ThaiPublica > คอลัมน์ > กระชับความสัมพันธ์ไทย – เขตบริหารพิเศษฮ่องกง มิติใหม่ของการดำเนินนโยบายทางการทูตจากทวิภาคีสู่ระดับภูมิภาค

กระชับความสัมพันธ์ไทย – เขตบริหารพิเศษฮ่องกง มิติใหม่ของการดำเนินนโยบายทางการทูตจากทวิภาคีสู่ระดับภูมิภาค

1 มีนาคม 2019


นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นางแคร์รี หล่ำ (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีเนื่องในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง ( Hong Kong Economic and Trade Office : HKETO) ประจำประเทศไทย ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 28 กุมภาพันธ์ 2562

ในนามของกระทรวงการต่างประเทศ ผมขอแสดงความยินดีกับการเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office: HKETO) ประจำประเทศไทยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้เข้าร่วมการเปิด HKETO ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสำนักงานของฮ่องกงแห่งที่ 13 ของโลกและเป็นแห่งที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสองแห่งแรกในภูมิภาคนี้ ได้แก่ สำนักงานที่สิงคโปร์และกรุงจาการ์ตา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน สนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับฮ่องกง

โดยสำนักงานนี้มีความรับผิดชอบครอบคลุมเมียนมา กัมพูชา และบังกลาเทศด้วย ดังนั้น จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ “Connecting the Connectivities” ของไทยในฐานะประธานอาเซียน สอดรับกับนโยบายที่ส่งเสริมให้ไทยและฮ่องกงทำหน้าที่เป็นประตูการค้าและการลงทุนระหว่างกัน (The Two Gateways) รวมถึงนโยบาย Thailand Plus One โดยไทยเป็นประตูหรือตัวเชื่อมทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนให้กับฮ่องกงและจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และฮ่องกงเป็นประตูให้ไทยและประเทศในอนุภูมิภาคดังกล่าวเข้าไปลงทุนในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area: GBA) ซึ่งมีประชากรเกือบ 70 ล้านคนและมีขนาด GDP ใหญ่ถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นฐานทางเศรษฐกิจลำดับต้นของจีน และที่สำคัญ การที่ฮ่องกงเลือกมาจัดตั้งสำนักงานที่กรุงเทพมหานคร สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในประเทศไทยและรัฐบาลไทย เสริมสร้างสถานะและเกียรติภูมิของไทยในการเป็นศูนย์กลางที่ตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคที่นับแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ความสัมพันธ์ไทย-ฮ่องกง: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ไทยมีความสัมพันธ์กับฮ่องกงมายาวนาน โดยได้แต่งตั้งกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกงคนแรกเมื่อปี 2424 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพัฒนาความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์กับฮ่องกงมาตามลำดับจวบจนเมื่อฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีนในปี 2540 ภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ความร่วมมือระหว่างไทยกับฮ่องกงยิ่งใกล้ชิดและแน่นแฟ้นมากขึ้น

ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮ่องกงมีพลวัตสูง ครอบคลุมมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้า เมื่อปี 2561 ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 9 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 15.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 12.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 2.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้ามูลค่าการค้าระหว่างกันจำนวน 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563

ในส่วนของการลงทุน ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ฮ่องกงมีการลงทุนสะสมในไทยรวม 15.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอันดับ 4 ของการลงทุนต่างชาติในไทย และไทยมีการลงทุนในฮ่องกงรวม 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในต่างประเทศของไทย

นอกจากนี้ เชื่อมั่นว่า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีผลใช้บังคับ ในปีนี้ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยและฮ่องกงสามารถบรรลุเป้าหมายการค้าที่ได้ตั้งร่วมกันไว้ รวมทั้งจะช่วยให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ไทยยินดียิ่งกับการประกาศแผนการพัฒนา GBA ของรัฐบาลจีนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อสร้างขุมพลังด้านเศรษฐกิจทางตอนใต้ของจีนให้ทัดเทียมอ่าวเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ซึ่งแผนดังกล่าวได้เน้นย้ำถึงสถานะและศักยภาพที่โดดเด่นของฮ่องกงในการเป็นตัวเชื่อมจีนกับต่างประเทศตามแนวเส้นทางข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ซึ่งชูบทบาทที่สร้างสรรค์ของฮ่องกงในฐานะ CIO (Connector, Investor and Operator) ของ GBA และ BRI

ทั้งนี้ ด้วยบทบาท ศักยภาพ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทย ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนาของเขตดังกล่าวไม่เพียงแต่ในการพัฒนาประเทศที่สอดรับกับนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” เท่านั้น แต่ยังเชื่อมต่อจีนและฮ่องกงกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียนได้ รวมถึงการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุตสาหกรรมของวิสาหกิจระหว่างกัน และการไหลเวียนของเงินทุน สินค้า วิทยาการ และองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและโลกด้วย

ดังเช่นถ้อยคำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เคยกล่าวไว้ว่า “การที่เพื่อนยิ่งไปมาหาสู่กัน ยิ่งจะทำให้ รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น” (เผิงโหย่วเยว่โจ่วเยว่ชิน: 朋友越走越亲) การเชื่อมโยงในระดับประชาชนนับเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ไทย-ฮ่องกง

ในส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เป็นที่น่ายินดีที่เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ไทยและฮ่องกงได้มีการจัดทำความร่วมมือด้านการตรวจคนเข้าเมืองผ่านช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (autogate) ซึ่งได้ช่วยส่งเสริมให้ในปี 2561 มีชาวฮ่องกงเดินทางเยือนไทย 1.02 ล้านคน และมีชาวไทยเดินทางไปฮ่องกง 571,606 คน ความร่วมมือดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของทั้งสองฝ่ายที่จะสนับสนุนการสัญจรไปมาหาสู่ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสการปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชนให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ในด้านความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างทักษะแรงงานฝีมือและบุคลากรในอนาคต โดยเมื่อเดือนมกราคม 2560 ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ฮ่องกง ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาไทยมีความตกลงและบันทึกความเข้าใจกับสถาบันการศึกษาฮ่องกงจำนวนมาก และมีความร่วมมือเรื่องทุนการศึกษาภายใต้ “Belt and Road Scholarship” ให้กับนักศึกษาไทย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนของเยาวชน อันเป็นพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจและดำรงไว้ซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทย และความสัมพันธ์ในอนาคต ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลของราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่ง ฯพณฯ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้กล่าวยืนยันกับผมในการหารือเชิงยุทธศาสตร์ที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ สนับสนุนการจัดตั้ง HKETO ประจำประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเร่งให้การค้าและการลงทุนระหว่างไทย-ฮ่องกง-จีนขยายตัวอย่างมีพลวัตและเป็นรูปธรรม เป็นแรงขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเชิงลึกและรอบด้าน ต่อยอดกรอบความร่วมมือและข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

และยกระดับความร่วมมือให้ครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนและภาคประชาชนในสาขาและมิติความร่วมมือใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ไทยและฮ่องกงก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ความร่วมมือด้านดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม ความร่วมมือด้านการเงินการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์และเทคโนโลยีการเงิน และความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น นอกจากนั้น ไทยและฮ่องกงควรเร่งเสริมสร้างความร่วมมือที่มีอยู่ให้เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว การศึกษา วัฒนธรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ภาพยนตร์ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ในระยะยาวและเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน