ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “อัษฎา หะรินสุต” มองอนาคตในวันที่ธุรกิจน้ำมันต้องปรับตัว “เชลล์” ประกาศเดินหน้าสู่ “พลังงานสะอาด”

“อัษฎา หะรินสุต” มองอนาคตในวันที่ธุรกิจน้ำมันต้องปรับตัว “เชลล์” ประกาศเดินหน้าสู่ “พลังงานสะอาด”

12 กรกฎาคม 2018


อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด

หลังจากที่ซีอีโอของเชลล์ระดับโลก Ben Van Beurden ออกมาประกาศสนับสนุนนโยบายของสหราชอาณาจักร ที่จะให้มีการเลิกจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนภายในปี 2583 พร้อมประกาศเดินหน้าพลังงานสะอาดเต็มตัว ถือเป็นการส่งสัญญาณสำคัญของบริษัทน้ำมันชั้นนำระดับโลกเกี่ยวกับ “ทิศทางของอนาคตพลังงาน” ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงความจำเป็นต้องปรับตัวของธุรกิจน้ำมัน

วันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ประกาศความเคลื่อนไหวในการเดินหน้าสู่ทิศทางของพลังงานสะอาดเช่นกัน โดยกลยุทธ์ “พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม” หรือ more and cleaner energy ถือเป็นกลยุทธ์ในระดับโลกที่มีเป้าหมายที่จะตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้มากที่สุด โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะถูกนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทความต้องการทางพลังงานและทิศทางการใช้พลังงานในแต่ละประเทศ

สำหรับที่มาของกลยุทธ์นี้นายอัษฎากล่าวว่า เกิดจากการมองไปข้างหน้าด้านพลังงานของเชลล์ โดยดูทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตทั้งในประเทศไทยและระดับโลกที่ยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นจาก 7.8 พันล้านคน เป็น 9.8 พันล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดความท้าทายสำคัญ คือ จะใช้พลังงานอย่างไรโดยคำนึงถึงการลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก

จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นมหาศาลอย่างแน่นอน แต่วันนี้เราเจอภาวะโลกร้อน จะทำอย่างไรที่จะใช้พลังงานสะอาด และทำให้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่เกิน 2 องศา นี่คือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะปัจจุบันยังไม่มีทิศทางที่แน่นอน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการใช้พลังงานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีรถยนต์เพิ่มขึ้นอีก 4 แสนคัน ซึ่งโจทย์หลักของประเทศคือ เราจะเพิ่มการใช้พลังงานโดยลดโลกร้อนไปในตัวได้อย่างไร

ทั้งนี้ เชลล์ได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ จึงกำหนดกลยุทธ์พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาพลังงานไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลที่จะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน 4.0,  การผลิตพลังงานทางเลือก, การลดผลกระทบจากโลกร้อน และการกระตุ้นให้ใช้พลังงานอย่างประหยัด ผ่านองค์ประกอบการดำเนินการ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

1. การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี  ประกอบด้วย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรในประเทศให้เป็นประโยชน์ เช่น นวัตกรรมด้านน้ำมันเชื้อเพลิงหรือน้ำมันเครื่องที่ช่วยหล่อลื่นให้เครื่องยนต์สะอาดมากขึ้น

การผลักดันพลังงานชีวภาพ หรือ biofuel เช่น การผลิตน้ำมันปาล์มแบบยั่งยืน หรือ RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) โดยดูแลตั้งแต่การปลูกให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้สารเคมีให้น้อยลง ไม่ทำอันตรายกับแหล่งน้ำ ปลูกให้มีผลิตผลต่อไร่เพิ่มขึ้น ลดผลกระทบที่จะต้องไปปลูกป่า ลดการใช้แรงงานเด็ก รวมทั้งการนำขยะเกษตรมาผลิตเป็นน้ำมันเอทานอล สนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ที่ใช้เอทานอล 100% แทนแบตเตอรี่ไฟฟ้า เป็นต้น

2. การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน  ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคสังคม เพราะความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านพลังงานจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐในเชิงนโยบาย บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่พัฒนาเครื่องยนต์ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพได้มากขึ้น ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพต่างๆ ที่หมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ การสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศให้ประสบผลสำเร็จ เช่น การพัฒนาเอทานอล 100% เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือแม้แต่การสนับสนุนลิขสิทธิ์ด้านนวัตกรรมการกลั่นขยะให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ล้วนมีความสำคัญและนำไปสู่การใช้พลังงานภายในประเทศที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. การพัฒนาบุคลากร  ตั้งแต่เยาวชน การศึกษา เพื่อให้มีความสนใจเข้ามาในธุรกิจพลังงานมากขึ้น มีทักษะความรู้ มีจิตสำนึกเพื่อจะประหยัดพลังงาน และนำพลังงานรูปแบบใหม่ไปใช้ มีเวทีที่จะให้สนุกกับการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยของสังคม หรือการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

 องค์ประกอบเรื่องการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี  การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน การพัฒนาบุคลากร  ถือเป็นแนวทางการทำธุรกิจในประเทศไทยของเชลล์ คือ “เติมสุขให้ทุกชีวิต” หรือ Making Life’s Journey Better

นายอัษฎาระบุว่า องค์ประกอบทั้งสามด้านนี้ สอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจในประเทศไทยของเชลล์ คือ “เติมสุขให้ทุกชีวิต” หรือ Making Life’s Journey Better   ยกตัวอย่างเช่น ปีที่ผ่านมาเชลล์ออกผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ คือ น้ำมันเชลล์ วี-เพาเวอร์ ทั้งเบนซินและดีเซล สามารถลดการเสียดสีในกระบอกสูบได้มากกว่า 3 เท่าจากน้ำมันปกติ ทำความสะอาดได้ดีกว่าน้ำมันสูตรเก่าถึง 20%  คืนพลังงานได้ 100% ประหยัดน้ำมันมากขึ้น ลดควันเสียควันดำได้จำนวนมาก รวมถึงเทคโนโลยีการลดอุณหภูมิในการจัดส่งและจัดเก็บยางมะตอย เทคโนโลยีดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาทางท่อไอเสียเพื่อลดภาวะโลกร้อน

ส่วนการสนับสนุนพลังงานชีวภาพ เช่น ได้ผลิตน้ำมันปาล์มแบบยั่งยืนมาเป็นเวลา 2-3 ปี  มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเกือบพันคน โดยเฉพาะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกระบี่ พร้อมกันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนานำขยะเมืองหรือขยะเกษตรมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป สามารถเป็นทางเลือกสำหรับประเทศไทยได้ นำมาต่อยอดอุตสาหกรรมการเกษตรได้เป็นอย่างดี ลดการนำเข้าน้ำมันดิบในอนาคตในระยะยาวได้  ทำให้ต้นทุนพลังงานถูกลง มีการตอบแทนที่สูงขึ้น

“เทคโนโลยีเหล่านี้เรียกว่าเป็นพลังงานชีวภาพ 100% ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ดี ถ้านำมาต่อยอดกับรถไฟฟ้าที่ใช้เอทานอล อาจจะเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในขั้นตอนทั้งหมดก็ได้”

นอกจากนี้เชลล์ยังสนับสนุนชุมชนบริเวณสถานที่ที่ทำธุรกิจ เช่น โรงเรียน หรือสถานศึกษาต่างๆ โดยเข้าไปพัฒนาทักษะความรู้ ให้โอกาสสร้างอาชีพ  ทดลองให้เด็กมาฝึกงานในปั๊มน้ำมัน และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รับประสบการณ์และการเรียนรู้ผ่านการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ การตระหนักรู้ และสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้แก่นักเรียนในการคิดค้นและประดิษฐ์รถยนต์ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เชลล์เห็นภาพนี้มานาน และมองว่าต้องมีการเปลี่ยนไปลงทุนในพลังงานที่สะอาดขึ้น สนับสนุนเรื่องพลังงานชีวภาพมากขึ้น เพราะเราก็ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรโดยเฉพาะในประเทศไทย

นายอัษฎายังระบุว่า กลยุทธ์พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ ดีต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับทิศทางของเชลล์ที่เน้นเรื่องการดำเนินงานเรื่องพลังงานสะอาดมานานกว่าสิบปี โดยปัจจุบันบริษัทได้ลงทุนในธุรกิจแก๊สสูงกว่าธุรกิจน้ำมันไปแล้ว

“เชลล์ไปลงทุนในแก๊สจำนวนมากมาเป็นสิบๆ ปี ล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาเราไปซื้อ British Gas ซึ่งทำให้พอร์ตแก๊สของเราใหญ่ขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนตำแหน่งขององค์กรให้เป็นพลังงานที่สะอาดขึ้นมันเริ่มนานแล้ว ตอนนี้เชลล์เป็นบริษัทที่มีแก๊สเยอะกว่าน้ำมัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทั่วโลกที่หันมาเน้นพลังงานที่สะอาดขึ้น เพื่อลดภาวะโลกร้อน และในประเทศไทยก็ต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป เพราะเรามีความพร้อมทางด้านนี้”  นายอัษฎากล่าว