ThaiPublica > เกาะกระแส > “ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตผู้อำนวยการ WTO วิเคราะห์สถานการณ์สงครามการค้าโลก – ชี้อำนาจบริษัทข้ามชาติใหญ่เกินอำนาจรัฐบาลต่างๆแล้ว

“ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตผู้อำนวยการ WTO วิเคราะห์สถานการณ์สงครามการค้าโลก – ชี้อำนาจบริษัทข้ามชาติใหญ่เกินอำนาจรัฐบาลต่างๆแล้ว

4 กรกฎาคม 2018


ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก(WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD)

สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งจีน สหภาพยุโรป แคนาดาและเม็กซิโก ที่แต่ละประเทศต่างนำมาตรการทางภาษีมาใช้เพื่อตอบโต้ระหว่างกันในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้สร้างความวิตกอย่างมากถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกว่าอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอยอีกครั้งหลังจากที่เพิ่งครบรอบ 10 ปีแห่งวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2007-2008

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์กรการค้าโลก(WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนนอกรอบหลังจากปาฐกถาพิเศษในเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2561 ว่า การนำมาตรการทางภาษีมาใช้นั้นเป็นนโยบายถอยหลัง ไม่มีประโยชน์ต่อใคร เป็นการแสดงถึงความอ่อนแอของผู้ที่เริ่มต้นสงคราม และการใช้มาตรการภาษีเข้าไปจำกัดการค้ามีทำให้เกิดปัญหาและสงคราม ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1929-1930 ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) เนื่องจากมีการออกกฎหมายที่ชื่อ Smoot-Hawley Tariff Act เป็นกฎหมายที่ขึ้นภาษีที่รุนแรง ทำให้เศรษฐกิจโลกยิ่งตกต่ำไปกว่าเดิม เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตกต่ำจนเกิด The Great Depression ขึ้นมา ทำให้เยอรมนีต้องตัดสินใจทำสงครามอีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่มีเงินชำระหนี้ เงินเฟ้อสูงมาก และภาวะการณ์แบบเดียวกันนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกตอนนี้

“ผมคิดว่าประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยอย่าไปกลัว อย่าไปคิดเป็นห่วง เราทำของเราในทางที่ถูกเอาไว้ เรารักษา moral high ground ทำในสิ่งที่เป็นศีลธรรมที่ถูกต้องทางการค้า เราพยายามทำในสิ่งที่เปิดตลาดของเราให้เสรีและช่วยคนที่ถูกผลกระทบที่เสียหายจากการค้าเสรีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น คนสูญเสียงานไปเพราะผลกระทบจากการค้า ต้องช่วยกัน ในนโยยายต้องเปิดเอาไว้ และใครจะทำอะไรไม่ต้องสนใจ สักวันหนึ่งเขาต้องเลิกของเขาไปเอง” ดร.ศุภชัยกล่าว

ดร.ศุภชัยยกตัวอย่าง การขึ้นภาษีเหล็กของสหรัฐอเมริกาว่า อุตสาหกรรมที่เดือดร้อนที่สุดไม่ใช่อุตสาหกรรมในจีน แต่เป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐฯ เอง และในระยะต่อไปรถยนต์ในสหรัฐฯ ก็จะขายไม่ออก เพราะเหล็กที่เข้าในสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีราคาแพง เหล็กที่ผลิตในสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีคุณภาพดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในที่สุดอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ ซึ่งที่อยู่รอดได้ทุกวันนี้เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ เข้าไปอุ้ม และเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไปบอกคนอื่นว่าไม่ให้ทำ ประเทศอื่นเขาไม่ให้เข้าไปอุ้มอุตสาหกรรม ยกเว้นอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องว่าต้องดูแลอุตสาหกรรมอ่อนแอ แต่อุตสาหกรรมอ่อนแอก็ต้องปรับตัวเอง ซึ่งหากจะช่วยก็ต้องช่วยในการปรับตัวของแรงงานไม่ให้ตกงาน แต่อุตสาหกรรมที่เลี้ยงตัวเองไม่ได้ เพราะไม่มีความสามารถก็ต้องปล่อยไป

