ThaiPublica > เกาะกระแส > “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” โหมโรงเศรษฐกิจไทย 2562 ชวนจับตา “เศรษฐกิจโลกชะลอ – ดอกเบี้ยขึ้นสวนทาง – สงครามการค้า”

“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” โหมโรงเศรษฐกิจไทย 2562 ชวนจับตา “เศรษฐกิจโลกชะลอ – ดอกเบี้ยขึ้นสวนทาง – สงครามการค้า”

29 พฤศจิกายน 2018


ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561  กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จัดกิจกรรม “ล่องเจ้าพระยา ใคร่ครวญอนาคตประเทศไทย” มีคณะผู้บริหารร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชน โดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “โหมโรง 2019 เศรษฐกิจเราจะไปทางไหน” ว่า

ดร.พิพัฒน์เกริ่มนำก่อนว่า “เมื่อสักครู่ฟัง “คุณบรรยง พงษ์พานิช”พูดแล้วนึกถึงคำที่ ดร.อนุชิต [อนุชิตานุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)] เล่าให้ฟังว่า ปัญหาเมืองไทยคือ แก่ เจ็บ จบ คนน้อย ด้อยศึกษา ปัญหาเหลื่อมล้ำสูง คุณบรรยงก็ไล่มาเกือบหมดแล้วเราก็ได้เห็นประเด็นปัญหาอนาคตประเทศที่ค่อนข้างน่าใคร่ครวญอยู่พอสมควร วันนี้ผมก็ขออนุญาตมองภาพใกล้ขึ้นมาสัก 3 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ประเด็นอะไรบ้างที่น่าจะเกี่ยวข้อง น่าสนใจ น่าติดตามกับเศรษฐกิจในช่วงปีนี้ปีหน้า  ประเด็นที่ 2 คือ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงถัดไปจะเป็นอย่างไร และประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาวขึ้นบ้างเล็กน้อย”

จับตา “เศรษฐกิจโลกชะลอ-ดอกเบี้ยขึ้นสวนทาง-สงครามการค้า”

ประเด็นแรก คือ เรื่องที่น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คิดว่าน่าจะมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ข้างนอก เรื่องแรก เราเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะผ่านจุดที่ดีที่สุดไปแล้ว ต้นปีที่แล้วเราพูดถึงการกลับมาเติบโตอย่างพร้อมเพรียงของเศรษฐกิจต่างๆ ในโลก หรือ syncronized recovery หรือ syncronized growth เราเห็นหลายประเทศฟื้นตัวกลับมาพร้อมกัน กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่กลับมาดีพร้อมๆ กัน ผ่านไปไม่นานสักครึ่งปี ตอนนี้เรากลับมาใช้คำว่า syncronized slowdown อีกแล้ว ฉีกตัวออกไปอีกด้านเลยว่าเราเริ่มเห็นเศรษฐกิจเกือบทุกประเทศหมุนช้าลง เติบโตช้าลง

แล้วปัญหาสำคัญเมื่อเศรษฐกิจหมุนช้าลงคือการค้าโลกและการส่งผ่านข้อดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันทำให้อานิสงส์ของการที่ทุกคนดีพร้อมๆ กันมันเริ่มจะชะลอตัว เราเริ่มเห็นการส่งออกของหลายประเทศแถวเอเชียชะลอพร้อมกันหมด ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เราดูตัวเลขดัชนีผู้จัดการซื้อ หรือ Puchaser Manager Index (PMI) ซึ่งคนส่วนใหญ่ใช้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เริ่มชะลอพร้อมๆ กัน จากที่เดิมดัชนีเคยเกิน 50 หมดคือทุกประเทศโตพร้อมกัน ตอนนี้ทุกประเทศลงมาใกล้ๆ ปริ่มๆ เติบโตช้า

“อาจจะเหลือสหรัฐอเมริกาที่เดียวที่วันนี้เศรษฐกิจยังเติบโตพีคอยู่ แต่ว่าตอนนี้คนเริ่มพูดกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะมีแนวโน้มค่อยๆ ชะลอเหมือนกัน วันนี้อาจจะยังเห็นอัตราว่างงานของสหรัฐอเมริกาอยู่ 3.7-3.8% ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1949 ต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แต่ก็เห็นสัญญาณว่ามันเริ่มอ่อนตัวลง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวเป็นระยะเวลานานจนอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้องปรับตัวสูงขึ้น อาจจะเห็นผลกระทบตลาดบ้าน ราคาบ้านชะลอลง ดังนั้น เศรษฐกิจมันเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว”

