ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > มาตรการแก้ไขมลพิษฝุ่น: (ตอน 2) สหภาพยุโรปเข้มใช้กฎหมายบังคับ – พึ่งอำนาจศาล

มาตรการแก้ไขมลพิษฝุ่น: (ตอน 2) สหภาพยุโรปเข้มใช้กฎหมายบังคับ – พึ่งอำนาจศาล

22 กุมภาพันธ์ 2019


ต่อจากตอนที่1

รายงาน Air quality in Europe 2018 ที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2018 โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป (European Environment Agency: EEA) ให้ข้อมูลว่า แม้คุณภาพอากาศโดยรวมในยุโรปดีขึ้น แต่มลพิษทางอากาศยังสูงกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และสูงกว่าเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปกำหนด อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

รายงานนี้เก็บรวบรวมข้อมูลจากสถานีตรวจวัดกว่า 2,500 แห่งทั่วยุโรปในปี 2016 เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์โดยรวมและวิเคราะห์คุณภาพอากาศในยุโรปช่วงปี 2000-2016 รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าในการปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ได้มาตรฐานตามแนวทางที่อียูกำหนด 2 ด้าน (EU Ambient Air Quality Directives) และตามแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHO

รายงานยังให้ข้อมูลล่าสุดรวมทั้งประเมินความเสี่ยงของประชากร ระบบนิเวศจากมลพิษทางอากาศ และผลกระทบ การประเมินสถานการณ์คุณภาพอากาศอยู่บนพื้นฐานอากาศนอกสถานที่ที่วัดได้ ประกอบกับโมเดล ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพฤติกรรมของคน และวิวัฒนาการที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่รายงานนำเสนอข้อมูลค่าความหนาแน่นอนของมลพิษทางอากาศในระดับประเทศ 39 ประเทศ โดยเป็นสมาชิก EEA 33 ประเทศซึ่งรวมสมาชิกอียู 28 ประเทศไว้ด้วย ส่วนที่เหลือเป็น 6 ประเทศที่ให้ความร่วมมือ

สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในยุโรปคือ การคมนาคมทางบก การจราจรบนถนน ที่ปล่อยสารพิษ เช่น ไนไตรเจนออกไซด์ รวมทั้งฝุ่นจิ๋ว (PM) สาเหตุรองลงมาคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตร การผลิตพลังงาน ภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

ที่มาภาพ: รายงาน Air quality in Europe 2018

คุณภาพอากาศดีขึ้นแต่ยังมีผลต่อสุขภาพ

ความหนาแน่นของ PM ยังสูงเกินเกณฑ์ของอียูและมาตรฐานของ WHO โดยมีค่าความหนาแน่นรายปีของ PM10 ที่ 19% จากสถานตรวจวัด 19 แห่งใน 28 ประเทศ และจากการรายงานของอีก 9 ประเทศ ส่วนความหนาแน่นของ PM2.5 มีค่า 5% จากสถานีรายงานข้อมูลในประเทศสมาชิกและอีก 4 ประเทศที่ร่วมรายงาน

ค่าความหนาแน่นระยะยาวของ PM 10 เมื่ออ้างอิงกับแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHO (Air Quality Guidelines) ก็พบว่าสูงเกินไป ที่ 48% จากสถานีตรวจวัดและในประเทศสมาชิกที่รายงานยกเว้น เอสโตเนีย ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนค่าความหนาแน่นของ PM2.5 สูง 68% เกินเกณฑ์จากสถานีตรวจวัดและในประเทศสมาชิกที่รายงานยกเว้น เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฮังการี นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์

ฝุ่นจิ๋วหรือ PM, ไนโตรเจนออกไซด์ และโอโซนในระดับต่ำ (O3) เป็นอันตรายต่อสุขภาพคนมากที่สุด ความหนาแน่นของมลพิษยังคงสร้างผลกระทบในยุโรป โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตเมือง

ในปี 2016 สัดส่วนประชากร 13% ในเขตเมืองของ 28 ประเทศเผชิญกับ PM10 ในระดับที่สูงเกินค่าเฉลี่ยต่อวัน และสัดส่วน 42% เผชิญกับค่าความหนาแน่นของ PM10 ที่สูงเกินแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHO ส่วน PM2.5 นั้น สัดส่วนประชากร 6% ในเขตเมืองของ 28 ประเทศเผชิญกับค่า PM2.5 ที่สูงเกินเกณฑ์ที่อียูกำหนด และสัดส่วน 74% เผชิญกับค่า PM2.5 สูงเกินแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHO

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนประชากรที่เผชิญกับค่า PM10 และ PM2.5 ในปี 2016 นี้เป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2000 สะท้อนถึงแนวโน้มที่ลดลง แต่ก็มี 4 ประเทศที่ยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ตามเงื่อนไขที่อียูกำหนด

สำหรับโอโซนในระดับต่ำนั้น สัดส่วนของสถานีตรวจวัดที่พบค่าความหนาแน่นของโอโซนในระดับต่ำสูงเกินเกณฑ์ที่อียูกำหนดลดลงมาที่ 17% จาก 41% ในปี 2015 แต่ก็สูงกว่าปี 2014 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผัวผวนระหว่างปีของความหนาแน่นของโอโซนในระดับต่ำ สถานีตรวจวัดเหล่านี้อยู่ใน 14 ประเทศสมาชิก และ 5 ประเทศที่ให้ความร่วมมือ

ค่าความหนาแน่นของโอโซนในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHO แล้วก็สูงเกินมาตรฐานโดยอยู่ที่ 96% ในสถานีตรวจวัดทุกแห่ง และยังคงไม่ลดลงจากปี 2015

ที่มาภาพ : https://www.worldbulletin.net/health-environment/toxic-bloc-warned-of-eu-legal-action-over-air-pollution-h198350.html

สัดส่วนประชากร 1/% ในเขตเมืองของ 28 ประเทศเผชิญกับความหนาแน่นของ O3 ในระดับที่สูงเกินเกณฑ์ของอียู แต่ก็ลดลงจาก 30% ในปี 2015 และสูงกว่า 7% ในปี 2014 และเมื่อเทียบกับแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHO แล้ว สัดส่วนประชากรเขตเมืองใน 28 ประเทศที่เผชิญกับ O3 สูงถึง 98% ในปี 2016

ทั่วทั้งยุโรปยังเผชิญกับไนโตรเจนออกไซด์ที่สูงเกินเกณฑ์ แม้ความหนาแน่นและอัตราการเผชิญกับไนโตรเจนออกไซด์ลดลง ในปี 2016 สถานีตรวจวัดในสัดส่วน 12% ที่ตรวจพบค่าความหนาแน่นเกินมาตรฐานของอียูและแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHO ซึ่งสถานีเหล่านี้อยู่ใน 19 ประเทศสมาชิก และใน 4 ประเทศภาคี นอกจากนี้ ยังพบค่าความหนาแน่นของไนโตรเจนออกไซด์ในระดับ 88% ที่สถานีจราจร

ประชากรในเขตเมืองของ 28 ประเทศในสัดส่วน 7% อาศัยในพื้นที่ที่มีค่าความหนาแน่นไนโตรเจนออกไซด์เกินเกณฑ์ของอียูและแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHO ในปี 2016 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2000

ปี 2016 สถานีตรวจวัดจำนวน 23 แห่งจาก 1,600 แห่งใน 5 ประเทศภาคีรายงานค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงเกินเกณฑ์ของอียู และมี 37% ของสถานีที่ตรวจวัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ใน 30 ประเทศแล้วบันทึกค่าความหนาแน่นของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้สูงเกินแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHO ซึ่งแสดงให้เห็นว่า 23% ของประชากรในเขตเมืองของ 28 ประเทศเผชิญกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สูงเกินแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHOในปี 2016

ส่วนการเผชิญกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงเกินเกณฑ์ของอียูและแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของ WHO นั้นไม่บ่อยมากนักและขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ มีเพียง 5 สถานี (4 แห่งอยู่นอกอียู) ที่พบค่าความหนาแน่นที่สูงเกินเกณฑ์ของอียูในปี 2016 เช่นเดียวกับค่าความหนาแน่นอนของเบนซินที่ตรวจได้เพียง 4 สถานีที่ตั้งในอียูเท่านั้น ส่วนความหนาแน่นของสารหนู แคดเมียม สารตะกั่ว และนิกเกิลในอากาศในยุโรปโดยทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ

มลพิษทางอากาศยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในเขตเมือง ทำให้อายุคนสั้นลง สร้างภาระการรักษาพยาบาล และลดประสิทธิผลของระบบเศรษฐกิจจากจำนวนวันทำงานที่ลดลงเพราะสุขภาพไม่ดีและสภาพอากาศไม่ดี นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ มีผลต่อดิน ป่า ทะเลสาบ แม่น้ำ และทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง

โดยมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อคนในยุโรปมากที่สุดคือ ฝุ่นจิ๋ว ไนโตรเจนออกไซด์และโอโซนในระดับต่ำ ซึ่งค่าความหนาแน่น PM2.5 ในปี 2015 มีส่วนทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการที่ต้องเผชิญกับฝุ่นจิ๋วเป็นเวลานาน 422,000 รายในมากกว่า 41 ประเทศยุโรป โดยที่ 391,000 รายอยู่ใน 28 ประเทศสมาชิกอียู

ประชากรที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากไนโตรเจนออกไซด์และโอโซนระดับต่ำในยุโรป 41 ประเทศมีจำนวน 79,000 ราย และ 17,000 รายต่อปี โดยที่ 76,000 รายและ 16,400 รายเป็นประชากรใน 28 ประเทศอียูตามลำดับ

นอกจากนี้ พืชผักที่ได้รับผลกระทบจากโอโซนในระดับต่ำที่สูงเกินเกณฑ์มีสัดส่วนถึง 30% ของพื้นที่เกษตรใน 28 ประเทศและ 31% ของพื้นที่เกษตรของยุโรปโดยรวม

ที่มาภาพ: https:// www.eea.europa.eu/highlights/air-pollution-still-too-high

อียูให้สมาชิกทำแผนจัดการพื้นที่เสี่ยง

ภายใต้ข้อปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศ (EU Air Quality Directive) ประเทศสมาชิกต้องจัดทำแผนจัดการกับคุณภาพอากาศพร้อมกับมาตรการสำหรับพื้นที่ที่มีค่าคุณภาพอากาศเกินกว่าเกณฑ์เพื่อลดความหนาแน่นของมลพิษในอากาศให้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดและเป้าหมายตามที่ข้อปฏิบัติกำหนดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งให้รายงานรายละเอียดของมาตรการต่อคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ผ่าน EEA

ในรายงาน Improving Europe’s air quality -measures reported by countries มีข้อมูลมาตรการที่แต่ละประเทศรายงานเข้ามาพร้อมสรุปมาตรการที่ลดมลพิษ 2 ประเภทสำคัญที่ประชาชนต้องเผชิญคือ PM10 และไนโตรเจนออกไซด์

โดยทั่วไปแล้ว การขนส่งทางบกเป็นภาคที่ปล่อยไนโตรเจนออกไซด์มากที่สุดในยุโรป ขณะที่การเผาเชื้อเพลิงในภาคการค้า องค์กรต่างๆ และครัวเรือน มีส่วนในการทำให้เกิดฝุ่น PM10 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยุโรปตะวันออก ดังนั้น มาตรการที่ประเทศสมาชิกรายงานจึงเกี่ยวข้องกับการคมนาคมทางบกเป็นหลัก เพื่อลดค่าความหนาแน่นของ PM10 และไนโตรเจน

