ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > Shell’s Scenarios for the Next Generations : “อัษฎา หะรินสุต” ชี้ถ้าเราจะเป็นโลกที่อุณหภูมิไม่ถึง 2 องศา มีวิธีการทำอย่างไร?

Shell’s Scenarios for the Next Generations : “อัษฎา หะรินสุต” ชี้ถ้าเราจะเป็นโลกที่อุณหภูมิไม่ถึง 2 องศา มีวิธีการทำอย่างไร?

12 สิงหาคม 2018


นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชล์แห่งประเทศไทย จำกัด

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จัดงาน Shell Forum Energy Transition for Thailand’s Future โดย นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวในหัวข้อ “Shell’s Scenarios for the Next Generations” ว่า เหตุผลที่เชลล์จัดงานสัมมนานี้สืบเนื่องจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะช่วยกันลดอุณหภูมิโลกไม่ให้ขึ้นเกิน 2 องศา เพราะการลดโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป สะท้อนได้จากอุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกขณะนี้ ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรี เขื่อนประเทศลาวแตก หรือคลื่นความร้อนในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ

ทั้งนี้สำหรับประเทศไทย เป็น 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด มีการคาดการณ์ว่าหากน้ำแข็งขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ไทยหรือกรุงเทพมหานครจะอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเลมากขึ้นอีก จะเจอน้ำท่วมหรือน้ำทะเลหนุนมากขึ้น และอาจจะปลูกข้าวได้น้อยลงกว่าปัจจุบันถึง 50% รวมทั้งพืชผักและผลไม้

“แทนที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศส่งออกอาหาร ก็อาจจะกลายเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารเหมือนหลายประเทศในตะวันออกกลาง แล้วความฝันของเรื่องอีอีซีก็ดี ไทยแลนด์ 4.0 ก็ดี สิ่งเหล่านี้จะยั่งยืนหรือเปล่า นี่เป็นข้อที่เรามีความเป็นห่วง” นายอัษฎากล่าว

นายอัษฎาเปิดเผยว่า สำหรับทิศทางการลงทุนธุรกิจพลังงานของเชลล์ในไทย จะพยายามเน้นบทบาทการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจของบริษัท ซึ่งเปลี่ยนจากธุรกิจโรงกลั่นหรือธุรกิจขุดเจาะน้ำมันในอดีต มาสู่ธุรกิจพลังงานชีวภาพที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การพัฒนาน้ำมันไบโอฟิวส์ ไบโอดีเซล

โดยน้ำมันไบโอดีเซลของเชลล์ที่ขายผ่านสถานีบริการน้ำมัน ได้รับการรับรองจาก RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มีมาตรฐานคล้ายกับ ISO 9000  มีระบบเข้าไปช่วยเกษตรกรไม่ให้บุกรุกป่า ไม่ให้ใช้สารเคมีไปทำอันตรายต่อระบบนิเวศน์ของน้ำ ไม่ใช้แรงงานเด็ก และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นต่อไร่ รวมทั้งทำงานร่วมกับโรงสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อให้มีความยั่งยืน

“ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้ และช่วยเกษตรกรให้ผ่านมาตรฐานนี้ได้ประมาณหนึ่งพันครอบครัวในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ แต่ก็ยังไม่พอ เพราะเราซื้อน้ำมันที่ได้มาตรฐาน RSPO ได้เพียง 30% จากยอดขาย  ดังนั้นสิ่งที่เราทำก็คือไปซื้อ certificate มาชดเชยจากต่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกษตรกรสามารถสร้างมาตรฐาน RSPO ได้มากขึ้น พอกับความต้องการของประเทศ”

นอกจากนั้น บริษัทได้ลงทุนค้นคว้าวิจัยด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดการสิ้นเปลืองน้ำมันและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งน้ำมันสูตรใหม่ของเชลล์มาพร้อมเทคโนโลยีไดนาเฟล็กซ์ สามารถออกแบบให้คืนพลังงานในเครื่องยนต์ดีเซล 100% และเบนซิน 70%

เชลล์ยังมีการนำแก๊สธรรมชาติมาผลิตน้ำมัน เพื่อทำให้คุณภาพน้ำมันหล่อลื่นดีขึ้น ปกป้องเครื่องยนต์ เผาไหม้สมบูรณ์และประหยัดน้ำมัน และมีการผลิตยางมะตอยทำถนนโดยใช้ยางธรรมชาติแทนการใช้โพลิเมอร์ เป็นการช่วยเกษตรกรอีกอย่างหนึ่ง

