ThaiPublica > เกาะกระแส > เลือกตั้ง 2562 : สำรวจข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. 81 พรรค “เหล้าใหม่” หรือ “เหล้าเก่า” ในขวดใหม่ !!

เลือกตั้ง 2562 : สำรวจข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. 81 พรรค “เหล้าใหม่” หรือ “เหล้าเก่า” ในขวดใหม่ !!

23 กุมภาพันธ์ 2019


วาทกรรม “เหล้าเก่าในขวดใหม่” มักถูกกล่าวถึงเป็นประจำในโลกการเมืองของไทย สะท้อนปรากฏการณ์ “ทำซ้ำ” ของนักการเมืองไทยที่มีนักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่ผลัดกันขึ้นมาบริหารประเทศ

การเลือกตั้งในปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงในเวลาอีก 1 เดือนข้างหน้า หลังจากไม่ได้เลือกตั้งมานานเกือบ 5 ปี นำมาซึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองใหม่ๆ ต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านๆมา ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของพรรคและนักการเมืองหน้าใหม่จำนวนมาก การแตกพรรคของพรรคใหญ่ๆ ออกมาเป็นพรรคย่อยที่ตอบสนองต่อกติกาเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ รวมไปถึงบรรยากาศการเลือกตั้งที่ดูเหมือนจะคึกคักด้วยเครื่องมือการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย รวมทั้งการมีผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกอีกประมาณ 7 ล้านคน ทำให้กระแสการเลือกตั้งครั้งนี้มีสีสันกว่าในหลายครั้งที่ผ่านมา

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้รวบรวมข้อมูลผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดเผยต่อสาธารณะชน มาวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบว่า ในที่สุดแล้ว “การเลือกตั้ง 2562” จะเป็นเพียง “เหล้าเก่า” ในขวดใหม่ หรือ “เหล้าใหม่” ในขวดใหม่ และจะเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่อย่างไร

“พรรคการเมือง” เพิ่มเกือบเท่าตัว – 18% ส่ง ส.ส. มากกว่า 300 คน

ภายหลังจากเปิดรับสมัครในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 กกต. ได้เปิดเผยข้อมูล ส.ส. แบบแบ่งเขต จำนวน 6,779 ราย จาก 62 พรรค อย่างไรก็ตาม และปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 กกต. ประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 2,810 รายจากพรรคการเมือง 77 พรรค ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตไม่ได้ประกาศรับรอง แต่ให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งในการตรวจสอบคุณสมบัติและปิดประกาศไว้ ณ ที่เลือกตั้งแทน

โดยระบุว่ามีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 11,181 คนจากพรรคการเมือง 81 พรรค ส่งผลให้การเลือกตั้งในปี 2562 จะมีจำนวนทั้งสิ้นเบื้องต้น 13,991 ราย จาก 81 พรรคการเมือง และเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง 2554 พบว่ามีจำนวนผู้สมัครมากกว่า 2.65 เท่า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเภท ส.ส. แบบแบ่งเขตถึง 3.61 เท่า และเป็นการเพิ่มในประเภท ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเกือบเท่าตัว และมีจำนวนพรรคเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

อีกประการที่เห็นได้ชัดในการเลือกตั้ง 2562 นอกจากจำนวนพรรคและผู้สมัครที่เพิ่มขึ้นอย่างมากแล้ว คือการกระจายตัวของพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ใช่เล็กลง โดยในปี 2554 มีจำนวนพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. มากกว่า 300 คนเพียง 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่ส่งครบ 500 คน รองลงมาคือพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินที่จำนวน 413 คน และพรรคภูมิใจไทยที่ส่งผู้สมัครลง 314 ราย และหลังจากนั้นพรรคการเมืองมีขนาดเล็กลงอย่างรวดเร็ว โดยมีพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ระหว่าง 100-300 คน เพียง 6 พรรคการเมือง เทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 มีพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. มากกว่า 300 คนถึง 13 พรรคการเมือง และมีพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ระหว่าง 100-300 คนถึง 14 พรรค