อันนี้คือเรื่องแรก ภาพที่เห็นข้างนอกอาจจะไม่ได้สวยหรูแบบเมื่อปลายปีที่แล้วหรือต้นปี 2561 พอเราเริ่มเข้าสู่ปี 2562 เราจะเข้าไปด้วยบรรยากาศของการชะลอตัวลง หลายคนตั้งคำถามไปถึงว่าจะมีการถดถอยทางเศรษฐกิจอีกหรือไม่ หลายคนเริ่มมองว่าในปี 2563 อาจจะมีโอกาสเกิดอีก เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มมองข้ามไปแล้ว มองข้ามปี 2563 ไปแล้ว เพราะในการคาดการณ์ส่วนใหญ่มองว่าปีหน้าอาจจะชะลอตัวแต่ยังไม่ถึงกับถดถอย แต่จะมีหรือไม่ก็ต้องรอดูต่อไป

ประเด็นที่สอง คือ เราเริ่มเห็นอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ซึ่งมันแปลกดีเหมือนกันว่าทำไม่เรามาเจอดอกเบี้ยขาขึ้นในบรรยากาศที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่เริ่มชะลอตัวลง อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังดีอยู่มาก อัตราการว่างงานยังต่ำ เงินเฟ้อเริ่มไต่ขึ้นมา เขาต้องอาศัยโอกาสที่จะเริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายกลับไปภาวะปกติ แต่ปัญหาคือว่าคำว่า “ปกติ” ของเขามันหมายถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกค่อนข้างมากในอีก 12 เดือนข้างหน้า เรากำลังพูดถึงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ระหว่าง 3-5 ครั้ง คือจะขึ้นอีก 0.75-1.25% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเขาอยู่ที่ 2% กว่าๆ แปลว่าอีก 12 เดือนข้างหน้าถ้าเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์และระบบธนาคารสหรัฐฯ หรือเฟด คาดการณ์ เราจะเห็นดอกเบี้ยระยะสั้นในสกุลดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปอยู่ที่ 3% มากกว่า 2% ตอนนี้

แล้วมันเป็นปัญหาอะไร อย่างแรก มันจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกที่พึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มตึงขึ้นในแง่ของสภาพคล่อง และใครที่กู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมากๆ ต้นทุนการกู้ยืมจะแพงขึ้น เราจะเริ่มเห็นอาการออกว่าความผันผวนของการไหลเข้าออกของเงินทุนเริ่มเป็นประเด็นในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเกิดใหม่ที่มีปัจจัยพื้นฐานไม่ค่อยดีเท่าไหร่ กลายเป็นความเสี่ยงที่ประเทศหลายประเทศเริ่มกังวล ถ้าเราลองเริ่มนึกภาพดูว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดขึ้นไป 3% กว่า ความน่าสนใจของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐก็จะมากขึ้น สมัยก่อนที่ทำคิวอีกันมากๆ สภาพคล่องหลายส่วนมันไหลมาที่ประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย วันนี้คำถามคือมันจะไหลกลับหรือไม่ เป็นความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดความผันผวนของค่าเงินทั้งในแง่ของค่าเงิน สภาพคล่อง ปริมาณเงินที่ไหลอยู่ในระบบ และต้นทุนทางการเงิน

แต่ว่าอาจจะมีหลายประเทศ เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น ที่ยังคงทำคิวอีอยู่ในปัจจุบัน อาจจะเหลือ 2 ประเทศที่ทำอยู่ 2 ประเทศนี้ก็ทำมานานมากแล้ว สหรัฐอเมริกาจะเลิกทำแล้ว เปลี่ยนจากคิวอี หรือ quantitative easing เป็น quantitative tightening แล้ว คือเริ่มลดงบดุลของเฟด แต่ยุโรปยังคงทำและอาจจะต้องทำต่อไปอีกสักพัก ซึ่งก็มีปัญหาอีกว่าเขาก็ไม่สามารถทำไปได้ตลอดเวลา เขาเริ่มประกาศแล้วว่าปลายปีนี้คงต้องเลิก อันนี้คนก็มองข้ามไปว่าดอกเบี้ยจะขึ้นด้วยหรือไม่

ประเด็นที่สาม คือ เรื่องสงครามการค้าที่จะมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก หลายคนถามว่าตกลงสหรัฐอเมริกาคุยกับจีนรู้เรื่องหรือไม่ วันเสาร์อาทิตย์ที่จะถึงนี้ควรจะติดตามการประชุมที่เรียกว่าคนติดตามมากที่สุดในโลกครั้งหนึ่ง คือการประชุมสุดยอดผู้นำโลก 20 ประเทศ หรือประชุม G20 ที่อาร์เจนตินา ที่ผมว่าปกติคนไม่ค่อยดูเท่าไหร่ แต่ครั้งนี้จะมีคนมาขโมยซีนคือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเจอกับสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่เป็นมวยรุ่นใหญ่ คนก็คงเลิกดูการประชุมทั่วไป คงมาจับตาดูนัดนี้แทน

ปัญหามันคือว่ามันมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมากว่าทรัมป์จะทำอะไร? ถ้าเราฟังสิ่งที่พูดที่ทำที่อยากจะทำ แล้วถ้าฟังดูเจ้าหน้าที่ของเขาแต่ละคน ภาพมันไม่ค่อยชัดเจนเลย ถ้ายังจำได้ Steven Mnuchin รัฐมนตรีกระทรวงการคลังไปตกลงกับจีนแล้วรอบหนึ่ง แต่พอกลับมาสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ยกเลิกหมดเลยบอกว่าที่ตกลงไปล้อเล่น ทำเอาจีนโกรธมาก วันนี้ก็ยังนั่งคุยกันอยู่

แล้วการที่สหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน จริงๆแล้วมันเป็นยุทธศาสตร์หรือคุยกันใน 3 เรื่องใหญ่ อันแรกมันคือเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เพราะการขึ้นภาษีทำให้ของที่ผลิตในอีกประเทศหนึ่งและนำเข้ากลับมาในประเทศแพงขึ้น ทำให้ความน่าสนใจของการผลิตในประเทศนั้นคือจีนน้อยลง โดยจุดมุ่งหมายเขาคือว่าใครก็ตามที่ผลิตอะไรก็ตามอยู่ในจีนต้องย้ายฐานการผลิตกลับมาสหรัฐอเมริกา เพื่อ Make America Great Again อันนี้เป็นประเด็นเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าเราดูสหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับจีนปีละ 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกานำเข้าจากจีนปีละ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนนำเข้าเพียงแค่ 100,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง ดังนั้น สหรัฐอเมริกามองว่าการขาดดุลการค้ามากๆ เป็นประเด็นว่าเขาเสียหายทางเศรษฐกิจ

แต่ปัญหาคือว่า การแก้ปัญหาขาดดุลการค้าและความเสียหายทางเศรษฐกิจด้วยการขึ้นภาษีมันก็เป็นการยิงตัวเองด้วยเหมือนกัน ลองนึกดูว่าไอโฟนตอนนี้ออกแบบในแคลิฟอร์เนียก็จริง แต่มันไปประกอบในจีนหมดเลย ถ้าไอโฟนโดนภาษี ใครจะซวยก็คือคนที่ซื้อ ดังนั้นกลายเป็นว่าต้นทุนในการซื้อของของผู้บริโภคหรือแม้แต่การผลิตอื่นๆ ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาจะเสียความสามารถในการแข่งขันไปโดยปริยาย ในแง่ของเศรษฐกิจมันก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ที่ใครจะทำสงครามการค้ากัน

อันที่ 2 มันมีแง่มุมอื่นอย่างปัญหาการเมืองที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งมา ส่วนหนึ่งเพราะว่าเขาชูปัญหาตรงนี้ แล้วยิ่งด่าจีนเท่าไหร่ความนิยมมันก็ขึ้นเท่านั้น แต่คนลืมไปว่ามันมีต้นทุนเกิดขึ้น คือความจริงที่ว่าเขาต้องจ่ายเงินมากขึ้น ความจริงว่าความสามารถในการแข่งขันจะน้อยลง หลายที่เริ่มบอกว่าถ้าจะทะเลาะกันนานๆ เขาจะเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะถ้าเขาจะเอาไปขายที่อื่น ตลาดจีนก็ไม่ได้เล็ก

นี่เป็นเรื่องกลยุทธ์ระยะยาว เพราะแน่ๆ เลยที่สหรัฐอเมริกาคงทนไม่ได้ที่จะเห็นจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับ 2 และก้าวข้ามสหรัฐอเมริกาในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วยประชาชนพันล้านคน เทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ 300-400 ล้านคน ดังนั้น ถ้าจีนเติบโตแบบนี้ไปเรื่อยๆ รับรองแซงแน่ๆ วันนี้สิ่งที่สหรัฐอเมริการู้สึกว่าจีนเอาเปรียบมากที่สุดคือเรื่องของเทคโนโลยี เพราะลองนึกภาพว่าไอโฟนใช้กัน 20,000 บาท 40,000 บาท จีนมาแป๊บเดียว เสี่ยวมี่ หัวเว่ย เครื่องละ 4,000 บาท ทำได้เหมือนกันเกือบทุกอย่างเลย เพราะว่าต้นทุนการลอกและพัฒนาถูกกว่าวิจัยและพัฒนามหาศาล สหรัฐอเมริกาก็มองว่าไม่ยุติธรรมและต้องการให้การค้ายุติธรรมมากขึ้น จีนก็ออกนโยบาย Made in China 2025 ที่ต้องการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง แต่มันก็ไม่ง่ายนัก

ประเด็นที่เป็นปัญหาทุกวันนี้และอาจจะเกิดขึ้นไปข้างหน้าด้วยคือความตึงเครียดที่จะเปลี่ยนจากสงครามการค้าเป็นสงครามเย็น คือไม่ได้รบกันซะทีเดียวแต่มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปัญหาอันสุดท้ายที่ทำให้โครงสร้างห่วงโซ่การผลิตของทั้งโลกอาจจะถูกปั่นป่วนไปได้ วันนี้ทุกคนตั้งโรงงานในจีนแล้วส่งออกไปสหรัฐอเมริกา วันนี้ต้องคิดหนักแล้วว่าจะทำอย่างไรกับโรงงานดี จะส่งกลับมาก็ไม่ได้ถ้าโดนภาษี แต่จะย้ายโรงงานก็ไม่รู้ ถ้าเกิดวันเสาร์นี้คุยกันรู้เรื่อง ยกเลิกหมด แล้วจะย้ายไปทำไม

วันนี้คำว่าความไม่แน่นอนทำให้การตัดสินใจต่างๆ มันคิดลำบาก มันก็กระทบกันหมดเป็นลูกโซ่ และหลายคนคิดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ค่อนข้างสำคัญกับเศรษฐกิจโลก แล้วยิ่งทะเลาะกันหนักขึ้น มูลค่าการค้าหายไป ยิ่งทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกวางแผนได้ยากขึ้น การเติบโตต่างๆ คนก็คาดการณ์ได้ยากลำบากมากขึ้น เหล่านี้เป็น 3 ประเด็นข้างนอกประเทศที่ต้องจับตาดู นอกเหนือไปจากประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่เราต้องติดตามกันตลอด ไม่ว่าจะเรื่องเกาหลีเหนือจะเลิกทำนิวเคลียร์หรือไม่ ปีหน้ากลับมาอีกหรือไม่ หรือทางซาอุดีอาระเบียจะทำอะไรกับเรื่องราคาน้ำมันอีกหรือไม่ อาจจะมีเรื่องการเมืองอย่างการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ก็อาจจะมีผลกระทบได้ค่อนข้างมาก

เศรษฐกิจไทย 2562 ชะลอกลับสู่ศักยภาพ 3%

กลับมาดูเมืองไทยว่าจะเป็นอย่างไร เรามองว่าหลังจากครึ่งปีแรกที่เติบโตได้ 4.8% แล้วในไตรมาสแรกที่โตไป 4.9% เป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดในรอบหลายปีหลังจากติดหล่มทางเศรษฐกิจมา ไตรมาส 3 ของปี 2561 เหลือ 3.3% ทำให้ 9 เดือนแรกเติบโตได้ 4.3% ทั้งปีที่เหลือก็มองว่าจะเติบโตได้ 4% ต้นๆ แต่เราเชื่อว่าโมเมนตัมกำลังจะบอกเราว่าเศรษฐกิจปีหน้าน่าจะเติบโตช้าลง แต่อาจจะยังไม่ใช่การถดถอยทางเศรษฐกิจขนาดนั้น

ทำไมเราคิดว่ามันจะเติบโตช้าลง เพราะว่าเครื่องยนต์ในการเติบโต หรืออะไรที่เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในปีนี้มันเริ่มหายไป ต้นปีเรามีคำใหญ่ที่ใช้คือแข็งนอกอ่อนใน คือการเติบโตมาจากภายนอกหมดเลย ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่ภายในยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตอนต้นปีก็มีคำว่าแข็งบนอ่อนล่าง คือเราเริ่มเห็นการฟื้นตัว แต่ฟื้นตัวของคนกลุ่มบนเป็นการบริโภคสินค้าคงทนอย่างรถยนต์ ส่วนการบริโภคสินค้าไม่คงทน อาหารเครื่องดื่มทั่วไปไม่ค่อยเติบโต ติดลบอีกต่างหาก บ่งบองปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจจะมีอยู่ เรายังเห็นประเด็นพวกราคาสินค้าเกษตร การบริโภคของต่างจังหวัด ที่บอกว่าเคยดีกว่านี้ มันดีขึ้นแต่ไม่ได้ดีขนาดนั้น

พอมาดูไตรมาส 3 เราก็เห็นว่า ที่พูดมาทั้งหมด เครื่องยนต์การเติบโตอย่างการส่งออกและท่องเที่ยวแค่ชะลอและติดลบไปแค่เดือนกันยายนเดือนเดียว เราเห็นจีดีพีชะลอลงมาเร็วมาก ปัญหาคือว่า contribution to growth หรือสิ่งที่การส่งออกและท่องเที่ยวดันจีดีพีให้เติบโตมันเป็นสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ ลองนึกภาพของการท่องเที่ยววันนี้คิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพีทั้งหมด ที่ผ่านมาเติบโต 10% ถ้าคูณเอาง่ายๆ คือว่าถ้าการท่องเที่ยวไม่เติบโตเลย จีดีพีจะหายไปประมาณ 1% กว่าๆ นั่นคือสิ่งเราเห็นชัดเจนในไตรมาสที่ 3 เลย คือการท่องเที่ยวหยุดเติบโตแล้วจีดีพีจากที่เคยเติบโต 4% กว่ามาเหลือ 3% กว่า

การส่งออกเหมือนกัน คิดเป็นประมาณ 70% ของจีดีพี ถ้าหักการนำเข้าไปสักครึ่งหนึ่งแสดงกว่ามีความสำคัญ 20-30% ของจีดีพี แล้วเติบโตปีที่แล้วประมาณ 8-9% แต่ปีหน้าด้วยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า เราเชื่อว่าคงไม่ได้เห็น 8-10% อย่างที่เคยเห็น อาจจะลดลงมา 5-6% แต่สังเกตว่าเครื่องยนต์ต่างๆ มันเติบโตช้าลง ดังนั้น ความสำคัญของการท่องเที่ยวและการส่งออกมีความสำคัญค่อนข้างมาก

คำถามที่จะเป็นภาระของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคือว่าใครจะมาเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่จะมาดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากขึ้นอย่างที่เห็นในปีนี้ คำตอบตอนนี้ก็ยังหาไม่ค่อยเจอ อย่างการบริโภคภายในประเทศ ตอนนี้เติบโตจาก 3% กว่าเป็น 5% ในไตรมาสล่าสุด แต่ถ้าดูไส้ใน 1% กว่าของการบริโภคมาจากการขายรถยนต์อย่างเดียว ไตรมาสที่สามเติบโตไป 18% เทียบกับปีก่อนหน้า ไม่รู้ว่าใครซื้อไปเหมือนกันนะ แต่ว่าเติบโตไปขนาดนั้น เราก็เห็นเป็นวัฏจักรที่ค่อนข้างยาวนาน เพราะมันติดลบมาตลอดหลายปี เพิ่งจะมาฟื้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แล้วฟื้นค่อนข้างเร็ว แต่อาจจะมีประเด็นว่ายอดขายลงบัญชีไปแล้วมันถึงมือคนซื้อหรือไม่ ก็ต้องติดตามดูต่อไป ปัญหาคือเราก็ไม่เชื่อว่ายอดขายรถยนต์มันจะเติบโตได้แบบนี้ไปเรื่อยๆ ดังนั้น เครื่องยนต์นี้ก็อาจจะอ่อนตัวลงไปอีกเหมือนกัน

มันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรามองว่าจีดีพี 4% ในปีนี้จะลดลงเหลือ 3% ปลายๆ ในปีหน้า ซึ่งเข้าใกล้กับสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าเป็นศักยภาพของไทยที่ไม่น่าจะใช่ 4% อีกแล้ว เราก็เชื่อว่าน่าจะเป็นการอ่อนตัวลงไปแบบนั้น ภาพรวมอาจจะไม่ได้แย่มาก แต่คงแย่กว่าปีนี้ หลายคนก็บอกว่าปีนี้ดีแล้วหรือ เศรษฐกิจยังไม่ดีเลยปีนี้

ติดตามความเสี่ยง-โอกาสในปีหน้า

ถามว่าปัจจัยเสี่ยงคืออะไร ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาดูมากเลยคือเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่แย่ต่อเนื่อง แม้ว่าเราเห็นรายได้เกษตรกรเป็นบวก แต่เป็นเพราะปริมาณการผลิตมันเพิ่ม แต่ราคามันลดลงต่อเนื่องหลายเดือนติดต่อกัน เราก็เห็นคนออกมาบ่นมากขึ้น ราคายางพารา ราคามันสำปะหลัง ราคาอ้อย ทำให้การบริโภคต่างจังหวัดอาจจะไม่ได้หวือหวามาก และอาจจะทำให้ฐานการบริโภคของไทยไม่ได้รู้สึกดีขึ้น เพราะว่าการกระจุกตัวของการฟื้นตัวมันอยู่แค่บางกลุ่ม

ประเด็นที่สอง ที่เป็นความเสี่ยงของไทยคือเศรษฐกิจภายนอก ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอมากกว่าที่คิด ถ้าเกิดส่งออกแย่กว่าที่คาด ถ้านักท่องเที่ยวไม่มา แล้วสิ่งที่ต้องติดตามมากๆ คือจีน ถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลไป ท่องเที่ยวที่เราเห็นอาจจะแย่ไปมากกว่านี้หรือไม่ หรือมีปัญหาอะไรต้องลดค่าเงินหยวน ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร หรือถ้าเขามีปัญหามากๆ จนเริ่มแตะเบรกไม่ให้คนออกมาท่องเที่ยว เพราะวันนี้เงินที่ไหลออกของจีนก้อนใหญ่สุดอันหนึ่งคือเอามาท่องเที่ยว ถ้าเกิดเขาเริ่มหยุดตรงนั้นก็อาจจะมากระทบเราเหมือนกัน

ประเด็นที่สาม คือ การเมืองของไทย ว่าจะเปลี่ยนผ่านได้สงบเรียบร้อยหรือไม่ ความมั่นใจเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการลงทุนของเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นได้หรือไม่

ส่วนปัจจัยด้านบวกของไทยคืออะไร เราอาจจะพูดถึงการลงทุนว่ามาแน่ๆ การเลือกตั้งจะมาแล้ว อีอีซี จะเดินหน้าแล้ว แต่ต้องระวังว่าการลงทุนอย่างอีอีซีอาจจะยังไม่เห็นเม็ดเงินจนกระทั้ง 1-2 ปีข้างหน้า กว่าจะเริ่มประมูลได้ เริ่มทำอะไรได้ การลงทุนตอกเข็มจริงๆ เงินที่ลงทุนกว่าจะเข้าเศรษฐกิจอาจจะอีกนาน วันนี้ก็มีคนถามว่าเวลามีสงครามการค้ามันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อเสียคือเราอาจจะไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่ถูกปั่นป่วน แต่มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า trade diversion คือการที่เขาไม่ค้าขายกันก็หันมาค้าขายกับเราแทนก็ได้ และมันก็มีผลกระทบทางลบที่ไทยอาจจะถูกทุ่มตลาดด้วยราคาลงมา เพราะเขาขายกันไม่ได้ก็เอาสินค้ามาระบายที่ไทย

อีกอันที่คนตั้งหน้าตั้งตารอคือการจัดสรรทรัพยากรหรือการตั้งโรงงานใหม่ คือถามว่าถ้าสหรัฐอเมริกาไม่นำเข้าสินค้าจีน นักลงทุนไต้หวัน สหรัฐอเมริกา หรือจีนเองที่มีโรงงานในจีนแล้วส่งไปขาย มีสิทธิหรือไม่จะย้ายมาที่อาเซียนมาไทยที่ต้นทุนการผลิตถูกกว่าและอาจจะไม่โดนภาษีจากสหรัฐอเมริกา เราก็รอดูตัวเลขอยู่ แต่พอความไม่แน่นอนมันสูง คนก็ไม่กล้าตัดสินใจ คนที่ย้ายอาจจะเป็นกลุ่มที่มีโรงงานอยู่แล้วทั้ง 2 ที่แล้วย้ายการผลิตหรือเพิ่มประเภทการผลิตเข้ามา แต่เราก็ยังไม่เห็นตัวเลขชัดเจน ซึ่งมันอาจจะเป็นโอกาสได้ถ้าเรามีความน่าสนใจจริงๆ แต่คนก็เริ่มบอกอีกว่าเวียดนามจะน่าสนใจมากกว่าหรือไม่ หรือไทยจะสามารถจะไปผลิตทดแทนจีนได้หรือไม่

คาด กนง. ฉวยโอกาสเศรษฐกิจยังดีขึ้นดอกเบี้ย

ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อไปถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทยว่าเป็นเรื่องน่าสนใจว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทำอย่างไร เพราะสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะขึ้นอีก 3-5 ครั้ง แต่เมืองไทยเราเชื่อว่าด้วยการเติบโตที่อาจจะไม่ได้ดีมาก อ่อนตัวลงมา เงินเฟ้อที่แทบจะไม่ได้มี ตอนนี้อยู่ที่ 1% เท่านั้น เราก็เชื่อว่าโอกาสที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอาจจะมีไม่มาก ถ้าอ่านรายงานการประชุมจะเห็นว่าความเสี่ยงมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลออกมาคงดอกเบี้ย 4 ต่อ 3 ก็อาจจะงงๆ ว่าจะขึ้นหรือไม่

แต่เรื่องหนึ่งคือ กนง. กังวลเรื่องของเสถียรภาพการเงินค่อนข้างมาก แสดงความกังวลมาตลอด เราจึงเชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่การเติบโตของเศรษฐกิจยังพอไปได้ คือดีกว่าสิ่งที่ กนง. เชื่อว่าเป็นศักยภาพของไทย คืออยู่แถวๆ 3.5-4% ไม่ได้แย่มาก กนง. ก็น่าจะอยากขึ้นดอกเบี้ย เราเชื่อว่ามีโอกาสค่อนข้างมากที่การประชุมครั้งสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคมจะขึ้นดอกเบี้ยและในปีหน้าอาจจะมีโอกาสขึ้นอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะมีส่วนต่างดอกเบี้ยค่อนข้างมาก และมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายได้มาก

มองไปข้างหน้า – ต้องเร่งหา “เครื่องยนต์-วัตถุดิบ” ใหม่

ดร.พิพัฒน์กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายเรื่องประเทศไทยจะไปทางไหนว่ามีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรก คือ ภาวะประชากรที่จะลดลงในอนาคต ดังนั้นการเติบโตของทั้งประเทศก็เติบโตไม่ได้ ถ้าเรามองประเทศเป็นเครื่องจักรเครื่องหนึ่งที่ใส่วัตถุดิบเข้าไปคือแรงงานกับทุน เครื่องจักรนี้จะมีวัตถุดิบน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะจากวันนี้ประชากรวัยทำงานเราจะลดลง ไม่ใช่เติบโตช้าด้วย ดังนั้น ถ้าเราทำงานไปแบบเดิม ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์แบบเดิม การเติบโตก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ เหมือนที่เราเห็นว่าเราเคยเติบโตจาก 7% มาเหลือ 5% มาเหลือ 3% ส่วนหนึ่งเพราะวัตถุดิบที่ใส่ไปน้อยลง แล้วที่ใส่ลงไปก็มีปัญหาด้านคุณภาพอีก แล้วเราจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ ก็ต้องลดบทบาทของรัฐ และทำให้การใช้ทรัพยากรมีคุณค่ามีประโยชน์มากขึ้น

ประเด็นที่สองที่เป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทย คือ เรื่องเทคโนโลยี เรากำลังเข้าสู่บรรยากาศที่เศรษฐกิจทั่วโลกพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งรูปแบบธุรกิจและรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่คำถามคือเรามีทรัพยากร เรามีความพร้อมในแง่ของสถาบัน ในแง่ของคุณภาพของคน เพียงพอหรือไม่ ก็ต้องทิ้งเอาไว้เป็นประเด็นที่บอกว่าเป็นความท้าทายที่หนักอยู่ในประเทศไทย