ThaiPublica > เกาะกระแส > ญี่ปุ่นจะกลายเป็น “ประเทศของผู้อพยพ” หรือไม่ เมื่อประกาศรับแรงงานต่างชาติอีก 5 แสนคน ถึงปี 2025

ญี่ปุ่นจะกลายเป็น “ประเทศของผู้อพยพ” หรือไม่ เมื่อประกาศรับแรงงานต่างชาติอีก 5 แสนคน ถึงปี 2025

13 สิงหาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=Ju5FGMwUlz0

นิตยสาร The Economist เพิ่งรายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังจะรับแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้น แม้ญี่ปุ่นจะมีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่แทบจะมีแต่คนเชื้อชาติเดียวกันเท่านั้นที่อาศัยอยู่ คนญี่ปุ่นเองก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น จากการสำรวจความเห็น ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีจำนวนเท่าๆ กันคือ 42%

แต่ไม่ว่าคนญี่ปุ่นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แรงงานต่างชาติก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจาก 850,000 คนในปี 1985 เป็น 2.6 ล้านคนในปี 2017 หรือ 2% ของประชากร ประเทศในยุโรป มีสัดส่วน 8-25% ในทางกฎเกณฑ์ วีซ่าที่จะออกให้คนต่างชาติเพื่อทำงานในญี่ปุ่น จะเป็นแรงงานมีฝีมือเท่านั้น ส่วนแรงงานต่างชาติประเภทกึ่งฝีมือ จะได้วีซ่าประเภทนักศึกษาหรือผู้ฝึกงาน

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่า จนถึงปี 2025 จะให้วีซ่าสำหรับแรงงานต่างชาติ ที่มีทักษะตามที่กำหนดไว้ อีก 500,000 คน เพื่อให้มาทำงานด้านการเกษตร ก่อสร้าง โรงแรม พยาบาล และการต่อเรือ นโยบายใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่น แสดงถึงนโยบายของญี่ปุ่น ที่จะรับแรงงานต่างชาติประเภทกึ่งฝีมืออย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก

ประเทศผู้อพยพ?

ในบทความของนิตยสาร Foreign Affairs เรื่อง Is Japan Becoming a Country of Immigration? กล่าวว่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นเป็นชาติอุตสาหกรรมเพียงชาติเดียวที่ปิดพรมแดน ไม่ยินดีที่จะรับแรงงานต่างชาติที่ไร้ฝีมือ แต่ประชากรที่สูงอายุจำนวนมากขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นมีความต้องแรงงานต่างชาติมากขึ้น

ปี 2004 ญี่ปุ่นมีประชากรจำนวนมากสุด 127.8 ล้านคน แต่หลังจากนั้นมา จำนวนประชากรก็ลดลงไป 1.5 ล้านคน หากนับจากปี 1997 เป็นต้นมา ประชากรวัยทำงานลดลงกว่า 10 ล้านคน ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในด้านก่อสร้าง เหมืองแร่ การดูแลสุขภาพ บริการอาหาร โรงพยาบาล และการค้าปลีก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 หอการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ก็รายงานว่า 65% ของสมาชิกประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แม้ค่าแรงจะสูงขึ้น

การขาดแคลนแรงงานดังกล่าว ทำให้รัฐบาลชินโซ อาเบะ เปลี่ยนนโยบายมาอ้าแขนรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น แม้คำว่า “ผู้อพยพ” จะยังเป็นคำต้องห้ามในญี่ปุ่น แต่นับจากปี 2015 กระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่นได้เพิ่มโควตาและขยายเวลาการอยู่ในญี่ปุ่นให้กับแรงงานต่างชาติที่ทำงานก่อสร้าง สำหรับกีฬาโอลิมปิก 2020 ในเดือนพฤษภาคม ปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศที่จะรับแรงงานต่างชาติถึง 5 แสนคน จนถึงปี 2025

เปิดประตูรับแรงงานต่างชาติ

บทความของ Foreign Affairs กล่าวว่า ยังเป็นเรื่องเร็วเกินไปที่จะบอกว่า นโยบายของญี่ปุ่นดังกล่าวหมายถึงการเปิดเสรีการรับผู้อพยพ ที่ผ่านมา นโยบายทางการญี่ปุ่นเน้นคุณประโยชน์จากสภาพที่ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีคนด้วยเผ่าพันธุ์เดียวกัน การถกเถียงของสังคมก็เน้นเรื่องที่ว่า ความหลากหลายของคนหลายเชื้อชาติจะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของสังคม และต่อความมั่นคงของประเทศ

ในทศวรรษ 1960 ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเหมือนประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ แทนที่จะใช้นโยบายรับแรงงานจากต่างชาติเหมือนสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก รัฐบาลและบริษัทญี่ปุ่นหันไปใช้การผลิตอัตโนมัติ การย้ายการผลิตไปต่างประเทศ และดึงแรงงานในประเทศมาทำงาน เช่น สตรี นักศึกษา ผู้สูงอายุ และแรงงานจากชนบท

ในทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานครั้งที่ 2 แต่วิกฤติครั้งนี้ แรงงานจากแหล่งภายในประเทศถูกใช้หมดไปแล้ว ปี 1990 ญี่ปุ่นแก้กฎหมายควบคุมผู้อพยพ โดยเปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถนำคนงานต่างประเทศเข้ามา แต่เป็นแรงงานมีฝีมือ โดยการออกวีซ่าให้เข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ให้กับคนเชื้อสายญี่ปุ่น ที่อพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ บราซิล และเปรู

