ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > 135 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย จาก “ตู้แดง” สู่ “พี่ตู้…รู้ทุกเรื่อง”

135 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย จาก “ตู้แดง” สู่ “พี่ตู้…รู้ทุกเรื่อง”

10 สิงหาคม 2018


ข่าวประชาสัมพันธ์

ปัจจุบันในยุคที่การสื่อสารเป็นอย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว เพียงแค่พิมพ์แชทในแอปฯไลน์ (Line Application) หรือวิดีโอคอล (Video Call) ก็ช่วยให้การสื่อสารทางไกลเป็นใกล้ได้ง่ายๆ หากย้อนไป 135 ปีที่ผ่านมา การสื่อสารระหว่างคนที่ห่างไกลกัน มีเพียงการส่งจดหมายหรือโปสการ์ด ผ่าน “ตู้แดง” ของไปรษณีย์ไทย

ตู้แดงเสน่ห์เหนือกาลเวลา

ปี 2426 ตู้ทิ้งหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดของไทย กรมไปรษณีย์สยามได้รับมอบเป็นของขวัญ จากประเทศเยอรมนี ในโอกาสที่เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม ลักษณะตู้จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมและเป็นโลหะหล่อทั้งชิ้น ในสไตล์วิคตอเรียน

ปี 2428 ตู้ไปรษณีย์แบบแขวน กรมไปรษณีย์ได้ผลิตตู้ไปรษณีย์ขึ้นใช้เอง เป็นแบบที่ทำด้วยไม้และโลหะแผ่น

ปี 2454 ตู้เหล็กทรงกลม หล่อด้วยโลหะทั้งตู้ สั่งเข้ามาใช้งานในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 มีด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่นที่สั่งทำมาจากประเทศอังกฤษ และรุ่นที่สั่งทำมาจากประเทศสิงคโปร์

ปี 2469 ตู้ไปรษณีย์สมัยรัชกาลที่ 7 ผลิตขึ้นใช้เองในประเทศ หล่อด้วยซีเมนต์หนาประมาณ 20 เซนติเมตร

ปี 2477 ตู้ไปรษณีย์สมัยรัชกาลที่ 8 ตู้หล่อซีเมนต์ โดยใช้รูปทรงและขนาดเดียวกับตู้ในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่แตกต่างกันเล็กน้อยตรงบริเวณส่วนบนของตู้ และตราครุฑที่ปีกจะกางเหยียดตรง

ปี 2496 ตู้ไปรษณีย์สมัยรัชกาลที่ 9 ตู้หล่อซีเมนต์ทรงกรงนก มีขนาดเล็ก และเสาสูง ใช้ในพื้นที่ที่มีปริมาณงานน้อยในส่วนภูมิภาค สร้างขึ้นเพื่อใช้งานในสมัยต้นรัชกาลที่ 9

ปี 2514 ตู้ไปรษณีย์แบบ ข. ตู้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง ทำด้วยโลหะแผ่น ลักษณะเดียวกับตู้ไปรษณีย์แบบ ก. แต่ต่างกันที่มีช่องใส่ไปรษณียภัณฑ์เพียงช่องเดียว ใช้งานในพื้นที่ที่มีจำนวนไปรษณียภัณฑ์น้อย โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค

ปี 2516 ตู้ไปรษณีย์แบบ ก. ตู้ทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ทำด้วยโลหะแผ่นขึ้นรูปฐานเป็นซีเมนต์หนา มีช่องใส่ไปรษณียภัณฑ์ 2 ช่อง สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมลฑล กับปลายทางในภูมิภาคหรือต่างประเทศ ติดตั้งตามชุมชนที่มีปริมาณงานมาก

ปี 2520 ตู้ไปรษณีย์แบบ ค. ตู้โลหะขนาดเล็ก มีเสาสูง ส่วนบนของตู้จะมีลักษณะโค้งมน ตั้งบนฐานซีเมนต์หล่ออย่างหนา ใช้งานในพื้นที่ที่มีจำนวนไปรษณียภัณฑ์น้อยในภูมิภาค

ปี 2546 – ปัจจุบัน ตู้ไปรษณีย์แบบ ก.

ตู้แดง…แปลงโฉมสู่ “พี่ตู้รู้ทุกเรื่อง”

อย่างไรก็ดี ในยุคที่ไลฟ์สไตล์ของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ไปรษณีย์ไทย จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันโลกยุคดิจิทัล ผ่านการพัฒนาตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะยุค 4.0 “พี่ตู้…รู้ทุกเรื่อง” ที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ประชาชนและนักท่องเที่ยว ด้วยการให้บริการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร แหล่งของฝาก ผลิตภัณฑ์ของชุมชน รวมถึงที่ทำการไปรษณีย์ในแต่ละพื้นที่ เพียง ‘สแกนคิวอาร์โค้ด’ เพื่อยกระดับให้ตู้ไปรษณีย์เป็นศูนย์ข้อมูลในยุคดิจิทัล และกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้มีความไหลเวียนมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ สำหรับตู้ไปรษณีย์สีแดงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ประชาชนยังสามารถใช้บริการส่งจดหมาย และโปสการ์ด ได้ตามปกติ พร้อมทั้งมีพี่หนุ่มไปรษณีย์ หรือ บุรุษไปรษณีย์ คอยทำหน้าที่ไขตู้ไปรษณีย์ตามเวลาที่กำหนด เพื่อนำมาจดหมายต่างๆ มาส่งต่อเข้าระบบ และนำจ่ายยังพื้นที่ปลายทางตามที่ระบุไว้ใน “จ่าหน้า” เพื่อให้สามารถนำส่งจดหมายและโปสการ์ดดังกล่าว ถึงมือผู้รับปลายทางได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว