ThaiPublica > คนในข่าว > เรื่องเล่าของ “บอสและบีม” วง FEVER กับบริบทสังคมยุคกระแส “ไอดอล”

เรื่องเล่าของ “บอสและบีม” วง FEVER กับบริบทสังคมยุคกระแส “ไอดอล”

24 กุมภาพันธ์ 2019


วง FEVER

“ไอดอล” ที่เป็นกระแสอยู่ความสนใจในไทยช่วงนี้ ทว่าไม่ใช่สิ่งใหม่มากนักสำหรับใครหลายคนที่คุ้นเคยวัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่น รวมไปถึงหลายคนอาจมีภาพจำของการเป็นไอดอลจากภาพยนตร์สารคดี Tokyo Idol ที่เข้าฉายในไทยเมื่อกลายปีที่แล้ว และการ์ตูน Back Street Girls ที่เสียดสีวงการไอดอลญี่ปุ่น แต่หลังจากที่ 48 Group เข้ามาขยายสาขาเปิดตัววงน้องสาว BNK48 จนเป็นกระแสที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย ก็เริ่มทำให้ไอดอลเป็นที่คุ้นเคยกับใครต่อใครมากขึ้น แม้จะไม่ได้รู้จักวงต้นแบบอย่าง AKB48

อย่างไรก็ดี ภาพจำของไอดอลที่คุ้นเคยกันนั้นเป็นเพียงภาพสะท้อนของไอดอลญี่ปุ่นเท่านั้น ด้วยบริบทสังคมที่ต่างกันของไทยและญี่ปุ่น จุดกำเนิดของธุรกิจไอดอลก็ต่างกัน ในญี่ปุ่น นั้นวัฒนธรรม สังคม ความเป็นอยู่ ก่อให้เกิดไอดอลที่มีสไตล์เฉพาะ ในขณะที่ไทยเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางธุรกิจ เราจึงมองว่าเป็นไปได้ไหมว่าชีวิตของไอดอลญี่ปุ่นและไทยจะแตกต่างกัน

ชีวิตของไอดอลเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่เราสงสัย หากสลัดภาพในหัวทิ้งไป ถึงจะถูกเรียกว่า “ไอดอล” แต่สุดท้ายพวกเธอก็คือเด็กสาวที่มีชีวิตจิตใจ มีความใฝ่ฝัน มีเป้าหมายเหมือนกับคนทั่วไป ยังไม่นับถึงจุดประสงค์ของการเลือกเส้นทางนี้ที่ก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน

“ไทยพับลิก้า” ได้พูดคุยกับ “ปาลีรัตน์ ก้อนบาง” (บอส) และ “จิรัชญา จันทร์จิเรศรัศมี” (บีม) สมาชิกวง FEVER วงไอดอลน้องใหม่ ที่กำลังเป็นที่สนใจในหมู่ผู้ติดตามวงการไอดอล ได้บอกเล่าความรู้สึกและชีวิตของการเป็นไอดอล จุดที่ไม่ใช่ทุกคนจะได้สัมผัส ความรู้สึกนึกคิดที่บอกเล่าด้วยเสียงของพวกเธอนั้น ก็พอทำให้คนนอกเข้าใจชีวิตการเป็นไอดอลมากขึ้น และเรายืนยันว่ามันไม่ได้เป็นภาพลบอย่างที่บางคนคิดไว้

  • เจาะตลาดธุรกิจไอดอลกับ “อธิปติ ไพรหิรัญ” ผู้ปั้นวง FEVER ความลงตัวของประสบการณ์และความนิยมแห่งยุคสมัย
  • “ก็แค่วันนี้ต้องเริ่มใหม่ มันยังไม่สาย แค่ก้าวเดินต่อไป” …ก้าวใหม่ของบอส ปาลีรัตน์

    ปาลีรัตน์ ก้อนบาง หรือบอส

    หากใครติดตามรายการทีวีบ้าง ก็น่าจะคุ้นเคยกับชื่อเธอคนนี้ ปาลีรัตน์ ก้อนบาง หรือบอส เธอเริ่มเป็นที่รู้จักจากเวทีประกวดร้องเพลงแห่งหนึ่ง และมีผลงานร้องเพลงในยูทูบ

    ตลอดการพูดคุย ภาพที่ปรากฏคือความพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อให้เก่งพอจะได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ที่ไม่ใช่แค่การร้องเพลง บอสบอกว่า “หนูชอบแบบตอนนี้ เพราะได้เป็นตัวเองหลายๆ ด้าน ให้คนรู้จักว่าบอสเป็นยังไง มีอะไรที่ชอบทำบ้าง ไม่ใช่แค่บอสร้องเพลง”

    สำหรับเธอแล้ว “ไอดอล” เป็นช่องทางที่ทำให้เธอได้ทำสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง อย่างน้อยก็ในช่วงวัยนี้

    เราเปิดประเด็นด้วยผลงานในอดีตของเธอ ที่หลายคนรู้จักในชื่อ “บอส The Voice” บอสบอกว่า “ตอน The Voice Kids มันเป็นก้าวแรกสู่วงการบันเทิง พอเข้ามา The Voice ผู้ใหญ่ ก็เป็นเหมือนการเปิดประสบการณ์มากกว่า ถึงแม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่คิดว่าชีวิตหนูต้องเดินต่อไปอีก ไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดหวังมากที่สุดในชีวิตเท่าไหร่ เพราะถ้าคิดอย่างนั้น ชีวิตน่าจะเดินต่อไปไม่ได้”

    เมื่อถามเหตุผลที่ทำให้เธอมาเป็นไอดอลในวง FEVER บอสตอบว่า “หนูชอบร้องเพลงและเต้นอยู่แล้ว อยากโชว์สิ่งที่ตัวเองอยากจะโชว์เต็มตัว จริงๆ หนูชอบหลายอย่างเลย หนูเคยเรียนเปียโนคลาสสิก ชอบออกกำลังกาย เล่นกีฬา ชอบเต้น ชอบการแสดง คือจริงๆ อยากอยู่บนเวทีแล้วได้แสดงความเป็นตัวเอง คือไม่ใช่แค่ร้องเพลงนิ่งๆ อยากเอนเตอร์เทนคนดู จริงๆ ที่ผ่านมามีค่ายเพลงมาติดต่อ แต่หนูปฏิเสธ เพราะยังไม่ใช่ตัวเอง ยุคนี้คือยุคไอดอลพอดี มาเห็นประกาศของ FEVER เห็นรายละเอียดคนทำเพลงยิ่งน่าสนใจ แหวกแนว เลยสมัคร”

    บอสเล่าต่อถึงความคาดหวัง ความกดดัน เรื่องที่เครียดที่สุดในการเป็นไอดอล “หนูต้องพยายามซ้อมตลอด ไม่ทำให้ตกมาตรฐานตัวเอง คือมีแต่ต้องดีขึ้นๆ ทุกคนจะบอกว่าหนูร้องเพลงเก่ง แต่หนูก็ยังประหม่า ยังกลัวทำไม่ได้อยู่เลย แล้วเต้นและร้องไปด้วย สำหรับหนูมันยากเหมือนกัน ไม่ใช่ร้องเพลงเก่งแล้วจะมั่นใจ ยังกลัวร้องผิดร้องเพี้ยน กลัวทำให้คนอื่นผิดหวัง หนูไม่เคยคิดว่าตัวเองแบกวง ทุกคนมีความสามารถพอๆ กัน”

    บอสเล่าถึงความรู้สึกแรกในบทบาทใหม่ว่า “ต้องปรับตัวบ้าง แต่ไม่เปลี่ยนตัวเอง ทุกคนเป็นตัวเองหมดเลย ทีมงานไม่ได้บังคับอะไร ตอนแรกเขินเหมือนกัน สวัสดีค่ะ พวกเราฟีเวอร์ค่ะ ตอนนี้ก็โอเคขึ้นแล้ว ไม่ต้องฝืน สบายๆ เอาจริงๆ ตอนแรกก็รู้สึกนิดหนึ่งว่ามันจะไม่เป็นตัวเอง อย่างเรื่องการลงรูปในอินสตาแกรม ปกติหนูลงแค่อีโมจิอันเดียว หรือแคปชันนิดเดียว”