จากรายงานที่นำส่ง ประเทศที่ให้เหตุผลว่าไม่สามารถลดค่าความหนาแน่นลงมาที่มาตรฐานได้มีสัดส่วน 56% ของทั้งหมดที่รายงานค่า PM สูงเกินเป้าหมายหลังจากที่ดำเนินการตามแผน ซึ่งบ่งชี้ว่ามีหลายสาเหตุด้วยกันที่มีผลต่อคุณภาพอากาศที่เลวร้ายในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่การจราจรบนท้องถนน การทำความร้อนในพื้นที่ และที่มาของการสร้างมลภาวะในเขตชานเมือง โดยคำตอบที่ว่าสาเหตุหลักคือการลักลอบเข้ามาในเขตเมืองมีสัดส่วน 24% รองลงมาคือระยะทางจากถนนเส้นหลัก ในสัดส่วน 21% ซึ่งทั้งสองคำตอบนี้เป็นสาเหตุสำคัญอันดับสองและสามตามลำดับ

สำหรับประเทศที่ให้เหตุผลของค่าความหนาแน่นไนโตรเจนที่สูงเกินเป้าหมายมีสัดส่วนถึง 90% โดยสาเหตุหลักมาจากระยะทางถึงถนนเส้นหลักถึง 56% และการลักลอบเข้ามาในตัวเมืองถึง 37% ซึ่งแสดงว่าไนโตรเจนออกไซด์วัดได้จากสถานีหลักของการจราจร ทั้งในเขตเมืองและชานเมือง

นอกจากนี้ โอโซนในระดับต่ำยังพบได้ในหลายประเทศสมาชิกของอียู และกินพื้นที่กว้างไปทั่วยุโรป ดังนั้น การแก้ไขอาจจะต้องอาศัยความร่วมมือหรือมาตรการร่วมกันของหลายประเทศที่มีชายแดนติดกัน ทั้งในระดับเทศบาล ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ

มาตรการของประเทศส่วนใหญ่ในการจัดการกับ PM หรือ 46% มุ่งไปที่การจราจรบนท้องถนน ตามมาด้วยการค้าและครัวเรือนในสัดส่วน 20% และภาคอุตสาหกรรมอีก 17% ส่วนมาตรการจัดการกับไนโตรเจนออกไซด์นั้น มากกว่า 60% พุ่งเป้าไปการจราจรทางบก ขณะที่ 13% มีเป้าหมายที่ภาคอุตสาหกรรม และ 11% มุ่งไปที่การค้าและครัวเรือน

จะเห็นได้ว่ามาตรการส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกมีเป้าหมายที่การจราจรบนท้องถนน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลพิษไนโตรเจน โดยมาตรการที่รายงานเข้ามา ได้แก่

  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้จักรยานและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
  • วางแผนการใช้ดิน เพื่อให้เอื้อต่อการเดินทางขนส่งที่ยั่งยืน
  • ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณ
  • ปรับการจัดซื้อในภาครัฐทั้งระดับรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องให้มีการจัดซื้อยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ

มาตรการด้าน PM มากว่า 1 ใน 4 และมาตรการด้านไนโตรเจนออกไซด์ ราว 10% มีเป้าหมายที่แหล่งปล่อยมลพิษที่เกิดจากการสันดาปของเครื่องยนต์ มาตรการหลักที่รายงานสำหรับธุรกิจการค้าและครัวเรือน ได้แก่ การเปลี่ยนไปสู่เชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษต่ำและการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้ใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษต่ำ รวมทั้งการปรับปรุงเครื่องจักรที่ล้าสมัย เพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษ

สำหรับมาตรการในการให้ข้อมูลสาธารณะ หลายประเทศให้ความสำคัญโดยมีสัดส่วน 10% ทั้งมาตรการด้าน PM และไนโตรเจนออกไซด์ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการลดมลภาวะ

ที่มาภาพ:รายงาน Air quality in Europe 2018

ขออำนาจศาลจัดการอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีมาตรการเข้มงวดในการจัดการกับประเทศสมาชิกที่ไม่สามารถลดมลภาวะให้ได้ตามเป้า โดยในเดือนพฤษภาคม 2018 ได้ฟ้องร้องอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ฮังการี โรมาเนีย ต่อศาลยุติธรรมสหภาพยุโรป (European Court of Justice) ฐานไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพอากาศของอียู หลังจากที่ให้เวลาปรับปรุงคุณภาพอากาศถึงเดือนมกราคม 2018

