ThaiPublica > คอลัมน์ > การสื่อสารของแบงก์ชาติ: ฟังให้ได้ศัพท์ จับมาวิเคราะห์

การสื่อสารของแบงก์ชาติ: ฟังให้ได้ศัพท์ จับมาวิเคราะห์

25 กุมภาพันธ์ 2019


ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ [email protected] ทศพล อภัยทาน [email protected]
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “ถอดบทเรียนสองทศวรรษ การสื่อสารของธนาคารแห่งประเทศไทย” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (https://www.pier.or.th/)

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2019/02/stock026_resized.png

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 การที่ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มหันมาใช้กรอบนโยบายการเงินโดยใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย (Inflation Targeting: IT) กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทำให้ธนาคารกลางต้องสื่อสารกับสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกัน สังคมก็มีความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าธนาคารกลางจะออกมา “พูด” อะไรบ้าง

สำหรับแนวทางปฏิบัติของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติเองก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกระแสความคิดหลักของแวดวงธนาคารกลางทั่วโลก หลังจากมีการปรับใช้กรอบ IT ในปี 2000 แบงก์ชาติได้เปิดช่องทางการสื่อสารอย่างหลากหลาย ทั้งในรูปแบบทางการที่มีการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รายงานนโยบายการเงิน รายงานนโยบายสถาบันการเงิน และในรูปแบบอื่นๆ เช่น สุนทรพจน์และการให้สัมภาษณ์สื่อของผู้บริหาร

งานวิจัยของผู้เขียนได้มุ่งวิเคราะห์การสื่อสารของแบงก์ชาติโดยประมวลผลเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่เผยแพร่โดยแบงก์ชาติ รวมไปถึงคลังข้อมูลข่าวเศรษฐกิจหลายแสนข่าว ผ่านการใช้เครื่องมือทางด้าน text mining เพื่อตอบคำถามว่า 1) แบงก์ชาติสื่อสารอะไรกับสาธารณะบ้าง ทั้งการสื่อสารทางตรงที่อยู่ในกรอบนโยบายการเงินและการสื่อสารในเรื่องอื่นๆ และ 2) พื้นที่ในสื่อและการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับแบงก์ชาติเป็นอย่างไร

สำหรับการสื่อสารภายใต้กรอบนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้สื่อสารกับสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สาธารณชนทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มเศรษฐกิจ และตัวแปรอื่นๆ ที่ กนง. ใช้ในการตัดสินนโยบาย ตลอดจนน้ำหนักที่ กนง. ให้กับข้อพิจารณาด้านต่างๆ

ในปัจจุบัน ช่องทางการสื่อสารหลักของ กนง. คือ การแถลงข่าวนโยบายการเงิน หรือ press statement (PS) ซึ่งหากผู้อ่านมีประสบการณ์ในการฟังแถลงข่าวหรืออ่าน PS มาบ้าง คงพอทราบว่า ในภาพรวม PS สื่อสารเกี่ยวกับ policy reaction function ของ กนง. นั่นเอง โดยมีหัวข้อหลักๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ การตัดสินนโยบาย การเติบโตของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ แต่ในรายละเอียด เราจะพบว่า PS มีการสื่อสารเรื่องดังกล่าวโดยมีการเชื่อมโยงกับหัวข้อที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องเศรษฐกิจต่างประเทศ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

ผู้เขียนได้ทำการวัดสัดส่วน (น้ำหนัก) ของหัวข้อต่างๆ ที่ปรากฏใน PS ระหว่างปี 2000 ถึง 2018 โดยแบ่งเป็น 6 เรื่อง ดังแสดงในรูปที่ 1 พบว่า น้ำหนักในการ “พูด” ถึงหัวข้อต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น การเติบโต ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา หรือเศรษฐกิจต่างประเทศที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากระหว่างปี 2008 ถึง 2014 ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือในช่วง 2 ปีล่าสุดที่มีการกล่าวถึงเรื่องเงินเฟ้อลดลงและให้ความสำคัญกับอัตราแลกเปลี่ยนและเสถียรภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนหัวข้อ ผลจากแบบจำลองเศรษฐมิติชี้ว่า น้ำหนักหัวข้อต่างๆ มีความสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจร้อนแรง การแถลงนโยบายจะให้น้ำหนักเรื่อง “การเติบโต” มากขึ้น และยังทำให้น้ำหนักของหัวข้อ “ราคาสินค้า” เพิ่มขึ้น สะท้อนความกังวลต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นไปด้วย เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน แบบจำลองยังชี้ว่า น้ำหนักหัวข้อยังมีการเปลี่ยนแปลงตามองค์ประกอบของคณะกรรมการหรือเลขานุการ ของ กนง. อีกด้วย ตัวอย่างเช่น เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนและเสถียรภาพระบบการเงิน ถูกกล่าวถึงมากขึ้นในช่วงของ กนง. ชุดล่าสุด (ของช่วงเวลาที่ทำการศึกษา) อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยหลายอย่าง เช่น policy reaction function ความชัดเจนในการสื่อสาร รวมถึงรูปแบบของการเขียน statement เป็นต้น

