ThaiPublica > เกาะกระแส > “ทศพร ศิริสัมพันธ์” กับโจทย์ใหม่สภาพัฒน์ ปั้น future team เป็น “Think Tank” ของประเทศ

“ทศพร ศิริสัมพันธ์” กับโจทย์ใหม่สภาพัฒน์ ปั้น future team เป็น “Think Tank” ของประเทศ

11 สิงหาคม 2018


ตึกสุริยานุวัตร สัญลักษณ์ของสภาพัฒน์

กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 69 แล้ว สำหรับ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” หรือสภาพัฒน์ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2493 เริ่มต้นจากเป็น “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” มีหน้าที่เสนอความเห็นและคำแนะนำตลอดจนข้อชี้แจงต่อรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนที่ภายหลังธนาคารโลกเสนอแนะให้ปรับเปลี่ยนและเพิ่มบทบาทหน้าที่ของ “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ให้มากขึ้นและจัดตั้งเป็นหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

ดังนั้นในปี 2502 จึงได้มีการปรับโครงสร้างการทำงานและเปลี่ยนชื่อของหน่วยงานแห่งนี้ใหม่เป็น “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” จนกระทั่งในปี 2515 ได้นำกระบวนการวางแผนพัฒนาสังคมเข้าร่วมเป็นคู่ขนานกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และกลายเป็นสภาพัฒน์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่า “สภาพัฒน์” จะมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศจากการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ โดยได้จัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” มาแล้วกว่า 12 ฉบับ ได้นำพาประเทศให้หลุดพ้นจากประเทศยากจนมาสู่ประเทศรายได้ปานกลาง

ในระยะหลังบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของสภาพัฒน์เริ่มถูกตั้งคำถามจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ายังทำหน้าที่เป็น “มันสมอง” ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหรือไม่ และจำเป็นต้องปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปีนี้อีกครั้งหรือไม่

การโยกย้ายครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 คณะรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเห็นชอบให้ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ย้ายจากเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สภาพัฒน์ คนที่ 16 ของประเทศ

การโยกย้ายในลักษณะนี้ไม่ปรากฏบ่อยครั้งนัก ที่ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมีพื้นเพมาจากนอกสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่ผ่านมามีเพียงนายสุนทร หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการคนแรก ที่จบอักษรศาสตร์ และนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคนที่ 9 ที่จบมาทางรัฐศาสตร์ เช่นเดียวกับ ดร.ทศพร คนล่าสุด

โดยมติครม.ในวันนั้น ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลสภาพัฒน์ได้อธิบายถึงการโยกย้าย พร้อมทั้งสะท้อนถึงนัยแห่งการปฏิรูปสภาพัฒน์ครั้งนี้ว่า

“สภาพัฒน์จริงๆ แล้วถือว่าเป็นหน่วยงานสำคัญ เป็นเหมือนปลัดของปลัดกระทรวง เป็นมันสมองของประเทศที่ต้องวางแผนเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนหน่วยราชการต่างๆ ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีภาระงานต่างๆ มากขึ้นมาตลอด ล่าสุดคือดูเรื่องแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ รวมๆ แล้วหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าสภาพัฒน์ต้องไปเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการต่างๆ ของประเทศเกือบ 700 คณะ ดังนั้นเราถึงต้องปฏิรูปปรับองค์กรใหม่ บางท่านอาจจะมองว่า ดร.ทศพรอาจจะไม่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมากนัก แต่ต้องบอกว่าโจทย์ใหญ่ตอนนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ เพราะช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจก็ดีขึ้นต่อเนื่อง ปีนี้คาดว่าจะโต 4% ซึ่งต่างจาก 2-3 ปีที่แล้ว ดังนั้น โจทย์ปัจจุบันนี้จะเน้นไปที่การจัดระบบราชการใหม่ เรื่องอนาคตของประเทศ ซึ่ง ดร.ทศพรมีความเชี่ยวชาญจากการทำงานที่ ก.พ.ร. ส่วนด้านเศรษฐกิจก็จะอาศัยคนของสภาพัฒน์ดูแลต่อไปได้”

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ปรับรูปแบบเป็น”สภา” ดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมสภาเป็นครั้งๆ

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวถึงบทบาทและการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปว่า ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ….  ได้ผ่านการพิจารณาของ ครม. แล้วและอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยการปรับองค์กรครั้งนี้จะเริ่มต้นจากปรับรูปแบบจาก “คณะกรรมการ” จำนวน 15 คน ซึ่งประกอบด้วยประธานคณะกรรมการ 1 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางเศรษฐกิจและสังคมที่ ครม. เป็นผู้แต่งตั้ง ไม่เกิน 9 คน และหัวหน้าส่วนราชการโดยตำแหน่ง 5 คน ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