    การก้าวมารับบทบาทใหม่ในชีวิต ทุกคนย่อมต้องปรับตัว บอสบอกว่า “คิดไว้ก่อนแล้วว่าจะเจออะไรบ้าง จะรับมือกับตรงนี้อย่างไร หนูไม่อยากบั่นทอนจิตใจตัวเอง ไม่งั้นจะทำอย่างนี้ต่อไม่ได้ ก็คิดไว้ว่าบางวันเราอาจจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เราต้องยอมรับมัน ชีวิตส่วนตัวก็ไม่ได้หายไปเยอะ ก็ต้องวางตัวมากขึ้น แต่ถ้าชีวิตในวง ก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าต้องเจออะไร ผู้หญิงหลายๆ คนมาอยู่รวมกัน… เข้าใจใช่ไหมคะ แต่พวกเราก็คุยกันเยอะอยู่ว่ารู้สึกยังไง ค่อยๆ แก้ปัญหา บางเรื่องก็ปรึกษาพี่สแปม กับพี่บีมบีม เพราะเค้าเป็นผู้ใหญ่ กับพี่ๆ ทีมงานก็คุยกันได้”

    ในฐานะที่เธอมาเป็นไอดอลเองแล้ว ไอดอลคืออะไร “ไอดอลคือคนธรรมดา แค่มีเรื่องที่ต้องโฟกัสมากขึ้นในแต่ละอย่างที่ต้องทำในชีวิต บางคนเป็นนักเรียนธรรมดาก็คือเรียน แต่ตอนนี้หนูต้องทั้งเรียนและซ้อมเต้นร้องเพลง แต่หนูจัดตารางชีวิตโอเคอยู่”

    กับบางคนที่อาจมองการเป็นไอดอลเชิงลบ บอสบอกว่า “เอาจริงๆ หนูไม่ได้ติดตาม AKB48 มาก่อน ก็เพิ่งมารู้จักตอนมี BNK48 ได้รู้ว่ามีกฎห้ามถ่ายรูป ถ้าใครจะคิดลบกับเรา ก็ไม่ได้รู้สึกแย่ หนูไม่สนใจอยู่แล้ว อาจจะได้ยินมาบ้าง งั้นคุณลองมาทำบ้างไหม เราสนใจแค่ตรงนี้ดีกว่าว่าจะพัฒนาตัวเองต่อไปยังไงดี ตั้งแต่อยู่ The Voice มันก็มีคอมเมนต์ด้านลบ หนูเห็นแต่ก็ไม่เก็บมาคิด”

    เมื่อถามว่าตั้งใจจะอยู่ในวงการบันเทิงต่อไหม บอสตอบว่า “ถ้าได้ก็ดี หนูก็อยากอยู่ตรงนี้เหมือนกัน จริงๆ มาตรงนี้ด้วยเรื่องอายุด้วย ถ้าแก่กว่านี้อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำ เป็นไอดอลหรือนักร้อง มันน่าจะยาก ได้โอกาสมาพอดีเลย”

