ThaiPublica > เกาะกระแส > สมาคมการค้ายุโรปแนะไทย เสนอฟื้นเจรจา FTA ไทย – ปลดล็อก 8 อาชีพ ขยายเพดานลงทุน หลากประเด็นภาษีที่ขอให้แก้

สมาคมการค้ายุโรปแนะไทย เสนอฟื้นเจรจา FTA ไทย – ปลดล็อก 8 อาชีพ ขยายเพดานลงทุน หลากประเด็นภาษีที่ขอให้แก้

18 กรกฎาคม 2018


นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา
เอกอัคราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) จัดงานเปิดตัวหนังสือ 2018 European Business Position Paper ที่ได้รวบรวมข้อเสนอแนะจากประชาคมธุรกิจยุโรปในไทยผ่านคณะทำงาน 12 ชุด ด้วยเป้าหมายทต้องการให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้น

นายเปียร์กา ตาปิโอลา เอกอัคราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับสามของประเทศไทย และยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสามในประเทศไทย ในปี 2017 ปริมาณการค้ามีสูงถึงเกือบ 40 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 8.5% จากปี 2016 หรือมีสัดส่วนราว 10% ของภาคการบริการและการค้า

นอกจากนี้ ยังมีชาวยุโรปจากประเทศสมาชิกอียูเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากถึง 4.8 ล้านคน ซึ่งเทียบเท่ากับขนาดของประเทศสมาชิกอียูขนาดกลางบางประเทศทีเดียว หากวัดจากจำนวนประชากร และมีการเติบโตที่ดี ดังนั้นจึงมีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ เมื่อประเมินจากจำนวนเงินที่นักท่องเที่ยวเหล่านี้ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในไทย มีสัดส่วนถึง 20% ของรายได้การท่องเที่ยวของไทย

นักท่องเที่ยวยุโรปส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายที่สูงกว่า จึงมีผลบวกต่อธุรกิจในประเทศของไทย ประกอบกับนักท่องเที่ยวอียูมักชอบเดินทางแบบอิสระมากว่าที่ใช้บริการธุรกิจบริการท่องเที่ยว ซึ่งในรายงานที่นำเสนอครั้งนี้ข้อเสนอแนะเพื่อให้ไทยยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่ออียู เช่น เสนอให้มีการขอวีซ่าออนไลน์ ระบบภาษีนักท่องเที่ยว

ทางด้านการลงทุน ธุรกิจอียูมีการลงทุนในไทยรวมมูลเกือบ 30 พันล้านยูโร มีสัดส่วนราว 15% ของการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในไทย แต่ด้วยความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายไม่ใช่ความสัมพันธ์ทางเดียว จึงมีธุรกิจไทยไปลงทุนในอียูด้วย และอียูยังเป็นแหล่งลงทุนต่างประเทศใหญ่อันดับสองของไทย ในปี 2017 การลงทุนโดยตรงของไทยในอียูมีมูลค่า 4.7 พันล้านยูโร คิดเป็น 40% ของการลงทุนไทยในต่างประเทศ ถือว่าเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตต่อเนื่องโดยปี 2016 ในอัตรา 3.6% ปี 2017 ขยายตัวเกือบ 4% และปี 2018 ขยายตัว 4% และไทยยังมีการวางยุทธศาสตร์และหารือเพื่อการเติบโตต่อเนื่อง โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์นั้นคือ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ อียูและนักธุรกิจอียูสนับสนุนการปฏิรูปตามวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 แต่สิ่งที่สำคัญคือ การดำเนินการที่ทำให้มีการแข่งขัน กฎหมายและกฏระเบียบที่เท่าเทียม

“ผมขอแสดงความยินดีต่อรัฐบาลไทยที่ได้มีการปฏิรูปกฎหมายบางส่วนในปีที่ผ่านมา กฎหมายสรรพสามิต กฎเกณฑ์ศุลกากร กฎหมายการแข่งขันทางการค้า กฎระเบียบการจัดซื้อของรัฐ ซึ่งเราพร้อมรับทิศทางการปฏิรูปและรอการนำมาปฏิบัติ แต่เมื่อมองไปที่กฎหมายการทำธุรกิจของต่างชาติ เป็นเรื่องสำคัญที่เราสามารถที่จะทำธุรกิจในฐานะธุรกิจต่างชาติได้ โดยเฉพาะในโครงการ EEC ที่ต้องมีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน”