แต่โดยรวมแล้ว การสื่อสารผ่าน PS ถือได้ว่ามีความสอดคล้องกับการตัดสินนโยบายค่อนข้างสูง โดยผู้เขียนทดลองแปลง “สาร” ใน PS เป็นตัวชี้วัดเชิงปริมาณต่างๆ แล้วนำไปใช้ในแบบจำลองเพื่อทำนายผลการตัดสินนโยบาย ผลปรากฏว่าสามารถทายได้ถูกต้องถึงกว่า 80%

นอกเหนือไปจากการสื่อสารภายใต้กรอบ IT แล้ว แบงก์ชาติยังมีการสื่อสารกับสังคมในหัวข้อที่หลากหลายผ่านสุนทรพจน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้เขียนได้ทำการรวบรวมสุนทรพจน์ภาษาไทยที่กล่าวโดยผู้ว่าการและรองผู้ว่าการระหว่างปี 2001 ถึง 2018 มาวิเคราะห์ด้วยวิธีการ text mining พบว่า เรื่องนโยบายการเงินกลับไม่ใช่เรื่องที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด ในสุนทรพจน์ แบงก์ชาติได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง “การพัฒนาประเทศ” เป็นอย่างมาก รองลงมาคือเรื่อง เศรษฐกิจ (“เศรษฐกิจไทย” “ภาคการผลิต”) และนโยบายเกี่ยวกับระบบการเงินและสถาบันการเงิน (เช่น “สถาบันการเงิน” “กำกับสถาบันการเงิน” “ระบบการชำระเงิน” “บริการทางการเงิน”) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของแบงก์ชาติในการเป็นผู้นำทางความคิดในเรื่องเศรษฐกิจด้านต่างๆ แก่สังคมอีกด้วย

ในส่วนของการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับแบงก์ชาติ สังคมส่วนใหญ่รับรู้นโยบายของแบงก์ชาติผ่านข่าวหนังสือพิมพ์ (ซึ่งในปัจจุบันบางส่วนก็ไปปรากฏที่สื่อโซเชียลมีเดียด้วย) จากการประมวลผลข่าวเศรษฐกิจจากหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับครอบคลุมกว่า 10 ปี ด้วยวิธี text mining พบว่า หากมองเฉพาะข่าวของแบงก์ชาติ หัวข้อหลักๆ ที่ปรากฏยังคงเป็นเรื่องนโยบายการเงินและสถาบันการเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับพันธกิจหลักของแบงก์ชาติ แต่ก็มีหลายครั้งที่พบว่า แบงก์ชาติไปปรากฏในข่าวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น การค้าระหว่างประเทศ งบประมาณ และอุตสาหกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ทดลองเพิ่มเติมข่าวเศรษฐกิจขององค์กรอื่นๆ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ (MOC) กระทรวงการคลัง (MOF) และตลาดหลักทรัพย์ (SET) เข้ามาในการวิเคราะห์ โดยสร้างเป็นเน็ตเวิร์กของหัวข้อข่าวที่มีความใกล้ชิดกันหรือมักถูกกล่าวถึงในบริบทเดียวกันอยู่บ่อยครั้ง (รูปที่ 2) จะเห็นได้ว่า สาธารณชนเชื่อมโยงแบงก์ชาติ (BOT) เข้ากับบทบาทในภาคการเงินมากกว่าด้านอื่น โดยมีตำแหน่งใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่บางเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับพันธกิจของแบงก์ชาติโดยตรง แต่สาธารณชนอาจจะไปเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นแทน เช่น เรื่องเงินเฟ้อกับกระทรวงพาณิชย์

โดยสรุป การสื่อสารของแบงก์ชาติมีวิวัฒนาการมาตามลำดับตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในมิติของช่องทางการสื่อสารและเนื้อหาสาระ การสื่อสารของนโยบายการเงินมีความโปร่งใสมากขึ้นเป็นลำดับ สาระของการแถลงข่าวสามารถทำให้ผู้อ่านสกัดข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและนโยบายการเงินออกมาได้ และจากการวิเคราะห์การสื่อสารในช่องทางอื่นๆ และข่าวเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง พบว่า แบงก์ชาติสามารถส่งสารถึงประชาชนเกี่ยวกับพันธกิจหลัก รวมไปถึงบทบาทในการเป็นผู้นำทางความคิดในด้านการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ในภาพรวมยังมีช่องว่างระหว่างเรื่องที่เป็นพันธกิจหลักบางเรื่องกับการรับรู้ของสาธารณชน เช่น การดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งอาจเป็นความท้าทายในระยะข้างหน้า