ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “ผ้าไหม” เส้นใยสร้างชีวิต

“ผ้าไหม” เส้นใยสร้างชีวิต

13 สิงหาคม 2018


ที่มาภาพ: มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

“…ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็น…” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2532 

เรื่องของ “ผ้าไหมไทย” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน งานศิลป์ชิ้นเอกที่ถูกละเลยนี้ได้ถูกหยิบมาปัดฝุ่นให้ทรงคุณค่ามาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ…

ย้อนกลับไปในปี 2513 เมื่อครั้งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ จ.นครพนม เพื่อทรงเยี่ยมประชาชน ครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ล้วนนุ่งห่มผ้าไหมไทยที่ทอใช้เองอย่างงดงาม และยังทรงสังเกตเห็นว่าหลายหมู่บ้านที่เสด็จฯ ไป คนหนุ่มสาวต่างต้องออกไปหางานทำในกรุงเทพ

จากนั้นในปี 2515 ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ อดีตราชเลขานุการในพระองค์ นำคณะออกไปเลือกซื้อผ้าที่ชาวบ้านทอเป็นครั้งแรก และขยับขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคอื่นๆ จนห้องทรงงานเต็มไปด้วยผ้าไหมไทย

ทรงรับสั่งให้ชาวบ้านทอผ้าเป็นอาชีพเสริมจากการทำการเกษตร เป็นรายได้ในยามที่ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เพื่อชาวบ้านไม่ต้องออกไปรับจ้างหางานที่อื่น โดยทรงจัดหาผู้รับซื้อและตลาดไว้ในเบื้องต้น จนกระทั่งชาวบ้านสามารถจับทิศทางตลาด มีช่องทางการขายของตน

นอกจากนี้ ยังทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านอนุรักษ์พันธุ์ไหมไทย ตลอดจนลวดลายพื้นถิ่น  ก่อนขยายผลไปสู่การส่งเสริมงานฝีมือแขนงอื่นๆ อีกทั้งยังทรงใช้ผลิตภัณฑ์จากฝีมือประชาชน โดยเฉพาะเมื่อเสด็จเยือนต่างประเทศ ทำให้ความงดงามของผ้าไหมและหัตถกรรมไทยได้เผยแพร่สู่สายตาชาวโลกยิ่งขึ้น

หากพูดถึง “ผ้าไหม” หลายคนคงนึกถึงความหรูหรา ราคาแพง และในช่วงระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไหมของไทยจะลดลงไปกว่าครึ่งจากในช่วงปี 2540-2550 อุตสาหกรรมไหมไม่ได้ฟู่ฟ่าเหมือนในอดีตด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แต่สำหรับชาวบ้าน การทอผ้าไหมยังคงทำรายได้ให้พวกเขาอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดภายในประเทศ “ผ้าไหม” กลายเป็นความยั่งยืนที่หล่อเลี้ยงชีวิต และทุกเส้นไหมที่ถูกเรียงร้อยเป็นการสานต่อภูมิปัญญาที่ตกทอดให้คงอยู่ไม่สาบสูญ

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้นำคณะสื่อมวลชนไปสัมผัสความผลของความยั่งยืนในมุมเล็กๆ ผ่านเส้นไหมที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมุ่งมั่นส่งเสริม ณ โครงการส่งเสริมศูนย์ศิลปาชีพบ้านสมพรรัตน์ ตำบลหนองสะโน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี และศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์

กลุ่มศิลปาชีพบ้านสมพรรัตน์ ถักทอเส้นใยให้เป็นหลัก

ที่บ้านสมพรรัตน์ คนที่นี่ยึดการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก ส่วนการทำไร่นานั้นเป็นอาชีพรอง นางดาวเรือง ยอดสิมมา หรือคุณแม่ดาวเรือง ประธานกลุ่มศิลปาชีพสมพรรัตน์และเครือข่าย เล่าว่า ชาวบ้านที่นี่มีรายได้จากการทอผ้าและขายเส้นไหม เฉลี่ยตั้งแต่ 20,000-40,000 บาทต่อเดือน ขึ้นกับกำลังการผลิต และคุณภาพไหมของแต่ละบ้าน

นางดาวเรือง ยอดสิมมา หรือคุณแม่ดาวเรือง ประธานกลุ่มศิลปาชีพสมพรรัตน์และเครือข่าย

ซึ่งไหมของบ้านสมพรรัตน์ได้รับตรานกยูงพระราชทาน และเป็นไหมอินทรีย์ เพราะทุกกระบวนการตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การสาวไหม และย้อมสี ล้วนเป็นกรรมวิธีธรรมชาติ และประยุกต์นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานทำให้ได้ไหมที่มีคุณภาพ โดยในอดีตชาวบ้านจะมีรายได้อีกราว 175,000 บาทต่อปีจากการอบและส่งออกรังไหมไปยังประเทศญี่ปุ่น แต่เนื่องจากการแบ่งรังไหมส่งออกทำให้ไม่เพียงพอจึงส่งต่อตลาดทั้งหมดให้กับหมู่บ้านอื่นในจังหวัดอุบลราชธานี