ขณะนี้การประสานงานความร่วมเป็นสิ่งสำคัญต่อการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานกฎหมาย อียูซึ่งรวมกันเป็นหนึ่งก็ต้องการตลาดที่อยู่บนพื้นฐานกฎหมาย สิ่งที่อยากเห็นจากไทยคือการดำเนินการที่มากขึ้นในการสนับสนุนการทำงานการประสานความริเริ่มต่างๆ เพื่อให้องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น เพื่อลดการกีดกันการคุ้มครองทางการค้าที่กำลังเพิ่มมากขึ้น

ความสัมพันธ์ไทยกับสหภาพยุโรปไม่เพียงถูกผลักดันจากการพัฒนาความทันสมัยเท่านั้น แต่ยังถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจจากอียู และมีความชัดเจนว่าธุรกิจอียูที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยต้องการที่จะเป็นพลเมืองดี (good corporate citizen) และมีความตั้งใจที่ดี มีความสนใจที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

Position Paper ประจำปี 2018 สะท้อนความตั้งใจของธุรกิจจากอียู ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงภาพรวม นโยบาย ข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อไทย ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนทางด้านนโยบายของรัฐบาลที่วางไว้ว่าจะยกระดับเศรษฐกิจไทยขึ้นไปสู่ high-valued economy และสหภาพยุโรปซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนี่ยวแน่น พร้อมที่จะสนับสนุน รวมทั้งเชื่อว่า Position Paper จะเป็นแนวทางให้ที่จะทำให้มีการดำเนินงานที่ดีขึ้น

“ผมในฐานะตัวแทนอียู ซึ่งได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว มีความมุ่งมั่นว่าจะไม่สานสัมพันธ์ทางด้านการเมืองเท่านั้น แต่จะยกระดับความสัมพันธ์ไทย-อียูไปอีกขั้นหนึ่ง”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ทางด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เชื่อว่า ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีของไทยและอียูในด้านการค้าการลงทุนจะพัฒนาไปอีก นอกจากนี้ การพัฒนาทางเทคโนโลยีและกฎหมาย ความเข้มแข็ง ศักยภาพในของธุรกิจอียูในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานต่างๆ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยภายในนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้ดี ในยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม 4.0

สิ่งที่กระทรวงได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การขับเคลื่อนไปสู่ e-Ministry ลดระยะเวลาการให้บริการจาก 27.5 วันเหลือเพียง 5 วันเท่านั้น เป็นการลดขั้นด้านเอกสาร ปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับธุรกิจรูปแบบใหม่ การให้บริการออนไลน์ รวมทั้งมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน เพื่อสร้างการแข่งขัน และโอกาสในการค้าและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการทุกระดับ ทั้งไทยและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีส่วนสนับสนุนการค้าการลงทุนของไทยกับอียูในอุตสาหกรรมที่เน้นความก้าวหน้า ภาคบริการเฉพาะ ที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น ยานยนต์ ดิจิทัล โลจิสติกส์ เฮลท์แคร์ หรือไบโอเทคโนโลยี ซึ่งความมุ่งมั่นของนโยบบายคือผลักดันความก้าวหน้า ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเปิดกว้าง ให้มีการแข่งขัน และไทยมั่นใจว่า การประสานงานและการมีความสัมพันธ์แบบสองทางอย่างใกล้ชิดระหว่างสมาคมการค้ายุโรปและหน่วยงานภาครัฐของไทย จะทำให้ไทยยังคงมีความน่าสนใจและเหมาะสมสำหรับการลงทุนใหม่และการแบ่งปันความรุ่งเรืองระหว่างกัน

เสนอฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู

นายคริสเตียน วิดมานน์ รองประธานสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ กล่าวว่า สมาคมฯ มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างบรรยากาศทางธุรกิจ อำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดของภาคธุรกิจยุโรปในประเทศไทย โดยได้จัดทำ Business Position Paper เป็นประจำทุกปี เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากภาคธุรกิจยุโรปในประเทศไทยครอบคลุม 12 สาขา

