ThaiPublica > เกาะกระแส > 50 ปีของเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองของอาเซียน ปัจจัยความเสี่ยงต่อการเติบโตในอนาคต

50 ปีของเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองของอาเซียน ปัจจัยความเสี่ยงต่อการเติบโตในอนาคต

25 กุมภาพันธ์ 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : The Future of ASEAN – Time to Act (2018)

ปี 2017 สมาคมอาเซียน มีอายุครบ 50 ปี ตลอดระยะเวลาดังกล่าว อาเซียนประสบความสำเร็จอย่างมากทางเศรษฐกิจ โดยสามารถก้าวผ่านวิกฤติทางการเงินของเอเชียปี 1997 และวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008-2009 ทำให้ปัจจุบันอาเซียนมีมูลค่าเศรษฐกิจถึง 2.76 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าเศรษฐกิจอินเดีย และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก อาเซียนยังพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คู่ขนานไปกับการสร้างทรัพยากรมนุษย์ ทำให้ประชาชนหลายล้านคนในภูมิภาคนี้หลุดพ้นจากความยากจน

พลังพลวัตทางเศรษฐกิจของอาเซียนมาจากการเติบโตของแรงงานการผลิต และจำนวนคนชั้นกลาง ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมีแรงงานเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 100 ล้านคน จากปัจจุบันถึงปี 2030 จะมีอีกจำนวน 59 ล้านคน ส่วนคนชั้นกลางของอาเซียน ในปี 2010 มีสัดส่วน 29% ของประชากรทั้งหมด คาดว่าในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 65% ทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดผู้บริโภค ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ พลวัตของอาเซียน ยังเกิดจากนักธุรกิจในอาเซียน ที่มีทักษะในการทำธุรกิจแบบผู้ประกอบการ อย่างเช่น บริษัทสตาร์ทอัปของอินโดนีเซียชื่อ Go-Jek ที่ให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือแท็กซี่แบบมอเตอร์ไซค์ โดยสามารถระดมเงินทุน 1.2 พันล้านดอลลาร์เพื่อขยายกิจการไปทั่วอาเซียน ทั้งๆ ที่ Go-Jek เพิ่งตั้งขึ้นมาได้เพียง 8 ปี บริษัทไฮเทคอย่าง Google และ Tencent ของจีน รวมทั้ง Temasek ก็เข้ามาลงทุนใน Go-Jek

องค์กร OECD ก็คาดการณ์ว่า เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.8% แต่ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.2% โดยเศรษฐกิจของกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม จะเติบโตสูงในอัตรา 6-7% ต่อปี ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 ที่สิงคโปร์ ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวว่า ในปี 2030 อาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป

ความสำเร็จของอาเซียน

ที่มาภาพ : The Future of ASEAN – Time to Act (2018)

ในบทรายงานของ PwC ชื่อ The Future of ASEAN – Time to Act (2018) กล่าวถึงความสำเร็จทางเศรษฐกิจของอาเซียนว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อาเซียนสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจมาได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 และ 2008 รวมทั้งจำนวนประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ประเทศ ในช่วงเวลา 17 ปี จาก 1999-2016 มูลค่าเศรษฐกิจอาเซียนเพิ่ม 4 เท่าตัว จาก 577 พันล้านดอลลาร์ เป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก

ความสำเร็จที่โดดเด่นของอาเซียน คือ การกระจายความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ไปสู่สมาชิก 10 ประเทศ ในปี 1967 ที่ก่อตั้งอาเซียนขึ้นมา รายได้เฉลี่ยต่อคนของอาเซียนอยู่ที่ 122 ดอลลาร์ ในปี 2016 เพิ่มขึ้น 33 เท่าเป็น 4,000 ดอลลาร์ ทำให้มีเพียง 14% ของประชากรอาเซียน ที่มีชีวิตต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน คือ มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1.25 ดอลลาร์ อาเซียนประสบความสำเร็จโดยดำเนินการได้ดีกว่าที่ระบุไว้ในเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (MDG) ของสหประชาชาติ ที่ให้ประเทศสมาชิกลดความยากจนให้มาอยู่ในระดับ 24% ของประชากรภายในปี 2015

อาเซียนยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ดำเนินไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร โดยเฉพาะการปรับปรุงด้านสาธารณสุข การศึกษา การเข้าถึงการบริการสุขภาพ และการมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น น้ำดื่มสะอาด ทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรในอาเซียน เพิ่มจาก 56 ปี เมื่อปี 1967 เป็น 71 ปี ในปี 2016

