ThaiPublica > เกาะกระแส > พรรคทักษิณกับ “บิ๊กตู่” สวัสดิการประชารัฐ เหรียญอีกด้าน “ประชานิยม” รอพิสูจน์ 24 มี.ค. 62

พรรคทักษิณกับ “บิ๊กตู่” สวัสดิการประชารัฐ เหรียญอีกด้าน “ประชานิยม” รอพิสูจน์ 24 มี.ค. 62

22 กุมภาพันธ์ 2019


ปัจจัยชี้ขาดในการชนะเลือกตั้ง 4 ครั้ง ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คือ “นโยบายประชานิยม”

ครั้งที่ 1 พรรคไทยรักไทย นโยบายประชานิยมครั้งแรก ดันให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ชนะเลือกตั้งในปี 2544 ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นรัฐบาลพลเรือนที่อยู่ครบเทอมวาระ 4 ปี

ครั้งที่ 2 พรรคไทยรักไทย ภายใต้นโยบายหาเสียง ประชานิยมภาค 2 ด้วยแคมเปญ “สี่ปีซ่อม สี่ปีสร้าง” ในปี 2548 ส่งผลต่อการชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้ ส.ส. 377 คน จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ภายใต้ระบบเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

ครั้งที่ 3 ภายใต้แคมเปญหาเสียง ในฤดูเลือกตั้ง 2550 ขยายผลความสำเร็จของนโยบายประชานิยม “ต้นตำรับ” ภายใต้สโลแกน “ทุกนโยบาย สำเร็จได้ ด้วยพลังประชาชน” ส่งผลให้ “ทีมทักษิณ” ที่นำโดย สมัคร สุนทรเวช ในนามพรรคพลังประชาชน กำชัยชนะด้วย 14 ล้านเสียง กวาด ส.ส. เข้าสภา 233 คน

ครั้งที่ 4 การเลือกตั้งปี 2554 นโยบายประชานิยมถูกขยายผล เป็นแคมเปญหาเสียง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ส่งผลให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนน 15.7 ล้านเสียง ขน ส.ส. เข้าสภาได้ 265 คน

นโยบายประชานิยมในปีแรกช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (2555) จัดงบประมาณอุดหนุนถึง 6.71 แสนล้านบาท เช่น ยกเว้นภาษีรถคันแรกและบ้านหลังแรก ลดภาษีน้ำมันดีเซล ลดภาษีนิติบุคคล จำนำข้าวทุกเมล็ดตันละ 15,000 บาท เพิ่มรายได้ข้าราชการ-ลูกจ้าง พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ค่าแรง 300 บาท/วัน ปริญญาตรี 15,000 บาท/เดือน

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เคยให้ความเห็นว่า “ประชานิยมมีมิติการหาเสียงทางการเมืองเป็นนโยบายเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ไม่สร้างความเข้มแข็งของประชาชนหรือธุรกิจ”

ศ. ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แปลหนังสือ “ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา” กล่าวไว้ว่า “ชนชั้นกลางล่างไทยกลายเป็นเสียงข้างมากสุดของประชากรในเมืองไทยคือ 36% โดยกลุ่มคนจนมีประมาณ 15% คนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพฯ 15% คนรวย 3.3% ดังนั้น ถ้าแยกประชากรตามฐานชนชั้นก็เข้าใจได้ว่าทำไมพรรคของทักษิณจึงชนะการเลือกตั้ง เพราะสร้างแนวนโยบายเอื้อเฟื้อคนชั้นกลางระดับล่าง เช่น กองทุนหมู่บ้านละล้าน 30 บาทรักษาทุกโรค”

“คนที่ชอบใช้ประชานิยม ก็เพื่อหวังผลจากเสียงเลือกตั้งในระยะสั้น นโยบายประชารัฐ ตัดประชาธิปไตยออกไป มีประชารัฐได้ โดยไม่ต้องมีประชาธิปไตย ประชารัฐเป็นเสรีนิยมรูปแบบใหม่…รัฐบาลทหารดื้อมา 3 ปี แต่เมื่อจะหวนกลับไปเลือกตั้ง ก็หันไปใช้ประชานิยม อันนี้คือความจริง” ศ. ดร.เกษียร กล่าว

