ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชี้ยุคใหม่ของระบบการเงินโลกที่พรมแดนเลือนราง ธนาคารกลางยังต้องเป็น”เสาหลักที่มองไกล ยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง”

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชี้ยุคใหม่ของระบบการเงินโลกที่พรมแดนเลือนราง ธนาคารกลางยังต้องเป็น”เสาหลักที่มองไกล ยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง”

24 กันยายน 2018


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2561 ที่จัดขึ้นในหัวข้อ “สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง”

ดร.วิรไทกล่าวว่าย้อนไปเมื่อหลายพันปีที่แล้ว บรรพบุรุษของเราแลกเปลี่ยนสิ่งของกันโดยตรง จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนได้นำเปลือกหอยมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ก่อนพัฒนาไปใช้เหรียญที่ผลิตจากโลหะมีค่า เช่น เงิน สำริด และทอง เงินในรูปแบบกระดาษถูกใช้ครั้งแรกเมื่อประมาณ 700 ปีก่อน เครดิตการ์ดเกิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว และในวันนี้หลายท่านในที่นี้ใช้ mobile banking และพร้อมเพย์ที่สามารถโอนเงินหลักแสนหลักล้านบาทให้กันได้ง่ายในเวลาไม่กี่วินาที เช่นเดียวกัน การกู้ยืมเงินและการลงทุนที่เดิมเกิดขึ้นเพียงระหว่างกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกันในรูปแบบที่เรียบง่าย ได้พัฒนาเป็นตลาดการเงินระดับโลกที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากในปัจจุบัน เราสามารถลงทุนในตราสารที่ออกในอีกซีกโลกหนึ่งโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเช่นกัน

เมื่อมองย้อนดูพัฒนาการของธุรกรรมการเงินจากอดีตถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเรามาไกลมากในเรื่องของเงิน วิวัฒนาการดังกล่าวสะท้อนข้อเท็จจริงอย่างน้อย 2 ประการ คือ

    (1) นวัตกรรมทางการเงินไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัย
    (2) ระบบการเงินที่ดีมีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมระหว่างผู้คน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีและคุณภาพชีวิตของคนพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

วันนี้เราก็กำลังอยู่ในอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญในโลกการเงิน ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังพลิกโฉมเรื่องของเงินและระบบการเงินอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะโดยแก่นแท้แล้ว การเงินคือธุรกิจแห่งความไว้วางใจ (trust) ซึ่งความไว้วางใจเกิดจากการประมวลข้อมูลต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งข้อมูลในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ระบบการเงินจึงเปรียบเสมือนเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่รวบรวมและกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมากมายเพื่อใช้ประเมินความน่าเชื่อถือ ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพทั้งระหว่างบุคคล ข้ามช่วงเวลา หรือตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ดังนั้น การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology revolution) ที่ทำให้คนสามารถบริหารจัดการ เข้าถึง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้มากขึ้น รวดเร็วขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างความไว้วางใจและโลกการเงินอย่างกว้างขวาง

หากมองในมุมที่กว้างขึ้นกว่าภาคการเงิน เราทราบกันดีว่า การขาดข้อมูล หรือการมีข้อมูลไม่สมบูรณ์เป็นเหตุของความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ซึ่งมักนำไปสู่กำแพงหรือเส้นแบ่งระหว่างผู้คน ระหว่างวัฒนธรรม และระหว่างประเทศ พัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ลดข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล (information frictions) ส่งผลให้เส้นแบ่งพรมแดนที่เคยมีอยู่ลดความสำคัญลง ในอย่างน้อย 3 มิติหลัก ได้แก่

    (1) เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศ ทั้งด้านการค้าขายสินค้าและบริการ และด้านตลาดเงินตลาดทุน ทุกวันนี้เราสามารถซื้อขายสินค้าและบริการได้จากเกือบทุกประเทศทั่วโลกโดยไม่รู้จักทั้งผู้ซื้อและผู้ขายและไม่เคยเห็นสินค้าจริงมาก่อน และในแต่ละวันมีเงินไหลเข้าออกระหว่างประเทศจำนวนมหาศาล จนอาจกล่าวได้ว่าเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์แบบเต็มตัว

    (2) เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างบริษัทในกระบวนการผลิต เมื่อก่อนสินค้าแต่ละชิ้นมักถูกผลิตภายในบริษัทเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน การประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จนถึงการทำการตลาด แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศเอื้อให้เราสามารถซอยกระบวนการผลิตให้ย่อยลง และแบ่งแยกขั้นตอนการผลิตให้บริษัทต่าง ๆ ที่อาจจะอยู่ห่างไกลกันหรือต่างประเทศกันก็ยังได้ และ

    (3) เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเภทธุรกิจ จากเดิมที่ธุรกิจแต่ละประเภทจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ทุกวันนี้เราเห็นการผสมผสานของธุรกิจหลายประเภทเข้าด้วยกัน เช่น e-commerce platform ที่ทั้งขายของ ปล่อยสินเชื่อ และ เป็น social network ด้วย หรือธุรกิจโทรคมนาคมที่ทั้งผลิตอุปกรณ์สื่อสาร ให้บริการเก็บข้อมูล ผลิตเกมส์ และ เป็นช่องทางชำระเงินผ่าน e-wallet

รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและพรมแดนที่เลือนรางลงนี้กำลังเกิดขึ้นในภาคการเงินเช่นกัน ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นการแบ่งแยก หรือ unbundling ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นหลายประเภทธุรกิจย่อย ไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน การโอนเงิน หรือการกู้ยืมเงิน โดยไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมผ่านธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงินในปัจจุบันมีทั้งบริษัทโทรคมนาคมที่เชื่อมโยงบริการที่หลากหลายเข้าด้วยกันบนพื้นฐานของเครือข่ายโทรคมนาคมที่กว้างขวาง บริษัท e-commerce ที่อาศัยฐานลูกค้าขนาดใหญ่เสริมบริการทางการเงินต่อยอดจากธุรกิจเดิม และธุรกิจฟินเทคที่สร้างนวัตกรรมทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งหมดนี้ จะทำให้บทบาทและความสำคัญของตัวกลางทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก

ความสามารถในการเก็บและประมวลข้อมูลที่หลากหลายโดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า จะพลิกโฉมรูปแบบบริการทางการเงินจากเดิมที่เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์มาตรฐานไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์เฉพาะเจาะจงให้กับลูกค้าแต่ละราย หรือจาก mass production ไปสู่ mass customization การให้บริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายจะเป็นหัวใจของการแข่งขัน เมื่อต้นทุนของการให้บริการทางการเงินลดลง เราจะเห็นปริมาณธุรกรรมขนาดย่อยเพิ่มขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางทางการเงิน ธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในโลกยุคใหม่ พัฒนาการทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูล ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล และความปลอดภัยของข้อมูล กฎเกณฑ์กติกาด้านข้อมูล เช่น data portability หรือความสามารถในการโอนถ่ายข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อได้รับความยินยอม จะสำคัญยิ่งสำหรับการเชื่อมโยงบริการของภาคการเงินกับธุรกิจอื่น ๆ ทุกวันนี้เราได้เห็นแล้วว่าในภาคการเงินนั้น การบริหารความเสี่ยงด้านข้อมูลมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการบริหารความเสี่ยงด้านอื่น ๆ

สำหรับธนาคารกลาง กรอบการดำเนินงานแต่เดิมได้ถูกออกแบบมาสำหรับโลกที่มีขอบเขตและเส้นแบ่งที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ เส้นแบ่งระหว่างสถาบันการเงินแต่ละประเภท หรือเส้นแบ่งระหว่างผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในโลกที่พรมแดนเลือนหายลงเรื่อย ๆ จึงนำมาสู่ความท้าทายต่อธนาคารกลางในหลายมิติ ทั้งในด้านการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในภาวะที่เหตุการณ์ที่เกิดในอีกซีกโลกหนึ่ง สามารถส่งผลกระทบมาสู่ตลาดเงินตลาดทุนในบ้านเราได้ทันที การกำหนดขอบเขตของการกำกับดูแลภาคการเงินในโลกที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบ่งแยกกันได้ยากขึ้นและผู้ให้บริการทางการเงินไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงสถาบันการเงินอย่างเดียว การรักษาเสถียรภาพด้านราคาภายใต้พลวัตเงินเฟ้อที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยในตลาดโลกมากขึ้น และการสื่อสารของธนาคารกลางในยุคที่ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งถึงกันและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในรูปแบบและช่องทางที่ต่างไปจากเดิม

“ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังพลิกโฉมภาคการเงินอยู่ในขณะนี้ หลายท่านไม่เพียงแต่ตั้งคำถามว่า ในอนาคตธนาคารพาณิชย์จะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ แต่ยังตั้งคำถามด้วยว่าธนาคารกลางเองนั้นจะยังจำเป็นหรือไม่ ผมเชื่อว่า ในโลกที่ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและการเงินเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น บทบาทของผู้ดูแลเสถียรภาพด้านการเงินของประเทศยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ระบบการเงินของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นว่าเงินที่เราถืออยู่นั้นจะมีค่าและปลอดภัย ความไว้วางใจนี้เป็นผลของกฎเกณฑ์กติกาที่รอบคอบรัดกุมและการดำเนินนโยบายการเงินที่ยึดมั่นผลประโยชน์ในระยะยาวเป็นที่ตั้ง อาจจะกล่าวได้ว่าธนาคารกลางเป็นนวัตกรรมเชิงสถาบันที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรักษาความไว้วางใจให้ระบบเศรษฐกิจก็ว่าได้ ในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยากที่จะคาดเดา ธนาคารกลางจะยิ่งมีความสำคัญในฐานะองค์กรหลักของประเทศที่มีเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพ สร้างภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม”