มาเป็น “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ประกอบด้วยประธานสภา 1 คน  กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 15 คน และให้ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการ ก.พ.ร. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการสภาโดยตำแหน่ง และให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

“นอกจากการปรับปรุงรูปแบบขององค์กรให้มีจำนวนมากขึ้น อีกด้านจะมีกลไกคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในแต่ละด้านด้วย ทำหน้าที่ยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและเสนอต่อสภาพิจารณาโดยต้องมีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รวมไปถึงทางสภาสามารถเชิญกรรมการพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมเป็นกรรมการประชุมเป็นครั้งๆ ไปได้ ตรงนี้ก็จะเป็นเหมือนการวางตำแหน่งใหม่ให้สามารถขับเคลื่อนสภาไปได้อย่างคล่องตัวแและเหมาะสมที่สุด”

ตั้ง “Think Tank” ทำหน้าที่มองอนาคตสุดขอบฟ้า

ดร.ทศพรกล่าวต่อไปว่า สิ่งต่อไปที่คิดว่าจำเป็นสำหรับสภาพัฒน์คือการมีสถาบันวิจัยทำหน้าที่วิเคราะห์วิจัยเป็นมันสมอง หรือ think tank ให้กับประเทศ ซึ่งปัจจุบันคิดว่าจะจัดตั้งเป็น “สถาบันนโยบายสาธารณะ” โดยจะแปรญัตติในการพิจารณาร่างกฎหมาย วาระที่ 2 ของ สนช. ให้สถาบันฯ นี้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแทน ถ้าหากทำไม่ได้อาจจะจัดตั้งเป็นมูลนิธิภายใต้สำนักงาน คล้ายกับสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“หน้าที่หลักของสถาบันนี้คือการวางแผนเพื่อมองภาพระยะไกลของประเทศ เพราะโลกที่ปั่นป่วนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่มองอนาคต มองแนวโน้มใหม่  เรียกว่าสแกนสุดขอบฟ้า คือ horizontal scanning ปัจจุบันเราจะขาดหน่วยงานแบบนี้ จริงๆ สภาพัฒน์ก็คิดมาเป็นปีกว่าแล้ว พอได้เข้ามาก็คิดว่าต้องสานต่องานนี้ให้สำเร็จ”

สำหรับบุคลากรจะเน้นไปที่เด็กรุ่นใหม่ๆ รวมไปถึงอาจารย์หรือนักวิชาการ ประมาณ 20-30 คน ซึ่งจะไม่ยึดติดกับระบบราชการ และตั้งใจให้เป็นเหมือนแหล่งรวมแนวคิดใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ๆ เป็นเหมือนห้องทดลองนโยบายที่จะตอบโจทย์ประชาชนได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือรถยนต์ขับเคลื่อนเองได้ สถาบันก็ต้องมองว่าต่อไปถ้าเกิดขึ้นมาจะทำอย่างไร ถ้าเกิดไปชนคนใครจะรับผิดทางกฎหมาย หรือใบขับขี่จะต้องมีหรือไม่ อย่างไร สถาบันจะต้องเตรียมข้อมูลเตรียมปรับแก้ไขกฎหมาย

“ถามว่าทำไมสภาพัฒน์ไม่ทำเองก็ต้องบอกว่างานประจำที่ทำอยู่ก็ค่อนข้างมาก เพราะตอนนี้สภาพัฒน์ก็ต้องทำหน้าที่เลขานุการของแผนยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปด้วย ดังนั้น ถ้ามีสถาบันใหม่ขึ้นมาก็จะช่วยได้ นอกจากนี้ คนของสภาพัฒน์เองอาจจะต้องเข้ามาฝึกฝนงานวิจัยพวกนี้ด้วย เพื่อให้มีวิสัยทัศน์มองไปข้างหน้าได้ โดยต่อไปอาจจะใส่เป็นเงื่อนไขของการเติบโตของราชการก็ได้ อย่างนักเรียนทุนตอนนี้ก็มีเรียนอยู่ 10 กว่าคน และ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็ได้มา 50 คน ส่วนนี้ก็จะมาเป็น future team ของสภาพัฒน์ต่อไป”

วางแผนแม่บทยุทธศาสต์ชาติ

ดร.ทศพรกล่าวต่อไปว่า งานสำคัญหลังจากที่ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปแล้วคือการจัดทำแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสภาพัฒน์จะต้องเป็นหน่วยงานหลัก ล่าสุดช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็ได้เริ่มต้นเชิญกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนก่อนหน้านี้เข้ามาร่วมประชุมหารือแล้ว และคิดว่าจะแบ่งเรื่องยุทธศาสตร์จาก 6 ด้านหลักออกเป็น 37 เรื่องย่อย เช่น ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ก็อาจจะแบ่งเป็นด้านท่องเที่ยว ด้านเกษตรกรรม ฯลฯ และในกลุ่มนี้ก็จะแยกย่อยลงไปอีก เช่น เกษตรแปรรูป เกษตรอัตลักษณ์เชิงพื้นที่

