รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
การประชุมผู้นำ 21 ประเทศของกลุ่ม APEC ที่ปาปัวนิวกินี เมื่อ 17-18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกนับจากปี 1993 ที่ไม่มีการออกแถลงการณ์หลังจากการประชุม เพราะที่ประชุมบรรดาผู้นำเอเชีย แปซิฟิก ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องเนื้อหาของแถลงการณ์ จีนไม่พอใจร่างแถลงการณ์ที่มีคำว่า “การปฏิบัติทางการค้าไม่เป็นธรรม” ส่วนสหรัฐฯ ไม่พอใจกับร่างแถลงการณ์ ที่มีคำว่า “การคัดค้านที่ประเทศหนึ่งจะดำเนินการโดยเอกเทศ”
ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในที่ประชุม APEC เป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่สะท้อนอวสานของความสัมพันธ์แบบร่วมมือกันของสองประเทศ ในระยะ 25 ปีที่ผ่านมา นโยบายของสหรัฐฯ ต่อจีนคือความคิดที่มองข้ามแตกต่าง และหันมามองสิ่งที่เป็นจุดร่วมคล้ายกัน โดยคาดหมายว่า การที่จีนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก นอกจากจีนจะมั่งคั่งขึ้นมาแล้ว ยังจะทำให้จีนเป็นประเทศที่เสรีมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
แต่เมื่อมาถึงจุดในปัจจุบัน สหรัฐฯ หันมามองว่า จีนกลายเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ ที่ผ่านมา ชาติตะวันตกคาดการณ์มาตลอดว่า โมเดลจีนที่ประกอบด้วยการเมืองระบบอำนาจนิยมและเศรษฐกิจทุนนิยมจะไม่ได้ผล แต่ความสำเร็จในการพัฒนาจนทำให้จีนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก พิสูจน์ถึงความผิดหวังจากการคาดการณ์ผิดของประเทศตะวันตก ที่หนังสือพิมพ์ New York Times มีบทรายงานที่เรียกจีนว่า “ประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จที่จะล้มเหลว” (The Land That Failed to Fail)
มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่
จีนเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วมายาวนานจนคนทั่วไปลืมไปแล้วว่า ครั้งหนึ่ง จีนคือประเทศที่ยากจนมาก และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็เต็มไปด้วยความปั่นป่วนทางการเมือง แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงจนกลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้จีนกลายเป็นประเทศอันดับหนึ่งในหลายเรื่อง เช่น อันดับหนึ่งของจำนวนคนที่เป็นเจ้าของบ้าน การใช้อินเทอร์เน็ต นักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัย รวมทั้งมหาเศรษฐีพันล้าน ส่วนคนยากจนข้นแค้นมากก็ลดมาต่ำกว่า 1% ของประชากร
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 เว็บไซต์ Bloomberg.com พิมพ์กราฟเปรียบเทียบเศรษฐกิจของจีนกับสหรัฐฯ ว่า ปี 2017 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีมูลค่า 19.4 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนจีน 12 ล้านล้านดอลลาร์ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ใหญ่กว่าจีน 1.6 เท่าตัว หากในอนาคตเศรษฐกิจจีนเติบโตได้ปีละ 6.5% และสหรัฐฯ 2% ภายในปี 2029 เศรษฐกิจจีนจะล้ำหน้าสหรัฐฯ แต่รายได้ต่อคนเทียบจากกำลังซื้อ (PPP) ของสหรัฐฯ ยังสูงกว่าจีน 3.6 เท่า คือสหรัฐฯ อยู่ที่ 54,198 ดอลลาร์ ส่วนจีน 15,175 ดอลลาร์
การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจจีนมีสัดส่วนสูงขึ้น เทียบเศรษฐกิจของโลก ปี 2017 จีนมีสัดส่วน 15% ส่วนสหรัฐฯ 24.3% แต่จีนกลายเป็นประเทศทำการค้ารายใหญ่สุดของโลกไปแล้ว ปี 2017 จีนค้าขายกับโลกมีมูลค่า 4,233 พันล้านดอลลาร์ ส่วนสหรัฐฯ 3,843 พันล้านดอลลาร์ โดยจีนส่งออก 2,401 พันล้านดอลลาร์ และนำเข้า 1,832 พันล้านดอลลาร์ ส่วนสหรัฐฯ ส่งออก 1,501 พันล้านดอลลาร์ และนำเข้า 2,343 พันล้านดอลลาร์
