ThaiPublica > คนในข่าว > “ทักษิณ” โฟนอินเผ็ด ถึงขั้นยุบพรรค เปิดศึก คสช. แตกหักชายชาติทหาร ทุบทิ้งเส้นทางไมตรี 12 ปี อ่อนข้อขอเจรจา 14 ครั้ง

“ทักษิณ” โฟนอินเผ็ด ถึงขั้นยุบพรรค เปิดศึก คสช. แตกหักชายชาติทหาร ทุบทิ้งเส้นทางไมตรี 12 ปี อ่อนข้อขอเจรจา 14 ครั้ง

2 กรกฎาคม 2018


นายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 อาศัยจังหวะก้าว วันคล้ายวันเกิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ปฏิบัติการโจมตี “พรรค-พวก คสช.” ที่กำลังเดินหน้าดูดอดีต ส.ส. และแกนนำเพื่อไทยเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ ที่คาดว่ามี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อยู่เบื้องหลัง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา “ทักษิณ” เชื่อมั่นทุกครั้งที่ส่งสัญญาณมาเมืองไทย ว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ เมื่อนั้นชนะแบบแลนสไลด์

แต่เมื่อ “พรรคพลังประชารัฐ” เดินหน้า คู่ขนาน “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ภายใต้เงาของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชื่อชั้นอดีตแกนนำเพื่อไทย อย่าง “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ก็ปรากฏตัวขึ้นคู่กับ “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” และคณะกว่า 83 คน หวังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า

เหนือสิ่งอื่นใด “สัญญาณ” การดูดอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี แกนนำ ฝ่ายเพื่อไทย ที่ถูกส่งต่อๆ กันคือ “มีผู้มีบารมี-อำมาตย์ใหม่” ร่วมกันเปิดไฟให้อาณัติสัญญาณ

ทำให้ “ทักษิณ” ฟิวส์ขาด-สุดขั้ว ใช้โอกาสวันคล้ายวันเกิดน้องสาว ส่งสัญญาณถึงทุกเครือข่าย ตัดขาด-แตกหัก กับคณะ คสช. และอดีตลูกพรรค-แปรพักตร์ อย่างเด็ดขาด

ถึงขั้นระเบิดคำในใจ “ถ้าเป็นชายชาติทหาร อย่าโกงเลือกตั้ง”

ทักษิณมักใช้ “สื่อ” ทั้งกระแสหลัก-กระแสรอง เป็นตัวส่งสัญญาณ ทั้งยุคที่ต้องการปรองดอง-เจรจา และยุคที่ต้องการเปิดสงคราม-หักโค่นฝ่ายตรงข้าม

ในรอบ 12 ปี “ทักษิณ” ใช้สารพัดเครื่องมือ ในการขอใบเบิกทาง-ตีตั๋ว กลับประเทศไทย ทั้งรูปแบบ “โฟนอิน” เข้าหาผู้มีอำนาจใน-นอกรัฐธรรมนูญ, การ “โฟนอิน” ทะลุเข้าห้องประชุมลับที่พรรคเพื่อไทย, การปล่อยข่าวผ่านอดีต ส.ส. ที่บินไปพบในประเทศต่างๆ, การให้สัมภาษณ์แบบ “ออฟเดอะเรคคอร์ด” กับผู้สื่อข่าวนิรนาม รวมทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ

ทักษิณ มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง กว่า 14 ครั้ง

ครั้งที่ 1 ในช่วงเดือนตุลาคม 2549 หลังรัฐประหาร 1 เดือน คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยา ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ โดยมีการประสานงานผ่าน พล.อ. อู้ด เบื้องบน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยในเวลาใกล้เคียงกันมีนานนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องการกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ด้วย ในครั้งนั้นมีแหล่งข่าวเปิดเผยว่า เป็นการเจรจาปรองดองระหว่าง “ชินวัตร” และฝ่ายอำมาตย์

ครั้งที่ 2 เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2552 พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กลับไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยอ้างว่าจะเป็น “โซ่ข้อกลาง” ในการเจรจาระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร กับตัวแทนของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองเพราะยังมีขบวนการล้มรัฐ ล้มทุน ล้มเจ้า แต่ในที่สุดก็ไม่เกิดการเจรจา กระทั่ง พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากพรรคในเวลาต่อมา

ครั้งที่ 3 ถัดจากบิ๊กจิ๋ว ร้อยโซ่ข้อกลางไม่ติด 1 เดือนถัดมา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 “ทักษิณ” โฟนอินผ่าน “เว็บไซต์ทักษิณไลฟ์” กรณีวิศวกรไทยถูกกัมพูชาจับกุม พร้อมยื่นมือ “อยากช่วยแก้ปัญหาประเทศ ขอให้รัฐบาลหยุดไล่ล่า เพราะจะทำให้เหนื่อยฟรี การส่งหนังสือขอผู้ร้ายข้ามแดนถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลกเขารู้ ไม่มีประเทศไหนเขาส่งตัวหรอก คดีที่กล่าวหาผมไม่ได้เป็นความผิดในประเทศใดๆ เลย เนื้อหาคำพิพากษาส่งไปให้เขาดู ก็เท่ากับประจานประเทศไทย เพราะเป็นคำพิพากษาที่แย่มาก ผมปฏิเสธที่จะขึ้น เพราะรู้ว่ามันเอียง”