ในกลุ่มสำนักคิดสายเศรษฐศาสตร์การเมือง เห็นว่าปรากฏการณ์เร่งใช้จ่ายของรัฐบาลก่อนเลือกตั้งถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลทั่วโลกดำเนินการ “เคนเนท ร็อกออฟ” นักเศรษฐศาสตร์ ตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า “วัฏจักรงบประมาณทางการเมือง’ (Political Budget Cycle) มีหลักการว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลมีแนวโน้มจะขยันมากเป็นพิเศษ ทั้งนำเสนอนโยบายใหม่หรือเร่งเครื่องนโยบายเก่าเพื่อหวังผลเป็นคะแนนเสียง”

ความเห็นนักวิชการ 3 คนดังกล่าว ตอกย้ำว่าปัจจัยสำคัญในการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ส่งผลให้พรรคการเมืองได้รับชัยชนะอย่างมีนัยสำคัญ คือนโยบายประชานิยม ที่รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณดำเนินการ

สังเวียนการต่อสู้ในการเลือกตั้ง 2562 ยังคงอยู่ที่ “นโยบายเศรษฐกิจ” และแน่นอนว่า “นโยบายประชานิยม” ยังเป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ…อีกครั้ง

และคู่แข่งขันที่สำคัญในลู่สนามครั้งนี้ ที่เข้มข้น-ขับเคี่ยว มี 2 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย ที่มุ่งใช้นโยบายประชานิยมแบบเข้มข้น

ต่างไปตรงที่ พรรคพลังประชารัฐพยายามเรียกนโยบายของตัวเองว่า “ประชารัฐ” หรือ “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งเพิ่มไปจากรากของนโยบายประชานิยม ที่ “อุตตม สาวนายน” ซึ่งดำรงทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม-ควบตำแหน่งหัวหน้าพรรค “พลังประชารัฐ” ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “จุดขายของพรรคในการหาเสียงคือ ต้องทำให้ประชาชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพียงพอ…พรรคพลังประชารัฐจะสร้างสังคมสวัสดิการ ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นนโยบายประชานิยม ถ้าคนไทยไม่นิยมนโยบาย แล้วจะเป็นนโยบายที่ดีได้อย่างไร”

นโยบายประชานิยม และสวัสดิการประชารัฐ ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งฝังตัวอยู่ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกจัดสรรในงบประมาณแผ่นดินผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือบัตรคนจน จำนวน 14.5 ล้านคน

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งทีมผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐบอกกับสาธารณะว่า “เป็นที่ปรึกษา” และอยู่เบื้องหลัง

นายสมคิดระบุว่า “ได้ตกลงกับสำนักงบประมาณไว้ว่า จะกันเงินสำหรับใช้ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปีละ 100,000 ล้านบาท เฉพาะงบที่ใช้ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านถุงเงินประชารัฐ ร้านก๊าซหุงต้ม ค่าขึ้นรถ บขส. รถไฟ รถไฟฟ้า ที่คุ้นเคยกันมาแล้ว รวมวงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท รัฐจึงเหลือเงินที่นำมาช่วยเพิ่มเติมตามความจำเป็น และตามผลที่ไปสำรวจมาว่าผู้ถือบัตรว่าต้องการให้ช่วยตรงไหนอีก”

อาจกล่าวได้ว่า ผู้บริหารรัฐบาล “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้เตรียมการ-กันงบประมาณเพื่อออกมาตรการ “ประชานิยม” ไว้ตั้งแต่ปี 2559 แม้จะมีการจัดประชุมเพื่อจัดตั้งพรรคใน 3 ปีถัดมา ในวันที่ 29 ก.ย. 2561

โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2559 เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนิน “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท ครั้งแรก (วันที่ 15 ก.ค. 2559 – 15 ส.ค. 2559) ผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

โครงการสวัสดิการแห่งรัฐที่เริ่มต้นในปีแรก ใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 17,469 ล้านบาท โดยจ่ายเงินให้ผู้มาลงทะเบียน 7,715,359 คน ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับ 3,000 บาท หากมีรายได้ 30,001-100,000 บาท จะได้รับ 1,500 บาท โอนเงินให้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2559 สิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค. 2560

ครั้งที่ 2 ในปี 2560 รัฐเปิดลงทะเบียนเพิ่มเติม (3 เม.ย. – 15 พ.ค. 2560) ผู้ได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 11.4 ล้านคน

ผลงานในปีที่ 2 ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ต.ค. 2560 – 27 ก.ย. 2561) มีผู้มาใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 42,509.82 ล้านบาท แบ่งเป็นจ่ายให้ร้านธงฟ้าประชารัฐ จ่ายให้ร้านก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารรถ บขส. ค่าโดยสารรถไฟ-รถไฟฟ้า และโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

