ThaiPublica > คอลัมน์ > บ่อน้ำมันที่เมืองโบราณศรีเทพ หายนะที่ไม่ใช่แค่เรื่องการยื่นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม

บ่อน้ำมันที่เมืองโบราณศรีเทพ หายนะที่ไม่ใช่แค่เรื่องการยื่นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม

28 กุมภาพันธ์ 2019


พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

ปรางค์สองพี่น้อง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ พุทธศตวรรษที่ 13

จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่มีแหล่งโบราณคดี สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และธรรมชาติมากมาย แต่น่าเสียดายที่อุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินให้กับจังหวัดกลับกลายเป็นการขุดเจาะน้ำมันดิบที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้าน แต่คนจังหวัดเพชรบูรณ์หรือแหล่งโบราณสถานต่างๆ ที่ควรจะได้รับเงินมาสมทบเพื่อการพัฒนาทั้งความรู้และแปรรูปให้กลายเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืนนอกเหนือจากการผลิตเกษตรกรรมในพื้นที่กลับไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลยจากอุตสาหกรรมดังกล่าว มิหนำซ้ำกิจการดังกล่าวยังส่งผลกระทบในเชิงมลภาวะและทำให้จังหวัดเพชรบูรณ์กลายเป็นเพียงแหล่งสกัดทรัพยากรทางธรรมชาติ

อุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมันดิบนั้นได้ทำลายความมั่งคั่งทั้งในเชิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความร่ำรวย หรือแม้กระทั่งความเป็นอยู่ที่ดีในเชิงสุขภาพของผู้อาศัยในบริเวณโดยรอบ มีผลกระทบในเชิงมลภาวะและทำลายทัศนียภาพ มีการเผยแพร่ข่าวอยู่เสมอว่าในบริเวณแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบจังหวัดเพชรบูรณ์ มีการเรียกร้องของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกิจการดังกล่าว แต่แทนที่การขุดเจาะนั้นจะน้อยลง วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นบริษัทขุดเจาะน้ำมันคิดที่จะรุกพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

และล่าสุดคือการรุกล้ำแหล่งโบราณคดีสำคัญของจังหวัดฯ ที่เป็นความหวังในการส่งเสริมจังหวัดเพชรบูรณ์ให้เป็นศูนย์กลางความรู้และการท่องเที่ยวแล้ว การกระทำดังกล่าวเป็นการเข้ามาทำลายแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าติดอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเมืองโบราณศรีเทพนั้นเป็นเมืองโบราณที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ไม่แพ้แหล่งโบราณคดีอื่นๆ อย่างพุกามในเมียนมาร์ เมืองใหญ่ๆ ของศรีวิชัย หรือเมืองในกัมพูชาสมัยก่อนนครวัด

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 นายกฤษณ์ คงเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้แทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้ข้อมูลว่า บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และ อีโค่ โอเรียนท์ เอ็นเนอยี่ (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ได้รับสัปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2546/ 60 ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L44/43 ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ ส่งผลให้ในปัจจุบันแปลงสำรวจ L44/43 มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมรวม 8 พื้นที่ โดยในปีที่ผ่านมาแปลงสำรวจ L44/43 มีกำลังการผลิตรวม 1,052.28 บาร์เรล/วัน บริษัทฯ จึงมีแผนที่จะดำเนินการผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L44/43 เพิ่มเติมจำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ฐานหลุมผลิต STN-2 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ผลิตศรีเทพเหนือ และบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับเมืองโบราณศรีเทพ (ภาพและข้อมูลจาก: https://inews.click/inews_id/2466?fbclid=IwAR0uKJtbTaVp1-E10_mFrt2Rens78LA6CP64p-3uNpI9KdFw9bKbs64RlS0)

ทางสำนักงานข่าวที่ทำการรายงานได้ตั้งคำถามว่า “จะส่งผลกระทบแผนทำทะเบียนมรดกโลกไหม” ในขณะที่ทาง บริษัทฯ มองการประเมินขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวเป็นเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ราวกับทั้งสองเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน และที่สำคัญคือ แม้ไม่ได้มีการยื่นข้อเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการขุดเจาะน้ำมันดิบในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้

บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และ อีโค่ โอเรียนท์ เอ็นเนอยี่ (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เป็นกลุ่มบริษัททุนข้ามชาติ ชำนาญการขุดเจาะน้ำมัน และได้เข้ามาทำการขุดเจาะนำมันในบริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยจากข้อมูลบริษัทฯ น้ำมันดิบที่ได้จะขายให้กับโรงกลั่นน้ำมันไทยเป็นหลัก และเน้นการขุดเจาะน้ำมันบริเวณตอนล่างของจังหวัดฯ เป็นหลัก ประกอบด้วยพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรีและอำเภอศรีเทพ ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา กิจการการขุดเจาะน้ำมันดิบของบริษัทดังกล่าวเคยตกเป็นข่าวเรื่องการลักลอบขุดเจาะน้ำมันโดยไม่จ่ายรัฐ และมีประวัติการขุดเจาะน้ำมันในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. จำนวน 7 บ่อ ในพื้นที่ 7 แปลง

แหล่งโบราณคดีในจังหวัดเพชรบูรณ์ ชุมชนและเมืองโบราณ

เมืองโบราณศรีเทพ ที่มาของภาพ: กลุ่มวิชาการ กรมศิลปากร

กลุ่มเมืองและชุมชนโบราณศรีเทพ เดิมมีชื่อว่าเมือง “อภัยสาลี” มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่ามีการอยู่อาศัยของชุมชนในพื้นที่นี้มามากกว่าสองพันปี อีกทั้งยังพบว่าเคยมีการเลี้ยงช้าง และมีวัฒนธรรมทับซ้อนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน มีพื้นที่ประมาณ 3,889 ไร่ ซึ่งกรมศิลปากรได้บริหารจัดการพื้นที่โดยจัดตั้งเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” มีกลุ่มวิชาการของกรมศิลปากรประจำอุทยานประวัติศาสตร์ฯ ทำการศึกษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ดังกล่าวในอดีตยุคประวัติศาสตร์รุ่งเรือง น่าจะมีประชากรไม่ต่ำกว่า 80,000 ไปจนถึงประมาณ 100,000 กว่าคน เทียบเท่ากับเมืองโบราณร่วมสมัยใหญ่ๆ อย่างเมืองพุกาม ศรีเกษตร เบคถาโน ในเมียนมา ซึ่งต่างก็เป็นเมืองโบราณที่ได้รับการประกาศสถานะเป็นเมืองมรดกโลกทั้งสิ้น

เมืองศรีเทพประกอบด้วยเมืองชั้นในกับเมืองชั้นนอก ยังคงมีคูน้ำคันดินและกำแพงเมืองให้เห็นอย่างชัดเจน รวมถึงโบราณสถานต่างๆ รวมกว่า 100 แห่ง พื้นที่เมืองชั้นในเป็นเมืองรูปร่างเกือบกลม เนื้อที่ประมาณ 1,300 ไร่ มีคูนํ้าและคันดินล้อมรอบ คันดินสูงประมาณ 6 เมตร กว้างประมาณ 20 เมตร ความยาวรอบคันดินประมาณ 5,000 เมตร แต่ละด้านเว้นช่องเป็นประตูทั้งหมด 6 ช่องทาง และเมืองชั้นนอกซึ่งขยายส่วนจากเมืองชั้นในออกไปทางทิศตะวันออก เนื้อที่ประมาณ 1,589 ไร่ มีคูนํ้าคันดินล้อมรอบ สูงประมาณ 6 เมตร และกว้างประมาณ 20 เมตร มีความยาวโดยรอบคันดินประมาณ 7,000 เมตร ในแต่ละด้านของคันดินเว้นช่องเป็นประตูทั้งหมด 6 ช่องทาง ด้านตะวันตกมีประตูเชื่อมต่อกับเมืองชั้นในผ่านประตูเดียว

แหล่งโบราณคดีมากมายที่อยู่นอกและในคูเมืองที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจอย่างละเอียด ซึ่งขยายต่อไปถึงเขาคลังนอกซึ่งกำลังเป็นประเด็นเรื่องการขุดเจาะน้ำมัน โดยจากภาพถ่ายทางอากาศเก่ามีร่องรอยของความเป็นไปได้ที่มีคูเมืองชั้นที่สาม ซึ่งจะทำให้บริเวณเมืองโบราณดังกล่าวขยายตัวมากกว่าเดิมออกไปถึงสองร้อยเมตร ถ้ำเขาถมอรัตน์ทางตะวันออกของเมืองและถ้ำพระทางตะวันตกของเมืองมีร่องรอยการแกะสลักถ้ำในสมัยทวารวดี และเคยมีประเด็นการปล้นโบราณวัตถุมากมายออกไปจากถ้ำโดยกลุ่มนักสะสมทั้งไทยและต่างชาติ

แม้ว่าจะมีการซ่อมแซมแหล่งโบราณคดีภายในตัวเมืองเพื่อรองรับการท่องเที่ยว แต่พื้นที่ส่วนมากทั้งในเมืองและนอกเมืองยังไม่ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดเนื่องด้วยข้อจำกัดทั้งทรัพยากรทางมนุษย์ ทุนการศึกษา และการดูแลรักษา อาณาบริเวณเมืองโบราณศรีเทพนั้นหากจะทำการศึกษาและพัฒนากันจริงๆ แล้ว เปรียบเสมือนโครงการ Greater Angkor Project ที่ประเทศกัมพูชา หรือโครงการระบบน้ำของพุกาม สามารถลากเส้นครอบคลุมได้เกือบทั้งอำเภอศรีเทพ ด้วยโบราณวัตถุและโบราณสถานมีการกระจายตัวออกไปนอกคูเมืองแสดงถึงการกระจายตัวของแหล่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในสมัยโบราณ

การศึกษาที่จำเป็นยิ่งสำหรับเมืองโบราณอย่างศรีเทพคือการศึกษาพื้นที่การกระจายตัวออกจากเมืองศรีเทพ เพราะนอกจากจะได้องค์ความรู้การพัฒนาเมืองในอดีตแล้ว ยังได้ความรู้เรื่องชั้นดิน การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม ระบบชลประทานและการจัดการน้ำ และยังต่อยอดความรู้เกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางประชากรอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการพัฒนา ศึกษา และวิจัยในระยะยาว เมื่อถึงเวลาเหมาะสมสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการปลดล็อกที่จะดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและนักวิจัยต่างๆ เข้ามาใช้จ่ายและสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน

การกระจายตัวของแหล่งโบราณคดีบริเวณอำเภอศรีเทพ

สำหรับการวางแผนพัฒนาพื้นที่รองรับการเป็นมรดกโลก ในปัจจุบันพื้นที่อย่างพุกามและนครวัดจะเน้นบริบทความสำคัญของเมืองหรือกลุ่มโบราณสถานและความเชื่อมโยงกับบริเวณภายนอก หลักการคือการวางแผนครอบคลุมพื้นที่เพื่อปกป้องจากการทำลาย เพราะการบริหารมรดกทางวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องของการรักษา เพื่อไม่ตัดโอกาสของการพัฒนาและศึกษาในอนาคต

นอกจากนี้ ประการสำคัญคือการจัดภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบที่สวยงามและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดี ทำให้แผนการศึกษาและพัฒนามรดกโลกในปัจจุบันจะมีมุมกว้างขวางและครอบคลุมมากกว่าสมัยก่อนที่เน้นเพียงโบราณสถานบนพื้นดิน

ดังนั้น ในการประเมินความเสียหาย environmental impact assessment (EIA) ที่จะขุดเจาะน้ำมัน จำเป็นต้องพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดีไม่ใช่แต่ที่อยู่บนดินเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงใต้ดินที่ยังไม่ได้ทำการศึกษา และยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในเชิงทัศนียภาพอีกด้วย

(ภาพซ้าย) การศึกษากลุ่มเมืองโบราณและการกระจายตัว Greater Angkor Project โครงการดังกล่าวทำให้พบเมืองโบราณและแหล่งโบราณสถานที่ซ่อนอยู่หลายแห่ง มีการปรับแผนกันพื้นที่อนุรักษ์เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น (ที่มาของภาพ: Evans, D., Pottier, C., Fletcher, R., Hensley, S., Tapley, I., Milne, A. and Barbetti, M., 2007. A comprehensive archaeological map of the world’s largest preindustrial settlement complex at Angkor, Cambodia. Proceedings of the National Academy of Sciences, 104(36), pp.14277-14282.) ภาพซ้าย: ผังระบบการจัดการน้ำยุคโบราณและโบราณสถานเชื่อมโยงกับเมืองมรดกโลกพุกาม ในภาพจะเห็นว่า มีการโยงจุดเชื่อมออกมาและมีการศึกษาทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี วิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม (ที่มาของภาพ U Win Kyaing, ผู้บริหารและนักวิจัย Pyay Field School of Archaeology อดีตผู้บริหารแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองพุกาม)

เขาคลังนอก

เขาคลังนอกเป็นโบราณสถานที่อยู่นอกคูเมืองชั้นนอกของเมืองโบราณศรีเทพออกไปทางทิศเหนือ มีการใช้งานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ถึง 19 มีการค้นพบโบราณวัตถุและเครื่องถ้วยมากมายในพื้นที่ แสดงถึงการอยู่อาศัยและใช้งานอย่างหนาแน่น ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 80 ตอนที่ 29 วันที่ 16 มีนาคม 2506 หน้า 859 มีความว่า “คลังนอกเมืองศรีเทพ บ้านหนองปรือ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมทั้งเขตที่ดิน รวมเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ 1 งาน” ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็น หมู่ 11 บ้านสระปรือ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการขุดศึกษาทำให้เห็นว่าภายใต้เขาคลังนอกและบริเวณโดยรอบมีการวางพื้นฐานปรับพื้นที่ด้วยชั้นศิลาแลง และมีเนินโบราณสถานกระจายอยู่ในพื้นที่อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขุดศึกษาและขุดแต่ง

เขาคลังนอก ที่มาภาพ: https://bit.ly/2U43Hpf

ลักษณะโบราณสถานที่มีโครงสร้างขนาดข้างละ 64 เมตร มีความสูงจากพื้นดินยังปรากฏอยู่ 20 เมตร มีโบราณสถานรายล้อมรอบอาคารหลักของเขาคลังนอกออกไป จากการสำรวจและขุดศึกษาของนายอนุรักษ์ ดีพิมาย ในปี พ.ศ 2557 พบว่ามีเนินดินโบราณสถานรายล้อมอีก 24 เนิน กระจายตัวออกไปในพื้นที่บริเวณเส้นแบ่งเดิม และแม้ว่าหลักฐานโบราณสถานในพื้นที่จะถูกทำลายไปจากการปรับหน้าดินและกิจกรรมทางเกษตรกรรม แต่หลักฐานใต้ชั้นดินที่ยังไม่ได้ขุดหรือใช้เทคนิคทำการสำรวจน่าจะยังมีอีกมาก เพราะในอดีตโบราณสถานที่มีขนาดใกล้เคียงกับเขาคลังนอกมักมีลักษณะเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ สังเกตได้จากการที่หน้าดินยังคงมีเศษภาชนะดินเผาและโบราณวัตถุปรากฏอยู่รอบๆ บริเวณ

รูปแบบสันนิษฐานเจดีย์ประธานและเจดีย์ทิศ เขาคลังนอก ที่มาภาพ: กรมศิลปากร

การขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ไม่ได้ทำลายเพียงทัศนียภาพบนพื้นดิน แต่ยังมีเรื่องของการปรับหน้าดินเพื่อก่อสร้างบ่อขุดเจาะน้ำมัน แรงสะท้านของการก่อสร้างและการขุด รวมถึงปัจจัยผลกระทบต่อการยุบตัวของชั้นดิน ซึ่งจะกระทบทั้งโครงสร้างของเขาคลังนอก บ่อน้ำโบราณหลายบ่อในพื้นที่ และหลักฐานทางโบราณคดีที่อาจจะอยู่ในพื้นที่โดยรอบ

มากไปกว่านั้น การสร้างที่ขุดเจาะ จำเป็นต้องมีเรื่องของการขนส่งน้ำมัน นำมาซึ่งความจำเป็นของการสร้างถนนเพื่อรองรับรถบรรทุกขนส่งน้ำมัน ซึ่งสวนทางกับแนวทางการบริหารเมืองที่มีคุณสมบัติในการเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโลกแห่งอื่นๆ ที่ต่างเริ่มหันมาทำพื้นที่และภูมิทัศน์ให้ปลอดรถยนต์ และมีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจัดภูมิสถาปัตย์ของพื้นที่ให้เป็นแหล่งอยู่อาศัย และเน้นการผลิตงานหัตถกรรม อาหาร และศิลปะ รวมไปถึงการสร้างภาคบริการที่ทำให้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมมีชีวิตขึ้น