“เมื่อก่อนเราทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ก็ประสบภัยแล้ง คนหนุ่มสาวหลายคนต้องออกไปหางานทำที่อื่น ส่วนการทอผ้านั้นมีอยู่ทั่วไปในทุกครัวเรือน เป็นภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษที่ย้ายบ้านมาจากอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ และยังยึดถือประเพณีเก่าจากถิ่นฐานบ้านเดิม และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการพัฒนาฝีมือมาโดยตลอด แต่จะทอกันก็ต่อเมื่อว่างเว้นจากการทำนา

จนกระทั่งพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฏร ณ โรงเรียนบ้านขอนแป้น ตำบลคอแลน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 แม่และชาวบ้านได้ไปรับเสด็จ และทูลเกล้าถวายฯ ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม เมื่อทรงได้ทอดพระเนตรก็ตรัสชมว่าผ้านี้สวยพร้อมถามว่าใครทอ และได้ทรงพระราชทานเงินเพื่อเป็นทุนแก่กลุ่มสมาชิกดังกล่าวและทรงรับไว้เป็นสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา มีสมาชิกเริ่มต้น 52 ราย จนปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 522 ราย

และทรงรับสั่งว่า ทำตรงนี้มีรายได้ ไม่ต้องทิ้งบ้านไปทำงานที่กรุงเทพฯ แล้วนะ ให้อยู่บ้านทอผ้า แล้วทรงพระกรุณาให้แม่ไปสอนสาวไหมที่พระตำหนักภูพาน เมื่อเริ่มมีตลาดจากที่พระราชินีรับซื้อ อีกไม่นานจากนั้นชาวบ้านก็ยึดการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก”

การทอผ้าไหมของบ้านสมพรรัตน์เป็นไปในรูปแบบอุตสาหกรรมครัวเรือน ซึ่งการทอผ้าไม่ได้จำกัดแค่หญิงสาว หรือเหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่ที่ทำเป็น แต่คนรุ่นหนุ่มสาวที่นี่ก็ล้วนทอผ้าเป็นทั้งสิ้น และเพื่อให้การทอผ้าไม่เสื่อมสูญ คุณแม่ดาวเรืองระบุว่า ในปี 2560 กลุ่มศิลปาชีพสมพรรัตน์ฯ ได้เริ่มสร้างเครือข่ายเยาวชนจากโรงเรียนในหมู่บ้านให้ “เป็น” ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม จนถึงการทอ โดยทายาทรุ่นแรกมีจำนวน 12 คน

กว่าจะเป็นผ้าไหมหนึ่งผืน โดยภาพผ้าทอซ้ายสุดคือผ้าลายทิวมุกจกดาว ที่มีราคาถึงผืนละ 15,000-20,000 บาท

และในปีเดียวกัน ชาวบ้านมีการทำโครงการธนาคารผ้าไหมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในส่วนของงบประมาณพัฒนาหมู่บ้านจำนวน 2 แสนบาท ร่วมกับการลงหุ้นของสมาชิก โดยธนาคารฯ ทำหน้าที่เหมือนตัวกลางที่ในการรับซื้อผ้าจากสมาชิก แก้ปัญหาการหมุนเวียนเงินทุนของผู้ทอผ้า โดยใช้เงินกองทุนรับซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของสมาชิก ก่อนนำไปหาช่องทางจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นการออกร้าน ส่งขายแก่ร้านค้าในจังหวัด หรือผ่านช่องทางออนไลน์อื่นๆ ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นสมาชิกที่จะนำผ้าไปขายเอง

“นอกจากการลายท้อผ้าในลวดลายที่พัฒนาต่อยอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ลายน้ำไหล ลายดอกมะขาม ลายดอกข่า บ้านสมพรรัตน์ยังได้ทำการขอขมาและเรียนรู้ลาย ‘ทิวมุกจกดาว’ ซึ่งเป็นลายโบราณเฉพาะของเจ้านางเมืองอุบลราธานี ต้องใช้ความละเอียด ทักษะสูงในการทอ ในหนึ่งวันจะสามารถทอได้ 20-30 เซนติเมตรเท่านั้น ทำให้มีราคาสูง อยู่ที่ 15,000-20,000 บาทต่อผืน”

ด้านนายมลชัย จันทโรธรณ์ นายอำเภอ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี ระบุว่า บ้านสมพรรัตน์กำลังพัฒนาหมู่บ้านไปสู่การเป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพที่ทางส่วนราชการเข้ามาเสริมให้องค์ความรู้ทั้งหมดของกระบวนการทอผ้าไม่ได้หยุดนิ่งอยู่เพียงคนในชุมชน