    ในเพลงเปิดตัว Start Again ที่มีเนื้อหาถึงความผิดหวังและการเริ่มใหม่ เราถามว่าบอสคิดว่าท่อนไหนที่ชอบ ซึ่งทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของบอสมากขึ้น บอสตอบว่า “จริงๆ เพลงนี้ฟังคนเดียวน้ำตาซึมเหมือนกันนะ จริงๆ ชอบทุกท่อนเลย หนูชอบ ‘รอคอย I’ve got time start again’ เหมือนกว่าจะมาถึงจุดนี้ หนูก็รอวันที่จะมาเป็นศิลปินแบบที่ตัวเองอยากเป็นจริงๆ ‘มาจนถึงวันนี้ได้ลุกยืนใหม่อีกครั้ง’ ก็ได้ลุกยืนใหม่จริงๆ และมีเพื่อนๆ อีกหลายคนที่ลุกขึ้นยืนพร้อมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน เริ่มใหม่พร้อมกัน กับท่อน ‘เคยขังตัวเองให้ยอมรับกับความจริง ต้องทิ้งต้องลืมสิ่งที่หวัง’ มันเหมือนเราอยู่ในห้องคนเดียว บางทีก็คิด หรือเราจะไม่เหมาะกับการร้องเพลง หรือเราต้องไปทำอย่างอื่นไหม มีช่วงหนึ่งที่คิดว่าจะไม่ร้องเพลงเลย ตอนช่วง ม.6 ที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย มันเหมือนเป็นช่วงรอยต่อ บางทีก็เครียด เหมือนไม่อยากทำอะไร”

    “I want to feel the open sky. I want to stay, don’t want your lie” ความเป็นตัวของตัวเองของบีม จิรัชญา

    จิรัชญา จันทร์จิเรศรัศมี หรือบีม แบ่งโลกไว้อย่างชัดเจน โลกส่วนตัว และโลกไอดอล เธอบอกกับเราว่าเธอเป็นคนดื้อ ชอบต่อต้านนิดๆ แต่เรามองว่านั่นเป็นลักษณะของคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เธอตั้งเป้าหมายของไว้ชัดเจน และพร้อมที่จะทำให้มันสำเร็จ มีหลายอย่างที่บีมทำให้เราประหลาดใจ เธอมีกิจการลับๆ ที่ไม่ต้องการให้ใครรู้ เพราะอยากจะพิสูจน์ตัวเอง

    คำถามแรกที่เราสงสัย ระยะเปลี่ยน จากการเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้มีคนรู้จักมากนัก เริ่มมีชื่อเสียงเป็นอย่างไร “หนูเฉยๆ นะ ชีวิตปกติเหมือนเดิมทุกอย่าง แค่เวลาเลิกงานตอนเย็นที่เราจะว่าง ก็ต้องมาซ้อม แค่มีอะไรทำมากขึ้น เปลี่ยนแค่นั้นเอง”

    จิรัชญา จันทร์จิเรศรัศมี หรือบีม

    บีมมีหลายเหตุผลที่มาเป็นไอดอล สำหรับเธอแล้วเมื่อได้เป็นไอดอล ทำให้ได้รับโอกาสหลายๆ อย่าง “หนูเป็นคนชอบฟังเพลงและตามไอดอลอยู่แล้ว เห็นทีมงานของ FEVER เลยสนใจสมัคร เหมือนไอดอลไม่ต้องการคนที่สมบูรณ์แบบมากๆ คนที่ไม่เพอร์เฟกต์ก็มาทำตรงนี้ได้ ในตอนนี้หนูแค่มีความสุขกับมันเฉยๆ ไอดอลสำหรับหนูคือเหมือนเป็นแหล่งรวมคนไม่สมบูรณ์แบบมาอยู่ด้วยกัน เพื่อทำสิ่งหนึ่งให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ก็เหมือนเราตามศิลปิน ฟังเพลงของเค้าแล้วรู้สึกมีกำลังใจจังเลย”

    “ในโลกไอดอลทุกคนน่ารักใช่ไหมคะ แต่มีคนหนึ่ง ชิมาซากิ ฮารุกะ หนูชอบมากๆ เพราะเค้าเป็นตัวของตัวเองมาก ไม่ต้องน่ารักเหมือนคนอื่น ก็เลยอยากลองเป็นบ้าง ไม่ใช่เหมือนเค้านะคะ หมายถึงได้แสดงความเป็นตัวเองออกมาโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องเหมือนใคร อีกอย่างหนูอยากทำงานเบื้องหลัง เป็นทีมงานทำเพลง คิดพวกดนตรี ไอดอลเหมือนเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้หนูได้มาคลุกคลีกับวงการเพลงได้ ตอนนี้หนูกำลังแทรกซึมไปในทีมงานทำเพลงอยู่”

