ThaiPublica > เกาะกระแส > “ไวลด์เอด-กรมทรัพย์ฯ” รณรงค์เลิก “#ฉลองไม่ฉลาม” งานแต่งไทยเมนูยอดนิยม ชี้ฉลาม 73 ล้านตัว/ปีถูกฆ่า

“ไวลด์เอด-กรมทรัพย์ฯ” รณรงค์เลิก “#ฉลองไม่ฉลาม” งานแต่งไทยเมนูยอดนิยม ชี้ฉลาม 73 ล้านตัว/ปีถูกฆ่า

15 กรกฎาคม 2018


เสวนา #ฉลองไม่ฉลาม

14 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา เป็นวันรู้จักฉลาม หรือ Shark Awareness Day  องค์กรไวลด์เอด (WildAid) ยุติการค้าสัตว์ป่า ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ  “#ฉลองไม่ฉลาม” พร้อมกับเปิดตัว ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ นักแสดงชื่อดัง เป็นทูตฉลามคนแรกของประเทศไทย ผ่านโฆษณา “พูดแทนฉลาม” รณรงค์ให้คนไทยงดบริโภคเมนูฉลาม และสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญของฉลามต่อท้องทะเล หลังพบว่าประชากรฉลามหลายสายพันธุ์ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง และมี 73 ล้านตัวต่อปี ถูกฆ่าเพื่อนำมาทำป็นเมนูดัง

ฉลามถูกฆ่า 73 ล้านตัวต่อปี นำครีบทำซุปหูฉลาม

องค์กรไวลด์เอด ระบุว่าแต่ละปีทั่วโลกมีฉลามถูกฆ่าราว 100 ล้านตัว ในจำนวนนี้ 73 ล้านตัวถูกนำครีบมาทำซุปหูฉลาม โดยชิ้นส่วนของฉลามเป็นที่ต้องการของมนุษย์ ได้แก่ เนื้อ หนัง ฟัน และน้ำมัน แต่ครีบของมันมีราคาสูงกว่าชิ้นส่วนอื่นๆ ทำให้กระตุ้นความต้องการล่าฉลาม และทำให้ประชากรฉลามที่อาศัยตามธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง

“ใน 15 ปีที่ผ่านมา ฉลามบางสายพันธุ์ลดลงมากถึง 98% โดยภัยคุกคามหลักเกิดจากการค้าหูฉลาม และความต้องการบริโภคเมนูฉลาม สายพันธุ์ของฉลามที่ตกเป็นเป้าหมายของการล่า คือฉลามสายพันธุ์ขนาดใหญ่ที่ขยายพันธุ์ช้า การจับฉลามสายพันธุ์เหล่านี้เป็นจำนวนมากถือเป็นการประมงที่ไม่ยั่งยืน”

งานแต่งงานไทยนิยมมากสุด 72%

ผลสำรวจของไวลด์เอดต่อความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทยเมื่อปี 2560 ยังระบุว่า คนไทยในเขตเมือง 57% เคยบริโภคหูฉลาม และ 61% ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต ซึ่งมากกว่าจำนวนคนไทยที่เคยบริโภคหูฉลาม  ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ความต้องการบริโภคหูฉลามของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ งานเลี้ยงที่นิยมทานหูฉลามมากที่สุดคือ งานแต่งงาน 72% งานรวมญาติ 61% งานเลี้ยงธุรกิจ 47% และยังพบว่าคนไทย 85% ไม่ทราบว่าทุกๆ ปี มีฉลามถูกฆ่ากว่า 100 ล้านตัว  50% ไม่ทราบว่าประชากรฉลามลดลงมากถึง 98% และ 50% ไม่ทราบว่าส่วนมากฉลามถูกฆ่าเพียงเพื่อเอาแต่ครีบ

นอกจากนี้ จากการสำรวจตลาดเบื้องต้นของไวลด์เอด ยังพบว่าราคาซุปหูฉลามในประเทศไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้มีการบริโภคอย่างกว้างขวาง โดยมีราคาเริ่มต้นชามละ 300 บาท ในร้านค้าริมถนนย่านเยาวราช ไปจนถึงชามละ 4,000 บาท ในภัตตาคารหรูใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร และมีร้านอาหารที่มีเมนูซุปหูฉลาม หรือนำหูฉลามมาประกอบเมนูอื่นๆ อย่างน้อย 100 ร้าน เฉพาะในกรุงเทพฯ

และตามรายงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ระหว่างปี 2555-2559 พบว่า ไทยส่งออกครีบฉลาม และผลิตภัณฑ์หูฉลามแปรรูปมากกว่า 22,467 ตัน และนำเข้าครีบฉลามและผลิตภัณฑ์หูฉลามแปรรูปมากกว่า 451.57 ตัน มูลค่าการส่งออกอยู่ที่  3,275.53 ล้านบาท ส่วนมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 124.6 ล้านบาท

แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าครีบฉลามที่ไทยนำเข้ามาแปรรูปและส่งออกไปนั้น มาจากแหล่งใดในโลก เนื่องจากประชากรฉลามในน่านน้ำไทยมีจำนวนไม่มากพอเมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกที่ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารได้รับการรายงาน

ฉลามคุมระบบนิเวศน์ทะเลให้สมดุล เหมือนเสือในป่า

นายเพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ICUN) กล่าวว่า 14 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันรู้จักฉลาม แต่เอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่รู้จักฉลามน้อยมาก โดยฉลามมีบทบาทสำคัญในควบคุมการทำงานของระบบนิเวศน์ให้สมดุลเช่นเดียวกับสัตว์ผู้ล่า เช่น เสือโคร่ง

นอกจากนี้แนวโน้มสถานการณ์จริงของการบริโภคฉลามก็ได้เปลี่ยนไปจากอดีต ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการบริโภคหูฉลามเท่านั้น แต่ปัจจุบันเมื่อฉลามถูกจับได้จะถูกนำไปขายทั้งตัว ฉะนั้นการอนุรัก์ฉลามจึงยากกว่าการรณรงค์ แต่การรณรงค์ถือเป็นส่วนที่ทำได้ง่ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจการบริโภคฉลามของไวลด์เอด ถือเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก เพราะขณะนี้ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง แต่เมืองไทยคนมากกว่าครึ่งหนึ่งเคยบริโภค และยังบอกว่ายังจะบริโภคต่อไป เป็นอะไรที่สวนทางกับโลก

ขณะที่เดียวกัน ไทยเป็นประเทศที่หากินกับการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนหนึ่งต้องพึ่งพาสัตว์อย่างฉลามวาฬเป็นตัวชูโรง แต่ปรากฏว่าเราเป็นประเทศที่ส่งออกหูฉลามแซงหน้าจีน แม้จะไม่ได้เป็นฉลามที่จับจากเมืองไทย แต่การซื้อมาแล้วส่งออก ยิ่งตอกย้ำว่าประเทศไทยมีบทบาทอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ฉลาม ไม่ใช่แค่เรื่องการบริโภคอย่างเดียว

นายเพชรยังระบุว่า การอนุรักษ์ฉลามโดยเริ่มต้นจากรณรงค์เรื่องการบริโภคเป็นเรื่องที่ดี  แต่การอนุรักษ์จริงๆ ต้องแก้ปัญหาหลายด้าน รวมทั้งเรื่องการประมง เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบฉลามชนิดพันธุ์หายากบ่อยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ฉลามวาฬ หลังจากก่อนหน้านี้หายไปนานมากในช่วงหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มค่อนข้างสอดคล้องกับการปฏิรูปการประมงเหมือนกัน

“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา เราจับปลาเกินขนาดมาเป็นเวลานานมาก แต่หลังจากที่เราโดนสหภาพยุโรปให้ใบเหลือง รัฐบาลก็พยายามทำงานปฏิรูประบบการประมง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นถ้าเราไม่แก้เรื่องการประมง แม้รณงรงค์ไม่ให้คนบริโภคเลย ฉลามก็ยังถูกจับและมีโอกาสสูญพันธุ์อยู่ดี”