สหรัฐฯ เองดูแลอุตสาหกรรมกลุ่มหนึ่งแต่ละเลยอีกกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่ง เห็นจากการที่ปล่อยให้อุตสาหกรรมเหล็กปรับขึ้นราคา เพราะมองว่าต้องช่วยต้องอุ้มชูไว้ ขณะเดียวกันสินค้าอื่นจะตกต่ำ เช่น ถั่วเหลือง ที่จีนเป็นตลาดนำเข้าที่ใหญ่ของสหรัฐฯ จีนประกาศไปแล้วว่าจะเก็บภาษีถั่วเหลือง แม้ประเมินว่าจีนคงไม่ต้องการที่จะใช้มาตรการนี้นัก แต่เมื่อจีนลงมือดำเนินการจริง ตัดการซื้อ ลดการซื้อ และซื้อจากที่อื่นได้ เช่น บราซิลกับอเมริกาใต้ ก็จะทำให้ราคาถั่วเหลืองตก ซึ่งเวลานี้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (futures) ถั่วเหลืองราคา ดิ่งลง กลุ่มอุตสาหกรรมถั่วเหลืองและที่เกี่ยวข้องไม่พอใจ

“มาตรการจำกัดการค้าเพื่อจะไปใช้เป็นไม้ตีคนอื่น เป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง ประการที่หนึ่ง จะไปกระทบเศรษฐกิจภายในประเทศตัวเอง ประการที่สอง จะเกิดเงินเฟ้อในประเทศตัวเองมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ ประการที่สาม จะนำไปสู่การถูกฟ้องที่องค์กรการค้าโลกแล้วก็จะแพ้เหมือนกับที่ประธานาธิบดีบุชเคยแพ้ในกรณีการขึ้นภาษีเหล็กมาแล้วในประมาณ 10 ปีที่แล้ว และเมื่อแพ้ก็ต้องหยุดการใช้มาตรการเหล่านี้ เป็นการที่เสียหน้ามาก” ดร.ศุภชัยกล่าว

“แต่ขณะนี้สิ่งที่สหรัฐคิดว่าไม่แพ้ คือ การไปบล็อกที่ WTO ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาของคณะ Appellate Body หรือ องค์กรอุทธรณ์ มีหน้าที่พิจารณาตัดสินข้อพิพาท (Dispute Settlement) ซึ่งการที่ไม่มีการแต่งตั้งสมาชิก Appellate Body ใหม่ หมายความว่าหากมีเรื่องอะไรขึ้นมาก็ตัดสินไม่ได้ หมายความว่า WTO หมดเขี้ยวเล็บในการดูแลการค้าโลกในระบบที่ถูกต้อง”

ดร.ศุภชัยกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนกำลังใช้วิธีการแก้ปัญหาทั้งหมดด้วยการค้าเสรีตามที่ประเทศที่ร่ำรวยบอกให้ทำตามหลักของเศรษฐกิจ แต่ปรากฏว่า ประเทศกำลังพัฒนากำลังถูกตอบโต้มาในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจและทำให้เห็นว่าประเทศในเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องพยายามช่วยตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ผมไม่อยากเห็นสภาพการณ์นี้เกิดขึ้น เพราะโลกไม่ต้องการแบ่งแยก ต้องการความร่วมมือที่มากขึ้น แต่ขณะนี้ ถ้าประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาถูกกระทบครั้งแล้วครั้งเล่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (recession) ในปี 2007-2008 มาจากอเมริกาแต่มีผลกระทบทั่วโลก ประเทศที่ยากจนที่สุดจนปัจจุบันนี้ยังไม่ฟื้นตัว ประเทศในแอฟริกายังไม่ฟื้นแต่มาถูกผลกระทบใหม่ เพราะตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ตกต่ำลง เศรษฐกิจเจอภาวะ double recession ส่วนยุโรปซึ่งมีแต่วันจะเสื่อมถอยลง เกิดอาการสร้างการตอบโต้ด้านการปิดตลาดมากขึ้น แต่ไม่ใช่สงครามแต่เป็นการเอาเปรียบที่ทำให้รู้สึกว่าต่อไปเศรษฐกิจจะมืดมน”

