ThaiPublica > เกาะกระแส > “แอนดรูว์ หยาง” อเมริกันเชื้อสายจีน ชิงประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020 – ชูนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า 1,000 ดอลลาร์/เดือน

“แอนดรูว์ หยาง” อเมริกันเชื้อสายจีน ชิงประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020 – ชูนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า 1,000 ดอลลาร์/เดือน

5 มกราคม 2019


แอนดรูว์ หยาง ที่มาภาพ: https://www.yang2020.com/meet-andrew/

“ผม แอนดรูว์ หยาง ผมลงสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีในนามพรรคเดโมแครต ปี 2020 เพราะผมกังวลต่ออนาคตของประเทศเรา เทคโนโลยี ทั้ง หุ่นยนต์ ซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลประทบต่อการจ้างงานไปแล้วกว่า 4 ล้านตำแหน่ง และในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ก็จะยิ่งส่งผลต่อการทำงานอีกหลายล้านตำแหน่ง 1 ใน 3 ของแรงงานอเมริกันมีความเสี่ยงที่จะไม่มีการจ้างงานอย่างถาวร และเมื่อถึงเวลานั้น ก็จะไม่มีงานกลับมาให้ทำแล้ว”

ข้อความด้านบนเป็นการแนะนำตัวเองของ แอนดรูว์ หยาง ในย่อหน้าแรกของเว็บไซต์ yang2020 ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นช่องทางสื่อสารกับพลเมืองอเมริกัน ตั้งแต่ประวัติ นโยบาย และแคมเปญรณรงค์สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020

แอนดรูว์ หยาง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองในเว็บไซต์ yang2020 ในลักษณะการพูดคุยอีกด้วยว่า “ผมไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ ผมเป็นผู้ประกอบการที่เข้าใจเศรษฐกิจ เป็นที่แจ่มแจ้งสำหรับผมและผู้ที่มีส่วนสร้างงานในประเทศที่ดีที่สุดอีกหลายคนว่า เราต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ แต่การสร้างไม่ใช่เพียงแค่อาศัยความกล้าหาญเท่านั้น หากผมได้เป็นประธานาธิบดี สิ่งที่จะทำเป็นลำดับแรกคือ จะใช้นโยบาย Universal Basic Income หรือ การจัดสรรรายได้พื้นฐาน กับชาวอเมริกันในวัยผู้ใหญ่ทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 64 ปีอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยจะใช้เงินภาษีใหม่ที่เรียกเก็บจากธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ระบบงานออโตเมชั่น(Automation) นโยบาย UBI กำลังเริ่มต้น ขณะที่วิกฤติกำลังเกิด เราต้องหยุดให้ได้ มิฉะนั้นก็จะมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียหัวใจของประเทศ เป็นการเดิมพันสูงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน

แอนดรูว์กล่าวอีกว่า “ผมเกิดที่นิวยอร์กตอนเหนือ ในปี 1975 พ่อแม่ของผมโยกย้ายมาจากไต้หวันในทศวรรษ 1960 และพบกันในขณะที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโท พ่อผมเป็นนักวิจัยที่ไอบีเอ็ม พัฒนาชิ้นงานจนมีลิขสิทธิ์ของตัวเองถึง 69 ชิ้นตลอดระยะเวลาทำงาน ส่วนแม่ผมเป็นผู้ดูแลระบบของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในพื้นที่ ผมและน้องชายโตขึ้นมาเอาแต่เรียนแต่ไม่ค่อยเก่งในการเข้าสังคม และเราโตมาด้วยความเชื่อในความฝันของอเมริกัน และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่พ่อกับแม่ของผมเดินทางมาที่นี่”