สมาคมการค้ายูโรปก่อตั้งปี 2554 ทำหน้าที่เป็นเวทีนำแสนอความเห็นของประชาคมธุรกิจยุโรปในไทย โดยมีสมาชิกกว่า 200 ราย

2018 European Business Position Paper ที่คณะทำงาน 12 ชุดได้ศึกษาประกอบด้วยภาพรวมธุรกิจและข้อเสนอแนะ โดยประเด็นหลักคือ เสนอให้มีการฟื้นการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-อียู (FTA) ระหว่างกันจากที่เริ่มไว้ในปี 2013 หลังจากที่การเจรจาได้ชะงักไปในปี 2015 จากสถานการณ์ทางเมืองของไทย โดยที่ประเด็นหลักของการเจรจาการค้าคือ การลดการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barrier) ลง รวมทั้งขอให้มีการเปิดเสรีภาคบริการ

ข้อเสนอแนะของสมาคมการค้ายุโรปโดยรวม ต้องการเห็นการทำงานอย่างใกล้ชิดของอียูและไทยประสานกันเพื่อผลักดันให้อันดับความยากง่ายของไทยในการจัดอันดับ Ease of Doing Business ของธนาคารโลกขยับขึ้นสูงไปอีกจากอันดับที่ 26 ในการจัดอันดับ Ease of Doing Business 2018 ขณะที่ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 38 ในด้านความสามารถในแข่งขัน

“ท่ามกลางความเชื่อมโยงของอาเซียนและการพัฒนาด้านดิจิทัล ความสามารถในการสร้างความน่าสนใจให้กับธุรกิจมาเปิดและดำเนินงานภายใต้กรอบกติกามีความสำคัญพอๆ กับความสามารถของประเทศในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลก กฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ ช่วยให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทยขยับจาก 49 มาอยู่ที่อันดับ 46 ในปี 2016 แต่ก็ยังต่ำกว่าอันดับที่ 18ในปี 2013 การกำกับดูแล ดังนั้น ไทยยังคงต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ รวมทั้งการมีต้นทุนการเงินที่ถูกสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี”

ทางด้านตัวแทนคณะทำงาน 12 ชุดได้นำเสนอภาพรวมอุตสาหกรรมและข้อเสนอแนะของทั้ง 12 อุตสาหกรรม ดังนี้ โดยตัวแทนคณะทำงานกลุ่มยานยนต์เสนอให้มีการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างกัน เพราะข้อตกลงเขตการค้าของไทยที่มีการลดอัตราภาษี เช่น JTEPA, AIFTA, ACFTA ซึ่งทำให้อัตราภาษีรถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้ามาทั้งคัน (completely built up) จากญี่ปุ่น อินเดีย จีน ลดลง และนำไปสู่การบิดเบือนทางการค้าและมีผลต่อประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจไทย

คณะทำงานกลุ่มยานยนต์ให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมยานยนต์มีการจ้างงานมากว่า 5 แสนคน มีสัดส่วนถึง 11% ของจีดีพี และมีการส่งออกในสัดส่วนถึง 5% การส่งออกรวมของประเทศ โดยเป็นการส่งออกรถปิคอัพและรถบรรทุก 3% การส่งออกชิ้นส่วนและอะไหล่มีสัดส่วน 7%

ข้อเสนอประเด็นภาษีนั้นเห็นว่า สิทธิพิเศษที่เดิมที่มีอยู่แล้วในเขตปลอดอากร (Custom Free Zone: CFZ) ควรให้คงไว้ แม้กฎหมายสรรพสามิตฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์มีการปรับลดอัตราจัดเก็บ เนื่องจากฐานภาษีได้เปลี่ยนมาใช้ ราคาขายปลีกแนะนำ (Manufcature Suggested Retail Price: MSRP)

อนึ่ง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีจะมีผลกับกรณีรถยนต์นำเข้าและรถยนต์ที่ผลิตในประเทศซึ่งใช้สิทธิ CFZ จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นบ้าง เนื่องจากฐานราคาเปลี่ยนไปมาใช้ MSRP จากเดิมที่ใช้ ราคา CIF ไม่รวมอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายศุลกากร

สมาคมการค้ายุโรปเสนออีกว่า การประเมินราคาแบบ MSRP นั้นควรใช้เงื่อนไขและมาตรฐานเดียวกันทั้งผู้ประกอบการนำเข้าอิสระ (grey market) และผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการนำเข้าที่ได้รับอนุญาต เพื่อให้มีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งระวังไม่ให้การประเมินราคาแบบ SRP มีผลกระทบต่อกลไกธุรกิจและกลไกตลาด

ขอปลดล็อก 8 ธุรกิจ – ขยายเพดานลงทุน

ตัวแทนคณะทำงาน Cross Sectorial Issue ให้ข้อมูลว่า ประเด็นที่ยังเป็นข้อจำกัดในการลงทุน ได้แก่ พ.ร.บ.การลงทุนของต่างด้าว ที่ควรผ่อนคลายให้มากขึ้น เนื่องจากมองว่าธุรกิจไทยมีความพร้อมที่จะแข่งขันในภาคบริการและภาคอื่นๆ และเชื่อว่าธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ดี

การเปิดเสรีภาคบริการ ไม่ใช่เพียงการขยายเพดานการถือครองของต่างชาติ แต่ยังมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับกติกา AEC ด้วย ได้แก่ การถือครองการลงทุนของต่างชาติ การเอื้อต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน ด้วยการปรับแก้ไขการขออนุญาตทำงานและการขอวีซ่าเพื่อการทำงาน รวมไปถึงการแก้ไขรายภาคธุรกิจและการการผ่อนคลายกฎระเบียบหรือการขออนุญาต ทำงาน ใบอนุญาตหรือกระบวนการอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้สอดคล้องกับกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS ) ที่มีเป้าหมายให้ต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วน 51%ในธุรกิจบริการทุกประเภท

สำหรับการที่ไทยปลดล็อก 10 อาชีพสงวน ให้ต่างด้าวทำได้ คือ 1. งานกรรมกร 2. งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญ 3. งานก่ออิฐ งานช่างไม้ 4. งานขายของหน้าร้าน 5. งานตัดผม ดัดผม เสริมสวย 6. งานทำที่นอน ผ้าห่มนวม 7. งานทำมีด 8. งานทำรองเท้า 9. งานทำหมวก 10. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกายนั้น สมาคมการค้ายุโรปมองว่าไม่ได้อยู่ในความสนใจของต่างชาติ และเสนอให้ปลดล็อกอาชีพต่อไปนี้แทน คือ 1. เกษตรกรรม 2. นายหน้าหรือโบรกเกอร์ 3. การประมูล 4. บัญชีและการตรวจสอบ 5. สถาปนิก 6. วิศวกรโยธา 7. ไกด์ทัวร์ 8. ที่ปรึกษากฎหมายเฉพาะกรณีมีข้อพิพาท

นอกจากนี้ ได้เสนอให้ขยายระยะเวลาการใช้ประโยชน์จากที่ดินด้วยการเช่าจาก 30-50 ปีออกไป เพราะระยะเวลาเดิมเป็นข้อจำกัดในการเจรจาเชิงพาณิชย์ระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้เช่า รวมทั้งควรมีการพัฒนากลไกที่เปิดให้ต่างชาติถือครองที่ดินเพื่อการพาณิชย์ได้ แม้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BoI) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สามารถอนุญาตให้บริษัทไทยที่ต่างชาติถือหุ้นใหญ่ถือครองที่ดินได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะมีคุณสมบัติที่จะได้รับการพิจารณา

พร้อมกับเสนอให้ทบทวนการถือครองการลงทุนต่างชาติที่กำหนดไว้ 49% ในโครงการคอนโดมิเนียม รวมทั้งทบทวนกฎระเบียบให้สามารถใช้เงินที่โอนมาจากต่างประเทศได้แทนที่จะเป็นเงินที่มาจากรายได้ในประเทศ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับปรุงแนวทางอนุญาตทำงานและให้ใบอนุญาตทำงานกับแรงงานที่มีทักษะกับไร้ทักษะที่แตกต่างกัน