เอเชียต้องจับกลุ่มขยายสมาชิก

ดร.ศุภชัยกล่าวถึงทางออกว่า มีเพียงทางเดียวคือ ประเทศในเอเชียที่กำลังรวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กลุ่มภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Mekhong sub-region) กลุ่มอนุภูมิภาค ACMECS (ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง) กลุ่ม RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาคที่เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับคู่ภาคีอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ต้องขยายสมาชิก อย่าเป็นกลุ่มปิด (close regionalism) เพื่อให้การค้าเป็นตัวแปรหนุนเศรษฐกิจต่อไป

“กลุ่มเหล่านี้ไม่ว่า AEC, ACMECS, RCEP มีความจำเป็น ไม่ใช่การเป็นการตั้งป้อมสู้กัน แต่มีความจำเป็นที่ว่าถ้าจะให้การค้าเป็นตัวแปรที่หนุนเศรษฐกิจต่อไป ก็ต้องเปิดให้มีการอำนวยความสะดวกทางการค้า และใช้ข้อตกลงที่ WTO เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องขยายสมาชิก อย่าเป็นกลุ่มปิด ใครอยากจะเข้ามาก็เข้ามา และหากสหรัฐฯ ต้องการเข้าก็เข้ามาได้ ฝรั่งเศสก็เข้ามาได้ แต่เราต้องเป็นแกนกลาง อย่าเป็นการนำโดยประเทศที่จะเอาเปรียบเรา แต่เราต้องเป็นแกนกลาง เพราะผลประโยชน์ของเราน้อยอยู่แล้ว และเรายากจนกว่า รวมทั้งต้องสนับสนุนโครงการ South-south Cooperation หรือความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนา” ดร.ศุภชัยกล่าว

ดร.ศุภชัยให้ข้อมูลว่า ได้ให้การสนับสนุน South-south Cooperation เมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่โครงการได้เงียบไป ขณะนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะนำมาใช้ใหม่ ประกอบกับเป็นข้อตกลงที่อังค์ถัดเข้าไปช่วยตั้งแต่แรก โดยในทวีปแอฟริกานั้นมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ ย่อยราว 10 กลุ่มแต่ไม่ค่อยทำงาน ต่างจากอาเซียน ขณะนี้ได้ตกลงกันว่า จะนำทุกกลุ่มมารวมเป็น Pan-African Economic Coordination ซึ่งได้ทำไปแล้ว

ดังนั้นเป็นโอกาสดีของอาเซียน หากข้อตกลง RCEP จบ ทั้งอาเซียน AEC ซึ่งได้เริ่มต้นคุยกันแล้ว ต้องมาพิจารณากันว่ามีโปรแกรมอะไรที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ แอฟริกามีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เอเชียมีเทคโนโลยีด้านการเกษตร ซึ่งเป็นสิ่งที่แอฟริกาต้องการมากมาย แอฟริกายังมีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทางการเกษตร ทั้งเอเชียและไทยช่วยได้มาก ถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างยิ่ง แอฟริกายังมีพื้นที่ดินเปิดกว้างที่ยังไม่ได้ใช้เท่าที่ควรเพราะระบบถูกทำลายไปจากโครงการ Structural Adjustment Program หรือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของธนาคารโลก ที่จัดทำโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว

ดันตั้ง ASIAN Monetary Fund ช่วยยามวิกฤติ

ดร.ศุภชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันการรวมตัวทางการเงิน (financial integration) ของเอเชีย โดยได้ร่วมมือกับอังค์ถัด เพราะต้องการเห็นแนวคิดริเริ่มเชียงใหม่(Chiang Mai Initiatives : CMI) โครงการการให้ความช่วยเหลือทางการเงินระดับภูมิภาคขยายวงกว้างขึ้น รวมประเทศสำคัญๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ออกมาเป็น ASIAN Monetary Fund ให้ได้ และกลุ่มนี้จะทำงานร่วมกันประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งขณะนี้มี Development Bank of South Africa จากแอฟริกาใต้ รวมทั้ง Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ที่ตั้งขึ้นใหม่ในจีน ที่น่าจะเป็นกลุ่มที่มาเชื่อมโยงเป็นแหล่งการเงินใหม่ที่จะทำเรื่องการเงินเพื่อช่วยป้องกันปัญหาวิกฤติการเงิน ไม่ใช่แบบที่ IMF ทำ

