 12 เมษายน และก่อนหน้านี้รัฐสภาตีกลับร่างข้อตกลงของนางเมย์ไป 2 ครั้ง

“แม้ว่าการถอนตัวแบบไร้ข้อตกลงจะไม่เป็นที่ต้องการ แต่อียูก็เตรียมพร้อมรองรับ” แถลงการณ์ระบุ และยังระบุอีกว่า นับตั้งแต่ธันวาคม 2560 คณะกรรมาธิการได้จัดทำข้อเสนอแนะ 90 ข้อ เตรียมคณะกรรมการด้านการสื่อสารไว้ 3 ชุด และข้อเสนอแนะทางกฎหมายอีก 19 ฉบับ และยังมีมาตรการอื่นที่ครอบคลุมสิทธิการประมง การเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทั้งรถไฟและทางรถยนต์ ไปจนถึงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มาภาพ:https://twitter. com/EU_Commission

ทางออกของสภาอังกฤษ

หลังจากที่สหภาพยุโรปขยายระยะเวลาการแยกตัวไป เป็นที่คาดการณ์ว่านายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ต้องยื่นให้สภาสามัญชนและสภาขุนนางแก้ไขวันแยกตัวออกไปจากวันที่ 29 มีนาคม เนื่องจากได้เขียนไว้ในกฎหมายการแยกตัว

การดำเนินการของสภาขั้นต่อไป หลังจากยึดอำนาจการจัดการกระบวนการ Brexit จากรัฐบาลมาแล้ว คือ จะต้องลงมติในอีกหลายญัตติ ซึ่งคาดว่ากระบวนการนี้จะต่อเนื่องไปถึงสัปดาห์หน้า

ทางออกที่สภาจะพิจารณามีหลายทางด้วยกัน ทั้งการลงคะแนนเสียงในเชิงเสนอแนะ และไม่มีข้อผูกมัด ในร่างข้อตกลงหรือทางเลือกอื่นแทนร่างข้อตกลงของนางเมย์ หรือจัดให้มีการประชามติครั้งที่ 2 หรือแม้แต่แยกตัวแบบไร้ข้อตกลง หรือแยกตัวโดยทำข้อตกลงแบบเดียวกับที่นอร์เวย์ทำกับอียูซึ่งจะทำให้สหราชอาณาจักรยังเข้าถึงตลาดเดียว (single market) และเขตการค้าเสรีของอียู

สำหรับสิ่งที่สภาจะพิจารณามีดังนี้

หนึ่ง ทางเลือกการแยกตัวที่เสนอโดยพรรคแรงงาน โดยเสนอหลายมาตรการที่ครอบคลุมการคงอยู่ในสหภาพศุลกากรของอียู (โดยที่อังกฤษมีสิทธิออกเสียงในเงื่อนไขการค้าที่จะมีขึ้นในอนาคต) การเข้าถึงตลาดเดียว การคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อมด้วยกลไกที่มีแนวปฏิบัติเดียวกัน การมีส่วนร่วมในการเป็นตัวแทนอียูและโครงการเงินทุนรวมทั้งคสามร่วมมือด้านความมั่นคง

สอง ลงมติรับร่างข้อตกลงของรัฐบาลที่เสนอโดยนางเมย์ ซึ่งร่างข้อตกลงที่ประนีประนอมที่เสนอโดยสมาชิกพรรคแรงงาน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องให้ประชาชนมลงมติให้ความเห็นชอบด้วยจึงจะมีผล ซึ่งแนวทางได้นำมาเสนอในสภาแล้วแต่ถูกตีกลับ

สาม สหภาพศุลกากรใหม่ พรรคแรงงานเสนอเพื่อให้รัฐบาลเจรจากับอียูเพื่อจัดตั้งสหภาพศุลกากรใหม่ขึ้นหลังที่การแยกตัวออกไปแล้ว

สี่ สหภาพศุลกากรใดก็ได้ เสนอโดยพรรคแรงงานเช่นกัน เพื่อให้สหภาพศุลกากรบัญญัติไว้ในข้อตกลงแยกตัว

ห้า ให้ประชาชนลงคะแนน Brexit เพื่อให้ความเห็นชอบ

หก ตลาดร่วม 2.0 (Common Market 2.0) ซึ่งจะเสนอรายละเอียดต่อที่ประชุมสภา อังกฤษยังคงเป็นตลาดเดียวกับอียูได้หากลงนามเป็นสมาชิกสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association: EFTA) และคงอยู่ในเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area: EEA) ด้วยการลงนามยอมรับกติกาและเงื่อนไขของ EEA แต่การที่จะให้มีผลบังคับใช้ต้องอาศัยคำสั่งศาล

เจ็ด แยกตัวแบบไร้ข้อตกลง ซึ่งเป็นทางออกที่สมาชิกกลุ่มวิจัยที่มีจุดยืนแน่วแน่ แต่สภาก็ตีกลับไปแล้วก่อนหน้า

