ThaiPublica > คอลัมน์ > มาเป็น “ปีเตอร์ แพน” กัน

มาเป็น “ปีเตอร์ แพน” กัน

4 กรกฎาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/4/46/PeterpanRKO.jpg

ปีเตอร์ แพน ตัวละครเอกของวอลท์ ดิสนีย์ เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง ผู้ใหญ่และเด็กทุกวัยสนุกสนานกับเรื่องราวการผจญภัยของปีเตอร์ แพน เด็กวัยฟันน้ำนมผู้ไม่มีวันแก่ในเกาะมหัศจรรย์ หากดูเผินๆ อาจเห็นแต่ความสนุกสนานตื่นเต้น อย่างไรก็ดี มีแง่มุมชวนคิดสำหรับชีวิตอย่างน่าสนใจ

ปีเตอร์ แพน (Perter Pan) เป็นตัวละครเอกในหนังสือ ในละคร และต่อมาในภาพยนตร์การ์ตูนซึ่งสร้างหลายยุคหลายสมัย ผู้สร้างปีเตอร์ แพน ขึ้นมาคือนักเขียนนิยายและบทละครชาวสกอต ชื่อ J.M. Barrie (ค.ศ. 1860-1937) ในตอนต้นศตวรรษที่ 20

ตอนแรกสุด ปีเตอร์ แพน เป็นตัวละครในบทหนึ่งของหนังสือซึ่งมีชื่อว่า Perter Pan in Kensington Gardens ของนวนิยายผู้ใหญ่ชื่อ The Little White Bird (1902) เมื่อนิยายประสบความสำเร็จ ก็ดึงเอาบทนั้นออกมาเป็นหนังสืออีกเรื่อง ต่อมาเขียนเป็นบทละครและเอามาขยายเป็นนิยาย ตีพิมพ์ในปี 1911 ในชื่อ Peter and Wendy และเป็นต้นน้ำของภาพยนตร์การ์ตูนวอลท์ ดิสนีย์ ซึ่งเปิดตัวในปี 1953 และผลิตออกมาใหม่ๆ ตลอดต้นศตวรรษที่ 21 จนถึงเมื่อไม่นานมานี้

คงจำกันได้ถึงคู่อริตัวเอกของปีเตอร์ แพน คือ กัปตันฮุก เพื่อนที่ชื่อ Wendy Darling / Tinker Bell / The Lost Boys / The Crocodile (คู่อริของกัปตันฮุก เมื่อปีเตอร์ แพน ตัดมือกัปตันฮุก เจ้าจระเข้ก็โดดเข้างับและกลืนลงไปทั้งมือและนาฬิกาที่มีเสียงเดินดังจนไปที่ไหนก็รู้หมด)/ คู่อริ Mr.Smee ฯลฯ ใครที่จิตใจยังหนุ่มสาวคงนึกถึงความสนุกสนานกับปีเตอร์ แพน และมีความสุขเมื่อได้ยินชื่อเหล่านี้อีกครั้ง

เรื่องราวของปีเตอร์ แพน ก็คือการผจญภัยต่อสู้กันสนุกสนานกับโจรสลัด สิ่งวิเศษเชิงวิทยาศาสตร์ นางฟ้า อินเดียนแดง ฯลฯ บนเกาะวิเศษที่ชื่อว่า Neverland ซึ่งทำให้ตัว ปีเตอร์ แพน ไม่แก่ขึ้นเลย (ไมเคิล แจ็คสัน ตั้งชื่อที่ดินผืนใหญ่ของเขาว่า Neverland ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของเขาที่จะไม่แก่เพื่อเพลงของเขาจะมีทั้งคนทุกรุ่นที่เกิดมาแล้วและที่จะเกิดมาในอนาคตฟัง)

ผู้แต่งบอกว่า Neverland ก็คือเกาะที่อยู่ในใจของเด็กทุกคนตามจินตนาการที่แต่ละคนมี ไม่บอกว่าอยู่ที่ไหน แต่ดูเหมือนจะอยู่ในห้วงอวกาศที่แสนไกล มีพระอาทิตย์และพระจันทร์หลายดวงมากจนไม่อาจรู้เวลาได้ หากจะรู้เวลาจริงต้องฟังเสียงตีจากนาฬิกาในท้องเจ้าจระเข้ตัวที่กินมือและนาฬิกาของกัปตันฮุกเข้าไป (ฟังดูแล้วสนุกเหมือนนิยายแฮรี พอตเตอร์ ที่ตามมาในเวลาอีกประมาณ 100 ปี)

สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับเรื่องราวของปีเตอร์ แพน ก็คือ ในปัจจุบันมีผู้วิเคราะห์ว่าผู้แต่งคือ J.M. Barrie นั้นเป็นผู้เปิดประเด็นหลายเรื่องเกี่ยวกับความจำของมนุษย์ การนอนหลับ ความฝัน และการมีความตระหนักถึงสภาพที่ตนเองเป็นอยู่ (consciousness) ฯลฯ ก่อนที่จะมีการศึกษากันจริงจังในเวลาต่อมา

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia
/en/5/50/Peter_Pan_2003_film.jpg

Barrie คิดพล็อตเรื่องปีเตอร์ แพน ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก และเขียนตอนอายุประมาณ 40 ปี หลังจากที่เขาประสบความสำเร็จในฐานะผู้เขียนมีชื่อแล้ว เขามีเวลาอ่านศึกษาและมีประสบการณ์ชีวิตมาจนสามารถเอาศิลปะและวิทยาศาสตร์มาผสมกันออกมาเป็นเรื่องราวที่เด็กและผู้ใหญ่ติดใจ

Barrie เขียนบรรยายถึงการจัดเรียงสิ่งต่างๆ ที่พบในแต่ละวันให้เป็นระเบียบในสมองก่อนนอน และเมื่อตื่นขึ้นมาสิ่งลบต่างๆ ที่ประสบมาจะถูกทำให้เล็กลงและไปเก็บไว้ก้นบึ้งหัวใจ เกิดความสดชื่นมีความสุข ผู้เชี่ยวชาญปัจจุบันบอกว่าผลจากการสแกนสมองคนนอนหลับจะพบคลื่นความถี่ช้าในสมองระหว่างส่วนของสมองที่เรียกว่า hippo campus ซึ่งเกี่ยวพันกับความจำและ neo cortex ซึ่งอยู่บนผิวสมองซึ่งเก็บความจำระยะยาวไว้

การจัดระบบความจำในลักษณะนี้ก็หมายความว่าสมองของเราเอาความจำใหม่กับเหตุการณ์เก่าที่เกิดขึ้นมารวมกันเกิดเป็นเรื่องราวต่อเนื่องของชีวิตเรา กระบวนการนี้จะช่วยลดผลลบของความรู้สึกที่เกิดจากความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างวันซึ่งหมายถึงการขจัดประสบการณ์ที่ไม่ดีออกไป

Barrie เข้าใจกระบวนการดังกล่าวก่อนที่จะมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และพิสูจน์ได้ใกล้เคียงสิ่งที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะมาจากการสังเกต และจากประสบการณ์ชีวิตของผู้ตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อยังเป็นเด็ก

จินตนาการและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผสมผสานกันด้วยศิลปะการเขียนได้อย่างลงตัวและก่อให้เกิดจินตนาการอย่างกว้างขวางแก่เด็กอีกนับร้อยนับพันล้านคนในเวลาเกือบร้อยปีที่ผ่านมา เราจำปีเตอร์ แพน ในชุดเขียวมีหมวก บินได้และท่องไปใน Neverland ดินแดนที่อุดมด้วยสิ่งอัศจรรย์และความแปลกประหลาดอันแฝงไว้ด้วยวิทยาศาสตร์

ภาพยนตร์การ์ตูนที่จะมีคุณค่าแก่ความทรงจำของมนุษย์ได้ยาวนาน ต้องมิให้ความสนุกสนานแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากต้องมีสาระแฝงอยู่ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมาจากความรู้ ความรู้สึกสนุกสนาน และจินตนาการอันยิ่งใหญ่ของผู้เขียน

ตราบที่พวกเราทั้งหลายยังมีใจที่คึกคัก รักความสนุกสนาน รักชีวิต รักธรรมชาติ รักการเรียนรู้ สนใจความเป็นไปของโลกและชีวิต อีกทั้งปรารถนาให้คนอื่นมีความสุขเหมือนเรา ไม่ว่าเราจะมีอายุเท่าใดก็ตาม พวกเราก็จะเป็น “ปีเตอร์ แพน” เสมอ

ตีพิมพ์ครั้งแรก : คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 3 ก.ค. 2561