คาร์เมนู เวลลา กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมอียู กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทั้ง 6 ประเทศถูกขนามนามว่า toxic bloc ไม่เร่งแก้ไขคุณภาพอากาศ คณะกรรมาธิกามีความเห็นว่า มาตรการเพิ่มเติมที่เสนอไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพอากาศได้ทัน ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะนำทั้ง 6 ประเทศเข้าสู่ศาลยุติธรรมสหภาพยุโรป เพื่อไม่ต้องรอให้ประเทศทั้ง 6 ใช้เวลาอีกนานกว่าจะจัดทำมาตรการ มลภาวะเป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขเพราะมีผลกระทบต่อชีวิตคน ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมสหภาพยุโรปมีอำนาจที่จะสั่งปรับเป็นเงินจำนวนมาก

คณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมยังให้เวลาสเปน สาธารณรัฐเชก และสโลวาเกีย ถึงเดือนมกราคม 2018 ในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอียู ซึ่งทั้ง 3 ประเทศได้ปฏิบัติแล้ว อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการยังต้องตรวจสอบทั้ง 3 ประเทศอย่างต่อเนื่อง

ในเดือนมกราคม 2018 มีการตรวจสอบพบ 9 ประเทศที่มีการปล่อยมลพิษเกินเกณฑ์ที่กำหนดออกมาสม่ำเสมอ โดยอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ปล่อยไนโตรเจนออกไซด์เกินมาตรฐาน ส่วนอิตาลี ฮังการี และโรมาเนีย ทำให้เกิดฝุ่น ค่า PM เกินเกณฑ์

อียูประเมินว่าภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่มีสาเหตุจากมลพิษต่อปีมีมูลค่าราว 20 พันล้านยูโร แต่สามารถลดลงได้หากประเทศสมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงในการปล่อยมลพิษ

ทางด้านคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรประบุปัญหามลพิษทางอากาศขยายวงไปทั่วยุโรปไม่เฉพาะ 9 ประเทศนี้เท่านั้น โดย 23 สมาชิกจาก 28 ประเทศสมาชิกมีคุณภาพอากาศที่แย่เกินเกณฑ์ และมีผลกระทบมากกว่า 130 เมืองในยุโรป

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเสนอมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นครั้งแรก ใช้บังคับกับรถบรรทุกที่ขนส่งทั่วยุโรป โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องลดลง 15% ในปี 2025 จากระดับปี 2019 และลดลงอย่างน้อย 30% ในปี 2030

ที่มาภาพ : https://metamag.org/2018/03/26/toxic-bloc-countries-will-face-court-for-failure-to-clean-up-air/

สถาบันหลักให้ความสำคัญ

ในเดือนกันยายน 2018 ก่อนการเปิดรายงาน Air quality in Europe 2018 ศาลผู้ตรวจสอบบัญชีแห่งสหภาพยุโรป (European Court of Auditors: ECA)ได้เปิดเผยรายงานว่า ประเทศสมาชิกอียูส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ได้ตามมาตรฐาน แต่ละวันชาวยุโรปเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงมากกว่า 1,000 ราย สูงกว่าอุบัติเหตุทางถนนถึง 10 เท่า

โดยอัตราการเสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศในบัลแกเรียและยุโรปตะวันตกแย่ยิ่งกว่าจีนและอินเดียอีก รายงานอ้างอิงข้อมูล WHO ปี 2012 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนบัลแกเรียทุกๆ 100 คนอายุจะสั้นลง 2.5 ปีจากมลภาวะอากาศภายนอก ซึ่งมากกว่าระดับเฉลี่ยของอียูถึง 3 เท่า

ECA มองว่าสหภาพยุโรปต้องทำให้มากขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศทั่วทั้ง 28 ประเทศสมาชิก

ความล้มเหลวของ 28 ประเทศสมาชิกอาจจะสะท้อนว่ากฎเกณฑ์ของอียูไม่เข้มงวดเท่ากับแนวปฏิบัติของ WHO

รายงานยังระบุว่า ปี 2016 มีเพียง 6 ประเทศสมาชิกที่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายคุณภาพอากาศภายนอกสถานที่ตามที่อียูกำหนด แต่บัลแกเรียไม่สามารถปฏิบัติได้ทั้ง 3 ข้อ ทั้งด้าน PM ไนโตรเจนออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์

บัลแกเรียกับโปแลนด์เป็นประเทศที่คณะกรรมาธิการนำเข้าสู่ศาลยุติธรรมสหภาพยุโรป (European Court of Justice) และศาลมีคำสั่งฐานละเมิดการทำให้เกิดฝุ่นจิ๋ว และระบุว่าการมีแผนที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของอียูไม่เพียงพอ รวมทั้งระบุว่าบัลแกเรียและโปแลนด์ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในระยะเวลาที่กำหนด และที่สำคัญ บัลแกเรียยังตัดงบแก้ไขคุณภาพอากาศลงจาก 120 ล้านยูโรเป็น 50 ล้านยูโร

รายงานของ ECA ยังมีข้อมูลว่า ชาวยุโรปเสียชีวิตก่อนวันอันควรราวปีละ 400,000 ราย และต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลปีละหลายแสนล้านยูโร และจานุสซ์ โวชซีโชวสกี หนึ่งในคณะศาลผู้ตรวจสอบบัญชีแห่งสหภาพยุโรปซึ่งรับผิดชอบการจัดทำรายงานกล่าวว่า มลพิษทางอากาศเป็นความเสี่ยงใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพของสหภาพยุโรป

มีกฎหมายบังคับเฉพาะ

สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหภาพยุโรป (European Environmental Bureau: EEB) ขานรับความเห็นของศาลผู้ตรวจสอบบัญชีแห่งสหภาพยุโรป โดยมาร์เกอริตา โตลอตโต กล่าวว่า ประเทศที่ถูกนำเข้ากระบวนการศาลได้รับการเตือนหลายครั้ง อีกทั้งมีการฝ่าฝืนกฎหมายคุณภาพยุโรปทั้งทวีป

สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกได้รับรองข้อตกลงระหว่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางอากาศและได้นำมาสู่การจัดทำกฎหมายที่กำหนดคุณภาพอากาศนอกสถานที่ ทั้งการกำหนดค่ามลพิษและเป้าหมายที่คุณภาพอากาศ การควบคุมการปล่อยมลพิษ กำหนดเกณฑ์การปล่อยมลพิษให้กับประเทศสมาชิก กำหนดมาตรฐานเชื้อเพลิง ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เริ่มโครงการซื้อขายคาร์บอน (Emission Trading Scheme: ETS) กำหนดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีสำหรับภาคส่วนที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ ETS และจำกัดการปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรม

อียูเป็นกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานสูงที่สุดในโลก โดยปี 2015 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลง 22% จากปี 1990 และต้องการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอีกในปี 2020

แผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมฉบับที่ 7 (7th Environment Action Programme: EAP) ประกอบด้วย

  • คุ้มครอง อนุรักษ์ และส่งเสริมเมืองแห่งธรรมชาติ
  • ปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจสีเขียวที่มีประสิทธิภาพและแข่งขันได้
  • ปกป้องพลเมืองอียูจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษและความเสี่ยงต่องความเป็นอยู่และชีวิตในปี 2020
  • ผลักดันและใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อขจัดมลภาวะทางอากาศและเพิ่มคุณภาพอากาศ
  • เพิ่มพูนความรู้และข้อมูลให้มากขึ้นในการดำเนินนโยบาย
  • ลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อมและนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจัดการกับผลกระทบภายนอกจากสิ่งแวดล้อม
  • สอดแทรกการจัดกับสิ่งแวดล้อมกับนโยบายรวมให้มีทิศทางเดียวกัน
  • ส่งเสริมความยั่งยืนของเมือง
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศและปัญหาที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ
  • สหภาพยุโรปยังเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการออกกฎหมายที่มีผลต่อประเทศสมาชิกในด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย หลังจากเพิ่มคำว่าสิ่งแวดล้อมลงในกรอบความร่วมมือพหุภาคีในปี 1987 ส่งผลให้สามารถจัดการได้ทั้งภายในและภายนอกอียู ซึ่งหมายความว่าสามารถบังคับใช้กฎหมายที่มีผลทั้งประเทศสมาชิกและจัดทำข้อตกลงกับประเทศที่สามหรือองค์กรระหว่างประเทศ ในด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อตกลงนี้ก็มีผลกับประเทศสมาชิกอียูด้วย

