ThaiPublica > คอลัมน์ > Non-Fiction Diary อดีตซ้ำรอย

Non-Fiction Diary อดีตซ้ำรอย

11 สิงหาคม 2018


1721955

คดีฆาตกรรมต่อเนื่องสุดเขย่าขวัญ เกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์ห้างถล่ม และสะพานขาดพินาศ อันมีผู้เสียชีวิตมากมาย ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในเมืองหลวงของเกาหลีใต้ ช่วงยุค 90 เหตุการณ์เหล่านี้ที่ไม่น่าจะเชื่อมโยงกันได้ กลับถูกมองเห็นด้วยสายตาน่าทึ่งของ ชองยุนซอก ที่เขาย้อนไปตั้งคำถามกับบรรดาผู้เกี่ยวข้อง แล้วปะติดปะต่อจนกลายเป็นสภาพสังคมเกาหลีใต้ที่ “ความเจริญ” นำมาซึ่งความคับแค้นเกรี้ยวกราด!

Non-Fiction Diary(2013) คว้ารางวัล NETPAC อะวอร์ด (สำหรับหนังเอเชียยอดเยี่ยม) จากเทศกาลหนังเบอร์ลิน และสารคดียอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังปูซาน ตัวหนังหยิบเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สังคมเกาหลีจะไม่มีวันลืมในช่วงยุค 90 อันเป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงหลังจากปี 1988 ที่บรรดาเผด็จการทหารทั้งหลายถอยทัพออกไป ไม่เข้ามาจุ้นจ้านกับการเมืองอย่างยุคที่แล้วๆ มา เปิดทางให้เกาหลีใต้เข้าสู่ยุคเสรีทางการค้า

ในสมัยประธานาธิบดีจากฝ่ายพลเรือนคนแรก คิมยองซัม (1993-1998) ผู้เป็นที่รู้กันว่าเขาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตลอด 30 ปีก่อนหน้านี้ และเป็นศัตรูทางการเมืองตัวฉกาจ ของประธานาธิบดีจอมเผด็จการทหาร พักจองฮี (หรือ ปักจุงฮี) รวมถึงมีส่วนในการกวาดล้างอดีตประธานาธิบดีจากสมัยรัฐบาลทหารอีกสองคนคือ ชอนดูฮวาน และโนห์แทวู มิหนำซ้ำ คิมยังนิรโทษกรรมแก่นักโทษทางการเมืองอีกหลายพันคน ซึ่งส่วนหนึ่งถูกจับกุมในเหตุการณ์ เรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจูมาตั้งแต่ปี 1980 ก่อนจะเข้าสู่ยุควิกฤติทางการเงินในเอเชีย (หรือวิกฤติต้มยำกุ้งในบ้านเรา) เมื่อปี 1997 อันนำไปสู่การเข้ามาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ให้เงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของ 3 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ ไทย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย

Non-Fiction Diary เปิดเรื่องด้วยภาพการจับกุมแก๊งวัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า แก๊งชิจอน (แปลว่า สูงสุด หรือสุดยอด) ในเดือนกันยา 1994 ปณิธานของแก๊งนี้คือ ‘ฆ่าคนรวย’ พวกเขาจะลักพาตัวบรรดาไฮโซแต่งตัวหรูหรามีเงินถุงเงินถัง เพื่อไปเรียกค่าไถ่แพงๆ จากทางครอบครัว โดยไม่ว่าครอบครัวเหยื่อจะยอมจ่ายค่าไถ่มากเพียงใด สุดท้ายเหยื่อจะถูกทรมานสาหัสผิดมนุษย์แล้วฆ่าทิ้งอยู่ดี แถมหนึ่งในแก๊งยังนิยมกินเนื้อมนุษย์ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้แข็งแกร่งและกล้าหาญขึ้น พวกเขาก่อคดี 5 ราย โดยฆาตกรทั้งหมดไม่มีใครสำนึกผิด หนึ่งในนั้นประกาศกับสื่อด้วยว่า “เรื่องเดียวที่ผมเสียใจคือการที่จะไม่ได้ฆ่าคนรวยมากกว่านี้อีกแล้ว”

เพียงหนึ่งเดือนหลังการจับกุมแก๊งชิจอน ก็เกิดเหตุการณ์สะพานรถข้ามซ็องซูในโซลพังทะลายลง ซึ่งน่าจะมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 32 คน ถัดจากนั้นอีกแปดเดือน อาคารห้าชั้นของห้างสรรพสินค้าซัมปุงในโซล ก็เกิดถล่มลงมาทั้งหลัง คร่ากว่า 502 ชีวิตในพริบตา และมีผู้บาดเจ็บอีกเกือบพันคน