หลากประเด็นภาษีขอให้แก้

ตัวแทนคณะทำงาน Cross Sectorial Issue ยังมีข้อเสนอในประเด็นภาษี เพื่อส่งเสริมให้ไทยมีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้น โดยเสนอให้ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย withholding tax การให้บริการ จาก 3% เป็น 1.5% และ ยกเลิกในที่สุดในทุกประเภทธุรกิจ เนื่องจากว่าแม้มีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างถาวรจาก 30% เป็น 20% แต่ธุรกิจยังต้องทำกำไร (profit margin) ให้ได้ถึง 15% มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า บริษัทมีการชำระภาษีมากเกินไป และท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันยากที่จะทำกำไรได้ถึง 15% ดังนั้น หากลดอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย ธุรกิจเพียงทำกำไร 7.5% ก็จะไม่ต้องตกอยู่ในสถานะที่ชำระภาษีมากเกิน และเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันด้วย

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษียังรวมไปถึงการเสนอให้มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการตรวจสอบภาษี เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎระเบียบที่กำหนดเวลาให้ชัดเจนลงไป บางครั้งมีการขยายการตรวจสอบภาษีอย่างไม่มีเหตุอันควร สร้างความไม่แน่นอนให้กับผู้ประกอบการ กรมสรรพากรควรมีกระบวนการพร้อมระยะเวลาที่แน่นอน เพื่อให้การตรวจสอบภาษีเสร็จสิ้นภายในระยะที่สมควร รวมทั้งเสนอให้ลดค่าปรับ 1.5% ต่อเดือนหรือ 18% ต่อปี เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้กับผู้เสียภาษี และยังเกิดมุมมองทางลบกับกรมสรรพากรว่า ขยายระยะเวลาตรวจสอบภาษีเพื่อต้องการเงินค่าปรับรายเดือน

ตัวแทนคณะทำงานยังเสนอให้ปรับระยะเวลาการจัดส่งรายงานภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากรายเดือนเป็นรายไตรมาส เพื่อลดภาระผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่มีข้อจำกัดด้านกำลังคนและมีภาระภาษีต่ำ ตลอดจนของให้การตีความกฎหมายของกรมสรรพากรมีความถูกต้องและสม่ำเสมอ เพราะที่ผ่านมามีหลายกรณีที่กรมสรรพากรมีการประเมินโดยไม่อยู่บนพื้นฐานกฎหมาย และการประเมินนั้นควรมีการทบทวนด้วยคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อให้การประเมินนั้นถูกต้องตามหลักวิชาการ

นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายและการใช้สิทธิประโยชน์บางครั้งไม่สอดคล้องกัน ตัวอย่างเช่น การขอใช้สิทธิหักค่าใช้ 300% สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนา แต่โครงการจะต้องผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบที่ชัดเจน และยังไม่กำหนดประเภทโครงการที่จะได้รับการพิจารณาอีกด้วย ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าการให้สิทธิประโยชน์ทางกฎหมายไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนการลงทุน การนำสิทธิประโยชน์ไปใช้และการได้ใช้สิทธิประโยชน์อย่างแน่ชัดจะทำให้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายที่ให้ไว้บรรลุเป้าหมาย

ข้อเสนอยังได้ขอให้ขยายระยะเวลาที่กิจการที่มีผลขาดทุนสุทธิทางภาษียกมาที่ยังไม่ได้ใช้ สามารถหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไร (ขาดทุน) ทางภาษีได้ในงวดปัจจุบันได้ จากไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันเป็นไม่เกิน 10 ปี เพื่อให้สิทธิภาษีของไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ที่เปิดให้ใช้ผลขาดทุนทางภาษียกไปได้เกินกว่า 5 ปี

นอกจากนี้ ขอให้ยกเลิกข้อกำหนดด้านสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศที่พนักงานประจำที่ปฏิบัติงานในบริษัทต้อง อยู่ในประเทศไทย รวมเวลาทั้งหมดถึง 180 วันในปีภาษี เพราะไม่ใช่ประเด็นทางธุรกิจสำหรับบริษัท อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่า พนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่แล้วภายใต้เงื่อนไขสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ Regional Operating Headquarters (ROH) สามารถนำระยะเวลาการทำงานที่ ROH มารวมกับ IHQ ได้หรือไม่ สำหรับบริษัทที่ได้ตั้ง ROH ในไทยอยู่แล้วและต้องการที่เข้าโครงการ IHQ ด้วย

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้คุณภาพมากขึ้น ทั้งการด้านให้คำแนะนำ การสังคายนาหรือการยกเครื่องกฎหมายทั้งระบบ ยกระดับระบบศาล ระบบการตัดสินใจโดยคณะอนุญาโตตุลาการ คณะกรรมกาคปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งอียูได้ให้ข้อเสนอแนะด้านการค้าและการลงทุนบนหลักพื้นฐานกติกาโลก

ข้อมูลของ Position Paper ระบุว่า ผลของการยกเครื่องกฎหมายตามตัวอย่างในประเทศอื่น โดยเกาหลีได้ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่มากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง ช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุนได้ถึง 4.4% ของจีดีพี เพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้ถึง 36.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการประเมินความยากง่ายในการทำธุรกิจ

การยกเครื่องกฎหมายในเวียดนามช่วยให้ภาคธุรกิจประหยัดต้นทุนได้ถึง 1.45 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่โครเอเชียธุรกิจประหยัดต้นทุนได้ 65.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และภาคธุรกิจในเคนยาประหยัดต้นทุนได้ 137 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

สำหรับข้อเสนอแนะในธุรกิจอื่น มีดังนี้

  • ธุรกิจประกัน

  • เปิดเสรีธุรกิจประกันภัย และเพื่อลดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเปิดเสรีคือ ความมั่นคงทางการเงินของผู้ให้บริการ ผลิตภัณฑ์และบริการต้องเป็นธรรมแก่ลูกค้า การเรียกร้องสินไหมต้องไม่ล่าช้า ผู้บริโภคไม่เสียเปรียบ เป็นต้น การเปิดเสรีประกันภัยยังช่วยให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้วยการให้ธุรกิจประกันภัยมีทุนที่เพียงพอ เพื่อให้รองรับการประกันภัยผู้บริโภคได้มากขึ้นและยังลดการพึ่งพา reinsurer ในต่างประเทศ ตลอดจนเสนอให้มีการยกเลิกการพิจารณาเบี้ยประกันโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และให้บริษัทประกันสามารถกำหนดเบี้ยประกันในแบบประกันได้ เพื่อให้พัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถนำเสนอขายได้ต่อเนื่อง และยังเป็นการพัฒนาผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน

  • ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

  • กฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ที่มีผลในวันที่ 16 กันยายน 2560 ที่ยังคงจัดเก็บภาษีทั้งในอัตราตามมูลค่าและอัตราตามปริมาณโดยปรับลดภาษีตามมูลค่าและเพิ่มอัตราภาษีตามปริมาณนั้น สมาคมการค้ายุโรปเห็นว่าไม่ได้สร้างการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า และยังไม่ช่วยแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สูง เนื่องจากสัดส่วนการเก็บภาษีอัตราตามมูลค่าและอัตราตามปริมาณไม่ห่างกันนัก โดยเหล้าขาวยังมีอัตราภาษีต่ำกว่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่น

  • ธุรกิจเอสเอ็มอี

  • สมาคมการค้ายุโรป เรียกร้องให้ไทยส่งเสริมให้พัฒนาช่องทางการเข้าถึงบริการการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น เพื่อให้มีโอกาสได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงิน และขอให้นำธุรกิจเอสเอ็มอีต่างชาติเข้าไปอยู่ในโครงการสมาร์ทเอสเอ็มอีด้วย ซึ่งสมาคมการค้ายุโรปสามารถให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการอุตสาหกรรมไทยในด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนยีขั้นสูง นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลไทยสนับสนุนเอสเอ็มอีในการวิจัยและพัฒนาด้วยมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีเนื่องจากบางโครงการต้องใช้เวลากว่าจะทำผลการดำเนินงานได้และผลการดำเนินงานที่ได้นั้นอาจจะไม่สูงพอที่จะเป็นกำไร