ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปลัดคลัง” เร่งปิดดีลควบรวม “ทหารไทย-ธนชาต” คาดเซ็น MOU มี.ค. นี้

“ปลัดคลัง” เร่งปิดดีลควบรวม “ทหารไทย-ธนชาต” คาดเซ็น MOU มี.ค. นี้

24 กุมภาพันธ์ 2019


นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย กล่าวถึงความคืบหน้าแผนการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย (TMB) กับธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) มีการหารือกันเรื่องนี้ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บอร์ดได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารไปเจรจากับธนาคารธนชาตลงลึกในรายละเอียด ตามเป้าหมายพยายามให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งจะต้องมีการลงนามในบันทึกความตกลงเบื้องต้น หรือ MOU จากนั้นก็จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายความเห็นชอบก่อนที่จะเริ่มทำ “ดิวดิลิเจนซ์” หรือตรวจสอบฐานะการเงินของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก กระบวนการนี้อาจะต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือน

“เหตุผลที่เลือกธนาคารธนชาต เพราะมีความเหมาะสมกับธนาคารทหารไทยมากที่สุด ประการแรก สินทรัพย์มีขนาดใกล้เคียงกัน อยู่ในวิสัยที่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเพิ่มทุนได้ ประการที่ 2 เรื่องจุดแข็ง ธนาคารทหารไทยไม่มีธุรกิจเช่าซื้อ แต่ธนาคารธนชาตมี จึงเริ่มเจรจากัน แต่มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาหลายประเด็น เช่น โครงสร้างเงินเดือนของพนักงาน ยกตัวอย่าง ตำแหน่งผู้จัดการสาขาของ TMB และธนาคารธนชาต เงินเดือนเท่ากันหรือไม่ ถ้าไม่เท่ากันจะบริหารจัดการอย่างไร รวมทั้งผู้บริหารของทั้ง 2 ธนาคารจะเกลี่ยไปลงจุดไหน ประเด็นต่อมา เรื่องการตีมูลค่าทรัพย์สิน และทำดิวดิลิเจนซ์ ทรัพย์สินประเภทไหนรับโอน ประเภทไหนไม่รับโอน” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์กล่าวต่อว่า เรื่องหุ้นนั้น ในอดีตธนาคารทหารไทยมีปัญหาขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก แต่วันนี้ไม่เหมือนในอดีต มีกำไรสะสม หุ้นของธนาคารทหารไทยราคาพาร์อยู่ที่ประมาณ 1 บาท/หุ้น แต่ราคาตลาดซื้อขายกันเกิน 2 บาท/หุ้น ราคาตลาดสูงกว่าราคาพาร์แค่ 1 เท่า ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่นราคาหุ้นในตลาดสูงกว่าราคาพาร์หลายเท่าตัว เพราะฉะนั้น หากมีการควบรวมกิจการกันแล้ว ทำให้ธนาคารทหารไทยมีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง ก็มีโอกาสที่ราคาหุ้นของธนาคารจะดีขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังก็พร้อมที่จะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนของกระทรวงการคลัง ขณะที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติของธนาคารทหารไทยเองก็เห็นด้วย หากไม่เห็นด้วยดีลนี้คงไม่เกิดขึ้น ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยก็มีสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนของตนเอง หากไม่ใช้สิทธิ ผู้ถือหุ้นรายอื่นก็พร้อมที่จะใช้สิทธิแทน ถามว่ากระทรวงการคลังจะดำรงสัดส่วนการถือหุ้นเท่าไหร่ ตอนนี้ทางฝ่ายบริหารของธนาคารทหารไทยยังไม่ได้เสนอต่อบอร์ดธนาคาร ปัจจุบันธนาคารทหารไทยมีขนาดของสินทรัพย์อยู่ในอันดับที่ 6 หากควบรวมกับธนชาตแล้วคาดว่าจะขึ้นมาอยู่ในอันดับ 5 หรืออาจจะอยู่ในอันดับ 6 เดิม แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับขนาดของเงินกองทุนจะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว จะมีความสามารถในการทำกำไร และขยายสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น ต้นทุนลดลง

ความเป็นมาของดีลนี้ นายประสงค์กล่าวว่า เป็นนโยบายของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่พยายามผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ไทยควบรวมกิจการกันตลอด 3 ปี ช่วงปีแรก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสรรพากร ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่กระทรวงการคลังจะใช้มาตรการภาษีมาสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย แต่พอก้าวเข้าปีที่ 3 นายอภิศักดิ์ยังคงผลักดันอยู่ ทางกระทรวงการคลังจึงนำเสนอมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทยเสนอที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบ ขณะนั้นยังไม่แน่ใจว่าจะมีธนาคารไหนควบรวมกิจการกัน

“ช่วงแรกๆ มีคนมาจับคู่ให้ธนาคารทหารไทยไปควบรวมกับธนาคารกรุงไทย ผลการเจรจาปรากฏว่าไปด้วยกันไม่ได้ ตอนหลังธนาคารทหารไทย จึงขอเลือกคู่เอง พอเริ่มเจรจากับธนาคารธนชาต พบว่าเหมาะสมที่สุด” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์กล่าวต่อว่า ในอดีตก่อนปี 2540 ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย แต่หลังจากปี 2540 ธนาคารสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน เติบโตอย่างมาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีขนาดเล็กลง ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะขยายสาขาในต่างประเทศ หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมาอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวม ประกอบกับปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ร้านสะดวกซื้อ สามารถรับฝาก ถอน ปล่อยกู้ได้ และมีระบบไอที หรือ “AI” เข้ามาแทนคน ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนสูงขึ้น ขณะเดียวกันมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีเงินกองทุนเพียงพอที่จะปล่อยกู้สนับสนุนธุรกิจไทยได้ ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงต้องออกมาตรการภาษีสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ควบรวมกิจการกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคารพาณิชย์ไทย