ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > Blockchain กับการสร้างความโปร่งใส พลิกโฉมหน้าการขับเคลื่อนความยุติธรรมสู่มือประชาชน

Blockchain กับการสร้างความโปร่งใส พลิกโฉมหน้าการขับเคลื่อนความยุติธรรมสู่มือประชาชน

1 พฤศจิกายน 2018


ข่าวประชาสัมพันธ์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ ChangeFusion และภาคีเครือข่าย จัดงาน Roundtable on Technology for Justice Series (Project j : jX Justice Experiment) ในหัวข้อ “เทคโนโลยี Blockchain เพื่อความโปร่งใสและความรับผิดชอบ” เพื่อแก้ปัญหาเก่า ๆ ด้วยวิธีใหม่ ผ่านเทคโนโลยีอย่าง Blockchain ที่สามารถประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยประชาชน หวังให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและยกระดับความยุติธรรมได้โดยไม่ต้องรอพึ่งระบบยุติธรรมของรัฐเพียงอย่างเดียว

กิจกรรมเวทีเสวนาเป็นกิจกรรมแรกในโครงการใหม่ของ TIJ ชื่อว่า Project j ที่มุ่งสร้างแพลทฟอร์ม “j Experiment” หรือ “jX” จะเป็นพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรมผ่านเทคโนโลยี เน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นของ TIJ ว่าการแก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรม จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายเห็นความสำคัญ เข้าใจรากของปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วม

ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในงาน “เทคโนโลยี Blockchain เพื่อความโปร่งใสและความรับผิดชอบ” ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญได้แก่ นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด และ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Hands Social Enterprise และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย และนายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส TDRI

ในช่วงเปิดการเสวนา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความโปร่งใสนำมาซึ่งแสงสว่าง และแสงสว่างก็คือตำรวจที่ดีที่สุด blockchian เองก็เป็นเหมือนไฟฉาย ช่วยส่องสว่างให้เห็นและสามารถตรวจสอบได้ เรื่องนี้ดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ ยากที่สุด ไม่มีใครอยากถูกแสงสว่างส่อง แต่เราต้องไม่ท้อ ต้องช่วยกันต่อไป พลังที่สำคัญคือพลังการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยติดตามและตรวจสอบ สร้างความโปร่งใส ให้คนเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยไม่ต้องรอภาครัฐเพียงอย่างเดียว”

จุดเด่นของบล็อกเชน อยู่ที่การเก็บบันทึกข้อมูลดิจิทัลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการยืนยันความถูกต้อง และหากมีการแก้ไข ก็จะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าปรับแก้จากส่วนไหนและแก้ไขอะไรบ้าง ด้วยคุณสมบัตินี้ ข้อมูลบนบล็อกเชนจึงสามารถนำมาเปิดเผยเป็น Open data ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกแก้ไขข้อมูล จนเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติว่าข้อมูลบนบล็อกเชนจะปลอดภัย โปร่งใส ปลอมแปลงได้ยาก และตรวจสอบได้

จากกรณีศึกษา หลายประเทศมีการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้อุดช่องว่าง พัฒนาระบบ และแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิและผลประโยชน์สาธารณะ เช่น ประเทศเอสโตเนียได้นำการใช้ Blockchain มาจัดการข้อมูลบัตรประชาชนและการเข้าถึงสิทธิพลเมืองทั้งระบบ หรือประเทศเกาหลีใต้ที่กำลังลงทุนใช้ Blockchain ในการจัดการเลือกตั้ง ในส่วนหน่วยงานบรรเทาทุกข์ UNHCR ได้ใช้ Blockchain ในการบันทึกข้อมูลตัวตนผู้อพยพ และเป็นกลไกออกเงินตราดิจิทัลเพื่อให้ผู้อพยพสามารถซื้อของใช้ที่จำเป็นและได้รับปันส่วนอาหาร ส่วนในภาคเอกชน อุตสาหกรรมเพชรได้ใช้ Blockchain ในการบันทึกและตรวจสอบที่มาของเพชรในทุกขั้นตอน เพื่อยืนยันความถูกต้องของเพชรและความโปร่งใสในการใช้แรงงาน และในกระบวนการยุติธรรมในประเทศอังกฤษ ก็เริ่มมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการจัดเก็บหลักฐานแบบดิจิทัล เพื่อลดความเสี่ยงหลักฐานถูกปลอมแปลง และเพื่อความสะดวกในการใช้และต่อยอดไปยังระบบ AI ได้อีกด้วย

นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด กล่าวว่า “Blockchain เป็นเครื่องมือที่ดีมาก ในการสร้างความน่าเชื่อถือระหว่างกันให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ใช้งานข้อมูลนั้น ๆ ร่วมกัน และข้อมูลนั้นมีความต่อเนื่อง เช่น ความเป็นไปในอดีตส่งผลต่อความเป็นไปในปัจจุบันและอนาคต”

ในขณะที่ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองหาแง่มุมการใช้ประโยชน์จาก Blockchain ว่า “เราต้องมาพิจารณาว่าจะนำคุณลักษณะของ Blockchain มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ในการต่อต้านการคอร์รัปชันโดยตอบโจทย์ 3P คือ ช่วยให้รัฐเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของประชาชน (people) ช่วยให้เกิดการส่งเสริมการทำงานและสร้างพลังให้กับกลุ่มองค์กรและหน่วยงาน (professionals) ที่ต่อต้านคอร์รัปชัน และช่วยสร้างแพลทฟอร์ม (platform) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถต่อต้านการคอร์รัปชันได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน”

ทางด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ยกตัวอย่างการใช้ Blockchain ที่น่าสนใจจากหลายประเทศด้วยกัน อาทิ สิงคโปร์ นำ Blockchain มาใช้ในระบบราชการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดราคากลาง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ส่วนประเทศอังกฤษ ทางกรมตำรวจนำระบบ Blockchain มาใช้ ตั้งแต่รับแจ้งความ สอบสวน ไปจนถึงชั้นศาล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลและลดการใช้กระดาษ เป็นต้น

นอกจากนี้ Blockchain ยังอาจนำมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพแก่หน่วยงานและองค์กร
ต่าง ๆ ได้ เช่น การเก็บข้อมูลของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวเนื่องกับหลากหลายประเด็น ทั้งที่มาของสินค้าและแรงงาน อย่างอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมปาล์ม และอุตสาหกรรมยางพารา เป็นต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการติดตามแหล่งที่มา มาตรฐานการใช้แรงงาน ตลอดจนกระบวนการในโรงงานแปรรูป กระทั่งถึงการส่งออกว่าเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดระหว่างประเทศ

กิจกรรมเสวนาหัวข้อ Blockchain for Transparency and Accountability ที่เกิดขึ้น เป็นการเสวนาครั้งแรกในชุดการเสวนา Roundtable on Technology for Justice Series ภายใต้โครงการ Project j : jX Justice Experiment ของ TIJ โดยจะมีการจัดการเสวนาที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาความยุติธรรมในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจภาพรวมของโอกาส และคัดกรองประเด็นและไอเดียใหม่ ที่น่าสนใจเพียงพอ ที่จะนำมาต้นแบบ (Prototype) ที่สามารถนำทดลอง พัฒนาและต่อยอดไปสู่การใช้แก้ไขปัญหาได้จริง พร้อมกับเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือของนักปฏิบัติจากหลากหลายภาคส่วนในสังคม เพื่อนำแนวคิดใหม่ไปขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป