ThaiPublica > เกาะกระแส > ความรุ่งเรืองและตกต่ำของเวเนซุเอลา ความมั่งคั่งจากน้ำมันทำลายประเทศนี้อย่างไร

ความรุ่งเรืองและตกต่ำของเวเนซุเอลา ความมั่งคั่งจากน้ำมันทำลายประเทศนี้อย่างไร

26 กุมภาพันธ์ 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.theguardian.com/commentisfree/2019/feb/05/juan-guaido-venezuela-maduro#img-1

ในทศวรรษ 1970 เวเนซุเอลาเป็นประเทศในลาตินอเมริกา ที่มีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง พรรคการเมืองแข่งขันกันอย่างเอาจริงเอาจัง การเปลี่ยนแปลงผู้นำการเมืองเป็นไปอย่างสันติ นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่มีระบบหลักประกันสังคมเข้มแข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ และกำลังพัฒนา ที่จะไปสู่การสร้างหลักประกันสุขภาพ และการศึกษาแบบให้เปล่า แก่ประชาชนทุกคน

แต่ปัจจุบัน เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศยากจนที่สุด และเป็นประเทศเผด็จการล่าสุดของทวีปอเมริกาใต้ โรงเรียนกว่าครึ่งหนึ่งต้องปิดกิจการ ระบบบริการสาธารณสุขเกิดความเสียหายรุนแรง เพราะหลายปีที่ผ่านมาขาดเงินลงทุน ขาดการดูแล และเกิดปัญหาคอร์รัปชัน เวเนซุเอลากลายเป็นแหล่งที่มาของผู้อพยพรายใหญ่สุด พลเมืองหลายล้านคนอพยพออกจากประเทศ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศหดตัวลงครึ่งหนึ่ง และราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัวในทุกๆ 25 วัน

การพลิกผันด้านชะตากรรมของเวเนซุเอลาเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสิ้นเชิง รุนแรง และชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ จนคนทั่วไปคาดคิดไม่ออก และไม่อยากจะเชื่อว่า เหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้นกับประเทศ ที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากเป็นอันดับ 1 ของโลก และก็ไม่ได้เป็นประเทศที่เกิดภาวะสงครามใดๆ หรือว่าถูกนานาชาติคว่ำบาตร คำถามมีอยู่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเวเนซุเอลา และอะไรคือความผิดพลาดของประเทศนี้

มาถึงจุดล่มสลายได้อย่างไร

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ในเวเนซุเอลา กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก ประชาชนต้องเข้าคิวรอซื้อสินค้าที่จำเป็น และเกิดการจลาจลเรื่องอาหารขาดแคลน ในปี 2017 เยาวชนคนหนุ่มสาวเดินขบวนประท้วงบนถนนติดต่อกันนาน 3 เดือน จนมีคนเสียชีวิต 120 คน ประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากกว่าซาอุดีอาระเบีย กลับกลายเป็นประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติด้านมนุษยธรรม ประเทศที่น้ำมันคือชีวิตของประเทศ การพังทลายของอุตสาหกรรมน้ำมันก็คือการพังทลายของประเทศ

ในหนังสือชื่อ Crude Nation (2016) ของผู้สื่อข่าว Wall Street Journal ชื่อ Raul Gallegos เขียนไว้ว่า ราคาน้ำมันในเวเนซุเอลาถูกที่สุดในโลก น้ำมันเบนซิน 1 แกลลอน หรือ 3.7 ลิตร มีราคาแค่ 6 ยูเอสเซนต์ หรือลิตรละ 50 สตางค์ เวลาเติมน้ำมันรถยนต์ คนเวเนซุเอลาจะเอาเศษเงินเป็นเหรียญที่เก็บไว้ในรถยนต์มาจ่ายเป็นค่าน้ำมัน คนเวเนซุเอลาจึงไม่เคยรู้หรือสนใจที่จะรู้ว่าน้ำมันมีราคาเท่าไหร่

ที่มาภาพ : amazon.com

ในประเทศอื่น ธุรกิจสถานีน้ำมันจะมีส่วนต่างกำไรที่ต่ำ สถานีน้ำมันเป็นฝ่ายจ่ายเงินค่าขนส่งน้ำมันมาที่สถานี แล้วก็บวกส่วนต่าง เมื่อเติมน้ำมันให้ลูกค้า แต่ในเวเนซุเอลา ธุรกิจสถานีน้ำมันมีสภาพที่กลับกัน รัฐบาลเป็นฝ่ายให้เงินแก่สถานีน้ำมันที่ให้บริการขายน้ำมัน โดยบริษัทน้ำมันของรัฐ Petroleos de Venezuela (PDVSA) จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรถบรรทุกน้ำมัน ที่จะบรรทุกน้ำมันไปส่งยังสถานีน้ำมัน ในแต่ละเดือน PDVSA ยังให้เงินอุดหนุนแก่สถานีน้ำมัน เช่น ค่าจ้างพนักงาน การดูแลรักษา และส่วนต่างกำไร สำหรับเจ้าของสถานี

