ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > ไทยเจ้าภาพจัดประชุมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพเอเชียแปซิฟิก ยกระดับ “พลังผู้หญิง” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคมโลกอย่างยั่งยืน

ไทยเจ้าภาพจัดประชุมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพเอเชียแปซิฟิก ยกระดับ “พลังผู้หญิง” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคมโลกอย่างยั่งยืน

31 ตุลาคม 2018


ข่าวประชาสัมพันธ์

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์

30 ตุลาคม-1พฤศจิกายน 2561 สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ หรือ BPW Thailand เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล ปี 2561 หรือ BPW International Asia-Pacific Regional Conference 2018 (APRC 2018) ภายใต้แนวคิด “Empowering Women to Realize Sustainable Development Goals” เพื่อผลักดันให้สตรีทั่วโลกร่วมกันสร้างโอกาสและความก้าวหน้าในทุกมิติที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

BPW International คือใคร?

BPW International (International Federation of Business and Professional Women) หรือสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล  มีประเทศสมาชิกกว่า  95  ประเทศทั่วโลก  ถือเป็นเครือข่ายสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีการรวมตัวกัน  มีพันธกิจในการพัฒนาศักยภาพของสตรีทั่วโลกในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับผู้นำ

นอกจากนี้ยังมีสถานะเป็นที่ปรึกษาขององค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ ค.ศ. 1947 จนได้รับรางวัล Peace Messenger Award จากองค์การสหประชาชาติ

ปัจจุบันประธาน BPW International  คือ ดร.อเมนี่ แอสฟอร์(Dr. Amany  Asfour) จากประเทศอียิปต์ ขณะที่ BPW Thailand เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ BPW International  เมื่อปี 2519 หรือเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว

รู้จัก BPW Thailand

BPW Thailand หรือ สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นองค์กรสตรีภาคเอกชนที่มีสมาคมสมาชิกอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ  ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 มีท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหพันธ์ฯคนแรก โดยได้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ขึ้นในปี 2507 ตามด้วยการก่อตั้งสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสงขลา และเชียงใหม่ ตามลำดับ

ต่อมาในปี 2524  สหพันธ์ฯ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อยู่ภายใต้พระบรมราชินูปถัมภ์ จึงใช้ชื่อว่า สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สหพันธ์ฯ มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการยกระดับนักธุรกิจและนักวิชาชีพหญิงไทยให้ก้าวขึ้นสู่เวทีสากล ซึ่งที่ผ่านมาได้ริเริ่มจัดทำโครงการต่างๆมากมาย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ โครงการนักธุรกิจสตรีตัวอย่างและนักวิชาชีพสตรีตัวอย่างตั้งแต่ปี 2527 หรือจัดตั้งโครงการสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพวัยก้าวหน้า(Young Career Women) ในปี 2536 ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นสตรีวัยก้าวหน้า (Young BPW – Thailand)

โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยมีสมาชิกฝ่ายสตรีวัยก้าวหน้าของสหพันธ์ ถึง 2 คน ได้แก่ ดร. ชนม์ชนก วีรวรรณ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล (BPW International President) และนางสาวฐิตินันท์ วัธนเวคิน ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของสหพันธ์ฯ สากล (Finance Director, BPW International)

ปี 2559 สหพันธ์ฯ ริเริ่มดำเนินโครงการรณรงค์สร้างวินัยทางการเงิน (Happy Money) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ  72 พรรษา 12  สิงหาคม 2559 มีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงการปลูกฝังวินัยทางการเงินตั้งแต่เด็ก ตลอดจนบรรเทาภาระหนี้และเพิ่มเงินออมให้มากขึ้น

โดยดำเนินงานร่วมกับ  5 ภาคีภาครัฐและเอกชนต่อเนื่อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หอการค้าไทย  สมาคมธนาคารไทย และสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปัจจุบันสหพันธ์ฯได้ขยายเครือข่ายสมาคมสมาชิกออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีสมาคมสมาชิก 21 องค์กร

ล่าสุด  BPW Thailand ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระหว่างวันที่  30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2561  มีสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพจากทั่วโลก ราว 500 คน จาก 38 ประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก มาร่วมประชุมที่ประเทศไทย

เหตุผลที่ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asia-Pacific Regional Conference มาแล้ว 2 ครั้งคือเมื่อปี 2537 และ ปี 2544  ที่กรุงเทพฯ  มาปีนี้ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ที่กรุงเทพฯอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล  ประธาน BPW Thailand และประธานคณะกรรมการจัดงานการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับการโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์จากเพื่อนสมาชิก BPW International ให้จัดงานครั้งนี้ เพราะทุกคนชอบเมืองไทย รวมทั้งเห็นถึงความพร้อมและความน่าเชื่อถือจากการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆของ BPW Thailand ในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่สหพันธ์ฯประเทศไทยมีความพร้อมที่จะจัดงานเช่นกัน

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใครๆเรียกร้องเยอะ และทันทีที่เราพร้อม ก็เลยได้จัดงานครั้งนี้ และด้วยความน่าสนใจของประเทศไทยเอง คนก็อยากมา เราจึงเลยได้รับการโหวต”  คุณหญิงณัฐิกา กล่าว