    อียูยังนำข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อมาใช้กับกฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่น กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

    ในหลายปีที่ผ่านมา อียูได้บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายหลายอย่างภายใต้กฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยกรอบกฎหมายประกอบด้วย 4 ข้อหลัก คือ หนึ่ง คุณภาพอากาศ สอง การปล่อยมลพิษของรถยนต์ สาม โปรแกรมด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานปี 2020 และสี่ การปล่อยมลพิษของอุตสาหกรรม

    กรอบกฎหมายข้อแรกยังแบ่งเป็น หนึ่ง ข้อปฏิบัติสำหรับคุณภาพอากาศของสถานที่ที่ได้จัดทำมาตั้งแต่ปี 1970 และได้ปรับปรุงเป็นระยะ จนปี 2008 ได้รวบแนวปฏิบัติทั้งหลายฉบับเข้าไว้ด้วย โดยกำหนดค่าความหนาแน่นของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ สารตะกั่ว เบนซิน และคาร์บอนมอนอกไซด์ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานค่าฝุ่น PM เพิ่มเติม ครอบคลุมไปถึงโอโซนระดับต่ำ และยังกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับประเทศสมาชิกในการติดตามและประเมินคุณภาพอากาศในพื้นที่ที่กำหนด

    ข้อปฏิบัตินี้มีผลต่อประเทศสมาชิกในเดือนมิถุนายน 2008 แต่ผ่อนปรนให้ประเทศสมาชิกขอขยายเวลาได้ 3 ปีในการแก้ไขปัญหาค่าฝุ่นจิ๋ว และ 5 ปีสำหรับไนโตรเจนออกไซด์ ให้ลงมาตามเกณฑ์ค่าจำกัดที่กำหนด

    แนวปฏิบัติสำหรับคุณภาพอากาศภายนอกอาคาร

    ได้แก่

  • ค่าจำกัด ความทนทานต่อความหนาแน่นของมลพิษที่คนจะได้รับ และค่าเป้าหมายมลพิษในอากาศ
  • ตั้งองค์กรเฉพาะเพื่อทำหน้าที่กำกับให้มีการปฏิบัติตามข้อปฏิบัตินี้
  • จัดทำแผนคุณภาพอากาศเพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่มลภาวะสูงเกินค่าจำกัดหรือเป้าหมายในพื้นที่ที่กำหนด
    โดยในแผนต้องกำหนดเป้าหมายค่าความหนาแน่นของมลพิษและมาตรการเฉพาะอื่นๆ ไว้ด้วย

  • จัดทำแผนระยสั้นหากมีความเสี่ยงว่ามลภาวะจะสูงขึ้นและอาจจะทะลุค่าจำกัดที่ตั้งไว้ โดยอาจมีมาตรการเฉพาะ เช่น
    จำกัดการใช้รถยนต์ ระงับงานก่อสร้าง

  • ให้ข้อมูลสภาพมลพิษทางอากาศ แผนการแก้ไข หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องให้แก่สาธารณชน ผู้บริโภค หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำรายงานประจำปี
  • สอง การลดการปล่อยมลพิษระดับชาติ ตาม National Emission Ceiling Directive (NEC Directive) ที่ปรับปรุงใหม่ในปี 2016 กำหนดเพดานการปล่อยมลพิษโดยรวมประจำปีให้กับประเทศสมาชิก แต่ไม่รวมส่วนที่นำเข้าโครงการ ETS ซึ่งนับตั้งแต่ข้อปฏิบัติมีผลในวันที่ 31 ธันวาคาม 2016 ประเทศสมาชิกมีเวลาถึง 1 กรกฎาคม 2018 ในการที่นำไปบังคับใช้เป็นกฎหมายในประเทศ