นายเพชรยังให้ข้อมูลว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เราพยายามอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นฉลาม เสือโคร่ง หรือช้าง เมื่อถูกนำใช้ประโยชน์ จะไม่สามารถทดแทนประชากรได้ทัน เพราะสัตว์เหล่านี้ขยายพันธุ์ได้ช้า ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก

“ผมคิดว่าการทำให้คนเห็นภาพของฉลามว่ามีคุณค่าความสำคัญอย่างไรกับระบบนิเวศน์ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ใช่แค่เรื่องความสงสาร เพราะทะเลที่ไม่มีฉลาม สุดท้ายแล้วจะเป็นทะเลที่เสียสมดุล และยังส่งผลต่อเรื่องการประมง วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น และส่งผลถึงอาหารทะเลที่เรากิน”

กินฉลาม = สะสมสารพิษ?

นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลพบว่ามีฉลามที่แพร่กระจายทั่วโลกจำนวน 440 ชนิด โดยพบอยู่ในทะเลประเทศไทยที่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามันรวม 41 ชนิด

แต่ทุกวันนี้ฉลามมากมายหลายสายพันธุ์กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งจากมลพิษทางทะเล และจากภาวะโลกร้อน แต่ภัยร้ายแรงที่คุกคามฉลามมากที่สุดคือภัยจากมนุษย์  แต่ละปีจะมีฉลามมากกว่า 73 ล้านตัว ถูกฆ่าเพื่อนำครีบและชิ้นส่วนต่างๆ มาทำซุปหูฉลาม แต่ไข่ไก่ฟองละ 2 บาท มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าซุปหูฉลามราคาแพง

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไมอามี สหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารทางการแพทย์โดยยืนยันว่า หูฉลามที่ชาวเอเชียส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นอาหารบำรุงร่างกายนั้น แท้จริงแล้วมีสารพิษร้ายแรงกับระบบประสาทของมนุษย์ โดยอาจจะทำให้เซลล์ประสาทเสื่อม จนนำไปสู่โรคสมองเสื่อมและโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ในที่สุด

“ฉลามเป็นสัตว์ที่เปรียบดังดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ประดุจเสือที่เป็นสัตว์ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของป่า แต่วันนี้ฉลามกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะร่วมกันกระตุ้นจิตสำนึกให้สังคมไทยและสังคมโลก หันมาปลูกฝังค่านิยมให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่ยังมีค่านิยมผิดๆ หลงยึดติดว่าหูฉลามคือสุดยอดเมนูอาหาร ในวันที่ฉลามยังมีให้พวกเราอนุรักษ์ เพื่อรักษาความสมดุลองท้องทะเลต่อไป” นายโสภณ กล่าว

ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์

“พูดแทนฉลาม” #ฉลองไม่ฉลาม

ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ นักแสดงในฐานะทูตฉลาม เล่าว่าส่วนตัวเป็นคนชอบดำน้ำ และเคยไปเจอฉลามวาฬที่เกาะเต่า จ.ชุมพร ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนเจอไม่ยากมาก แต่ปัจจุบันจากการสอบถามคนในพื้นที่หลายแห่งบอกว่าเจอยากมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากให้ทุกคนอนุรักษ์ฉลามไว้เพื่อความสมดุลและสวยงามของท้องทะเล

“ทุกวันนี้เวลาไปดำน้ำยังต้องลุ้นแล้วลุ้นอีกว่าจะได้เจอฉลามหรือเปล่า เพราะเมื่อก่อนเจอทุกไดฟ์ เจอง่าย ถ่ายรูปกันง่ายมาก รู้สึกเสียดายครับ ของเรามีดีอยู่แล้ว แต่ทำไมไม่รักษากัน แล้วคุณจะรู้ว่าฉลามวาฬใจดี ชอบเล่นกับคน จึงอยากชวนคนไทยให้อนุรักษ์ฉลามไว้ให้ท้องทะเลและการท่องเที่ยว”