    สิ่งที่กังวลเมื่อมาเป็นไอดอล มีอะไรที่ไม่ชอบบ้าง บีมบอกว่า “หนูไม่ชอบที่บางคนขุดรูปเก่าๆ ในเฟซบุ๊ก เหมือนย้อนกลับไปดูชีวิตเราเมื่อก่อน จริงๆ ก็ตั้งแต่ตอนที่ออดิชันบีเอ็นเครุ่น 2 แล้ว ก็เลยเข้าใจว่าทำไมเค้าถึงให้ปิดเฟซบุ๊ก อีกเรื่องที่ไม่ชอบก็คือการถูกเปรียบเทียบ รู้สึกอึดอัด ส่วนเรื่องกฎข้อห้าม กฎของ FEVER เป็นกฎที่ปกป้องพวกเราให้ปลอดภัย หนูว่าก็ดีนะ”

    กับการจัดการความเห็นในคอมเมนต์เพจต่างๆ บีมบอกว่า “หนูก็ไม่เคยคิดว่าจะเจออะไรอย่างนี้ บางทีก็ทำตัวไม่ถูก อย่างบางทีหนูก็ไม่รู้จะตอบยังไง หนูก็ขอบคุณค่ะ ถ้ามีแฟนคลับมาบอกให้เราเปลี่ยนอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้ามันไม่เป็นตัวหนู หนูก็ไม่ทำหรอก เหมือนทำได้สักพัก หนูก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นตัวเองเหมือนเดิม แต่ถ้าเป็นจุดที่แย่จริงๆ ก็จะพยายามปรับ เค้าต้องชอบที่เราเป็นเราสิ ไม่ใช่แบบที่เค้าชอบ”

    “จริงๆ หนูอยากทำเพลงเองสักเพลง เหมือนหนูชอบเพลงของคนอื่น หนูก็อยากให้คนอื่นมาชอบเพลงของหนูบ้าง จริงๆ หนูอยากเป็นทีมทำเพลง อยากอยู่เบื้องหลัง” บีมเล่าถึงความคาดหวังในการเป็นไอดอล

    สำหรับการแบ่งเวลาในชีวิตบีมเล่าว่า “ทีมงานจะมีตารางให้ว่าเดือนนี้ต้องทำอะไรบ้าง ก็จะรู้ก่อนล่วงหน้า แล้วเอามาจัดเวลากับเวลาปกติของหนู การเป็นไอดอลใช้เวลาไป 20% ของชีวิตตอนนี้เองนะคะ เหมือนเป็นเควสต์เสริมในชีวิต เวลาซ้อมก็ 4 วันต่อสัปดาห์”

    แม้ว่าความนิยมของบีมจะอยู่ในระดับต้นๆ ของวง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอสบายใจกับความนิยมจากยอดไลค์นั้นนัก “จริงๆ หนูไม่ชอบนะ หนูไม่รู้ว่าตัวเองอยู่จุดไหน ถ้าสมมติหนูรู้อะไรแล้วมากดดันตัวเอง ก็พยายามอยู่ในโลกของตัวเอง หนูก็ไม่ได้ส่องเพจของคนอื่น ไม่อยากเปรียบเทียบกับใคร”

    เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับคำว่าภาพลบที่คนภายนอกมองเข้ามา ในฐานะที่บีมเองก็เป็นคนที่ติดตามไอดอลมาก่อน เธอพอจะเข้าใจภาพจำไอดอลญี่ปุ่น “อย่างตอนที่สมัคร FEVER หนูก็ไม่ได้บอกใคร มันก็ยังมีสังคมที่มองว่าทำแบบนี้มันดูง้องแง้ง ติ๊งต๊อง หนูว่าคนภายนอกก็ยังไม่เก็ตว่าไอดอลคืออะไร”

    บีมเล่าต่อถึงการที่ไอดอลอาจถูกมองเป็นวัตถุบางอย่างว่า “จริงๆ มันไม่ได้ดาร์กขนาดนั้น แต่แฟนคลับไปทำให้มันดาร์กเอง ที่จริงเราก็เป็นตัวเราปกติ เป็นคนธรรมดา แต่เค้ามาจำกัดความให้เราว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เข้าใจว่าบางคนก็อาจมองว่าไอดอลเหมือนเป็นวัตถุบางอย่างที่ขายผู้ชายอะไรยังงี้ บางทีก็รู้สึกเหมือนกันว่าเหมือนเค้าไม่ได้มาเสพงานเรา ไม่อยากให้มองเราอย่างนั้น ไม่งั้นข่าวที่หลุดว่ามีแฟน เค้าจะไม่อะไรเลยนะ เหมือนเค้าไม่ได้ชอบที่เราเป็นตัวเราจริงๆ”

    แล้วจริงๆ บีมเป็นคนแบบไหน ในเมื่อบีมบอกว่าอยากให้แฟนคลับรู้จักบีมในแบบที่บีมเป็นจริงๆ “หนูเป็นคนกวน เป็นคนดื้อเงียบ ถ้าสั่งแบบน้ำเสียงสั่ง หนูจะต่อต้านนิดๆ ถ้าอยากให้ทำอะไร ชอบให้พูดดีๆ ด้วยมากกว่า ถ้ามีเหตุผลประกอบด้วยยิ่งดี”

    นอกจากโลกของการเป็นไอดอล อีกบทบาทหนึ่งของบีมคือ แฟชั่นดีไซเนอร์ ที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง บีมเท้าความให้เราฟังว่าตั้งแต่เด็กๆ อาม่าจะสอนเธอทำงานฝีมือ โตมาก็ยังรู้สึกว่ายังถนัดในสายงานนี้อยู่ รวมถึงไม่ถนัดด้านวิชาการนัก เธอจึงเลือกเรียนแฟชั่น “จริงๆ หนูมีแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองตั้งแต่มอปลายด้วย ขายออนไลน์ แต่ไม่บอกว่าแบรนด์อะไรนะคะ เพราะอยากพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้ ไม่ใช่ว่ามีชื่อเสียงของตัวเองมาเป็นจุดขาย ถ้ามันจะดีก็ต้องมาจากหนูออกแบบถูกใจตลาดมากกว่า อยากให้ติดตลาดก่อนแล้วค่อยเปิดร้าน อยากมีร้านเล็กๆ แล้วหนูก็พอมีรายได้เลี้ยงตัวเองจากตรงนี้ด้วย ต่อให้วงดังขึ้นมากๆ หนูก็ไม่เปิดเผยหรอก จริงๆ หนูเป็นคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากๆ ถ้าสมมติหนูเปิดเผยไป หนูกลัวคนจะมายุ่งวุ่นวายหรือเปล่า”

    ด้วยความสามารถของบีม ทำให้มีชื่อปรากฏในเครดิตทีมงานด้วยว่า Original Costume by Chiratchaya Janjiredrusmee บีมแสดงนิสัยความกวนของเธอออกมาในการตอบว่า “ในเอ็มวีจะบอกว่าออริจินัลดีไซน์ของหนูใช่ไหม จริงๆ เค้าบรีฟมาว่าอยากได้ประมาณนี้ วาดมาหน่อย ก็ไม่ใช่ออริจินัลแล้ว (หัวเราะ)”


    3 สิ่งที่สำคัญ และนิยามความสำเร็จของบอสและบีม

    สุดท้ายกับคำถามว่า 3 สิ่งที่สำคัญในชีวิตและนิยาม “ความสำเร็จ” คืออะไร ในฐานะเด็กสาววัย 20 ปี บอสตอบว่า “1. ครอบครัวคือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ คอยสนับสนุน คุยกันได้ทุกเรื่อง ถ้าขาดไปก็อาจจะเศร้า ทำอะไรมาเหนื่อยๆ กลับบ้านได้เจอพ่อแม่น้องและแมว ก็ดีขึ้น 2. เพื่อนที่หนูเล่าได้ทุกเรื่อง และ 3. เงิน ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีความสุข”