นอกจากนี้ยังลดการผลิตรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) เพราะเศรษฐกิจท้องถิ่นสร้างรายได้จากกิจกรรมที่ไม่ใช่การผลิตอุตสาหกรรมหนัก และรักษาแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติไว้ได้ ทำหน้าที่อุทยานทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติควบคู่กัน

นอกจากจะเสียทัศนียภาพ เป็นการทำลายแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกในจุดเด่นของเขาคลังนอกคือการที่ผู้เดินทางสามารถมองเห็นเขาถมอรัตน์ซึ่งเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองโบราณศรีเทพจากบนเขาคลังนอก แม้ว่าจะมีคนให้ความเห็นว่าสามารถปรับภูมิทัศน์ได้ด้วยการปลูกต้นไม้ แต่ประเด็นนี้ไม่ได้ลบล้างสิ่งก่อสร้างที่เชื่อมมากับการขุดเจาะน้ำมัน ไม่มีแหล่งมรดกโลกแห่งไหนที่จะมีการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ แม้แต่ประเทศอัฟกานิสถานที่เคยเกิดกรณีเหมืองแร่ทองแดง สุดท้ายแล้วเหมืองแร่ยังต้องเปลี่ยนไปใช้พื้นที่นอกรัศมีของเมืองโบราณและส่วนเชื่อมของเมืองโบราณเมสไอเนค

ภาพซ้าย: จุดสีแดงแสดงถึงเนินดินที่คาดว่าน่าจะมีโบราณสถานรอบๆ โบราณสถานเขาคลังนอก ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, ภาพขวา: เนินดินโบราณพอสังเขปและบริเวณที่พบการกระจายตัวของโบราณวัตถุแสดงถึงการใช้พื้นที่และอยู่อาศัย เป็นบริเวณที่ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างละเอียด
แผนที่แสดงถึงบริเวณเชื่อมโยงระหว่างเขาคลังนอกกับเมืองโบราณศรีเทพ พื้นที่โดยรอบปรากฏบ่อน้ำโบราณที่แสดงถึงการเป็นพื้นที่ชุมชน ซึ่งยังไม่ได้รับการศึกษา ในภาพแสดงให้เห็นว่าบริเวณที่จะตั้งฐานการขุดเจาะนำมันทับซ้อนพื้นที่ชุมชนโบราณและกระทบการอยู่อาศัยของชุมชนปัจจุบัน

สุดท้ายนี้ แม้ว่าการอนุมัติการขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวอาจจะไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรมศิลปากร เนื่องจากอำนาจอยู่ในมือของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพลังงาน แต่ก็หวังว่าการทำ EIA และส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการก่อนที่จะมีการประกาศในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ จะพิจารณาประเด็นที่ผู้เขียนได้กล่าวมา เพราะจะน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งถ้าประเทศไทยทำลายเมืองโบราณที่มีศักยภาพสูงอย่างเมืองโบราณศรีเทพ ด้วยเพียงแค่ความต้องการที่จะ “ขุดน้ำมัน” ซึ่งนอกจากคนในพื้นที่จะไม่ได้ประโยชน์อะไรอย่างแท้จริงแล้ว ยังนับว่าเป็นหายนะของมรดกทางวัฒนธรรมและศักยภาพในการบริหารจัดการขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่จะนำมาซึ่งความยั่งยืนอีกด้วย

ดังนั้น คุ้มแล้วหรือไม่ กับการที่ประเทศไทยจะต้องสูญเสียมรดกทางประวัติศาสตร์ที่มิอาจประมาณค่า หากถูกทำลายแล้วก็มิอาจหามาทดแทนได้?

อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีการรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2562
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562
•เวลา 8.30-12.00 น. มีการรับฟังความคิดเห็น ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอศรีเทพ
•เวลา 13.30-16.30 น.มีการรับฟังความคิดเห็น ณ ที่ว่าการอำเภอวิเชียรบุรี
•เวลา 17.30-19.30 น. จะรับฟังความคิดเห็นที่ ศาลาการเปรียญวัดทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 5 ตำบลท่าโรง
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562
•เวลา 9.00-11.00 น. จะรับฟังความคิดเห็นที่ ศาลากลางบ้าน หมู่ที่ 11 บ้านสระปรือ ตำบลศรีเทพ
•เวลา 13.30-17.30 น. จะรับฟังความคิดเห็นที่ศาลาการเปรียญวัดหนองโป่งวนาราม หมู่ที่ 8 ตำบลบ่อรัง