การที่คนเวเนซุเอลาคาดหวังว่าน้ำมันจะต้องมีราคาถูก ก็เป็นเรื่องที่พอจะมีเหตุผลอยู่ เพราะเวเนซุเอลามีน้ำมันดิบสำรองถึง 300 พันล้านบาร์เรล มากกว่าซาอุดีอาระเบีย (266 พันล้านบาร์เรล) ปริมาณน้ำมันดิบจำนวนนี้ สามารถสนองความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ได้ถึง 40 ปี หากเวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบในปริมาณปัจจุบัน คือ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะมีน้ำมันดิบให้ผลิตได้นานกว่า 300 ปี

หนังสือ Crude Nation กล่าวว่า บริษัทน้ำมันรัฐ PDVSA นอกจากจะเป็นองค์กรธุรกิจที่ควบคุมอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศแล้ว ยังเปรียบเหมือนกับเป็นตัวระบบเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ในแต่ละปี PDVSA เคยมีรายได้จากการขายน้ำมันดิบได้สูงถึง 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ราคาน้ำมันดิบที่ขายได้ก็สูงเป็น 2 เท่าของต้นทุนการผลิต แต่ PDVSA กลับมีปัญหาการชำระเงินกับพวกบรรดาเจ้าหนี้ต่างๆ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า PDVSA กลายเป็นกระปลุกออมสินของนักการเมือง PDVSA มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในโครงการพัฒนาสังคมต่างๆ ของเวเนซุเอลา ที่เกิดขึ้นมาในสมัยของอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ที่มีอุดมการณ์แบบสังคมนิยม ประชานิยม และชาตินิยม ทำให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติ PDVSA มีภาระทางการเงินเรื่องรายจ่ายด้านสังคมมากกว่าเงินที่จะนำไปลงทุนด้านการสำรวจและผลิตน้ำมัน

ฮูโก ชาเวซ สร้างโครงการพัฒนาสังคมขึ้นมาครั้งแรกในปี 2003 ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำมันดิบมีราคาสูง และเรียกโครงการนี้ว่า “ภารกิจโบลิวาร์” (Bolivarian Missions) ที่ประกอบด้วยโครงการย่อยต่างๆ กว่า 30 โครงการ ในด้านสวัสดิการสังคม การต่อสู้กับความยากจน การศึกษา และการอุดหนุนสินค้าอาหาร แม้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นโครงการที่มีส่วนลดความยากจน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนระดับล่าง แต่งบประมาณที่ใช้จ่ายมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาความยั่งยืนของโครงการ เมื่อประเทศประสบวิกฤติเศรษฐกิจ

ฮูโก ชาเวซ สร้างโครงการพัฒนาสังคมขึ้นมาครั้งแรกในปี 2003 เป็นช่วงที่น้ำมันดิบมีราคาสูงเรียกโครงการนี้ว่า “ภารกิจโบลิวาร์” (Bolivarian Missions) ที่มาภาพ : https://www.as-coa.org/watchlisten/slideshow-presidency-venezuelas-hugo-ch%C3%A1vez

ปี 2013 ฮูโก ชาเวซ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง นิโคลัส มาดูโร ที่อดีตเคยมีอาชีพเป็นคนขับรถโดยสาร ขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มตกต่ำลง ทำให้เวเนซุเอลาเผชิญกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะ 98% ของรายได้จากการส่งออกมาจากน้ำมันดิบ รัฐบาลต้องพิมพ์ธนบัตรออกมาหมุนเวียนมากขึ้น มีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นระยะๆ และใช้วิธีการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น

การขาดแคลนอาหาร ทำให้คนเวเนซุเอลาต้องเข้าแถวรอซื้ออาหารนานเป็นชั่วโมง สินค้าจำเป็น เช่น ไข่และนม มีราคาเพิ่มขึ้นทุกเดือน สภาพชีวิตที่ยากลำบาก ทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แบบเดียวกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในซีเรีย แต่กรณีของซีเรียมาจากสงครามกลางเมือง คนเวเนซุเอลา 1.5 ล้านคนอพยพออกไปนอกประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลนิโคลัส มาดูโร ก็ไม่ยอมรับความช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรมจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โคลอมเบีย บราซิล หรือสหรัฐฯ

ภัยจากคำสาบน้ำมัน

การพังทลายทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบสำรองมากสุดในโลก กลายเป็นตัวอย่างที่คลาสสิกของวิกฤติ ที่มักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่พึ่งพาน้ำมัน (petrostate) น้ำมันทำให้เวเนซุเอลาประสบทั้งความรุ่งเรือง และความตกต่ำทางเศรษฐกิจ แต่การขาดธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ ที่ติดต่อมาหลายสิบปี ทำให้ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยมั่งคั่งที่สุดในลาตินอเมริกา เดินไปบนเส้นทางสู่การพังทลายทางเศรษฐกิจและการเมือง