แม้อาเซียนจะประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่อาเซียนก็มีความหลากหลายในระดับการพัฒนาของสมาชิก เศรษฐกิจของ 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ เป็นหัวใจสำคัญของอาเซียน เพราะมีสัดส่วนรวมกันเป็น 64% ของเศรษฐกิจอาเซียน รายได้ต่อคนของสิงคโปร์สูงเป็น 13 เท่าของรายได้เฉลี่ยของอาเซียน ประเทศสมาชิกที่เรียกรวมกันว่า CLMV มีระดับการพัฒนาที่น้อยกว่า แต่ก็พร้อมที่จะเติบโต ภาคเอกชนจึงต้องมองความแตกต่างของอาเซียนให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ

ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต

ที่มาภาพ : The Future of ASEAN – Time to Act (2018)

แรงงาน รายงาน The Future of ASEAN ของ PwC กล่าวว่า ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตข้างหน้าคือแรงงาน ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา มีคนวัยทำงานกว่า 100 ล้านคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานของอาเซียน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ว่า จากปัจจุบันถึงปี 2030 อาเซียนจะมีแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดอีก 59 ล้านคน ทำให้อาเซียนเป็นตลาดแรงงานใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย แต่อาเซียนก็มีความเสี่ยงเรื่องการใช้ประโยชน์จากแรงงานได้ไม่เต็มที่ หากไม่สามารถฝึกอบรมแรงงานให้สอดคล้องกับการจ้างงานที่เปลี่ยนมาเป็นงานที่มีมูลค่าและคุณภาพเพิ่มขึ้น

คนชั้นกลาง ในแง่มุมที่เป็นปัจจัยด้านอุปสงค์ (demand) ของเศรษฐกิจ อาเซียนมีกลุ่มคนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวมากขึ้น ในปี 2010 คนชั้นกลางของอาเซียนมีสัดส่วน 29% ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มเป็น 2 ใน 3 ของประชากรในปี 2030 กำลังซื้อของคนชั้นกลางมากขึ้น หมายถึง การใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคมากขึ้นในการซื้อสินค้าและการบริการที่มีคุณภาพ และที่ให้ความสะดวกแก่การดำรงชีวิต

ภาคธุรกิจที่จะสามารถตอบสนองโอกาสทางธุรกิจใหม่นี้ได้ จะต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การค้าปลีกออนไลน์จะมาท้าทายการค้าปลีกตามร้านค้าดั้งเดิม ผู้บริโภคจะคาดหมายสินค้าที่มีคุณภาพ และมาตรฐานสูง และการส่งมอบการสั่งซื้อที่รวดเร็วขึ้น

แหล่งลงทุนต่างประเทศ รายงาน The Future of ASEAN กล่าวว่า จำนวนแรงงานที่เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งกำลังซื้อและการบริโภคในอาเซียนที่สูงขึ้น ทำให้อาเซียนยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในปี 2016 อาเซียนเป็นแหล่งของการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง (FDI) อันดับ 4 ของโลก โดยมีมูลค่า 101 พันล้านดอลลาร์ เป็นรอง สหรัฐฯ (391 พันล้านดอลลาร์) สหราชอาณาจักร (254 พันล้านดอลลาร์) และจีน (242 พันล้านดอลลาร์)

ความเข้มแข็งทางการเงิน ระดับหนี้สินของรัฐบาลในอาเซียนที่ไม่สูง และเงินทุนสำรองต่างประเทศที่มีจำนวนมาก ทำให้อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนต่างประเทศที่มีความได้เปรียบเหนือแหล่งลงทุนอื่นๆ ความเข้มแข็งทางการเงินของอาเซียนดังกล่าวทำให้อาเซียนสามารถรับมือกับภาวะความแปรปรวนของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังมีระดับรายได้ต่ำ ยังสามารถใช้นโยบายการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจหรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง หมายถึงการมีเสถียรภาพทางการเงินของสมาชิกอาเซียน

ความเสี่ยงต่ออนาคตอาเซียน

ที่มาภาพ : The Future of ASEAN – Time to Act (2018)