ครั้งที่ 3 รัฐบาลเปิดการลงทะเบียนเพื่อ “สวัสดิการแห่งรัฐ” รอบพิเศษ (15 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2561) ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนในรอบที่ 2 มีผู้ได้รับสิทธิ์เพิ่มอีก 3.1 ล้านคน รวมกับผู้ที่ถือบัตรเดิม 11.4 ล้านคน ทำให้ยอดผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 3 ก.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กำหนดให้ตั้งงบประมาณ 46,000 ล้านบาทต่อปี

ที่มาของเงินกองทุน มาจากการประเดิมของรัฐบาลที่จัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และสามารถรับเงินจากการบริจาค จากแหล่งเงินขององค์กรระหว่างประเทศได้ กองทุนนี้มีภารกิจ 5 ด้าน คือ ช่วยพัฒนาทักษะอาชีพ, ยกระดับความเป็นอยู่, บรรเทาความเดือดร้อน, จัดหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย, เป็นหลักประกันรายได้

การจัดทำพระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้เห็นวัตถุประสงค์ของ “คณะรัฐบาล” และ “ทีมรัฐมนตรี” ที่จะออกไปจัดตั้งพรรคการเมือง “พลังประชารัฐ” โดยมั่นใจว่า หากมีกฎหมาย-งบประมาณ-กองทุน กำกับไว้แล้ว แม้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ไปสู่การเลือกตั้ง โครงการ “สวัสดิการแห่งรัฐ” ก็จะยังคงดำเนินการต่อเนื่อง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรณรงค์หาเสียง ก็ย่อมต้องมีการหยิบยกเรื่อง “สวัสดิการแห่งรัฐ” ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียง และย่อมมีส่วนในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกทางด้วย ทั้งนี้มีการสำรวจความนิยมของนักการเมืองที่พึงปรารถนา โดยมหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถเอาชนะใจกลุ่มคนจน 11 ล้านคน ส่งผลให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับคะแนนนิยมเหนือกว่าหัวหน้าพรรคคู่แข่ง”

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งประกาศว่าพร้อมเข้าสู่การการเมืองหลังการเลือกตั้ง ปี 2562 ให้สัมภาษณ์เรื่องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (20 พ.ย. 2561) ว่า “ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้สูงอายุ รัฐบาลจะดูแลเพิ่มขึ้น วันข้างหน้ารัฐบาลใหม่มาก็น่าจะต้องทำต่อเนื่อง”

ในช่วง 120 วันก่อนวันเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรีที่มี 4 รัฐมนตรี กับอีก 1 รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประยุทธ์ ที่พรรคพลังประชารัฐคาดหมายว่าจะลงมติสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (20 พ.ย. 2561) อนุมัติมาตรการ “ประชานิยม” ใน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ฝังไว้ในงบประมาณเกือบ 2 แสนล้าน เพื่อผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอื่น เช่น มาตรการบรรเทาภาระ ค่าไฟ-ค่าน้ำประปา เงินให้ฟรีเทศกาลปีใหม่ 500 บาท ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาลรายละ 1,000 บาท ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาท/เดือน

นอกจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังมีการ “แจก-ลด-เพิ่ม” ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกลุ่มอื่นๆ เช่น ลดราคาค่าเช่าตลาดนัดจตุจักร 1,800 บาทต่อแผง จากเดิม 3,157 บาท ช่วยชาวสวนยาง 1,303,331 ราย ไร่ละ 1,800 บาท จัดทำโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อย 1 ล้านหลัง ใช้วงเงิน 60,000 ล้านบาท แจกบำนาญข้าราชการเพิ่มเงิน 10,000 บาท/เดือน จะพักชำระหนี้ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 3 ปี ทั้งนี้ 4 ปีของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ได้จัดงบประมาณให้กองทุนหมู่บ้านเพื่อโครงการประชารัฐกว่า 130,000 แสนล้านบาท (2558-2561)

อีก 2 สัปดาห์ถัดมา (4 ธ.ค. 2561) คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการด้านภาษี และให้เงินผู้มีรายได้น้อยอุดหนุนสินค้าเกษตรเพิ่มอีก 9,438 ล้านบาท รวมถึงมาตรการช้อปช่วยชาติเวอร์ชั่น 2 คาดว่าภายในสิ้นปี 61 จะมีมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% ให้ผู้ที่ซื้อสินค้าไม่เกิน 20,000 บาท/คน ในเทศกาลตรุษจีนปี 2562