ส่วนวิธีการดำเนินงานนั้นจำเป็นต้องพัฒนาตามยุคสมัยและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หลักการสำคัญ คือ ต้องมีกรอบการดำเนินงานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับให้สอดคล้องและเหมาะสมตามสถานการณ์ได้อย่างคล่องตัว ธนาคารกลางต้องรู้ลึก มองไกล และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ธนาคารกลางจำเป็นต้องพัฒนากรอบความคิดและเครื่องมือทางนโยบายอยู่เสมอเพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทัน และจะต้องรักษาสมดุลให้เหมาะสมระหว่างการพัฒนาเรื่องของโลกใหม่ที่วิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วกับเรื่องของโลกเก่าที่คนจำนวนมากยังอาจปรับตัวไม่ทัน

ในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัตน์รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กดดันต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ในสภาวะที่พลวัตเงินเฟ้อกำลังปรับเปลี่ยนและขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น การมุ่งบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อต้องตระหนักถึงขีดจำกัดของเครื่องมือในการส่งผ่านนโยบาย และผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะในด้านเสถียรภาพการเงิน นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น หรือ flexible inflation targeting ต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะทำให้เราสามารถดำเนินนโยบายโดยคำนึงถึงสมดุลของเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้าน

เราต้องตระหนักว่าการดูแลเงินเฟ้อเป็นเพียงทางผ่านที่จะนำไปสู่เป้าหมายหลักที่สำคัญกว่า นั่นคือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องดูแลควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน

ในยุคปัจจุบันที่ความสนใจของผู้คนสั้นลง ความสามารถในการอดทนรอคอยผลในระยะยาวลดลงไปเรื่อย ๆ และมักให้ความสำคัญกับประโยชน์เฉพาะหน้ามากกว่าผลข้างเคียงและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางในการเป็นผู้ดูแลรักษาเสถียรภาพในระยะยาวยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็มีความท้าทายมากขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันและความต้องการในช่วงเวลาสั้น ๆ ความเป็นอิสระในการดำเนินงานเป็นสิ่งที่ทำให้ธนาคารกลางสามารถยืนหยัดดูแลรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างมั่นคง ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารกลางนี้ดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อธนาคารกลางมีความรับผิดชอบและความโปร่งใส และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ความชอบธรรมของการได้รับความเป็นอิสระในการดำเนินงานนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการบรรลุเป้าหมายตามพันธกิจของธนาคารกลางในการดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินในระยะยาวนั่นเอง

ท่านอดีตผู้ว่าการ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินในความรับผิดชอบของธนาคารกลางนั้นคือส่งเสริมให้การดำเนินเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปโดยดีและมีพัฒนา และรักษาเสถียรภาพให้คู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ”

ในโลกที่กำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว บทบาทสำคัญอีกด้านหนึ่งของธนาคารกลาง คือ บทบาทด้านการพัฒนา ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการในหลายเรื่องที่สำคัญเพื่อส่งเสริมการยกระดับระบบการเงินไทย เราได้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเป็นรากฐานสำคัญของระบบการเงินของประเทศในโลกยุคใหม่ เราได้พัฒนาความรู้ความเข้าใจทางการเงินให้ประชาชน ส่งเสริมการธนาคารเพื่อความยั่งยืน และการให้บริการทางการเงินอย่างโปร่งใสเป็นธรรม รวมทั้งได้ปรับกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ และขั้นตอนการทำงานให้สอดคล้องและเท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนไป อาทิ การปฏิรูปกฎเกณฑ์ด้านการแลกเปลี่ยนเงินตรา ด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน และ digital banking เพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดต้นทุนของสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ ส่งเสริมการแข่งขัน และสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนอย่างทั่วถึง

การดำเนินงานเหล่านี้สะท้อนบทบาทที่สำคัญของภาครัฐ ที่เป็นทั้งผู้กำกับดูแลและผู้สนับสนุนการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกฎกติกาที่ชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้ภาคธุรกิจมองเห็นโอกาสและกล้าที่จะลงทุนสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้เร็ว การสร้างมาตรฐานกลาง (standardization) เพื่อรองรับการทำงานร่วมกัน (interoperability) ของเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนบนพื้นฐานของความเข้าใจในศักยภาพและความเสี่ยงของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง โดยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ต้องยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ในบริบทของภาคการเงินที่จะมีผู้ให้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การกำกับดูแลอาจต้องเปลี่ยนจากการกำกับดูแลตามประเภทของผู้ให้บริการ ไปเป็นการกำกับดูแลตามลักษณะของกิจกรรมทางการเงิน เพื่อสอดรับกับรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไป

ที่สำคัญ เราต้องตระหนักว่าการส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะหากกระบวนการสร้างนวัตกรรมของเราไม่เข้มแข็งแล้ว ระบบเศรษฐกิจไทยจะพัฒนาไม่ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศจะลดลง รายได้จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงเรื่อย ๆ นำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย และสร้างผลลบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศในระยะยาวได้

ในประเด็นนี้ เสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวอยู่เหนือขีดความสามารถของธนาคารกลางหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งตามลำพัง แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับประเทศ เริ่มต้นด้วยการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่นับวันจะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบการศึกษาที่ยังไม่สอดรับกับความต้องการของโลกยุคใหม่ ทักษะแรงงานที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควร ผลิตภาพของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับต่ำ กฎระเบียบที่ล้าสมัยและบั่นทอนประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ การรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย และภาระการคลังที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือ ความเหลื่อมล้ำในโอกาสและรายได้ที่ทวีสูงขึ้น

ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้สะสมมานานท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายในวงกว้าง เราต้องไม่มุ่งแต่จะรับมือกับเรื่องใหม่ ๆ จนลืมปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมหลายเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคที่บั่นทอนศักยภาพและเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

แม้พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะส่งผลให้เส้นแบ่งพรมแดนเลือนรางลงไปเรื่อย ๆ ในหลายมิติตามที่ผมได้กล่าวข้างต้น แต่ในเรื่องของเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวแล้ว เส้นแบ่งพรมแดนของประเทศยังคงชัดเจนและไม่เสื่อมคลาย เพราะท้ายที่สุดแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้นจากภายในประเทศ จากภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและความรับผิดชอบ จากภาคเอกชนที่ตื่นตัวและเข้มแข็ง และจากประชาชนที่มีทักษะความรู้และวินัย ที่สำคัญ พรมแดนของประเทศยังคงเป็นเส้นแบ่งที่มัดตัวเราในยามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ความเสียหายและภาระของการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน จะตกอยู่กับรัฐบาลและประชาชนในประเทศเสมอ

ดังที่ Mervyn King อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “Banks are global in life, but national in death” หรือ “ธนาคารใช้ชีวิตในระดับโลก แต่ตายภายในประเทศ” วิกฤตเศรษฐกิจที่เราอาจจะเผชิญในอนาคตอาจเกิดได้จากหลายภาคเศรษฐกิจและหลายสาเหตุ ไม่ใช่จากภาคการเงินเท่านั้น

ดังนั้น เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย เราต้องทลายกำแพงภายในที่ปิดกั้นการร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เราต้องทลายกำแพงที่ปิดกั้นการเข้าถึงโอกาสและความก้าวหน้าของผู้คน เราต้องคำนึงถึงเรื่องระยะยาวมากกว่าเรื่องเฉพาะหน้า และที่สำคัญ เราต้องทลายกำแพงที่ปิดกั้นความคิดและทัศนคติที่ตีกรอบการทำงานของเราในแบบเดิม ๆ เพียงเพราะเป็นกรอบที่เราคุ้นชินหรือได้ปฏิบัติกันมาช้านาน

นักปราชญ์ชาวกรีกท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “No man ever steps into the same river twice” หรือ “ไม่มีใครเคยเหยียบลงไปซ้ำในแม่น้ำสายเดิม” เพราะสายน้ำไม่เคยหยุดที่จะไหล ดังโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แม่น้ำก็ยังคงเป็นแม่น้ำ กระแสของการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมยังเกิดขึ้นโดยต่อเนื่องตลอดเวลา ธนาคารกลางในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ จะต้องเป็นเสาหลักที่มองไกล ยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง และมุ่งสร้างความมั่นคงให้กับประเทศสืบไป

ในวาระครบรอบ 75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่งานสัมมนาวิชาการในปีนี้จะได้มองย้อนกลับไปศึกษาบทเรียนและวิวัฒนาการของระบบการเงินและบทบาทของธนาคารกลางจากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งมองไปข้างหน้าถึงความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อทบทวนบทบาทและแนวทางการดำเนินงานของธนาคารกลางที่เหมาะสมสำหรับอนาคต

“ท้ายที่สุดนี้ ผมขอขอบคุณคณะผู้วิจัย ผู้วิจารณ์บทความ ผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์ปาฐก ที่ให้เกียรติมาร่วมนำเสนอและแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้ และขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมงานสัมมนาวิชาการกับเรา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานสัมมนาในครั้งนี้จะนำเสนอมุมมองและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ และเป็นฐานองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการก้าวไปสู่ระบบการเงินและธนาคารกลางในยุคของการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของพวกเราและลูกหลานของเราทุกคน”