รายงานโดย สุนิสา กาญจนกุล
ระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่วงการไบโอเทคด้านอาหารทั่วโลกมีบรรยากาศคึกคักเป็นพิเศษ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) มีจดหมายแจ้งต่ออิมพอสซิเบิล ฟูดส์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ว่าทางเอฟดีเอไม่มีข้อสงสัยต่อผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความน่าเชื่อถือของอิมพอสซิเบิลเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นเนื้อเทียมที่ผลิตจากถั่วเหลืองและใช้ยีสต์ปรับเปลี่ยนพันธุกรรมให้มีรสชาติคล้ายเนื้อสัตว์
และก่อนหน้านั้นเพียงสิบกว่าวัน เอฟดีเอก็ได้จัดการประชุมสาธารณะเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม เพื่อฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับ “เนื้อเพาะเลี้ยง (cultured meat)” ซึ่งหมายถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาจากสัตว์โดยตรง แต่มาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ของสัตว์ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงมากที่เนื้อเพาะเลี้ยงจะเข้าสู่ตลาดในอีกไม่กี่ปีนี้
จากชิ้นละ 3 แสนเหรียญเหลือ 1 เหรียญ
บริษัทดัตช์ชื่อโมซา มีต ประกาศว่า ทางบริษัทได้รับเงินทุน 7.5 ล้านยูโร เพื่อเร่งทำตามแผนที่จะนำเนื้อเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดในปี 2021 โดยผู้ลงทุนหลักคือ เอ็ม เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของเมิร์ก บริษัทเวชภัณฑ์ในเยอรมนีและและเบล ฟูด บริษัทเนื้อสัตว์แปรรูปในสวิตเซอร์แลนด์
ผลิตภัณฑ์เนื้อเพาะเลี้ยงชนิดแรกที่โมซา มีต คาดหวังว่าจะนำออกสู่ตลาดในปี 2021 ก็คือเนื้อบดสำหรับทำเบอร์เกอร์ และจะเร่งขยายการผลิตให้เป็นแบบอุตสาหกรรมในอีก 2-3 ปีต่อจากนั้น ซึ่งจะทำให้สามารถขายเนื้อเบอร์เกอร์ได้ในราคาชิ้นละ 1 เหรียญโดยประมาณ จากที่เคยมีต้นทุนการผลิตสูงถึงชิ้นละ 330,000 เหรียญ เมื่อปี 2013
ดีต่อสิ่งแวดล้อมและอาจเป็นทางออกของวิกฤติอาหาร
การเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคเนื้อและนม โดยเฉพาะการเลี้ยงวัวนั้นถูกตำหนิมาโดยตลอดว่าส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เพิ่มภาวะความเป็นกรดในดิน น้ำและบรรยากาศ อีกทั้งทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่มีขนาดมโหฬารยังเป็นการใช้ที่ดินและน้ำที่ฟุ่มเฟือยอย่างยิ่ง
นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งจึงเชื่ออย่างจริงจังว่าการงดบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมคือแนวทางสำคัญในการลดผลกระทบที่มีต่อโลก การถือกำเนิดของเนื้อเพาะเลี้ยงจึงอาจช่วยลดผลกระทบเรื่องนี้ได้ เนื่องจากการเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อเพาะเลี้ยงจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ได้อย่างมหาศาล
วิกฤติการณ์เรื่องอาหารขาดแคลนในอนาคตเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงและหวั่นวิตกกันมานาน การผลิตอาหารจากห้องทดลองแทนที่จะผลิตจากฟาร์มเหมือนในอดีตจึงถูกมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะกลายเป็นทางออกเพื่อคลี่คลายความกังวลใจเรื่องนี้ โดยบริษัทผู้ผลิตยืนยันว่าเพียงใช้เซลล์ตัวอย่างจำนวนเล็กน้อยจากสัตว์มีชีวิต ก็สามารถเลี้ยงให้เติบโตขึ้นเป็นเนื้อเยื่อสำหรับทำเบอร์เกอร์ได้มากถึง 8 หมื่นชิ้น
แค่ชื่อก็มีปัญหา
ความท้าทายของการผลิตอาหารจากห้องทดลอง นอกเหนือจากการทำให้มีรูปร่างหน้าตา รสสัมผัสและรสชาติใกล้เคียงกับอาหารจากธรรมชาติมากที่สุด คงจะได้แก่การทำให้ผู้บริโภคยอมรับนั่นเอง
เพียงแค่มีข่าวคราวความคืบหน้าของการเข้าสู่ตลาด ก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างดุเดือดในหลายๆ ประเด็น แค่ชื่อเรียกก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ว่าควรเรียกเนื้อประเภทว่าอะไรกันแน่ “เนื้อเพาะเลี้ยง” “เนื้อสังเคราะห์” “เนื้อหลอดทดลอง” หรือ “เนื้อวิทยาศาสตร์” ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยถึงกับออกปากว่าควรจะตั้งชื่อว่า “เนื้อซอมบี้”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเนื้อเพาะเลี้ยงไม่จำเป็นต้องอาศัยการทำปศุสัตว์ซึ่งเป็นที่รังเกียจของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและกลุ่มต่อต้านการทารุณสัตว์ จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้รักสัตว์ ผู้บริโภคที่งดกินเนื้อเพราะไม่อยากฆ่าสัตว์ หรือผู้รักสุขภาพที่หวาดกลัวการใช้ยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนส์ในการเลี้ยงสัตว์ อาจกลายเป็นหัวหอกสำคัญที่จะช่วยให้เนื้อเพาะเลี้ยงก้าวเข้าสู่ตลาดอาหารอย่างราบรื่นก็เป็นได้
แหล่งข้อมูล:
1. https://www.cbsnews.com/news/mosa-meat-lab-grown-meat-could-be-restaurants-by-2021/
2.https://www.theatlantic.com/science/archive/2018/07/lab-grown-meat/565049/
3.https://qz.com/1383641/the-future-of-food-is-farming-cells-not-cattle/
4. https://www.inverse.com/article/48581-get-ready-for-lab-grown-meat