แม้ว่าคณะรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามที่จะสกัดปัญหา-ตั้งข้อรังเกียจผลที่เกิดจากนโยบายประชานิยม ที่สะสมจากรัฐบาลก่อนๆ จึงผลักดันให้มีการ “ตรา” ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 62 บัญญัติว่า “ให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพ และมั่นคงอย่างยั่งยืน” และตราพระราชบัญญัติการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ขึ้นมากำกับด้วย ทั้งนี้ พ.ร.บ.วินัยการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ระบุถึงแนวทาง “ประชานิยม” ไว้ว่า…

“คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ ต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ ต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

กระนั้น ในช่วง 5 ปีงบประมาณของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ มีการใช้จ่ายงบประมาณผ่านนโยบายการคลัง-การตั้งงบกลางปีเพิ่มเติม เพื่อกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก เช่น นโยบายไทยนิยมยั่งยืน มาตรการประชารัฐ ไปถึง 878,506.26 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี และในช่วง 1 ปีก่อนเลือกตั้งสูงสุดจำนวน 372,127.26 ล้านบาท ในภาวการณ์เช่นนี้มีส่วนทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีก 10 ปี

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยกล่าวไว้ว่า “ประชารัฐคือการแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต ถ้าประชานิยมคือปุ๋ยอนินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ที่ไม่บำรุงดิน ทิ้งสารพิษตกค้าง และมีราคาแพงแล้ว ประชารัฐคือปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ที่ปรับโครงสร้างดิน เพิ่มธาตุอาหารในดิน รักษาสมดุลทางธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าประชานิยมคือการแก้ไขปัญหาที่ฉาบฉวย เพราะชาวนายังคงทำนาที่ดินของนายทุนและนายทุนกลับทำนาบนหลังคน ประชารัฐคือการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง”

ในภาวะที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ย 4% แต่เศรษฐกิจระดับฐานรากและกำลังซื้อในหัวเมืองและชนบทซบเซา ขณะที่กำลังจะเข้าสู่โรดแมปการเลือกตั้ง ส่งผลให้รัฐบาลภายใต้ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของ “สมคิด” ต้องออกมาตรการที่เกื้อหนุนกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน และประชาชนทุกระดับชั้น ภายใต้นโยบาย “ประชารัฐ” ซึ่งหลีกไม่พ้นจากแนวทาง “ประชานิยม” ที่เน้น “ลด-แลก-แจก-แถม” ที่กระตุ้นกำลังซื้อชั่วคราว โดยไม่ได้มุ่งสร้างทักษะ-ขีดความสามารถในการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน

การใช้แนวทาง “สวัสดิการประชารัฐ” เพื่อให้ประชาชนมีสวัสดิการ ผนวกกับการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ตามแนวทางประชานิยม ของทีม 4 รัฐมนตรี ที่เป็นหัวหอกสำคัญของ “พรรคพลังประชารัฐ” ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความพึงพอใจให้กับฐานเสียงระดับฐานราก-ชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของโครงสร้างเศรษฐกิจ และย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เพื่อหวังชัยชนะในการเลือกตั้ง

“ประชานิยม” อาจทำให้พรรคเพื่อไทย “ฝ่ายทักษิณ” ได้รับชัยชนะเป็นครั้งที่ 5 หรือ “ประชานิยม” ในคราบของ “ประชารัฐ” อาจส่งผลต่อชัยชนะทางการเมือง “ฝ่ายบิ๊กตู่” เป็นครั้งแรก ในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่ทว่าหากทุกรัฐบาลทุ่มอัดฉีดงบประมาณมหาศาล เพื่อหวังแต่เพียงชัยชนะเลือกตั้ง โดยปราศจากการคำนึงถึงวินัยการเงิน-การคลัง-ภาระหนี้ และไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาจทำให้ประเทศกลับเข้าสู่วัฏจักรวิกฤติเศรษฐกิจซ้ำซาก-อีกครั้ง

อนึ่ง ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจแบบอุดหนุนต่อเนื่อง หรือนโยบายประชานิยม ที่ฝ่ายการเมืองมักอ้างว่าเป็นการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ทำให้เกิดปรากฏการณ์การแจก-จ่ายแบบไม่มีที่สิ้นสุด และทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเสพติด “การให้ผลประโยชน์เฉพาะหน้า” ไม่สามารถพัฒนาฝีมือ และสร้างทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า” (วันที่ 4 ธันวาคม 2541)