ที่มาภาพ:https:// www.yang2020.com/meet-andrew/

“ผมเรียนเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ และด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หลังจากที่ทำงานด้านกฎหมายธุรกิจในช่วงสั้นๆ ผมรู้ว่าไม่ใช่ทางของผม ผมจึงก่อตั้งบริษัทเล็กๆในช่วงที่อินเตอร์เน็ตกำลังเริ่มเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงได้มาร่วมงานกับธุรกิจสตาร์ตอัพ ด้านเฮลท์แคร์ ซึ่งเป็นที่ที่ผมได้เรียนรู้การสร้างธุรกิจจากผู้ประกอบการที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30 ปี ผมได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษาของชาติซึ่งเติบโตเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และยังเป็นช่วงที่ผมได้พบกับภรรยา เอฟลิน และแต่งงานกัน ต่อมาธุรกิจการศึกษาของผมถูกซื้อไป และด้วยการสนับสนุนของเอฟลิน ผมจึงตัดสินใจรับเงินขายกิจการและตั้งปณิธานให้กับตัวเองว่าจะสร้างงานในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินอย่างรุนแรง ช่วงนั้นเองผมมีความเข้าใจเรื่องพลังของผู้ประกอบการในการที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นผมจึงก่อตั้ง Venture for America เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการสร้างงานในเมืองหลายแห่ง เช่น บัลติมอร์ ดีทรอยท์ พิตต์สเบิร์กและคลีฟแลนด์”

แอนดรูว์กล่าวว่า VFA เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนจำนวนมาก เพราะเห็นชัดแล้วว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐตอนนี้ คือ ระบบออโตเมชันได้สร้างผลกระทบต่อการจ้างงานและทั่วทุกภาคถูกทอดทิ้ง หลายปีที่ผ่านมาผมชื่อว่า การก่อตั้งธุรกิจใหม่คือคำตอบ เพียงแต่เราต้องฝึกหัดอบรมผู้ประกอบการรุ่นใหม่และสร้างงานที่เหมาะสมและในสถานที่ที่เหมาะสม และทำให้เราสามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ จัดการกับความยากจน การว่างงานและความสิ้นหวังได้

VFA ได้สร้างงานไปแล้วมากกว่า 1 พันตำแหน่งและยังคงเดินหน้าสร้างความตื่นตาตื่นใจทั่วประเทศต่อเนื่อง แต่ระหว่างที่ทำงานไปนี้ ผมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การสร้างงานไม่สามารถก้าวล้ำหน้าการเลิกจ้างอันเป็นผลจากการชะรบบออโตเมชั่น ช่วงเวลานั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว
หลังจากที่ผมเข้าใจถึงความรุนแรงของปัญหาแล้ว และแม้แต่นักการเมืองที่มีความคิดกว้างไกลที่สุดของเราก็ยังไม่ดำเนินการใดๆที่จะหยุดยั้งกระแสนี้ ผมไม่ทางเลือกจึงต้องลงมือเอง ผมเป็นพ่อของลูกชาย 2 คน ผมรู้ว่าประเทศที่ลูกชายของผมจะเติบโตขึ้นนั้นจะแตกต่างจากประเทศที่ผมโตขึ้นมา และผมต้องการที่จะมองย้อนกลับไปในชีวิตของผมว่าผมได้ทำอะไรด้วยพละกำลังของผมในการสร้างอนาคตให้กับเด็กๆของเรา นั่นก็คือ อเมริกา ประเทศแห่งโอกาส อิสรภาพ ความเท่าเทียมและความอุดมสมบูรณ์

“ผมเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมกับผม ไม่มีใครอีกแล้วที่จะสร้างโลกที่ดีกว่าให้เรา เราต้องสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง ร่วมกัน”

ที่มาภาพ:https:// www.yang2020.com/meet-andrew/

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า 1 ใน 3 นโยบายหลัก

แอนดรูว์เสนอนโยบายหลัก 3 ด้านได้แก่

  • Universal Basic Income หรือ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า
  • Medicare for All โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
  • Human-Centered Capitalism ระบอบทุนนิยมที่ให้ความสำคัญกับคน

เว็บไซต์ yang2020 ให้ข้อมูลนโยบายไว้ว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าคือรากฐานแห่งความมั่นคง เจริญก้าวหน้าของสังคมอเมริกา ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในอีก 12 ปีข้างหน้า พลเมืองอเมริกัน 1 ใน 3 มีความเสี่ยงที่จะตกงานจากการใช้เทคโนโลยี และจะต่างจากการใช้ระบบออโตเมชั่นในช่วงที่ผ่านมา เพราะครั้งนี้งานใหม่จะไม่เกิดขึ้นเร็วมากพอและในจำนวนมากพอที่จะชดเชยงานที่หายไปได้ เพื่อป้องกันวิกฤติที่อาจจะมีผลร้ายแรง ดังนั้นต้องมีทางแก้ไขใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือ การจัดสรรรายได้พื้นฐานให้กับพลเมืองผู้ใหญ่อเมริกันทุกคน อย่างไม่มีเงื่อนไข

เหตุผลที่แอนดรูว์ หยางต้องการใช้นโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เนื่องจากโลกประสบกับการยกตัวครั้งใหญ่ของเทคโนโลยี จนมาถึงปี 2015 ระบบออโตเมชั่นมีผลต่อการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว 4 ล้านตำแหน่ง และมีการคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของคนอเมริกันจะตกงานในอีก 12 ปีข้างหน้า ขณะที่นโยบายของรัฐปัจจุบันไม่ได้เตรียมการรับมือ และนักการเมืองก็ยังไม่เตรียมพร้อม

ทั้งนี้งานที่ทำกันมากใน 29 รัฐคือ ขับรถบรรทุกซึ่งมีคนขับรวม 3.5 ล้านคน โดยที่ 94% เป็นผู้ชาย แต่มีคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้อีก 12 ล้านคน คือ แรงงานในโมเต็ลและที่พักรถที่คนขับรถบรรทุกแวะพักระหว่างทาง

แม้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะมีผลให้ไม่ต้องทำงานที่มีความเสี่ยงและงานที่น่าเบื่อ แต่ขณะเดียวกันหากชาวอเมริกันไม่มีรายได้ ไม่มีความสามารถที่จะซื้อของใช้ ซื้อบ้าน หรือเก็บออมเพื่อการศึกษา เริ่มสร้างความครัวด้วยความเชื่อมั่น อนาคตก็จะมืดมน ทั้งนี้อัตราการเข้าสู่แรงงานอยู่ที่ 62.7% ต่ำกว่าทศวรรษที่ผ่านมา และ 1 ใน 5 ของคนวัยทำงานตกงาน

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าในแนวคิดของแอนดรูว์ หยางคือ ใช้เงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้มาจัดสรร เพื่อให้คนอเมริกันได้ประโยชน์จากระบบออโตเมชั่น ไม่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าหรือ UBI จะเป็นเงินที่เพียงพอต่อพื้นฐานการใช้ชีวิตของคนอเมริกัน ขณะเดียวกันช่วยให้อยู่รอดในขณะที่หางานใหม่ทำ หรือเริ่มต้นธุรกิจ กลับไปศึกษาต่อ

UBI จะมอบให้กับชาวอเมริกันที่มีอายุ 18-64 ปี ในจำนวน 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือน ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไร ยังมีงานทำหรือตกงาน อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยจะเริ่มจัดสรรเงินให้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 ขณะที่ชาวอเมริกันที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปนั้น ยังคงรับเงินสวัสดิการต่อไปได้แต่ไม่มีสิทธิรับเงินจากนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า

สำหรับเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการจัดสรรรายได้พื้นฐานนั้น แอนดรูว์ หยางเสนอให้ยุบรวมโครงการสวัสดิการต่างไว้ด้วยกันและนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม(Value Added Tax:VAT) มาใช้ในอัตรา 10% โดยผู้ที่ได้รับสวัสดิการจากโครงการต่างๆอยู่แล้วในขณะนี้ สามารถเลือกได้ว่าจะเลือกรับผลประโยชน์แบบเดิมหรือเลือกรับเงินจากโครงการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจำนวน 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือนอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่จะเลือกรับเงินสดที่จ่ายให้อย่างไม่มีเงื่อนไข

ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการ ที่ธุรกิจผลิตขึ้น เป็นระบบภาษีที่เป็นธรรมและทำให้บริษัทขนาดใหญ่เลี่ยงภาษีได้ยาก อีกทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ใช่เรื่องใหม่ มี 160 ประเทศจาก 193 ประเทศทั่วโลกได้ใช้อยู่แล้ว โดยทั่วยุโรปเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 20%

เงินที่จะนำมาใช้ในโครงการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า มาจาก 4 แหล่งด้วยกัน คือ หนึ่ง งบประมาณรายจ่ายปัจจุบัน ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในโครงการสวัสดิการต่างๆมีมูลค่า 500-600 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งลดต้นทุนของโครงการ UBI เพราะมีประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์จากสวัสดิการอยู่แล้วก็มีทางเลือก แต่จะไม่ได้รับเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือนเพิ่มเติมจากสวัสดิการเดิม