คำว่า “ประเทศพึ่งพาน้ำมัน” หมายถึงประเทศที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง เช่น รายได้รัฐส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนชั้นนำ สถาบันการเมืองในประเทศอ่อนแอ และไร้ความรับผิดชอบ รวมทั้งคอร์รัปชันก็แพร่ระบาดทั่วไป

ที่มาภาพ : https://www.bbc.com/news/world-latin-america-47239060

ประเทศพึ่งพาน้ำมัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “โรคดัตช์” (Dutch Disease) สภาพเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับเนเธอร์แลนด์ ช่วงทศวรรษ 1970 หลังจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือ ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่มาจากทรัพยากรพลังงาน ทำให้มีรายได้เงินตราต่างประเทศเข้ามามาก ค่าเงินในประเทศถีบตัวสูงขึ้น และมีการนำเข้าสินค้าต่างประเทศมากขึ้น เพราะมีราคาถูก เงินทุนและแรงงาน ถูกดูดออกจากภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เศรษฐกิจประเทศเกิดความเสี่ยง เพราะชะตากรรมฝากไว้กับราคาพลังงาน และเกิดความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออก

ประเทศโดยทั่วไป รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษี แต่ประเทศพึ่งพิงน้ำมันหรือพลังงาน รายได้รัฐส่วนใหญ่มาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เช่น รัสเซีย 50% ซาอุดีอาระเบีย 90% หรือเวเนซุเอลา 98% เมื่อน้ำมันดิบมีราคา 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตราบจนถึงปี 2014 ประเทศพึ่งพิงน้ำมัน สามารถมีเงินพอในการลงทุนโครงการต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งโครงการสวัสดิการทางสังคม แต่เมื่อราคาน้ำมันดิบตกมาต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประเทศเหล่านี้ก็ต้องตัดงบรายจ่าย หรือระงับโครงการต่างๆ

เวเนซุเอลาเป็นตัวอย่างของประเทศพึ่งพิงน้ำมันที่ล้มเหลว น้ำมันเป็นหัวใจของเศรษฐกิจประเทศมาเกือบ 100 ปี หลังจากที่ค้นพบน้ำมันครั้งแรกในปี 1922 ราคาน้ำมันดิบดิ่งจาก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2014 มาเหลือ 30 ดอลลาร์ในปี 2016 ได้ฉุดให้ประเทศนี้ทรุดตัวทางเศรษฐกิจและการเมือง ช่วง 2014-2018 เศรษฐกิจเวเนซุเอลาขยายตัวแบบติดลบ เช่นปี 2016 เศรษฐกิจ -11.6% ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า จะต้องใช้เวลานับสิบๆ ปี ที่เวเนซุเอลาจะลุกขึ้นมาเดินได้ใหม่ และจะฟื้นตัวได้ รายได้จากน้ำมันดิบ จะต้องมีกลไกที่นำไปลงทุนให้เกิดดอกผล แบบเดียวกับกองทุนความมั่งคั่งของนอร์เวย์

นอกจากนี้ วิกฤติเศรษฐกิจยังนำไปสู่วิกฤติทางสังคม เกิดการขาดแคลนอย่างเรื้อรังด้านอาหาร ยารักษาโรค และสินค้าพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบมากที่สุดต่อคนชั้นกลางและคนชั้นล่าง ที่เคยเป็นฐานเสียงให้กับฮูโก ชาเวซ คนเวเนซุเอลาจำนวนมากมีน้ำหนักตัวลดลง เพราะไม่สามารถรับประทานอาหารได้ครบวันละ 3 มื้อ เด็กนักเรียนกว่า 3 ล้านคนต้องขาดเรียน โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดลงไป เพราะขาดงบประมาณ เป็นที่คาดหมายกันว่า เด็กเยาวชนเวเนซุเอลา 1 รุ่น อาจจะมีปัญหาเรื่อง ระดับการรู้หนังสือที่มีไม่มาก

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

หนังสือ Crude Nation เขียนสรุปไว้ว่า การพังทลายของเวเนซุเอลา เป็นเรื่องที่ก้าวข้ามประเด็นเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองของฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา แต่เป็นประเด็นที่ว่า ประเทศหนึ่งที่มีแหล่งน้ำมันมากสุดของโลก กลับไม่ได้เรียนรู้ว่า จะบริหารจัดการความมั่งคั่งนี้อย่างไร

เวเนซุเอลากลายเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ความเย่อหยิ่งทะนงตน การพึ่งพิงน้ำมัน การใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย และความโง่เขลาทางเศรษฐกิจ สามารถนำพาประเทศไปสู่ความหายนะ เวเนซุเอลายังสอนบทเรียนที่สำคัญว่า เงินที่มีมากเหลือเกิน แต่ขาดทักษะการบริหารจัดการ สามารถทำให้เกิดสิ่งที่เลวร้าย ยิ่งกว่าการที่ไม่มีเงินเลย

เอกสารประกอบ
Crude Nation: How Oil Riches Ruined Venezuela, Raul Gallegos, Potomac Book, 2016.
Venezuela: The Rise and Fall of a Petrostate, January 24, 2019, Council on Foreign Affairs.