สิ่งที่ IMF ทำมีอย่างเดียวคือการใช้นโยบายรัดตัว พยายามชะลอเศรษฐกิจไว้ ไม่ให้ประเทศโต และให้ใช้เงินอย่างประหยัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่การใช้เงินที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องเป็นการประหยัดอย่างเดียว เป็นการใช้เงินที่ถูกต้องที่มีแนวคิดมีการทำที่ถูกต้องแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีทางทำได้ แต่หากบอกว่าไม่ให้ใช้เงิน และบอกว่าการมีงบประมาณที่เกินดุลมีการค้าที่เกินดุลนั้นหมายความว่าเก่ง ซึ่งจริงไม่ใช่แบบนั้น ไม่ถูกต้อง แต่ต้องมีเสถียรภาพ มีความสมดุล

ดิจิทัลชนวนความเสี่ยงโลกใน 10 ปี

สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อโลก ดร.ศุภชัยกล่าวว่า ชนวนที่จะทำให้เกิดวิกฤติในรอบใหม่มาจากเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรูปแบบของวิกฤติแบบนี้คือช่วงแรกจะดีก่อน เพราะเป็นปัจจัยที่สร้าง value chain ได้ สร้าง supply chain ได้ เป็นตัวที่ควบคุมเครือข่ายข้อมูลในโลกได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นไป เช่น cryptocurrency หรือเงินสกุลดิจิทัล ที่มีการซื้อขายในลักษณะหลักทรัพย์เช่นเดียวกับหุ้น และคงไม่ได้มาแทนที่เงินตราหรือเงินสกุลหลักของประเทศในเร็วๆ นี้ อาจจะเป็นไปได้ใน 10-20 ปีข้างหน้า แต่เรื่องอย่างนี้จะทำให้เกิดวิกฤติขึ้นมาได้

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดวิกฤติขึ้นได้ คือ การขยายตัวของของอุตสาหกรรมบริการอีคอมเมิร์ซ โดยองค์กรขนาดใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นอาลีบาบา อเมซอน เทนเซนต์ ที่ทำผลกำไรมหาศาลและนำเงินไปซื้อไปไปลงทุนในกิจการต่างๆ ไม่เฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงธุรกิจทางการเงิน การขนส่ง การคมนาคม ทุกอย่าง โดยที่ขณะนี้ที่ WTO ไม่มีระเบียบไม่มีกฎอะไรที่จะมาดูแลอีคอมเมิร์ซ

“ผมก็อยากจะให้อังค์ถัดเข้ามามาดูด้วยว่าบริษัทข้ามชาติหรือ multinational company อำนาจของบริษัทใหญ่เกินอำนาจของรัฐบาลต่างๆแล้ว ในเอเซียโดยเฉพาะอำนาจของบริษัทดิจิทัล (digital company) จากจีน ประเทศต่างๆ หรือโลกจะรับไหวไหม เนื่องจากแพลตฟอร์มพวกนี้ไม่ว่าเข้ามาในประเทศใด แม้จะโปรโมทสินค้าของประเทศนั้น แต่จะโปรโมทสิค้าจีนก่อน เพราะแพลตฟอร์มพวกนี้รัฐบาลจีนสนับสนุนให้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ต้น ให้การอุดหนุน ฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ต้องอุดหนุนคนของเขาก่อน” ดร.ศุภชัยกล่าว

สำหรับประเทศไทยที่อาลีบาบาเข้ามาทำธุรกิจและสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยนั้น ดร.ศุภชัยกล่าวว่า เชื่อว่าก็มีบ้าง แต่ที่บอกว่าจะมาแก้ปัญหาด้านราคาให้ก็อย่าเชื่อมากนัก และการที่ให้ความเห็นอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เลิก เพราะไทยชวนเขาเข้ามาลงทุน เขาก็ต้องเข้ามาลงทุน แต่ไทยต้องรู้ว่ามีอะไรรองรับหรือไม่ มีหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลหรือไม่ และเข้ามาแล้วมีการละเมิดกฎหมายการแข่งขันของไทยหรือไม่ ละเมิดกฎหมายแข่งขันของอาเซียนหรือไม่ ในอาเซียนอาลีบาบาคุมเครือข่ายอีคอมเมิร์ซแทบจะทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันนี้คุมโลจิสติกส์ อีกไม่นานคงคุมการชำระเงินหรือเพย์เมนต์ เพราะธุรกิจเพย์เมนต์ของอาลีบาบามีขนาดใหญ่มากในเวลานี้ และเพย์เมนต์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่นี้ นับว่าใหญ่บางธนาคารใหญ่ในโลกเสียอีก