สอง เงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ถึง 19 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของยุโรป ก็สร้างรายได้ใหม่ให้ประเทศได้ถึง 800 พันล้านดอลลาร์ ยิ่งเทคโนโลยีดีขึ้นเท่าไรภาษีมูลค่าเพิ่มจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากหุ่นยนต์หรือซอฟต์แวร์ได้

สาม รายได้ใหม่ การให้เงินแก่ผู้บริโภคอเมริกันจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต ซึ่งสถาบันรูสเวลท์(Roosevelt Institute) พบว่า การให้เงินพื้นฐานจำนวน 12,000 ดอลลาร์ต่อปีกับผู้ใหญ่ในวัย 18-64 ปีทุกคน จะมีผลให้เศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างถาวรเพิ่มขึ้น 12.56-13.10% หรือราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 และสร้างงานใหม่ 4.5-4.7 ล้านตำแหน่ง ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดรายได้ใหม่ราว 500-600 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากมีการใช้จ่ายของผู้บริโภค

สี่ ปัจจุบันมีการจ่ายเงินมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในด้านสุขภาพ ด้านการดูแลผู้ต้องขัง ดูแลคนไร้บ้านและอื่นๆ แต่จะประหยัดเงินได้ 100-200 พันล้านดอลลาร์หากประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน หรือต้องโทษจำคุก หรือเร่ร่อนบนท้องถนน ซึ่งรายได้พื้นฐานถ้วนหน้านี้จะเกิดผลให้ลดโอกาสประชาชนที่ต้องประสบปัญหาเหล่านี้ ทั้งนี้มีผลการศึกษาส่วนหนึ่งพบว่า การให้เงิน 1 ดอลลาร์แก่พ่อแม่ที่ยากจนก็จะทำให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 7 ดอลลาร์และยังทำให้เศรษฐกิจเติบโต

นอกจากนี้การจัดสรรรายได้พื้นฐานจะไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ เพราะไม่ได้ทำให้ปริมาณเงินในระบบเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากใช้เงินจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และแม้ว่าอาจจะมีบางบริษัทปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาสินค้าและบริการที่ปรับขึ้นก็สูงขึ้นตามไปด้วย และเชื่อว่าการแข่งขันจะทำให้การปรับขึ้นราคาสินค้าทำได้ยากขึ้น

ควักเงินส่วนตัวจ่าย 2 ครอบครัวพิสูจน์ว่าทำได้จริง

วอชิงตันไทม์ รายงานว่า ในบรรดานักการเมืองหน้าใหม่ที่คิดนอกกรอบสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ต้องรวม แอนดรูว์ หยาง เข้าไว้ด้วย

รายงานข่าวระบุว่า ผู้ประกอบการวัย 43 ปีและนักการเมืองหน้าใหม่รายนี้ เริ่มเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของคนในไอโอวา หลังจากเปิดตัวแคมเปญโครงการจัดสรรรายได้พื้นฐานจำนวน 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือนให้กับคนอเมริกัน

แอนดรูว์ หยางให้สัมภาษณ์ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าและปฏิวัติ ทั้งเศรษฐกิจและสังคมและแนวทางที่ตรงที่สุดคือ เศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับคน ด้วยการจัดสรรรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ให้กับประชากรวัยผู้ใหญ่ จำนวน 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือน และหากเราไม่เริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ที่คลื่นเทคโนโลยีกำลังเกิดขึ้น เราอาจจะตกอยู่ในจุดที่ย่ำแย่กว่าช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเสียอีก”

แอนดรูว์ หยาง กล่าวว่า เขาเคยคิดว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าเป็นแนวคิดที่ไกลตัว แต่ก็เปลี่ยนความคิดหลังจากที่ได้รับรู้ว่าเป็นแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ที่เห็นว่าเป็นแนวทางที่ช่วยขจัดความยากจน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อย่าง มิลตัน ฟรีดแมน มองว่าจะช่วยลดโครงการต่างๆของรัฐบาล

แนวคิดนี้ได้นำเสนอเพื่อตราเป็นกฎหมายในปี 1970 ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแต่ถูกตีตกไปจากวุฒิสภา ล่าสุดแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น เอลลอน มัสค์ เจ้าของเทสลา มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก ขณะที่นักการเมืองมีความเห็นแตกต่างกันไป บางรายก็เห็นด้วย ขณะที่บางรายมองว่า การเปิดโอกาสในการทำงานถ้วนหน้าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

แอนดรูว์ หยาง เปิดเผยว่า เพื่อพิสูจน์ว่าแนวทางนี้ได้ผล ตัวเขาได้ใช้เงินส่วนตัวจ่ายเงิน 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือนให้กับครอบครัวหนึ่งในไอโอวาและอีกครอบครัวหนึ่งใน นิวแฮมเชียร์ และยืนยันว่าประเทศมีเงินมากพอที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ เพราะมูลค่าเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์

วอชิงตันไทม์รายงานว่า แอนดรูว์ หยาง สำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์และด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโค
ลัมเบีย ทำงานเป็นนักฎหมายการเงินนนิวยอร์ก ก่อนที่จะร่วมงานกับ GMAT บริษัทจัดทดสอบความสามารถของผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาสาขาบริหารธุรกิจ ในแมนฮัตตัน ซึ่งภายหลังได้ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท

ปี 2011 ได้ก่อตั้ง Venture for America องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ทำหน้าที่สรรหานักศึกษาที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมจากทั่วประเทศ นำมาเข้ารับการอบรมแล้วส่งไปทำงานกับบริษัทสตาร์ตอัปในหลายเมืองที่ต้องการบุคคลกรที่มีความสามารถ

ปี 2015 รัฐบาลชุดประธานาธิบดีบารัค โอบามา แต่งตั้งให้เข้าทำหน้าที่เป็นตัวแทนโครงการ Global Entrepreneurship

แอนดรูว์ หยางกล่าวว่า พรรคเดโมแครตต้องตระหนักว่าการที่มีคนตกงานเป็นล้านคนในเขตมิดเวสต์และย่านอุตสาหกรรมในรัฐเพนซิลเวเนีย( Rust Belt)ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี

แอนดรูว์ หยางกล่าวว่า หากเปรียบเทียบการเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจกับเกมการแข่งขันเบสบอลแล้ว นับว่า ประเทศกำลังอยู่ในช่วงทำแต้มคะแนนรอบที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ได้โดนัลด์ ทรัมป์มา และเมื่อถึงช่วงการทำแต้มรอบที่ 5 หรือครั้ง 6 ประเทศก็จะเปลี่ยนโฉมไปจนจำไม่ได้แล้ว

โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การเข้าถึงระบบประกันสุขภาพที่มีคุณภาพ คือปัจจัยหลักหนึ่งของความเป็นอยู่ที่ดี และอเมริกาเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมไม่กี่ประเทศที่ไม่มีโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน แต่มีระบบประกันสุขภาพเอกชนที่ส่งผลให้อเมริกันจำนวนหลายล้านคนไม่มีประกันสุขภาพและล้มละลาย แม้แต่คนที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้ว ก็ไม่ได้การรักษาที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันต้นทุนการรักษาพยาบาลของอเมริกาสูงกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นแต่กลับให้ผลที่น้อยกว่า

กฎหมายประกันสุขภาพ (Affordable Care Act) เป็นก้าวที่เข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง มีการจัดสรรเงินงบประมาณให้กับรัฐต่างๆเพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชน อย่างไรก็ตามไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐานของระบบสุขภาพ คือ การที่ประชาชนทุกคนไม่สามารถเข้าถึงยา และการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ให้บริการด้านสุขภาพไม่สอดคล้องกับคุณภาพและประสิทธิภาพของการให้บริการ

ที่มาภาพ:https:// www.yang2020.com/meet-andrew/

ทั้งหมดนี้ต้องมีการแก้ไขไม่ว่าจะขยายโครงการให้ครอบคลุมทุกคนหรือ สร้างระบบดูแลสุขภาพขึ้นใหม่ ด้วยการพัฒนาระบบที่มีผู้จ่ายเพียงรายเดียว เพื่อให้ประชาชนอเมริกันทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพ ซึ่งแนวทางนี้ไม่เพียงเพิ่มคุณภาพชีวิตของชาวอเมริกัน แต่เพิ่มการเข้าถึงการดูแลสุขภาพในเชิงป้องกัน ที่จะช่วยดึงค่าใช้จ่ายให้ลดลง เนื่องจากมีการควบคุมค่าใช้จ่ายโดยตรงด้วยการกำหนดราคาการใช้บริการสุขภาพ
แนวทางที่ดีที่สุดซึ่งเป็นวิธีที่คลีนิคคลีฟแลนด์ใช้อยู่นั้นคือ จ่ายเงินเดือนให้แพทย์แบบคงที่ แทนที่จะใช้แบบการกำหนดราคาต่อการใช้บริการ ซึ่งวิธีการนี้นำไปใช้กับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งทำให้เห็นต้นทุนค่าใช้จ่ายและควบคุมได้ อีกทั้งลดการตรวจสอบซ้ำซ้อนและการลาออกของแพทย์ลดลงเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลอื่น