ไทยได้อะไรจากงานนี้

คุณหญิงณัฐิกา บอกว่า การจัดงานครั้งนี้ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นการประชุมระดับนานาชาติ ที่มีการเชิญสปีกเกอร์ต่างชาติที่ประสบความสำเร็จมาให้ข้อคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักธรุกิจไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้และเครือข่ายในการทำงานร่วมกันต่อไป

รวมทั้งยังเป็นเวทีรายงานความก้าวหน้าของนักธุรกิจและวิชาชีพประเทศไทยและสากลว่าได้พัฒนาทำอะไรไปบ้าง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะสหพันธ์ฯต้องการส่งเสริมให้นักธุรกิจรุ่นใหม่มีศักยภาพเพิ่มเติม จากการสัมผัสประสบการณ์จากนานาชาติ

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะได้นำเสนอวัฒนธรรมความเป็นไทยอันหลากหลาย ที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการท่องเที่ยว ให้นานาชาติได้รู้จัก

ที่สำคัญการประชุมครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดการประชุมในช่วงเช้าวันที่  30 ตุลาคม และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษในวันที่  31  ตุลาคม  และในช่วงค่ำของวันที่ 1 พฤศจิกายน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ  เสด็จเป็นประธานในงานกาล่าดินเนอร์

ภายในงานมีการบรรยายและเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้มากมาย  อาทิ การเสวนาหัวข้อ “Women Accelerating toward Sustainable Development Goals In Asia” and  the Pacific”  จาก Amany  Asfour ประธาน BPW International และ ดร. ปรเมธี  วิมลศิริ  ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

การเสวนาในหัวข้อ “Green Growth  Strategies for Better Business and Better World” โดยนางเกศรา มัญชุศรี  อดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ  ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน)

การเสวนาหัวข้อ “Financial  Inclusion for Gender  Equality and Poverty Alleviation” โดยนายมงคล  ลีลาธรรม  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย  (SME Bank) นางสาวฐิตินันท์  วัธนเวคิน รองประธาน BPW Thailand  Ambica  Shrestra  ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพ ประเทศเนปาล และ Masako Hiramatsu ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพ ประเทศญี่ปุ่น

พร้อมกันนี้ยังมีการทำเวิร์กชอป อาทิ Intercultural  Understanding for Business Growth, Interactive Networking Opportunities, How to Dress in Thai Tradition

คุณหญิงณัฐิกากล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ๆ อย่างหลากหลายให้แก่สตรีนักธุรกิจและวิชาชีพในไทยและเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์  ยกระดับศักยภาพและสนับสนุนภาพลักษณ์ของสตรีไทยในภาคธุรกิจไปสู่เวทีระดับสากล ที่สำคัญคือเป็นการรวมพลังและแสดงให้โลกเห็นว่าสตรีสามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนความก้าวหน้าที่สำคัญในระดับสากล และร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“สหพันธ์ฯอยากจะยกระดับผู้หญิงไทยสู่นานาชาติให้มากขึ้น เรามีแนวคิดว่าต้องสร้างพลเมืองของเราให้เป็นพลเมืองของโลก อยากจะทำให้ผู้หญิงในยุคต่อไปสำนึกว่าฉันคือพลเมืองของโลก ต้องไปยืนอยู่บนเวทีนานาชาติ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ซึ่งการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยจะเก็บเกี่ยวโอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด” คุณหญิงณัฐิกากล่าว

พัฒนาผู้หญิงอย่างยั่งยืน ตามรอยพระราชดำริในหลวง ร.9

คุณหญิงณัฐิกา กล่าวว่า การประชุมปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Empowering Women to Realize Sustainable Development Goals” หรือการเสริมพลังสตรีเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะมีการส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆผ่านการบรรยาย การเสวนา และจัดกิจกรรมเวิร์กชอป  เช่น การเห็นคุณค่าในตนเอง ประเมินความก้าวหน้า สร้างแรงจูงใจและวิธีคิดที่ดี ให้ความสำคัญกับแนวทางที่เป็นประโยชน์และยั่งยืน

ทั้งยังรวมถึงการสร้างเครือข่ายและบริการชุมชน รักษาความชอบธรรม สนับสนุนเยาวชนที่จะมารับช่วงต่อ ตลอดจนมุ่งเน้นเรื่องความจงรักภักดี ซึ่งจากแนวคิดนี้เชื่อว่าจะผลักดันให้สตรีทั่วโลกร่วมกันสร้างโอกาส สร้างความก้าวหน้าในกลุ่มผู้หญิง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในทุกมิติอย่างยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม คุณหญิงณัฐิกาเชื่อว่า “ไม่ว่าการพัฒนาผู้หญิงหรือให้ผู้หญิงไปพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ เราจะต้องล้อตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าทุกอย่างจะสัมฤทธิ์ผลได้ต้องมีความยั่งยืน เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามก็ต้องให้คำนึงถึงความยั่งยืนและผลที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนด้วย ไม่ใช่ทำยั่งยืน แต่ผลไม่เกิด ก็คงไม่ได้”