หากดูการกระจายตัวของขนาดพรรคการเมืองเทียบกับการเลือกตั้ง 2554 สัดส่วนของจำนวนพรรคที่มีผู้สมัคร ส.ส. ระหว่าง 0-149 คน คิดเป็น 76.2%, ระหว่าง 150-300 คน คิดเป็น 11.9% และมากกว่า 300 คน คิดเป็น 11.9% ขณะที่ในปี 2562 มีสัดส่วนของจำนวนพรรคในกลุ่มแรกลดลงเหลือ 72.5%, ในกลุ่มที่ 2 ลดลงเหลือ 10% และในกลุ่มสุดท้ายเพิ่มขึ้นเป็น 17.5%

ในรายละเอียด ความใหญ่ของพรรคการเมืองเกิดจากการเลือกส่งผู้สมัครในประเภทแบ่งเขตมากขึ้น ตามกติกาใหม่ของการเลือกตั้งที่จะต้องเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อผ่านคะแนนเสียงของการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต โดนสัดส่วนของพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตมากกว่า 300 คนเพิ่มขึ้นจาก 5.9% ในปี 2554 เป็น 16.1% ขณะที่การส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อกลับลดจำนวนลงมาอยู่ในระดับกลางๆ แทน โดยสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อมากกว่า 100 คนลดลงจาก 20% ในปี 2554 เหลือ 13% ในปี 2562 และสัดสวนของพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อระหว่าง 50-99 คน เพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 14.3%

ส.ส.เก่าในขวดใหม่… 65% ของ ส.ส.ปี’54 ลงสมัคร ส.ส. ปี’62

เมื่อเทียบรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ในปี 2562 (จำนวน 9,589 คนจากข้อมูลล่าสุดของ กกต.) พบว่ามีผู้สมัครที่เคยลงสมัคร ส.ส. ในปี 2554 จำนวน 889 คน หรือคิดเป็น 9% ของผู้สมัครในปี 2562 และคิดเป็น 23% ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมดในปี 2554 ที่ 3,822 คน ในรายละเอียดหากแบ่ง ส.ส. ตามประเภทที่สมัครจะพบว่า ส.ส. จำนวน 563 คน หรือ 8% ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตทั้งหมดในปี 2562 เป็นผู้สมัครที่เคยสมัคร ส.ส. ในปี 2554 หรือคิดเป็น 23% หากเทียบกับผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตในปี 2554 ในด้าน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพบว่า ส.ส. จำนวน 155 คน หรือ 6% ของ ส.ส. ทั้งหมดในปี 2562 เคยสมัคร ส.ส. ในปี 2554 หรือคิดเป็น 11% หากเทียบกับผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในปี 2554

ทั้งนี้ หากนับเฉพาะผู้สมัครในปี 2562 ที่เคยเป็น ส.ส. ในรัฐสภาปี 2554 พบว่ามีอยู่ 343 คนจากจำนวน ส.ส. ในรัฐสภาทั้งหมด 527 คน หรือคิดเป็น 65% ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในรัฐสภา โดยหากแบ่งเป็นจำนวน ส.ส. แบ่งเขต 247 คนจาก ส.ส. แบ่งเขตทั้งหมดในสภาที่ 381 คน หรือคิดเป็น 64.8% ของจำนวน ส.ส. แบ่งเขตทั้งหมดในรัฐสภา และเป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 60 คนจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งหมด 146 คน หรือคิดเป็น 41.4% ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในรัฐสภา

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองหลักๆ พบว่า “พรรคพลังประชารัฐ” มีผู้ที่เคยสมัคร ส.ส. ในปี 2554 สังกัดพรรคอื่นๆ ถึง 115 คน หรือคิดเป็น  25% ของจำนวนผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมดของพรรค โดยมีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยย้ายมากมากที่สุด 34 คน คิดเป็น 7.4% ของผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมดของพรรค รองลงมาคือพรรคภูมิใจไทยที่ 22 คน หรือคิดเป็น 4.8% และพรรคประชาธิปัตย์ที่ 20 คน หรือคิดเป็น 4.4% ขณะที่ “พรรคไทยรักษาชาติ” พบความเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย โดยมีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยย้ายมา 37 คน หรือคิดเป็น 16.1% ของจำนวนผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมดของพรรค และสุดท้ายสำหรับพรรคที่ถือว่าเป็น “พรรคหน้าใหม่” คือ “พรรคอนาคตใหม่” ที่มีผู้สมัครย้ายมาจากพรรคอื่นเพียง 1.3% ของผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมดของพรรค รองลงมาคือ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่มีผู้สมัครย้ายมาจากพรรคอื่นเพียง 1.6% ของผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมดของพรรค