ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ผู้ว่า ธปท. หนุน “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” กับคำถาม “เราปล่อยให้ปัญหาต่างๆ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”

ผู้ว่า ธปท. หนุน “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” กับคำถาม “เราปล่อยให้ปัญหาต่างๆ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”

23 กรกฎาคม 2018


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Bangkok Sustainable Banking Forum” ในหัวข้อ “Sustainable Banking: The World Wins Banks Win” ว่า “งาน Bangkok Sustainable Banking Forum จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ถึงความสำคัญและพัฒนาการของ ‘การธนาคารเพื่อความยั่งยืน’ (sustainable banking) งานสัมมนาในวันนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องการธนาคารเพื่อความยั่งยืนจะมาเล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถึงเรื่องที่ได้ทำ บทเรียน ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ งานในวันนี้เป็นอีกหนึ่งงานสัมมนาสำคัญที่จัดขึ้นตลอดทั้งปีในวาระครบรอบ 75 ปี ของธนาคารแห่งประเทศไทย”

ในปี 1987 สหประชาชาติ (UN) ได้ให้นิยามคำว่า sustainable development หรือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่าหมายถึงการพัฒนาที่ตอบโจทย์ของคนในยุคปัจจุบันโดยต้องไม่ลดทอนความสามารถในการดำรงชีวิตของคนในอนาคต หรือคนในรุ่นข้างหน้า แนวคิดนี้ได้กลายเป็นหลักสำคัญของแนวทางการพัฒนาหลายเรื่องทั่วโลก แต่เรากลับพบว่าหัวใจของหลักคิดเรื่องความยั่งยืนซึ่งได้แก่ “ความพอประมาณ” “ความรับผิดชอบ” และ “การมองระยะยาว” ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมและสื่อมากนัก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการเงิน คงเป็นเพราะเรามักให้ความสำคัญกับเครื่องชี้ระยะสั้นๆ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละปี กำไรของผู้ถือหุ้น ราคาหุ้น หรือเงินโบนัสที่ผู้บริหารและพนักงานจะได้รับ เรามักเห็นว่าอะไรก็ตามที่จะช่วยให้เครื่องชี้ระยะสั้นเหล่านี้ปรับสูงขึ้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรทำ โดยลืมไปว่าการมุ่งเน้นแต่ผลในระยะสั้นๆ จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว ธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อมั่นว่า การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน จะต้องอาศัยการมองไกลมีเป้าหมายของการพัฒนาในระยะยาวที่ถูกต้อง ในปีที่ผ่านมา เราเห็นพัฒนาการของภาคการเงินการธนาคารในทิศทางของความยั่งยืนนี้หลายมิติ เช่น

มิติแรก การยกระดับกฎเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อเพิ่มความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การยกระดับกฎเกณฑ์ที่ดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรม (market conduct) เกณฑ์เพื่อยกระดับธรรมาภิบาลของผู้บริหารของสถาบันการเงิน รวมถึงกรอบจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่สมาคมธนาคารไทยได้จัดทำขึ้น

มิติที่สอง เราได้ร่วมกันจัดตั้ง “โครงการคลินิกแก้หนี้” ขึ้น เพื่อช่วยลูกหนี้บุคคลที่สุจริตที่มีหนี้กับเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งปกติแล้วไม่มีทางที่จะเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายได้ โครงการคลินิกแก้หนี้นี้จะช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสหลุดจากวังวนปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว

มิติที่สาม เราได้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางในภาคการเงินเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น รวมทั้งเตรียมเศรษฐกิจไทยให้พร้อมกับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล หนึ่งในเรื่องสำคัญ คือ “ระบบพร้อมเพย์” ซึ่งช่วยให้ประชาชนโอนเงินได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด

พัฒนาการเหล่านี้ได้ทำให้ประสิทธิภาพของระบบการเงินโดยรวมดีขึ้น ช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนฐานรากเข้าถึงบริการทางเงินได้ดีขึ้น ในราคาที่ถูกลง และตรงกับความต้องมากขึ้น รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาหลายเรื่องที่ค้างอยู่ในระบบการเงินไทย มาตรการเหล่านี้ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าภาคการเงินการธนาคารจะสามารถร่วมกันตอบโจทย์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยในระยะยาว

แม้ว่างานหลายอย่างจะก้าวหน้าไปมาก แต่เราไม่ควรหยุดหรือพอใจกับความสำเร็จที่ผ่านมา ยังมีอีกหลายเรื่องที่พวกเราสามารถร่วมกันทำได้และต้องทำ เพราะสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายหลายด้าน ถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว ก็ยากที่จะแน่ใจได้ว่า สังคมไทยจะพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนปัญหาและความท้าทายหลายด้านทำให้เราต้องฉุกคิด และตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” ซึ่งในวันนี้มี 4 เรื่องที่ผมอยากพูดถึง

เรื่องแรก คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าเราเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจเข้มแข็งและกระจายตัวดีขึ้น ขณะที่ภาครัฐก็มีมาตรการหลายเรื่องเพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนที่มีรายได้น้อย แต่ประเทศไทยยังติดอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่องความเหลื่อมล้ำ แทบจะไม่น่าเชื่อว่า คนรวยที่สุดร้อยละหนึ่งแรกของประเทศเป็นเจ้าของทรัพย์สินมากกว่าคนอีกครึ่งของทั้งประเทศรวมกัน นอกจากนี้ การขาดความรู้ทางการเงินและหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้คนไทยจำนวนมากขาดความมั่นคงทางการเงินและปิดกั้นโอกาสใหม่ๆ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทำให้คนในระดับฐานรากยากที่จะยกระดับฐานะทางสังคมของตน และเป็นปัญหาที่สร้างความเปราะบางให้สังคมไทย และทำให้นโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบได้รับความนิยม ทั้งๆ ที่นโยบายประชานิยมเหล่านี้ใช้งบประมาณสูง ไม่ยั่งยืนในระยะยาว และสร้างภาระให้คนในช่วงอายุต่อไป

เรื่องที่สอง คือ ปัญหาผลิตภาพแรงงานที่ลดลง มองไปข้างหน้าการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้แรงงานในวัยทำงานลดลง การเพิ่มผลิตภาพจะสำคัญมากสำหรับทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ ที่ผ่านมานโยบายส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะสั้น มากกว่ามุ่งที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ระบบการศึกษาของเราไม่ช่วยยกระดับทักษะความสามารถของคนไทยให้มีผลิตภาพสูงขึ้น ถ้าเราไม่ช่วยกันปฏิรูปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว เราต้องถามว่าประเทศไทยจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในอนาคตได้อย่างไร

เรื่องที่สาม คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเราละเลย ขาดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการดูแลระบบนิเวศอย่างเหมาะสม การที่คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคเกษตร และยังต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการทำมาหาเลี้ยงชีวิต การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญลำดับต้นๆ ยากที่จะปฏิเสธว่า การกระทำที่ขาดความรับผิดชอบของเรา ไม่ว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระดับที่สูงมาก หรือการใช้พลาสติกจำนวนมหาศาลโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ มีส่วนทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรวมแย่ลง ทุกท่านเห็นการเปลี่ยนแปลงของปัญหาโลกร้อน ซึ่งทำให้โลกเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น บทเรียนจากน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 เป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้เห็นถึงผลจากการตัดไม้ทำลายป่า การพัฒนาที่กีดขวางทางน้ำธรรมชาติ และปัญหาทางระบายน้ำอุดตันจากขยะที่เราทิ้งโดยไม่รับผิดชอบ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่สะท้อนถึงความไม่ใส่ใจของเราในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานที่ชี้ว่า ประเทศไทยกำลังถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ของโลก หรือการที่สารกำจัดวัชพืชพาราควอตยังถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ถูกห้ามใช้ใน 48 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ด้วย

เรื่องที่สี่ คือ ปัญหาคอร์รัปชัน การคอร์รัปชันอย่างแพร่หลายเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว การติดสินบนและการเอื้อพวกพ้องเป็นต้นทุนแฝงที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินชีวิตของพวกเราทุกคนแพงขึ้นและสร้างความบิดเบือนให้กับระบบเศรษฐกิจ นโยบายที่มุ่งหวังเพียงผลทางการเมือง หรือมุ่งเพียงแค่หาผลประโยชน์ส่วนตนโดยขาดความรับผิดชอบ จะสร้างภาระให้คนในช่วงอายุต่อไป ทำให้คนไทยในอนาคตขาดทรัพยากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาและการดำรงชีพ แม้ว่าเราจะร่วมกันรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์เรื่องนี้กลับไม่ดีขึ้น

ในภาคการเงินก็มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เข้าข่ายการฉ้อฉลคอร์รัปชัน เช่น การใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การปั่นหุ้น การฟอกเงิน หรือ การขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ลูกค้าโดยไม่ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา พฤติกรรมฉ้อฉลคอร์รัปชันเหล่านี้ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงิน รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องยกระดับการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณของกรรมการและผู้บริหารสถาบันการเงิน และการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม

ถามว่า “เราปล่อยให้ปัญหาต่างๆ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรามักคิดเอาเองว่า จะมีคนอื่นลุกขึ้นมาแก้ปัญหาหรือไม่ก็คิดว่าการแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคนอื่น แต่แท้ที่จริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข

“ผมคิดว่าพวกเราในภาคการเงินการธนาคารมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมในวงกว้าง เพราะภาคการเงินการธนาคารทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ คือ “ทรัพยากรทางการเงิน” (หรือ “ทุน”) แม้ว่าที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีในหลายเรื่อง แต่ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เราสามารถช่วยกันทำ และต้องทำให้มากขึ้นด้วย เพื่อที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้สังคมไทยพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อลดปัญหาการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสม ลดพฤติกรรมฉ้อฉลคอรัปชัน และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม

การนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินการธนาคาร ไม่ใช่เพียงเพื่อจะช่วยแก้ปัญหาของส่วนรวมและนำพาพวกเราไปสู่สังคมที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สถาบันการเงินที่นำหลักคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจในหลายมิติด้วย เช่น

มิติแรก แนวคิดเรื่องความยั่งยืน และการมองไกลอย่างรอบด้าน จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว การที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนได้ส่งผลให้สังคมมีความคาดหวังสูงขึ้นต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนมาตรฐานเรื่องต่างๆ สถาบันการเงินใดที่นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ก่อน ก็จะสามารถตอบโจทย์ความคาดหวังที่สูงขึ้นของสังคมและลูกค้าได้เร็วกว่าคนอื่น และจะกลายเป็นผู้สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จะมีผลต่อรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคต จะสามารถทำธุรกิจได้อย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในหลายมิติ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และความเสี่ยงด้านชื่อเสียง

มิติที่สอง สถาบันการเงินที่บริหารธุรกิจตามหลักความยั่งยืน จะสามารถดึงดูดและรักษาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถให้มาร่วมงานด้วยได้ดีกว่ามาก โดยเฉพาะคนรุ่น Millennial ซึ่งชอบที่จะทำงานในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และสร้างผลกระทบให้แก่สังคม สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว ความพึงพอใจจากการทำงานไม่ได้มีเพียงผลตอบแทนในรูปตัวเงินเท่านั้น แต่จะต้องรวมถึงผลที่เกิดขึ้นต่อสังคมส่วนรวมด้วย

มิติที่สาม การนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืนมาใช้ จะเพิ่มโอกาสให้สถาบันการเงินเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น พัฒนาการของตลาดทุนโลกในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า การลงทุนของกองทุนและสถาบันต่างๆ จะนำมิติด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะการปฏิบัติดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น ประเมินกันว่าการลงทุนมากกว่า 1 ใน 4 ของสินทรัพย์ทั่วโลกขณะนี้เป็นการลงทุนที่ใช้เกณฑ์ด้านความยั่งยืน (ESG- Environment, Social, and Governance principles) ประกอบการตัดสินใจ

เวลานี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่เป็นผู้นำ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้บริหารสถาบันการเงิน ว่าจะนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ มากน้อยเพียงใด การจัดงาน Bangkok Sustainable Banking Forum ในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของหลักคิดเรื่องความยั่งยืน และการประยุกต์ใช้หลักคิดเรื่องความยั่งยืนในภาคการเงินการธนาคาร การที่ได้เห็นกรรมการธนาคาร และผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากสนใจมาร่วมงานในวันนี้ ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าพวกเราในภาคการเงินการธนาคารจะเป็นพลังสำคัญที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น ให้สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน เพื่อคนไทยในช่วงอายุต่อไป

ดร.วิรไทกล่าวย้ำว่า”ขอเชิญชวนทุกท่านให้ร่วมกันคิดและพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อย่างรอบคอบและรอบด้าน มุ่งมองผลในระยะยาว และที่สำคัญบริหารธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ลงมือช่วยกันทำในสิ่งที่พวกเรามีศักยภาพจะทำได้ ให้ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อที่ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะได้ไม่ต้องมาตั้งคำถามว่า “เราปล่อยให้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ธนาคารแห่งประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมเดินทางกับทุกท่านบนเส้นทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตของคนไทยรุ่นต่อไป”