วีซ่าประเภทที่ 2 คือ สำหรับการฝึกงานของแรงงานจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศในเอเชีย ที่จะฝึกงานและทำงานเป็นระยะเวลาถึง 3 ปีในญี่ปุ่น แต่ต้องทำงานกับนายจ้างเดิม หากย้ายงานจะถูกเนรเทศออกไป

บทความของ Foreign Affairs วิจารณ์ว่า ความแตกต่างของวีซ่า 2 แบบ สะท้อนอคติของนักการเมืองญี่ปุ่นที่มีต่อแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นทัศนะเดียวกันกับคนญี่ปุ่นในเขตเลือกตั้งของนักการเมืองเหล่านี้ นักการเมืองญี่ปุ่นมองแรงงานจากเอเชียว่าจะเป็นภัย เหมือนกับแรงงานจากตุรกีและอดีตยูโกสลาเวีย ที่หลังจากสงครามได้เข้าไปตั้งรกรากถาวรในเยอรมัน ส่วนแรงงานที่มีเชื้อชาติญี่ปุ่นนั้น จะสามารถปรับตัวได้เร็วกับการมีชีวิตในญี่ปุ่น

แต่การให้วีซ่าแรงงานต่างชาติ 2 แบบของญี่ปุ่น ช่วยป้อนแรงงานให้กับผู้ผลิต SME ของญี่ปุ่น ที่คนญี่ปุ่นเองไม่ค่อยสนใจที่จะเข้าไปทำงาน โดยเฉพาะบริษัท SME ที่อยู่ในชนบท ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนแรงงานต่างชาติมากขึ้น ในปี 2017 แรงงานประเภทนี้เพิ่มขึ้น 20% แต่เมื่อเศรษฐกิจซบเซาในต้นศตวรรษ 21 ทำให้แรงงานพวกนี้ตกงาน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ออกค่าใช้จ่ายให้แรงงานพวกนี้เดินทางกลับประเทศ

นโยบายต่อแรงงานต่างชาติดังกล่าว ทำให้ญี่ปุ่นแตกต่างจากประเทศตะวันตก คือไม่ต้องใช้นโยบายอ้าแขนรับแรงงานอพยพ และการดูดกลืนแรงงานเข้ากับสังคมญี่ปุ่น แผนการที่จะรับแรงงานต่างชาติจำนวน 5 แสนคน ทำให้มีความเป็นไปได้ ที่แรงงานต่างชาติจะพาครอบครัวมาอาศัยในญี่ปุ่น แต่คนงานก็ต้องทำงานมาแล้ว 5 ปี คนงานที่ทำงานได้ดีและเรียนภาษาญี่ปุ่นสามารถทำงานได้ถึง 10 ปี แต่ญี่ปุ่นก็อาจกดดันให้แรงงานพวกนี้ กลับประเทศก่อนที่จะได้สิทธิพักอาศัยถาวร

ครูอาสาสอนภาษาญี่ปุ่นให้แรงงานต่างชาติ ที่มาภาพ : https://www.japantimes.co.jp/news/2018/07/20/national/politics-diplomacy/japan-eyes-accepting-foreign-workers-manufacturing-industry/#.W3DSG84zbIU

สู่นโยบายโมเดลเกาหลีใต้?

การเปลี่ยนแปลงนโยบายแรงงานต่างชาติทำให้มีการคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นกำลังล้มเลิกนโยบายที่เข้มงวดต่อแรงงานอพยพ เพราะญี่ปุ่นมีความสามารถในการรับมือกับแรงงานอพยพ แต่ญี่ปุ่นก็ยังขาดนโยบายชัดเจนที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ในอนาคต ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นใช้นโยบายทางสายกลาง คือรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น แต่ยังปฏิเสธช่องทางที่แรงงานจะอาศัยได้ถาวร

บทความของ Foreign Affairs กล่าวว่า นโยบายที่เป็นไปได้ของญี่ปุ่นคือ โมเดลเกาหลีใต้ ที่ในปี 2006 เกาหลีใต้ยกเลิกวีซ่าแรงงานฝึกงาน และนำเอาระบบการอนุญาตทำงาน (EPS-Employment Permit System) มาใช้แทน ระบบ EPS มีขึ้นมา เพื่อใช้กับการจ้างแรงงานต่างชาติชั่วคราว ระบบนี้ถือว่า คนงานต่างชาติเป็นแรงงาน ไม่ใช่ผู้ฝึกงาน คนงานต่างชาติมีสิทธิในฐานะลูกจ้าง และได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงาน รวมทั้งการโอนสัญชาติของแรงงานต่างด้าว หากญี่ปุ่นใช้โมเดลของเกาหลีใต้ ก็จะทำให้ระบบแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่นมีมาตรฐานมากขึ้น

แต่บทความ Foreign Affairs กล่าวว่า จากนโยบายที่เป็นอยู่ ทำให้ญี่ปุ่นเดินไปบนเส้นทางเดียวกันกับชาติอาหรับ คือทั้งแรงงานมีฝีมือและไร้ฝีมือยังถูกกีดกันออกจากสังคม ในกรณีพิพาทแรงงานหรือการละเมิดสิทธิ แรงงานไร้ฝีมือไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย หากญี่ปุ่นเดินต่อไปในเส้นทางนี้ ก็จะกระทบชื่อเสียงของญี่ปุ่น ที่เป็นหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยเสรี

เอกสารประกอบ
Is Japan Becoming a Country of Immigration? Yunchen Tian and Erin Aeran Chung, August 02, 2018, Foreign Affairs.