ภายในระยะเวลาเพียงคนรุ่นเดียว จีนสามารถพลิกฐานะทางเศรษฐกิจจากประเทศที่ไม่เคยอยู่ในสายตาของชุมชนเศรษฐกิจนานาชาติมาเป็นประเทศชั้นนำของเศรษฐกิจโลก ปี 1980 เศรษฐกิจจีนมีมูลค่าแค่ 300 พันล้านดอลลาร์ ปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ปี 1980 จีนค้าขายกับโลกเพียง 40 พันล้านดอลลาร์ ปัจจุบันเพิ่มขึ้น 100 เท่า นับจากปี 2008 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยในทุก 2 ปี เท่ากับเศรษฐกิจอินเดียทั้งประเทศ นับจากปี 2015 แม้จะเติบโตช้าลง แต่ในทุก 16 สัปดาห์ เศรษฐกิจจีนก็ยังเติบโต มีมูลค่าเท่ากับเศรษฐกิจของประเทศกรีซ หรือทุก 2 สัปดาห์ มีมูลค่าเท่ากับเศรษฐกิจไทย
การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนจึงเป็นการท้าทายที่สำคัญสุดต่อสหรัฐฯ นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เพราะสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับมหาอำนาจที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและทางทหารทัดเทียมกับตนเอง จีนยังเป็นประเทศแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ท้าทายอำนาจทหารทางทะเลของสหรัฐฯ ที่เป็นกำลังหลักของสหรัฐฯ ในการรักษาอำนาจนำของสหรัฐฯ ในเอเชีย
“กับดักธูซิดิดิส”
ในหนังสือชื่อ Destined for War ผู้เขียนคือ Graham Allison ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้เกิดการท้าทายต่อฐานะนำที่เป็นอยู่เดิมของสหรัฐฯ ทำให้สองประเทศเสี่ยงที่จะเข้าไปสู่กับดักที่อันตรายที่เรียกว่า “กับดักธูซิดิดิส” (Thucydides Trap) เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว นักประวัติศาสตร์กรีซโบราณชื่อ ธูซิดิดิส (Thucydides) เป็นคนแรกที่เขียนถึงสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างนครรัฐสปาตาร์กับเอเธนส์ โดยอธิบายว่า “การพุ่งขึ้นมาของเอเธนส์ ได้สร้างความกลัวให้กับสปาตาร์ ทำให้สงครามกลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้”
ในหนังสือชื่อ History of the Peloponnesian War ธูซิดิดิสเขียนไว้ว่า “สิ่งที่ทำให้สงครามเป็นเรื่องเลี่ยงไม่พ้น คือการเติบโตของอำนาจของเอเธนส์ และความกลัวของสปาตาร์ ที่มีเหตุจากสิ่งนี้” ธูซิดิดิสกล่าวว่า สิ่งที่เป็นแก่นของปัญหา คือ แรงกดดันที่มีต่อโครงสร้าง ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจของคู่ปรปักษ์ทั้งสองฝ่าย โดยพลังขับเคลื่อนสำคัญ 2 อย่างที่ทำให้เกิดพลวัตด้านโครงสร้าง คือ ฝ่ายที่มีอำนาจมากขึ้นมีความทะนงในความสำเร็จของตัวเอง ความสำนึกในสิทธิของตัวเอง และความต้องการสิทธิ์มากขึ้น และอีกฝ่ายหนึ่งที่เกิดความกลัว ระแวงสงสัย และความไม่มั่นคง เพราะโครงสร้างดุลอำนาจที่เป็นอยู่เดิมถูกสั่นคลอน
ภายในระยะเวลาครึ่งศตวรรษ นครรัฐเอเธนส์ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของอารยธรรม องค์ความรู้ต่างๆ สถาปัตยกรรม และประชาธิปไตย ที่เฟื่องฟูขึ้นมาแบบที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ความรุ่งเรืองของเอเธนส์ทำให้มีความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจ และการคาดหวัง ที่สูงขึ้นเมื่อตัวเองมีอำนาจมากขึ้น ทำให้เอเธนส์รับรู้ถึงความไม่ยุติธรรมในอดีต อ่อนไหวต่อท่าทีที่ไม่ยอมรับ และต้องการที่จะแก้ไขโครงสร้างอำนาจในหมู่นครรัฐต่างๆ ของกรีซ เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงของการที่มีมหาอำนาจใหม่เกิดขึ้น
ในเวลาเดียวกัน ธูซิดิดิสก็อธิบายว่า เป็นเรื่องธรรมดา ที่สปาตาร์จะมองว่านครรัฐเอเธนส์เป็นพวกไม่มีเหตุผล หรือเป็นพวกเนรคุณ เพราะระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอยู่เดิม ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนครรัฐ เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคง จนทำให้เอเธนส์สามารถพัฒนารุ่งเรืองขึ้นมาได้ สิ่งที่เรียกว่า “กับดักธูซิดิดิส” จึงหมายถึง ภาวะความกลัวที่เลี่ยงไม่ได้ โดยมีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของอำนาจระหว่างประเทศที่เป็นคู่แข่ง ในสถานการณ์ดังกล่าว มหาอำนาจแต่ละฝ่ายจะพยายามสร้างพันธมิตร หลักการเก่าแก่เรื่องพันธมิตรมีอยู่ว่า ศัตรูของศัตรูคือมิตร
สีจิ้นผิงกับ “กับดักธูซิดิดิส”
ในปี 2013 สีจิ้นผิงกล่าวต่อที่ประชุมผู้นำนานาชาติว่า “เราจำเป็นต้องทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักธูซิดิดิส ซึ่งเป็นภาวะความตึงเครียด ที่จะก่อความเสียหายที่รุนแรงระหว่างอำนาจที่กำลังเติบโตขึ้นมากับอำนาจที่ได้สถาปนาแล้ว หรือระหว่างอำนาจที่ได้สถาปนาขึ้นแล้ว” โดยได้เสนอรูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ
แต่การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่า จีนมีเป้าหมายที่จะมาแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจนำในเอเชียหรือไม่ ในปี 2013 สีจิ้นผิงได้กล่าวถึงเป้าหมายของจีนว่า “คือเป้าหมายในวาระครบศตวรรษ 2 อย่างของจีน เป้าหมายแรก เราตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่า GDP ระดับปี 2010 กับรายได้ต่อคนขึ้นอีกเท่าตัว และสร้างสังคมที่มั่งคั่งระดับกลางขึ้นในปี 2021 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบวาระ 100 ปี เป้าหมายที่สอง คือ เปลี่ยนจีนให้เป็นประเทศทันสมัย และก้าวหน้าทางสังคมอย่างรอบด้าน ในกลางศตวรรษนี้ เมื่อสาธารณรัฐประชาชนมีอายุครบ 100 ปีในปี 2049” การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือ การบรรลุ “ความฝันของจีน” (China Dream)
หากจีนสามารถบรรลุเป้าหมายแรกในปี 2021 ที่รายได้ต่อคนของคนจีนเพิ่มเป็น 10,000 ดอลลาร์ IMF คาดการณ์ว่า เมื่อเทียบจาก PPP เศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯ 40% หากจีนบรรลุเป้าหมายที่ 2 ในปี 2049 หมายความว่า เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดเป็น 3 เท่าของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของจีนดังกล่าวจึงมีความหมายอย่างมากต่อดุลอำนาจในโลก
หนังสือ Destined for War อ้างคำกล่าวของ ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ว่า “ขนาดของจีนในการเข้ามาแทนที่ดุลอำนาจในโลก ทำให้โลกต้องมองหาดุลอำนาจใหม่ เป็นไปไม่ได้ที่จะถือว่าเป็นเรื่องมีมหาอำนาจใหม่อีกรายหนึ่งขึ้นมา แต่นี่คือมหาอำนาจที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์โลก”
Graham Allison กล่าวว่า การมองการท้าทายของจีนต่อสหรัฐฯ ในกรอบความคิดแบบกับดักธูซิดิดิส ไม่ได้หมายความว่าสงครามความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่ต้องการจะบ่งชี้ว่า เมื่อสภาพการณ์เปลี่ยนไป การใช้วิธีการเดิมแบบที่ผ่านๆ มาจะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น
นิตยสาร Economist ฉบับวันที่ 20-26 ตุลาคม 2018 ก็กล่าวว่า กลยุทธ์ของตะวันตก จะต้องปล่อยให้จีนมีพื้นที่ที่จะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอย่างสันติ โดยยอมรับพื้นที่ที่เป็นแกนผลประโยชน์ของจีน สหรัฐฯ มีสินทรัพย์อย่างหนึ่งที่จีนไม่มี คือพันธมิตรที่สามารถนำมาใช้กดดันจีนให้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น คือ จีนกับสหรัฐฯ กลายมาเป็นคู่แข่ง แต่ที่หลีกเลี่ยงได้คือ การแข่งขันไม่จำเป็นต้องนำไปสู่สงคราม
เอกสารประกอบ
Here’s How Fast China’s Economy Is Catching Up to the US, Bloomberg.com, May 24, 2018.
The Economist, 20-26 October 2018.
The Land That Failed to Fail, The New York Times, 18 November 2018.
Destined for War, Graham Allison, Houghton Mifflin Harcourt, 2017.