ครั้งที่ 4 ทักษิณ เร่งเครื่องในเดือนถัดมา 20 ธันวาคม 2552 เขาทวีตข้อความ ถึง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่า “พร้อมพูดคุยด้วยเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง” โดยข้อความแรกระบุว่า “ฟังคำสัมภาษณ์คุณสุรยุทธ์แล้วไม่แน่ใจว่าพูดเองหรือได้รับอนุญาต? วันนี้สังคมไทยขัดแย้งกันมามากเกินไปแล้ว reconciliation เป็นเรื่อง long overdue มันเกินกว่าจะเป็นเรื่องของผมคนเดียวแล้ว จริงอยู่ผมอาจเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง แต่ขอให้ใจกว้าง และมองภาพกว้างของความเกี่ยวพันในความขัดแย้งที่เกิด” และ “ผมคุยกับท่านในฐานะรุ่นน้องที่พูดกับรุ่นพี่ และเป็นพลร่มเหมือนกันในระหว่างที่พี่เป็นนายกฯ ถึง 2 ครั้ง ว่า สมานฉันท์เปรียบเสมือนปรบมือข้างเดียวไม่ดัง”

ครั้งที่ 4 นี้ มีนายนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัว ขยายผลเพิ่มเติม ความต้องการของ “ทักษิณ” 3 ข้อ คือ 1. นำรัฐธรรมนูญ 2540 หรือมีเนื้อหาใกล้เคียงมาประกาศใช้ 2. ยุบสภา 3. มีการเลือกตั้งใหม่ ทุกฝ่ายทุกสีต้องให้สัตยาบันร่วมกันว่า ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง และไม่ไปดำเนินการใดๆ นอกสภาที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการบริหารประเทศเดินไปไม่ได้

ครั้งที่ 5 เกิดขึ้นก่อนวิกฤติการเมือง “พฤษภา 53” ในช่วงเดือนมีนาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ อดีต ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กับฝ่ายแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ น.พ.เหวง โตจิราการ เปิดการเจรจาครั้งแรก โดยฝ่ายเสื้อแดงขอให้ยุบสภาภายใน 15 วัน แต่การเจรจาก็ล้มเหลว โดยฝ่ายประชาธิปัตย์อ้างว่า “ฝ่ายทักษิณไม่ยอมรับข้อเสนอ” ของฝ่ายรัฐบาลในเวลานั้น และเป็นเงื่อนไขให้การเจรจาไม่สำเร็จ

ครั้งที่ 6 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 มีการเจรจาระหว่างฝ่าย ตัวแทนคนเสื้อแดง แกนนำหลัก นปช. อาทิ นายวีระ มุสิกพงศ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ที่บ้านนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา แต่การเจรจาล้มเหลว เพราะในวงเจรจาอ้างว่า “ทักษิณ” มีข้อเสนอขึ้นโต๊ะ

ครั้งที่ 7 ในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้ง 3 กรกฏาคม 2554 นายวัฒนา เมืองสุข และแกนนำพรรคเพื่อไทย อ้างว่ามีการเจรจาระหว่างฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร และตัวแทนของฝ่ายอำมาตย์เก่า โดยได้ตกลงกันว่าหากเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง จะมอบการตัดสินใจเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูงในกองทัพ ให้ยังคงอยู่ในอำนาจของกลุ่มอำมาตย์และเครือข่าย “ลูกป๋า” ในกองทัพ โดยเพื่อไทยจะไม่จัดทำโผ แต่ในการจัดคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และจัดโผกองทัพใหม่

ครั้งที่ 8 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม แสดงตัวต้องการเป็นเจ้าภาพ เดินสานเจรจาปรองดองกับทุกพรรค ทุกฝ่าย และอ้างว่ามีการเจรจาลับกับ ทักษิณ ชินวัตร

ครั้งที่ 9 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2554 มีการเจรจา ให้มีการจัดตั้งรัฐบาล 2 พรรคที่เป็นคู่ขัดแย้ง โดยมีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำของพรรคการเมืองที่เคยร่วมงานกับ ทักษิณ เช่น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา, นายบรรหาร ศิลปอาชา และ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา โดยระหว่างการเจรจา มีการต่อสายโทรศัพท์ตรงถึง ทักษิณ ชินวัตร ด้วย