ดังนั้นต้องมีเงื่อนไขมีระเบียบขึ้นมา ไม่ใช่ปิดกั้น ไม่ใช่ทำให้ธุรกิจไม่โต แต่ต้องโปร่งใสให้ธุรกิจในประเทศไม่เสียเปรียบ รวมทั้งการค้าปลีกทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต้องมีความสมดุลกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ระบบการค้าปลีกถูกควบคุมโดยคนต่างชาติอย่างเดียว และธุรกิจต่างชาติกำลังเข้ามามากเหลือเกิน ด้วยความยิ่งใหญ่ธุรกิจขณะนี้ ต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ไว้ด้วย

ก่อนหน้านี้ MoneyGram ซึ่งเป็นเพย์เมนต์ใหญ่ของสหรัฐฯ เกือบจะถูกอาลีเพย์ ฮ่องกง บริษัทในเครือ Ant Financial ของอาลีบาบาซื้อกิจการ ไปแล้ว แต่รัฐบาลได้บล็อกการซื้อไว้ ซึ่งจะเห็นว่า ลักษณะอย่างนี้ในโลกจะเกิดขึ้น เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีกำลังซื้อมาก ประกอบกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น อังค์ถัดน่าจะทำงานเรื่องพวกนี้มากขึ้น และนำกฎหมายการแข่งขันเข้ามาพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล คือ การควบคุมผู้บริโภค เพราะขณะนี้ได้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ดิจิทัลไปในทางใช้จ่ายอย่างมาก (commercialization excessive) มากกว่าการออม (financialization excessive) เนื่องจากเทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซทำให้ซื้อออนไลน์ได้ทุกเวลาจากทั่วโลก ด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะมีความสะดวก แต่อีกด้านมีแต่การจ่ายออกไม่มีการออม

“ลักษณะนี้เป็นสังคมของ commercialization ซึ่งเป็นสังคมของอเมริกาก่อนวิกฤติ แต่สังคมต้องเป็นสังคมที่มีความสมดุลระหว่างการจ่ายกับการออม ซึ่งเวลานี้เรากำลังลื่นไหลด้านการจ่ายอย่างเดียว”

ดร.ศุภชัยกล่าวว่า รัฐบาลไทยเองก็คงเข้าใจเรื่องเหล่านี้ กระทรวงที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าใจเรื่องพวกนี้และพยายามที่จะสร้างความเชื่อมโยงและขยายความเชื่อมโยงไปสู่ชนบท

นอกจากการคุ้มครองผู้บริโภค การควบคุมบริษัทใหญ่ที่เข้ามาแล้ว ยังต้องดูแลความไม่เสมอภาคความไม่เท่าเทียมด้านดิจิทัล คนไทยมีทั้งกลุ่มที่สามารถเข้าถึงข้อมูลมาก กลุ่มที่มีโทรศัพท์มือถือ กลุ่มที่ไม่มีเลยทั้งโทรศัพท์หรือข้อมูล ซึ่งปัจจุบันคนไทยใช้โซเชียลมีเดียมาก ซึ่งหากต้องการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ก็ไม่ให้ควรให้โซเชียลมีเดียมาเป็นตัว digitize เศรษฐกิจไทย หรือมาคุมเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

การปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลควรเป็นการนำดิจิทัลลงไปใช้กับภาคการเกษตรมากกว่า เช่น ใช้ดิจิทัลในระบบเซนเซอร์ การตรวจระดับน้ำ การใช้ปุ๋ย วัดค่าความเป็นกรดด่างของดิน กระทรวงที่รับผิดชอบต้องทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตร เพื่อให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วประเทศให้ได้ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น