นอกจากนี้แพทย์จะใส่ใจกับคนไข้มากขึ้นเพราะได้รับผลตอบแทนประจำ ให้เวลากับผู้ป่วยมากขึ้น รวมทั้งมีเวลาในการพัฒนาแนวทางการรักษาใหม่ๆ ตลอดจนมีการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมแทนที่จะรักษาตามอาการ

แอนดรูว์ หยางกล่าวว่า “การดูแลสุขภาพควรเป็นสิทธิพื้นฐานของอเมริกันทุกคน ทุกวันเมื่อป่วย คนอเมริกันกังวล 2 เรื่องคือ หนึ่งรักษาให้ดีขึ้น และสองจะหาเงินที่ไหนมารักษา มีคนจำนวนมากที่ต้องเลือกแนวทางที่เลวร้ายระหว่างการดูแลสุขภาพกับความจำเป็นด้านอื่น เราต้องให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพสูงแก่คนอเมริกันทุกคน ซึ่งระบบผู้จ่ายรายเดียวเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และยังเป็นแนวทางที่กระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะประชาชนสามารถเริ่มต้นธุรกิจหรือเปลี่ยนงานได้โดยไม่ต้องกังวลต่อการสูญเสียการประกันสุขภาพ”

ทุนนิยมที่ให้ความสำคัญกับคน

ข้อมูลในเว็บไซต์ yang2020 ระบุว่า ทุนนิยมคือ ระบบเศรษฐกิจหนึ่งที่ทำให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของมนุษย์ไม่ได้เดินไปคู่กันเหมือนเส้นขนาน หลายคนมองว่าทุนนิยมชนะทางความคิดเมื่อเทียบกับสังคมนิยม แต่มุมมมองนั้นมองข้ามประเด็นที่ว่า ระบบบทุนนิยมแท้จริงไม่มีอยู่จริง และทุนนิยมสถาบันและบรรษัทนิยมที่เราใช้อยู่นั้นแท้จริงเพิ่งพัฒนาขึ้นมา

การมุ่งเน้นกำไรของบริษัทใช้ไม่ได้กับคนอเมริกันส่วนใหญ่ ซึ่งการใช้ระบบออโตเมชั่นและเอไอ จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนตัวไปสู่ระบบทุนนิยมแบบใหม่ นั่น คือ ทุนนิยมที่ให้ความสำคัญกับคน คำนึงถึงคน ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีกับการเติมเต็มเป้าหมายมากกว่าเงิน หน่วยเศรษฐกิจของทุนนิยมแบบนี้คือ บุคคลไม่ใช่สกุลเงิน ขณะที่ยังมีตลาดรองรับเป้าหมายร่วมกัน เนื่องจากปัจจุบันระบบตลาดยังไม่ให้ความสำคัญกับหลายอย่าง ทั้ง กิจกรรม คน และอีกหลายสิ่งที่เป็นหัวใจหลักของการสร้างประสบการณ์ของคน

นอกจากนี้ทุนยังใช้ไปกับการลงทุนโดยตรงเพื่อปรับปรุงสวัสดิการของคน ไม่ใช่เพื่อความมั่งคั่งของคนอเมริกันคนใดคนหนึ่ง รวมทั้งมีการให้คุณค่าของคนมากกว่าเงิน และต้องให้ความเท่าเทียม

“เราต้องทำให้ตลาดรองรับเรามากกว่าอื่นใด ธุรกิจที่แสวงหากำไรนั้นมุ่งไปที่กำไรสูงสุดทุกครั้งซึ่งนำไปสู่การดำเนินนโยบายและผลลัพธ์แบบสุดขั้ว เราต้องการผู้นำรัฐบาลที่มุ่งไปที่ผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าสิ่งอื่นๆและทำให้ธุรกิจมีการปฏิบัติให้สอดคล้องในแนวทางเดียวกัน” แอนดรูว์ หยางกล่าว