การเติบโตที่ลดลง รายงาน The Future of ASEAN กล่าวว่า นับจากปี 2010 การเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนมีอัตราที่ลดลง ในปี 2016 เศรษฐกิจสิงคโปร์ สมาชิกพัฒนาแล้วของอาเซียน มีการเติบโตที่ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเฉลี่ย 2% ขณะที่สมาชิกอาเซียนที่กำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม มีอัตราการเติบโตรวมกัน 4.9% แตกต่างจากในปี 2010 ทั้ง 5 ประเทศนี้มีอัตราเติบโตรวมกันที่ 6.9% การเติบโตของ 5 นี้ จะอยู่ในระดับ 5.3% จนถึงปี 2022 เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ปัญหาผลิตภาพแรงงาน แม้ผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) ในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นในระยะที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีช่องว่างระหว่างผลิตภาพแรงงานของอาเซียนกับของโลก จากตัวเลขปี 2016 มูลค่าผลผลิตต่อแรงงานของมาเลเซีย อยู่ที่ 16,888 ดอลลาร์ ไทย 6,804 ดอลลาร์ ฟิลิปปินส์ 4,363 ดอลลาร์ อินโดนีเซีย 4,322 ดอลลาร์ เวียดนาม 1,986 ดอลลาร์ เปรียบเทียบกับโลก ที่มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 18,671 ดอลลาร์ และตุรกี 26,985 ดอลลาร์

เนื่องจากผลิตภาพแรงงานมีความสำคัญต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ช่องว่างผลิตภาพแรงงานของอาเซียนดังกล่าวแสดงว่า อาเซียนยังมีช่องทางและโอกาสที่จะปรับปรุงในเรื่องนี้ เช่น การลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เป็นต้น

การพึ่งพิงการค้ากับภายนอก การค้ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอาเซียน สัดส่วนการค้าต่อ GDP ของอาเซียนเพิ่มจาก 43% ในปี 1967 เป็น 131% ปี 2005 และลดลงมาที่ 87% ในปี 2016 สัดส่วนการส่งออกอาเซียนเมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดในโลก เพิ่มจาก 2% ในปี 1967 เป็น 7% แต่ 75% ของการส่งออกอาเซียนไปยังตลาดนอกกลุ่ม คือ จีนกับสหรัฐฯ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนและการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ทำให้อาเซียนจะต้องหาทางเพิ่มสัดส่วนการค้าภายในอาเซียนให้สูงขึ้น

ช่องว่างโครงสร้างพื้นฐาน สมาชิกอาเซียน 8 ใน 10 ประเทศ เป็นประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ จึงประสบปัญหาการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สาธารณูปโภค การคมนาคม การเชื่อมต่อดิจิทัล และด้านสังคม เช่น ที่พักอาศัย สาธารณสุข และการศึกษา

เป็นที่คาดการณ์กันว่า ระยะเวลาจาก 2016-2030 อาเซียนจำเป็นจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นเงิน 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับในแต่ละปี อาเซียนต้องลงทุนเป็นเงิน 184 พันล้านดอลลาร์ หรือ 7% ของ GDP อาเซียน เวียดนามจะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสูงที่สุดในบรรดาสมาชิกอาเซียน

อุตสาหกรรม 4.0 อาเซียนเป็นศูนย์กลางสำคัญของโลก ด้านการผลิตและโลจิสติกส์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chains – GVC) มีการคาดการณ์กันว่า 66% ของการส่งออกของอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของ GVC เฉพาะฉะนั้น ภาคอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญต่อการเติบโตของอาเซียน และการยกระดับของรายได้ แต่พัฒนาการของอุตสาหกรรม 4.0 จะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความสำเร็จที่ผ่านมาของอาเซียน การรวมตัวเป็นตลาดเดียวของอาเซียนอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะรักษาฐานะการผลิตของอาเซียนให้เป็นส่วนหนึ่งของ GVC

บทรายงาน The Future of ASEAN สรุปว่า ในระยะ 50 ปีผ่านมา อาเซียนประสบความสำเร็จอย่างสูง มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และการยกระดับมาตรฐานชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาความท้าทายใหม่ๆ ก็ปรากฏตัวขึ้นมา อนาคตของการเติบโตในระยะยาวจึงขึ้นอยู่กับการทำให้การค้าและการลงทุนภายในอาเซียนมีสัดส่วนสูงขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะจุดแข็งสำคัญของกลุ่มสหภาพยุโรป

เอกสารประกอบ
The Future of ASEAN: Time to Act, PwC, May 2018.
Sustaining Southeast Asia’s Momentum, David Wijeratne, Neil Plumridge and Sundara Raj, February 12, 2019, strategy-business.com