นายณวัฒน์ ยังเผยความรู้สึกถึงการได้เป็นทูตฉลามคนแรกของไทยว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ต้องขอบคุณไวลด์เอดที่ให้เกียรติมาเป็นทูตฉลาม เพราะตรงกับตัวตน ตรงกับสิ่งที่ทำอยู่  ยิ่งโครงการนี้มีเซเลบริตี้ระดับโลกมาช่วยกันมากมาย อย่างเดวิด เบ็คแฮม, เฉินหลง และอีกหลายคน ก็ยิ่งดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

“จากนี้ไปผมจะช่วยรณรงค์ทุกทางอย่างเต็มที่ จึงอยากให้ทุกคนช่วยแชร์ ช่วยสื่อสาร ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดีย แบบนี้ อย่างน้อยแค่แฮชแท็กฉลองไม่ฉลาม ผ่านเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ช่วยกันพูดแทนฉลาม เพราะเขาเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศน์ในทะเล ถ้าทุกคนรู้และเห็นถึงผลกระทบ ประเทศไทยก็น่าจะปรับตัวได้ไม่ยาก”

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง เปิดเผยว่าประเทศไทยมีสัตยาบันกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO) ว่าจะต้องทำแผนปฏิบัติการของประเทศเพื่อดูแลและอนุรักษ์ฉลาม ล่าสุดทำเป็นร่างออกมาแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ก่อนจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และส่งไปให้เอฟเอโอต่อไป

มร.จอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการรณรงค์ องค์กรไวลด์เอด เล่าว่าไวลด์เอดได้ช่วยรณรงค์เรื่องนี้ในประเทศจีน ซึ่งสามารถลดการบริโภคหูฉลามได้ประมาณ 80% โดยผลสำเร็จส่วนใหญ่มาจากการรณรงค์เหมือนที่กำลังทำกับเมืองไทยขณะนี้ กับอีกส่วนหนึ่งคือรัฐบาลจีนมีนโยบายห้ามเสริฟหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้ผลมาก

ดังนั้น อยากให้ร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ว่าฉลองโดยไม่ฉลามให้เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบต่อฉลามโดยตรง ไม่อยากเห็นฉลามถูกทรมาน ซึ่งส่วนตัวอาจจะคิดหรือพูดแทนคนไทยไม่ได้ แต่เราจะทำโครงการนี้ไปเรื่อยๆ ช่วยกันสื่อสารให้เห็นถึงผลกระทบมากที่สุด

#ฉลองไม่ฉลาม …หยุดซื้อ หยุดกิน เท่ากับหยุดฆ่า

#ฉลองไม่ฉลาม …หยุดซื้อ หยุดกิน เท่ากับหยุดฆ่า.. 14กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันรู้จักฉลามหรือ Shark Awareness แต่เอาเข้าจริงคนไทยรู้จักฉลามน้อยมาก..แต่ละปี ฉลามราว 100 ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ครีบของฉลามมากกว่า 73 ล้านตัว ถูกนำไปทำเป็นซุปหูฉลาม..ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทยขององค์กร WildAid ปี 2560 พบว่า คนไทยในเขตเมืองมากกว่า 57% เคยบริโภคหูฉลาม และมากกว่า 60% ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต..งานเลี้ยงที่นิยมทานหูฉลามมากที่สุดคือ งานแต่งงาน 72% งานรวมญาติ 61% งานเลี้ยงธุรกิจ 47%..14 กรกฎาคม 2561 องค์กร WildAid ชวนคนไทยรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม พร้อมเปิดตัว ป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ นักแสดงชื่อดัง เป็นทูตฉลามคนแรกของประเทศไทย ผ่านโฆษณา “พูดแทนฉลาม” ชวนคนไทยเลิกบริโภคเมนูฉลาม สร้างความตระหนักรู้ เห็นความสำคัญของฉลามที่มีต่อทะเล

Posted by ThaiPublica on Saturday, July 14, 2018