    ข้อปฏิบัตินี้กำหนดเพดานการปล่อยมลพิษแต่ละประเทศสมาชิกไม่เท่ากันจากปี 2020 ถึงปี 2029 และจากปี 2030 เป็นต้นไป ส่วนเพดานที่กำหนดไว้ในปี 2010 ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปี 2019 และสมาชิกต้องจัดทำโครงการควบคุมมลภาวะทางอากาศและนำส่งคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป

    กรอบกฎหมายข้อที่สอง การปล่อยมลพิษของรถยนต์ โดยที่ 1 ใน 5 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการเดินทางด้วยรถ อียูจึงกำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ชนิดเบา เช่น รถส่วนบุคคล รถตู้ รวมทั้งกำหนดให้รถโค้ช รถบัส และรถบรรทุกที่เป็นรถใหม่แต่ใช้เครื่องยนต์หนักติดฉลากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถด้วย และส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ

    เกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับรถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบเบาห้ามเกิน 95 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลเมตรโดยเฉลี่ยภายในปี 2021 หลังจากเริ่มใช้ในปี 2020 รถตู้หรือรถแวนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 3.5 ตันจะต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิน 147 กรัมต่อ 1 กิโลเมตรในปี 2020 หากผู้ผลิตรถยนต์รายใดฝ่าฝืนจะโดนโทษปรับ 95 ยูโรต่อกรัมสำหรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกินกำหนด

    สำหรับเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถที่ใช้เครื่องยนต์หนัก ปัจจุบันยังไม่มีการวัดแม้จะมีส่วนในมลพิษถึง 25% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการจราจรบนถนน โดยมีข้อเสนอให้ผู้ผลิตคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการใช้เชื้อเพลิงของรถใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 เป็นต้นไป

    ทางด้านการติดฉลากรถยนต์ กำหนดให้รถใหม่ติดฉลากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการเชื้อเพลิงของรถด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจ รวมทั้งต้องมีการให้ข้อมูลในแผ่นพับเสนอขายรถหรือในสื่ออื่นๆ นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งดีเซลและชีวภาพ รวมทั้งเครื่องจักร ห้ามใช้น้ำมันที่มีสารตะกั่ว และจำกัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในน้ำมันดีเซล และผู้ผลิตน้ำมันต้องลดความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกลง 6% ในปี 2020 จากระดับในปี 2010

    อียูยังส่งเสริมพลังงานทางเลือก โดยมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศสมาชิกใช้พลังงานทางเลือกสำหรับการขนส่งให้ได้ 10% ภายในปี 2020 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานทางเลือกในสัดส่วน 20% ของการใช้พลังงานรวมของอียู จึงกำหนดให้สมาชิกรายงานการปล่อยก๊าซ การส่งเสริมการใช้พลังงานชีวภาพซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายก็จะอนุญาตให้นับเข้ามาเป็นพลังงานทางเลือก

    กรอบกฎหมายที่สาม โปรแกรมด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานปี 2020 เป็นข้อบังคับตามกฎหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 3 ข้อต่อไปนี้ หนึ่ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% จากระดับปี 1990 สอง เพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกเป็น 20% และสาม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 20% ผ่านโครงการ ETS

    กรอบกฎหมายที่สี่ การปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรม โดยกำหนดการปล่อยมลพิษทั้งโรงงานที่มีการสันดาปขนาดใหญ่ที่ต้อใช้ความร้อน 50 เมกะวัตต์ขึ้นไป โรงงานขนาดกลางที่ต้องใช้ความร้อน 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป หรือน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ และจัดทำกรอบแนวทางให้ปฏิบัติเพื่อลดการปล่อบมลพิษ

    เรียบเรียงจาก eea, phys, sofiaglobe, loc