ความเชื่อมโยงของสามคดีนี้คือการที่มีเจ้าพนักงานระดับบิ๊กคนเดียวกัน คือ หัวหน้าผู้กำกับ โกบุงชุน เป็นเจ้าของคดี ซึ่งเป็นพยานในที่เกิดเหตุขณะห้างซัมปุงถล่มด้วย ตัวผู้กำกับชองตามไปสัมภาษณ์บรรดาคีย์หลักของเหตุการณ์เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงหัวหน้าผู้กำกับโก พัศดีผู้ดูแลนักโทษ และบรรดานักการเมืองทั้งหลายในสมัยนั้น

ห้างซัมปุงถล่ม

ชองให้สัมภาษณ์ว่า “กลางยุค 90 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับสังคมเกาหลี และการเรียนรู้เกี่ยวกับการเมือง หลังจากเผด็จการทหารถอยตัวออกไปจากการเมือง ผลักดันให้เกาหลีไปสู่ช่วงเวลาแห่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมยุคใหม่ ในหลายๆ ทางมันคล้ายๆ กับเศรษฐกิจแบบชาตินิยมสมัยนิยมมาร์กาเรต แทตเชอร์ ในอังกฤษ กับสมัยนิยมโรนัลด์ เรแกน ในอเมริกา”

“ในช่วงเวลาสั้นๆ ของยุคสมัยนั้น มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างสูง ผู้คนจำนวนนิดหน่อยรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่คนอีกมหาศาลกลับยากจนลง และถูกทอดทิ้งอย่างไม่ไยดี นำพาไปสู่จุดแตกหักของการประท้วง ประเทศเปิดช่องทางธุรกิจใหม่ๆ มากมาย แต่ขณะเดียวกัน พวกผู้ดีชั้นสูงกลับยังคงอยู่ในขั้วกระแสอนุรักษนิยมอย่างสุดโต่งมากขึ้น ดังนั้น ในปี 1997 เมื่อประเทศไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องจ่ายหนี้ตัวเองให้กับ IMF อย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่รายได้ของประชาชนทั้งสังคมมีความเหลื่อมล้ำกันสูงมาก จึงกลายเป็นกระแสความคิดที่ส่งผลกระทบต่อๆ กันมาเป็นทอดแห่งยุค 90 ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคงส่งผลกระทบมาจนทุกวันนี้ในสังคมเกาหลี”

เดิมทีผู้กำกับชองไม่ได้วางแผนที่จะทำสารคดีเรื่องนี้เอาไว้ก่อนเลย เพราะจริงๆ แล้วเขาตั้งใจจะทำหนังอาร์ต ชองให้เหตุผลว่า “เผอิญผมได้พบกับหัวหน้าผู้กำกับตำรวจคนในหนัง ผมเลยเปลี่ยนคอนเซปต์ใหม่หมดและเปลี่ยนมาทำหนังสารคดีแทน ตำรวจคนนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นผู้ไล่ล่าจนจับตัวแก๊งดังกล่าวได้ แต่เขายังอยู่ในเหตุการณ์ที่ห้างซัมปุงถล่มด้วย เขาคือผู้ลากเหตุการณ์ที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกันมาเชื่อมโยงกัน เขาได้กล่าวต่อสื่อว่าสมาชิกแก๊งได้รับความทุกข์ทรมานจากโทษประหาร แต่คนที่ควรจะรับผิดชอบต่อกรณีตึกถล่มกลับลอยนวล

ปัจจัยสำคัญที่ตอกย้ำแนวความคิดของสังคมยุคนั้นคือ การอภัยโทษในปี 1997 ต่อสองเผด็จการทางทหาร ชองดูฮวานและโนห์แทวู ต่อข้อหาอาชญากรรมมากมายที่พวกเขาก่อขึ้นกับเพื่อนมนุษย์ในสมัยยังคงดำรงอำนาจอยู่ ซึ่งทีแรกชองดูฮวานถูกตัดสินประหารชีวิตก่อนจะลดโทษมาเป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนโนห์แทวูถูกจำคุก 22 ปี 6 เดือน และต่อมาลดโทษเหลือ 17 ปี แต่แล้วทั้งคู่กลับได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดีคิมยองซัม ให้ออกจากคุกในเดือนธันวาคม 1997 อันส่งผลให้ผู้คนทั้งสังคมยิ่งคับแค้นและเกรี้ยวกราดขึ้นเรื่อยๆ

อดีตประธานาธิบดีชองดูฮวานและโนห์แทวูได้รับอภัยโทษ

ชองยุนซอกให้ความเห็นไว้ในสูจิบัตรหนังเรื่องนี้ว่า “อดีตไม่ได้เป็นแค่อดีต มันวนกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า มันส่งผลต่อปัจจุบันขณะของเรา ถ้าเราเปลี่ยนปัจจุบันไมได้ อนาคตก็จะเป็นอันตรายเหมือนที่มันเคยเกิดขึ้นในอดีต”

หมายเหตุ: หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในโปรแกรม “The Non-fiction Diaries of Jung Yoon-Suk” ของ Doc Club ซึ่งตัวผู้กำกับชองยุนซอกได้มาร่วมพูดคุยกับผู้ชมด้วย ในวันที่ 4-5 สิงหาคม ติดตามรายละเอียด ที่นี่