    ส่วนบีมตอบว่า “เวลา สิ่งที่รัก และที่ที่สบายใจ เพราะว่าหนูเป็นคนที่โลกส่วนตัวค่อนข้างสูง เวลาเป็นสิ่งที่ผ่านไปไวที่สุด การหาเวลาให้ตัวเองได้อยู่กับสิ่งที่รักในที่ที่หนูสบายใจเลยเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งในแง่ของการพักผ่อนและการทำงาน”

    บอสเล่าถึงนิยาม “ความสำเร็จ” ของตัวเองว่า “ไม่ได้คิดว่าความสำเร็จมีแค่อย่างเดียว สำหรับหนูคือต้องพัฒนาตัวเองต่อไป เป็นเหมือนก้าวบันได คิดว่าตัวเองเก่งก็จะไม่พัฒนาต่อ”

    จิรัชญา จันทร์จิเรศรัศมี หรือบีม

    ในขณะที่นิยามความสำเร็จในชีวิตของบีมคือ การไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ “หนูมีหลายเป้าหมายในชีวิต ตั้งเป็นขั้นๆ ไว้ ในแต่ละช่วงอายุ แต่ที่หนูคิดว่าสำคัญที่สุดคือระหว่างทางในการไปถึงเป้าหมาย ตัวเองต้องมีความสุขด้วย สัก 50% ก็ยังดี ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นระหว่างทางของเป้าหมายของหนูนะคะ อย่างเรื่องของวง อยากให้วงเป็นที่รู้จักมากกว่านี้ ไปนอกประเทศได้ยิ่งดี ได้โคกับ LUCKY TAPES วงที่หนูชอบ หนูอยากให้วงได้ขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่รวมกับศิลปินดังๆ ในบ้านเรา”

    เช่นเดียวกับบอส ในฐานะที่เป็นวัยรุ่นในอายุช่วง 20 ต้นๆ เหมือนกัน บีมเองก็ไม่คิดว่าตัวเองต้องทำอะไรอย่างเดิมไปตลอดชีวิต “ความมั่นคงเป็นเรื่องของช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ถึงจุดหนึ่งก็ต้องไปทำอย่างอื่นอยู่ดี”

    ปาลีรัตน์ ก้อนบาง หรือบอส

    สุดท้ายนี้ หากมองเผินๆ ก็อาจมองว่าเป็นความคิดทั่วไปของวัยรุ่นยุคนี้ที่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขที่จะทำ โดยเลือกทางเดินชีวิต ตามแต่ละโอกาสที่เข้ามา และพร้อมจะเผชิญกับความท้าทาย เราได้ถามทั้งบอสและบีมว่าคิดว่า FEVER จะเป็นอย่างไร บอสตอบว่า “หนูว่ามันต้องดังนะ” เราถามย้ำกับบอสว่าแล้วถ้ามันไม่เป็นอย่างที่หวังล่ะ “ก็แค่ไม่ดัง ไม่เห็นเป็นไร” ในขณะที่บีมตอบในอีกแบบว่า “รอดูไปก่อน” ในคำถามเล็กๆ นี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยที่ต่างกันของบอสและบีม แน่นอนว่าเป็นธรรมดา ที่ความคิดของคนเราจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประสบการณ์ที่พบเจอ

    อันที่จริงแล้วในแง่ของความดังในแง่ของความดัง ชื่อเสียง เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราสนใจคือความคิดที่กล้าที่จะเลือกในสิ่งที่ตัวเองเชื่ออย่างไม่ลังเล อันเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของช่วงวัยเปลี่ยนผ่าน ช่วงเวลาของการเป็นไอดอล