
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (CEO) หรือ “GC”
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “GC” กล่าวว่า ผลประกอบการของ GC เฉพาะไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 136,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 6 โดยมี Adjusted EBITDA ประมาณ 16,830 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 12,793 ล้านบาท (2.84 บาท/หุ้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 หากเปรียบเทียบกับผลประกอบการในไตรมาส 3/2560 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 ขณะที่ Adjusted EBITDA และกำไรสุทธิรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และร้อยละ 29 ตามลำดับ รวมผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวม 36,008 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21
ในส่วนของไตรมาสที่ 3/2561 ธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง มีผลประกอบการลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในส่วนของธุรกิจโพลิเมอร์มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงงาน LLDPE ของ GC เริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ทำให้มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้น 400,000 ตันต่อปี ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์เอทิลีนออกไซด์ ปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น เปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2561 พบว่าในไตรมาสนี้ ผลประกอบการของธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องนั้น ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ที่ลดลง ประกอบกับปริมาณการขายโอเลฟินส์ก็ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงงานโอเลฟินส์ 1
ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์นั้น มีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างผลิตภัณฑ์พาราไซลีนเป็นหลัก และปริมาณการขายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่มีการหยุดซ่อมบำรุง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 3/2560 เป็นผลจากส่วนต่างของผลิตภัณฑ์ที่ลดลงเป็นหลัก แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2561 ถือว่าปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของน้ำมันเตา
สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากผลประกอบการของธุรกิจอะคริโลไนไตรล์ (AN), ธุรกิจพีวีซี และธุรกิจไบโอพลาสติก ปรับตัวดีขึ้น
สรุปผลการดำเนินงาน จำแนกตามกลุ่มธุรกิจได้ดังนี้
- โรงกลั่นน้ำมัน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 102
- โรงอะโรเมติกส์ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสารอะโรเมติกส์ (BTX Utilization) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 94
- โรงโอเลฟินส์ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 98
- โรงผลิตเม็ดพลาสติก PE มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 97
- ราคาเม็ดพลาสติก HDPE เฉลี่ยอยู่ที่ 1,350 เหรียญฯ ต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2560 ร้อยละ 19
ส่วนความคืบหน้าของโครงการที่ GC เข้าไปซื้อหุ้น Revolve Group Limited (RGL) จากประเทศสหราชอาณาจักร ร้อยละ 49 นั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เป็นแผนการขยายการลงทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นการลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะทาง และมีสมรรถนะสูง (Performance Chemicals) ทั้งนี้ RGL เป็นผู้ผลิต Rotomolding Compound รายสำคัญที่มีสัดส่วนในการทำธุรกิจลำดับต้น ๆ ของทวีปยุโรป และมีฐานการผลิตในประเทศต่าง ๆ อาทิ อังกฤษ ,โปแลนด์, ออสเตรเลีย ,นิวซีแลนด์ และมาเลเซีย
โครงการนี้สามารถผลิตวัตถุดิบที่สำคัญ คือ เม็ดพลาสติก LLDPE ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์ของ GC ที่ใช้ในการผลิต ถังบรรจุขนาดใหญ่ ถังเก็บน้ำใต้ดิน บนดิน ธุรกิจด้าน Sport สร้างสนามเด็กเล่น เรือคายัค เรือใบ ด้วยคุณสมบัติของเม็ดพลาสติก LLDPE Rotomolding Compound ที่มีความแข็งแรง คงทน ทนแดด ทนฝน เหมาะสมในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกขนาดใหญ่
นอกจากนี้ GC ยังเน้นขับเคลื่อนธุรกิจ โดยนำหลัก Circular Economy มาประยุกต์ใช้ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร พร้อมสร้างความตระหนักรู้ โดยมุ่งหวังไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างดุลยภาพระหว่างเทคโนโลยีกับชีวภาพ เพื่อลดการเกิดของเสีย และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานและสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างให้ GC เป็นต้นแบบองค์กรแห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมทั้งการดำเนินชีวิตแบบ “GC Circular Living” โดยมีแนวทางในการบริหารจัดการ 4 ด้าน อันได้แก่ การบริหารทรัพยากร (Resources) ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง , การบริหารจัดการกระบวนการผลิต (Production) โดยใช้หลัก 3Rs เพื่อก้าวไปสู่ 5Rs (Reduce, Reuse, Recycle, Renewable และ Refuse) , การบริโภคและการนำไปใช้ (Consumption) ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และการบริหารจัดการขยะ (Waste Management) อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทฯตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง (Single Used Plastic) เช่น ถุงช็อปปิ้ง จำนวน 150,000 ตันต่อปี ให้เหลือ 0 ตันต่อปี ภายใน 5 ปี การมุ่งสู่ตลาดไบโอพลาสติก ในการผลิต Packaging รูปแบบต่าง ๆ การ Upcycling ด้วยการนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ GC ก็มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลาสติกรีไซเคิลอย่างครบวงจร ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานรีไซเคิล พลาสติกที่มีมาตรฐานระดับโลก (Recycled Plastic) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง ความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกเทคโนโลยี , แสวงหาพันธมิตรร่วมลงทุน และวางแผนการจัดหาวัตถุดิบ (Waste Collection) ที่จะนำมาใช้ในการผลิต คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในต้นปีหน้า