“เราได้สร้างเวทีแข่งขันของเยาวชนไทยให้มีการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสร้างนวัตกรรมยานยนต์ใหม่ๆ ที่ใช้พลังงานสะอาดขึ้น ลดการใช้น้ำมัน  ที่ผานมาทีมเด็กไทยเก่งมากนะครับ มีอยู่ปีหนึ่งสามารถใช้เอทานอล 100% วิ่งได้ประมาณ 2,800 กิโลเมตร เทียบเท่ากับน้ำมันหนึ่งลิตร ซึ่งการค้นคว้าวิจัยพวกนี้ ถ้าได้แรงสนับสนุนจากทุกคนก็สามารถต่อยอดได้อีกในอนาคต”

นอกเหนือจากนั้นเรายังทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ในธุรกิจของเราเอง ในธุรกิจขนส่งที่เรามี หรือกับลูกค้าต่างๆ ให้มีการประหยัดน้ำมัน ลดท่อไอเสียให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบริษัทและในปั๊มน้ำมันให้ครอบคลุมมากที่สุด

นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชล์แห่งประเทศไทย จำกัด

นายอัษฎาระบุว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เชลล์ประเทศไทยสามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ประมาณ 15% แต่ก็ยังไม่พอ และต้องทำอีกมาก แต่ประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไร เพราะมันไม่ง่าย ด้วยเหตุนี้เชลล์จึงเชิญ Dr.Cho Khong, Chief Political Analyst จาก Royal Dutch Shell (อ่านในตอนต่อไป) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองสถานการณ์อนาคตของบริษัทเชลล์ มาพูดคุยถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนวัตกรรมและโอกาสด้านพลังงาน แบบจำลองทางเลือกพลังงาน และการดำเนินชีวิตในอนาคตตามแบบจำลอง Sky Scenario ในประเทศไทย

“ซีเนริโอใหม่ที่เรียกว่า Sky จะมาดูกันว่าถ้าเราจะเป็นโลกที่อุณหภูมิไม่ถึง 2 องศา มันจะมีวิธีการทำอย่างไร แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ บทสรุปของ Sky มันมีความหมายยังไงกับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะนำส่วนไหนมาช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นจริงๆ ”

“New Lens Scenarios หรือ Sky ที่เราพูดถึงวันนี้ ไม่ใช่การคาดคะเน ไม่ใช่เป้าหมายของบริษัทเชลล์ แต่ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีการพูดคุยกัน แชร์ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และดูความสามารถหรือความร่วมมือต่างๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นเพื่อที่จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เกิดขึ้น ให้โลกมีอุณหภูมิไม่เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา” นายอัษฎากล่าว

นายอัษฎายังกล่าวว่า การสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศไทยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในทางด้านพลังงานและสภาพแวดล้อม จะต้องมีการพิจารณาร่วมกันว่าจะเดินไปในทิศทางทางไหน แต่โดยส่วนตัวเห็นว่ามีหลายทางเลือกที่น่าสนใจ เช่น  การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ  การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การนำขยะผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ฯลฯ

สำหรับประเทศไทย คงต้องมาดูว่าวิถีทางที่เราจะเดินไป จะสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทางด้านพลังงานและสภาพแวดล้อมได้อย่างไร ซึ่งการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพหรือไบโอฟิวส์ที่สูงขึ้น ผมคิดว่าจะทำให้ระบบพลังงานของประเทศไทยสะอาดขึ้น

“เช่น เวลานี้เรามีการผลักดันการใช้น้ำมัน B20 แต่ทั้งนี้การจะใช้พลังงานชีวภาพในระดับที่สูงขึ้น คงต้องได้รับความร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์กับสังคม ที่จะหันมาใช้พลังงานเหล่านี้มากขึ้น ด้วยจิตสำนึกในการช่วยลดปัญหาโลกร้อน”

นอกจากนั้น เราคงต้องหาวิธีทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นเอทานอล ไบโอดีเซล มีต้นทุนที่ถูกลง จนกระทั่งไม่จำเป็นจะต้องให้รัฐบาลมาสนับสนุนเงินช่วยเหลือ ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นได้ เราก็จะเป็นเหมือนประเทศบราซิลที่เขาทำไปแล้ว โดยรถยนต์ของเขาสามารถสลับกันได้ระหว่างน้ำมันเอทานอลกับเบนซิน”

ขณะที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออีวี ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตอบโจทย์ประเทศไทยได้  มีการพูดคุยกันมาก แต่ผมคิดว่าคำถามสำคัญคือไม่ใช่ถามว่ารถยนต์ไฟฟ้าตอบโจทย์ประเทศไทยได้หรือเปล่า แต่ควรจะถามว่า รถยนต์ไฟฟ้าแบบไหนที่ตอบโจทย์ประเทศไทยได้ดีที่สุด” นายอัษฎากล่าว

พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “จริงๆ ท่านอาจจะไม่ทราบว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นมีมากกว่าหนึ่งแบบ ซึ่งรถที่เราพูดถึงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ อย่างไรก็ดี ต้องดูว่าแหล่งพลังงานที่นำมาใช้นั้นมาจากไหน ถ้ายังเป็นถ่านหินหรือแม้กระทั่งแก๊ส ก็ยังมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้าด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเราต้องดูทั้งเส้นทางการมาของพลังงานนั้นด้วย”

และยังต้องดูอีกว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าแบบอื่นอีกหรือไม่ เช่น รถยนต์ไฮโดรเจน ซึ่งทางโตโยต้าก็มีการพูดคุยเรื่องนี้มากพอสมควร เชลล์เองก็เป็นแนวร่วมด้วยในการดูว่ารถไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจน จะเหมาะสำหรับประเทศไทยได้อย่างไร อีกส่วนก็คือรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเอทานอล 100%

“ฉะนั้น คำถามสำคัญก็คือว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบไหนดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ทั้งในแง่ภาคเกษตรกรก็ดี ในแง่ความยั่งยืนก็ดี แบบไหนลดปัญหาโลกร้อนได้ดีกว่ากัน หรือแบบไหนทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานได้ดีกว่ากัน เราอย่าไปมุ่งเน้นเทคโนโลยีชนิดเดียว แต่ควรจะเปิดกว้างให้เทคโนโลยีเหล่านี้มาแข่งขันกัน เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย”

นอกเหนือจากรถยนต์ไฟฟ้า ยังมีเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ เช่น นำขยะเมืองหรือขยะเกษตร มาปั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งขณะนี้ก็มีการทดลองไปมากพอสมควร โดยส่วนตัวเพิ่งไปดูงานที่บังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ซึ่งสามารถกลั่นขยะเหล่านี้มาเป็นน้ำมันได้

“เทคโนโลยีเหล่านี้ก็อาจจะเหมาะสำหรับประเทศไทยด้วยเหมือนกัน เพราะบ้านเรามีขยะมากพอสมควร แต่ถ้าเรานำขยะไปเผาเพื่อพลังงาน ก็จะได้พลังงานกลับมาประมาณ 30% แต่ถ้านำมากลั่นเป็นน้ำมัน คำนวณดูแล้วพบว่าอาจจะได้พลังงานคืนมาถึง 70% ซึ่งอาจจะคุ้มกว่าถ้าเรามาลงทุนในเทคโนโลยีแบบนี้”

ส่วนพลังงานถ่านหิน ก็คงจะมีบทบาทต่อไปในอนาคต แต่อย่างที่รัฐบาลเริ่มคุยกันว่าควรจะเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) หรือไม่  ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะถ้าเราทำให้คารบอนไดออกไซด์มีต้นทุน มันจะทำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าทางเลือกของประเทศไทยทางไหน ดีมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม นายอัษฎาชี้ว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานที่จะนำมาใช้งานมีอยู่จำนวนมาก แต่จะต้องมีการกระตุ้นให้นวัตกรรมเหล่านี้แข่งขันกันเอง ผ่านนโยบายของรัฐบาลหรือความร่วมมือของทุกฝ่าย  ยกตัวอย่างเช่น การทำถนนในเมืองไทย สามารถลดอุณหภูมิการทำถนนได้ถึง 30-40 องศา หากใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย

“ปกติการทำถนน จะต้องนำยางมะตอยไปเผาให้ถึง 180 องศา เพื่อผสมกับหิน แล้วนำมาบดถนน แต่จริงๆ แล้วเราจะลดได้ 30-40 องศา ถ้าเราใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย นอกจากนั้นถนนยังสามารถดูดซับไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ซึ่งเป็นก๊าชเรือนกระจกที่ปล่อยจากท่อไอเสียรถยนต์ แต่ถนนออกแบบให้ดูดซับสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ปัจจุบันเรายังนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในเมืองไทยไม่ได้ จนกว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนนโยบายและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อเปิดรับเทคโนโลยีพวกนี้อย่างที่ต่างประเทศทำ”

“ผมอยากชวนทุกท่านนึกถึงว่าการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะยากนี้ เราจะเริ่มกันอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าถ้าเราเริ่มด้วยตัวเอง เช่น เดินทางด้วยรถไฟฟ้า ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ นั่งรถมาทำงานมาพร้อมกับเพื่อน หรือลดการใช้พลาสติกได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัจจุบันผมเห็นว่าทุกธุรกิจได้มีการปรับตัวช่วยกันคนละไม้คนละมือ แม้แต่การที่เรามาประชุมแล้วไม่ใช้พลาสติก หรือกระทั่งกลับบ้านไปปลูกต้นไม้สักต้นหนึ่ง เชลล์ก็จะไปปลูกป่าส่วนหนึ่งที่บางกระเจ้า จึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันสร้างอนาคตด้วยกัน” นายอัษฎากล่าว