“ตรงนี้ท่านนายกฯ ได้สั้งให้เปิดเหมือนเป็นค่ายทำงานเฉพาะขึ้นมาทำแผนงานร่วมกัน เพราะแผนยุทธศาสตร์มันก็จะมีส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ อย่างความมั่นคงกับความมั่นคงด้านพลังงาน มันเหมือนกันหรือไม่ คำตอบก็คือต้องคิดร่วมกัน ต้องทำงานร่วมกัน อีกสัปดาห์ข้างหน้าก็จะเริ่มทยอยเปิดค่ายทำงานกันคิดว่า 2-3 เดือนจะแล้วเสร็จ เพราะต้องรีบจัดทำให้เสร็จภายในปีงบประมาณ 2563″

ทั้งนี้ กรอบเวลาของการจัดทำคาดว่าภายในกันยายน 2561 ก่อนจะเริ่มรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย ซึ่งจะเน้นไปที่คนรุ่นใหม่ๆ เพื่อดูว่ามีความเห็นอย่างไรกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้ หลังจากนั้น คิดว่าช่วงปลายกันยายน 2561 จะจัดงานเปิดตัวแผนแม่บทและรับฟังความคิดเห็นใหญ่อีกครั้งจากประชาชนทั่วไป

วางแผนพัฒนาพื้นที่ – เล็งจัดตั้ง “ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้”

ดร.ทศพรกล่าวต่อว่า อีกแผนงานหนึ่งที่คิดว่าสำคัญคือการวางแผนพัฒนาภาคหรือการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันกำลังมุ่งเป้าไปที่ภาคใต้ว่าจะสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจภาคใต้มักอ้างอิงอยู่กับเพียง “การเกษตร” และ “การท่องเที่ยว” ซึ่งในกรณีแรกมักจะต้องเผชิญความผันผวนตลอดเวลา ขณะที่กรณีหลังค่อนข้างกระจุกตัวในบางพื้นที่เท่านั้น

“สภาพัฒน์ก็มองว่าจะทำอย่างไรดี เมื่อศึกษาในพื้นที่ก็พบว่าจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือภาคใต้ตอนล่างสุด 5 จังหวัดก็จะมีปัญหาความมั่นคงอยู่ รัฐบาลก็พยายามแก้ไขอย่างเต็มที่ ขึ้นมาหน่อยในส่วนตอนกลางจะพบว่ามีการท่องเที่ยวที่ดีมากในช่วงชายฝั่ง ขณะที่เข้ามาในพื้นดินก็จะมีการเกษตรเป็นหลัก แต่พอมาตอนบนกลับพบว่ายังมีปัญหาคือเป็นเหมือนเมืองขับรถผ่านของคนทั่วไป เราก็ตั้งเป้าว่าจะหาทางพัฒนากลุ่มนี้ก่อน อย่าง ระนอง ชุมพร ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น ต่อไปก็จะเป็นภาคใต้ตอนกลางที่จะมีปัญหาเรื่องของการเกษตรที่ผันผวน”

สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบนคิดว่าจะเริ่มพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างมากและสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเมียนมาได้ สามารถพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวชายฝั่งร่วมกันได้อย่างดี นอกจากนี้ จะสร้างรถไฟเชื่อมต่อระนองชุมพร ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภาคได้ ขณะที่ภาคใต้ตอนกลางในส่วนของภาคเกษตรที่มีปัญหาก็จะเน้นการแปรรูปและสร้างนวัตกรรม อย่างปาล์มน้ำมันก็คิดว่าสามารถแปรรูปได้หลากหลายและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เช่น การสกัดวิตามินอี หรือการแปรรูปเป็น polychlorinated naphthalene (PCN) ซึ่งใช้เป็นฉนวนสายไฟฟ้า เนื่องจากมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายคลึงกัน โดยสารตัวนี้มีมูลค่าสูงถึง 80,000 บาทต่อตัน เพราะจากเดิมที่ต้องผลิตจากการกลั่นน้ำมันดิบเท่านั้น ปัจจุบันก็มีภาคเอกชนกำลังวิจัยอยู่และหากทำได้ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มของเกษตรกรปาล์มน้ำมันได้อย่างมาก

ดร.ทศพรกล่าวสรุปว่า” นี่คือแผนงานของสภาพัฒน์ในอนาคต เล่าให้ฟังในเบื้องต้นก่อนเพราะเพิ่งเริ่มขับเคลื่อนอยู่ แต่คิดว่าช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้าอาจจะมาพูดคุยอีกครั้ง และคิดว่าจะมีรายละเอียดมากขึ้นในหลายๆ ด้าน”