“แม้ผ้าไหมบ้านสมพรรัตน์จะมีชื่อเสียงอยู่แล้ว แต่การจะขายสินค้ายังนำผลิตภัณฑ์ออกไปข้างนอก มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าเดินทางและค่าที่พัก การส่งเสริมการท่องเที่ยวจะชักนำผู้คนเข้ามา ช่วยลดต้นทุนและทำให้ชาวบ้านได้อยู่กับชุมชนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้คนสามารถจับต้องได้มากขึ้น ใช้ประโยชน์จากผ้าไหมที่ทอให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น กระเป๋าใส่เหรียญ รวมไปถึงแปรรูปผลผลิตอื่นๆ ที่ได้จากขั้นตอนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อาทิ น้ำหม่อน แยมหม่อน ผลิตภัณฑ์จากรังไหม ซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้ให้กับชาวบ้าน”

ไปดูไหมปลอดหนี้ ของศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน อ.นาโพธิ์

การลงลายผ้าไหม ประยุกต์ศิลปะสมัยใหม่สู่ลายผ้า ของบ้านนาโพธิ์

ต่อจากบ้านสมพรรัตน์เดินทางต่อมาที่บ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์  ณ ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน ผ้าไหมที่นี่ได้เป็นผ้าไหมรางวัลเช่นเดียวกับที่บ้านสมพรรัตน์ แต่เราได้พบเรื่องราวของเส้นไหมที่ต่างมุมออกไป ชาวบ้านที่นี่ทอผ้าเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น ทอเมื่อว่างเว้นจากการทำนา การตลาดจึงเรียบง่ายขายในชุมชน และส่งขายให้กับตลาดที่แน่นอน อย่างร้านในตลาดจตุจักร มูลนิธิศิลปาชีพ ร้านภูฟ้า ร้านค้าบนเครื่องบินของสายการบินไทย และร้าน OTOP ในพื้นที่ราชการเท่านั้น

โดยคุณป้าประคอง ภาสะฐิติ ประธานศูนย์หัตกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ เล่าว่า เมื่อ 50 ปีก่อน บ้านนาโพธิ์แห้งแล้งมาก ไม่สามารถปลูกพืชได้ ผ้าไหมที่ขายกันอยู่ที่ผืนละ 80 บาทเท่านั้น จนในปี 2516 ที่ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ นางสนองพระโอษฐ์ และราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และคณะได้เข้ามาขอซื้อผ้าไหมจากชาวบ้าน ต่อมาจึงได้เข้าโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระราชินี จากสมาชิกไม่กี่ครัวเรือนในระยะแรก ปัจจุบันศูนย์หัตถกรรมแห่งนี้มีสามาชิกกว่าพันคน

“ผ้าไหมบ้านนาโพธิ์มีจุดเด่นจากการทอมือ ผ้าเนื้อแน่น เส้นไหมละเอียด ไม่มันวาว แต่ยังโปร่งใส่สบาย เราทอทั้งลายพื้นเมืองดั้งเดิม เช่น ลายพญานาค ลายบันไดสวรรค์ ลายช่องพลู และมีการประยุกต์ลวดลายให้มีความทันสมัย ซึ่งคนหนึ่งจะสามารถทอได้ 1 เมตรต่อวัน เราทำผลิตภัณฑ์ทั้งผ้าพันคอ สไบ เสื้อ ผ้านุ่ง กระเป๋า และผ้าผืน ชาวบ้านจะมีรายได้จากการทอผ้าไหมนี้ประมาณ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน รายได้ไม่มาก ไม่รวย แต่ไม่มีหนี้”

การย้อมสีไหม

ทุกกระบวนการทอผ้าที่บ้านนาโพธิ์ไม่ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้เหมือนบ้านสมพรรัตน์ ทุกอย่างยังคงเป็นวิถีเรียบง่าย ต้มรังไหมด้วยฟืน ฟอกและย้อมจากสีธรรมชาติ ให้เส้นไหมเป็นรายได้เสริม ใช้ชีวิตอย่างปลอดหนี้ พอเพียง ตามแนวทางแรกเริ่มที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือ การไม่ฝืน ส่งเสริมอาชีพตามความต้องการ และจากภูมิปัญญาที่พวกเขามี

…ทรงรับสั่งเสมอว่า “ถ้าฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ก็ต้องให้ชาวบ้านออกทำไร่ ทำนาของเขา แต่ยามที่คอยข้าวออกรวง คอยข้าวสุก ชาวบ้านจะมีเวลาว่างก็ค่อยให้เขาทอผ้า เขาจะได้ไม่ต้องออกไปรับจ้างหางานนอกบ้าน” จากคำบอกเล่าของท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ถึงการทรงงานของพระราชินี