ครั้งที่ 10 ในช่วงเดือนมกราคม 2556 นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี รับอาสาจะเดินสายเจรจาปรองดองกับทุกหัวหน้าพรรคการเมือง รวมทั้งกับ ทักษิณ ชินวัตร โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1. หาความจริง 2. การเยียวยาความถูกต้อง 3. การวางกติกาในอนาคตให้เป็นธรรม ไม่ใช่การตีความกติกาโดยใช้สองมาตรฐาน แต่ในที่สุดก็ไม่สามารตั้งวงเจรจา 3 ฝ่ายได้

ครั้งที่ 11 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2556 มีการเจรจาปรองดองอย่างไม่เป็นทางการ ในวันคล้ายวันเกิดของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรี เข้าอวยพรประธานองคงมนตรี ซึ่งมีรายงานข่าวว่า พล.อ. เปรม กล่าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าอยากเห็นบ้านเมืองมีความรักความสามัคคี โดยเฉพาะกองทัพจะต้องเป็นหนึ่งเดียว มีความสามัคคี ขอให้ทหารและกองทัพสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ในการทำงานเพื่อประเทศชาติ ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขอคำแนะนำในการปฏิรูปการเมือง เพื่อเจรจากับบุคคลสำคัญทางการเมืองร่วมหารือแลกเปลี่ยนความ คิดเห็น เพื่อหาทางออกให้กับประเทศชาติ

ครั้งที่ 12 ในช่วงเดือน มีนาคม 2557 มีกระแสข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่ามีการเจรจาลับ ระหว่าง ทักษิณ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับฝ่าย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. โดยฝ่าย กปปส. ยื่นข้อเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ฝ่าย “ชินวัตร” เว้นวรรคทางการเมือง แลกกับ กปปส. ยุติความขัดแย้งทางการเมืองและยุติการชุมนุม แต่ฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร ไม่รับข้อเสนอ

ครั้งที่ 13 ในช่วงเดือน เมษายน 2557 ก่อนการรัฐประหาร 1 เดือน มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างลับๆ ทั้งจากฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร กับอดีตรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย โดยมีนายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นตัวแทนเจรจากับตัวแทนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ และเจรจากับกลุ่มชนชั้นนำ ผ่านนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ และประสานงานรับข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะ เลขาธิการ กปปส. และรับข้อเสนอการปฏิรูปจาก นายคำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะตัวแทนของพันธมิตรฯ รวมทั้งพูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ขณะเดียวกัน ฝ่ายทหาร ผบ.เหล่าทัพ นายพลใน-นอกราชการ ได้ประสานงานผ่าน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ส่งสัญญาณการเจรจากับ ทักษิณ ชินวัตร มีเป้าหมายสร้างความปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม โดยฝ่าย ทักษิณ ยื่นข้อเสนอ หากได้กลับมาสู้คดี ต้องมีการกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในคดี “ยึดทรัพย์” แต่เงื่อนไขนี้ ไร้การตอบรับจากนายพลในเมืองไทย

ครั้งที่ 14 ทักษิณ ส่งสัญญาณผ่านสื่อต่างประเทศ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 เว็บไซต์ สำนักข่าวเดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความจำนง ในการเปิดการเจรจากับคณะ คสช.

“อย่ากังวลว่าผมจะคิดแค้น ผมไม่ได้ต้องการเงื่อนไขใดๆ เพื่อช่วยตัวผม แต่ถ้าท่านมีความตั้งใจที่จะให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ถ้าท่านตั้งใจที่จะคืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชนชาวไทย ท่านต้องมาพูดคุยกัน ผมเงียบมานานเกินไป ผมไม่ได้ใส่ใจกับสถานภาพของผม แต่ผมอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญมาเปลืองเวลา และเปลืองทรัพยากรบุคคล ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้สำหรับคนทั่วไป ยกเว้นตัวรัฐบาลเอง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประเทศไทยจะเดินถอยหลัง”

ในเวลาเดียวกัน เขาได้ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ ของอังกฤษ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ผมปิดปากเงียบมานานเกินไป จึงขอเสนอให้มีการเจรจากัน ผมพร้อมแล้วผมไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการเจรจา แค่ต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปได้ กลับคืนสู่ประชาธิปไตยเพื่อประชาชน”

นับเป็นครั้งสุดท้าย ที่ทักษิณ ยื่นไมตรีขอเจรจากับผู้มีอำนาจในเมืองไทย แต่เมื่อไม่มีสัญญาณตอบรับ จากเป้าหมายที่ทักษิณเรียก

ทักษิณ จึงเริ่มปฏิบัติการ เปิดฉากโจมตีผู้มีอำนาจในประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การแพ็คคู่ 2 อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ โฟนอิน จากลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 26 สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะ สั่งการ-จัดแถวใหม่เพื่อไทย ด้วยวาทะที่เผ็ดร้อนครั้งล่าสุด

กลายเป็นปฐมเหตุ ให้เกิด “คดียุบพรรค” อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 4 คดีที่ฝ่าย “ทักษิณ” ไม่เคยลิ้มรสชัยชนะแม้แต่ครั้งเดียว