แปด ถอดถอนมาตรา 50 หรือไร้ข้อตกลง ซึ่งร่างข้อตกลงที่หลายพรรคเห็นด้วย โดยสภาจะลงมติประเด็นนี้หากไม่มีการสรุปข้อตกลงภายในวันที่ 29 มีนาคม และหากสภาให้ความเห็นชอบ อังกฤษก็จะแยกตัวแบบไร้ข้อตกลง แต่หากไม่เห็นชอบ รัฐบาลจะต้องยื่นให้สภายกเลิกมาตรา 50

เก้า Malthouse Agreement เป็นข้อตกลงที่เรียกได้ว่าถอดแบบจากร่างข้อตกลงของนางเมย์ แต่ได้นำข้อตกลงเขตการเสรีที่อัตราภาษีศุลกากรเท่ากับศูนย์และมีแนวทางยกเลิกการตรวจสอบสินค้าผ่านแดนมาแทนประเด็น backstop ตรงพรมแดนไอร์แลนด์เหนือ แต่ข้อตกลงนี้ถูกอียูปฏิเสธมาแล้ว เพราะต้องมีการเปิดเจรจาข้อตกลงการแยกตัวใหม่

สิบ ขอความเห็นชอบจากรัฐบาลในภูมิภาค โดยกำหนดให้รัฐบาลอังกฤษต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาสกอตแลนด์และสภาแห่งแคว้นเวลส์ก่อนการแยกตัวจะเริ่มขึ้น ซึ่งแนวทางนี้ก็จะยิ่งมีผลให้เกิดสถานการณ์ที่หาข้อยุติไม่ได้หรือถึงทางตัน เพราะรัฐบาลสกอตแลนด์ค้านการแยกตัว

นับถอยหลังชี้ชะตา

วันที่ 28 มีนาคม หากไม่มีทางออกอื่นที่สภาเห็นชอบร่วมกัน คาดการณ์กันว่านายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ และผู้สนับสนุน อาจจะมีโอกาสในการเสนอร่างข้อตกลงให้กับรัฐสภาเพื่อลงมติเป็นครั้งที่ 3

วันที่ 29 มีนาคม จะไม่ใช่เส้นตายอีกต่อไป แต่จะมีผลให้ระยะเวลาการถอนตัวเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งก่อนหน้านี้วันที่ 21 มีนาคม คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการสื่อสารกล่าวว่า จะเป็นวันใหม่ของการแยกตัวออกจากอียูของอังกฤษ โดยที่มีเงื่อนไขว่าร่างข้อตกลงแยกตัวนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาสามัญชนภายในสัปดาห์หน้า

วันที่ 1 เมษายน กระบวนการการลงมติเชิงเสนอแนะ (indicative votes) คาดว่ายังมีต่อเนื่องเพราะสมาชิกรัฐสภาได้ปัดทางเลือกอื่นไปแล้วและเดินหน้าจัดการการแยกตัวในรูปแบบที่ต้องได้เสียงข้างมาก

วันที่ 12 เมษายน เป็นเส้นตายใหม่ที่สหภาพยุโรปขยายเวลาให้กับอังกฤษในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการแยกตัว โดยระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ขยายออกไปนี้หมายความว่า ขณะที่ยังไม่มีทางออกอื่นและสถานการณ์ยังคงเดิม วันนี้จะเป็นวันที่มีผลทางกฎหมายในการแยกตัวออกจากอียูของอังกฤษภายใต้กฎหมายของสหภาพยุโรป ยกเว้นสภาให้ความเห็นชอบร่างข้อตกลงแยกตัว มิฉะนั้นแล้วคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำของชาติสมาชิก คาดว่าอังกฤษจะสามารถบ่งชี้ถึงแนวทางจัดการไปจนถึงวันที่ 12 เมษายนนี้

วันที่ 22 พฤษภาคม วันแยกตัวใหม่ หากรัฐสภาอังกฤษเห็นชอบร่างข้อตกลงแยกตัว โดยหากสมาชิกสภาให้ความเห็นชอบในการลงมติครั้งที่ 3 ภายในสัปดาห์นี้ วันแยกตัวก็จะเป็นวันนี้เพื่อให้มีเวลาในการดำเนินการผ่านกฎหมายที่จำเป็น

การแยกตัวของอังกฤษจึงเข้าสู่การตัดสินใจที่สำคัญ ขณะที่เวลางวดเข้ามา ว่าจะเลือกแยกตัวแบบมีข้อตกลงหรือไร้ข้อตกลง หรือเลือกทางออกอื่น ที่สหภาพยุโรปยอมรับ

ศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (European Court of Justice) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า อังกฤษสามารถยกเลิกการแยกตัวโดยที่ไม่ต้องมีข้อตกลงกับชาติอื่น แต่ในด้านการเมืองอาจจะปฏิบัติได้ยาก

การแยกตัวแบบไร้ข้อตกลงหมายความว่า อังกฤษจะต้องแยกตัวด้วยความล้มเหลวในการให้ความเห็นชอบร่างข้อตกลง รวมทั้งยังหมายถึงว่า ไม่มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านหลังจากแยกตัวไปแล้ว และกฎหมายของอียูจะไม่มีผลบังคับใช้กับอังกฤษโดยทันที

ที่มาภาพ: https:// www.bbc.com/news/uk-47689415

เรียบเรียงจาก theguardian, dw