ThaiPublica > เกาะกระแส > บทความของ Wharton School กรณีหมูป่าอะคาเดมี่ ให้บทเรียน “ภาวะความเป็นผู้นำ” อะไรบ้าง?

บทความของ Wharton School กรณีหมูป่าอะคาเดมี่ ให้บทเรียน “ภาวะความเป็นผู้นำ” อะไรบ้าง?

24 กรกฎาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ปฏิบัติการพาหมูป่ากลับบ้าน ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/ThaiSEAL/photos/

กรณีการช่วยเหลือหมูป่าที่ติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำ นางนอน ทำให้คนทั่วโลกพยายามที่จะสรุปบทเรียนในด้านต่างๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ในสิงคโปร์ มีคนอ่านเขียนไปลงในหนังสือพิมพ์ The Straits Times ว่า ความไม่เห็นแก่ตัวของผู้คน ทีมซีลของกองทัพเรือไทย นักดำน้ำจากตะวันตก และอาสาสมัคร ทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยชีวิตทีมหมู่ป่า 13 คน เหตุการณ์ครั้งนี้ แสดงออกถึงแบบอย่างความมีมนุษยธรรมที่ดีที่สุด

ส่วนวิทยาลัยธุรกิจ Wharton ของมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “อะไรคือบทเรียนของภาวะการเป็นผู้นำ จากกรณีช่วยเหลือหมูป่าอะคาเดมี่” (The Thai Cave Rescue: What Are the Leadership Lesson?) บทความนี้กล่าวว่า ปฏิบัติการถ้ำหลวงถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นไม่กี่ครั้ง ที่แสดงออกได้อย่างดีเลิศที่สุด ถึงหลักการด้านบริหารจัดการ

ผู้ประสบภัย 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ที่มาภาพ : twitter

ปฏิบัติการถ้ำหลวง

ปฏิบัติการณ์ถ้ำหลวงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 18 วัน ในวันที่ 23 มิถุนายน ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ ประกอบด้วยเด็ก 12 คนอายุระหว่าง 11-16 ปี และโค้ชฟุตบอลอายุ 25 ปี หายไปในถ้ำหลวง ที่อยู่ใต้เทือกเขาที่เป็นพรมแดนไทยกับเมียนมา พวกเด็กๆ ต้องเผชิญกับความอดอยาก ความกระหาย ความมืดมิด และความสิ้นหวัง ภายในถ้ำที่น้ำท่วม ก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือออกมา

ถ้ำหลวงมีโครงสร้างขนาดใหญ่ และประกอบด้วยอะไรหลายอย่าง มีระยะทางยาว 10 กิโลเมตร ลักษณะพื้นมีตั้งแต่บริเวณความสูงหลายสิบเมตร ไปจนถึงเส้นทางที่แคบ ที่คนต้องคลานเข้าไป ในบทความเรื่อง The Science Behind Thailand’s Unstable Cavesของนิตยสาร Forbes ผู้เขียนคือ Travor Nace อธิบายให้เห็นว่า ทำไมสภาพภูมิศาสตร์ของถ้ำในไทยจึงอันตราย หินที่ล้อมรอบถ้ำเป็นหินปูน ผสมด้วยหินที่เกิดจากตะกอนที่ทับถมกัน เหมือนกับบริเวณหน้าผาที่ติดกับชายหาดทะเลที่มีชื่อเสียงของไทย รูปร่างหน้าตาของถ้ำหลวงเกิดจากปฏิกิริยาของน้ำฝนที่ไหลเข้าไปกับหินปูน ทำให้เกิดเส้นทางเดินแคบๆ ในถ้ำ

Michael Useem ผู้อำนวยการ Center for Leadership and Change Management วิทยาลัย Wharton และ Andrew Eavis ประธาน องค์กรนานาชาติที่ศึกษาเรื่องถ้ำ กล่าวว่า เรื่องราวเกี่ยวกับปฏิบัติการณ์ถ้ำหลวง ถือเป็นบทเรียนที่เป็นแบบอย่างที่ดีเลิศ ในด้านภาวะความเป็นผู้นำ รวมทั้งเรื่องจิตใจที่เสียสละ และมีมนุษยธรรม

ปฏิบัติการช่วยเหลือเกิดจากกลยุทธ์ที่มีประสานงานอย่างรอบคอบ เกี่ยวข้องกับผู้คนหลายกลุ่ม รวมทั้งนักดำน้ำ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำชั้นนำของโลกหลายสิบคน อาสาสมัครนับ 10,000 คน องค์กรและบุคคล ที่นำเครื่องสูบน้ำมาให้การสนับสนุน ชาวนาที่ยินดีจะให้สูบน้ำออกจากถ้ำมาท่วมที่นาของพวกเขา แม้ว่าต้นข้าวในนาจะตาย รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายให้งบประมาณ จัดหาบริการแพทย์ การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ และการจัดการ

ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าเกิดขึ้นท่ามกลางคนทั่วโลกจับตามองความพยายามช่วยเหลือแบบนาทีต่อนาที มีสื่อมวลชน 1,500 คนไปทำข่าวที่แม่สาย เมืองที่อยู่ติดกับถ้ำหลวงมากที่สุด Elon Musk มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX ก็ส่งเรือดำน้ำขนาดจิ๋วมาร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือ แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ทีมฟุตบอลหมูป่า 13 คน พลัดหลงในถ้ำหลวง โดยเข้าไปไกลจากจุดที่นักท่องเที่ยวจะเข้าไปได้ ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ฝนที่ตกกระหน่ำทำให้น้ำท่วมเส้นทางคดเคี้ยวภายในถ้ำ ทีมหมูป่าต้องหนีลึกเข้าไปอยู่บนที่สูงและแห้ง คณะค้นหาพบพวกเขาเมื่อ 10 วันต่อมา หลังจากที่อาศัยแผนที่ถ้ำหลวงของ Vernon Unsworth นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ที่รู้จักสภาพถ้ำหลวงอย่างดี ฝนที่ตกลงมาไม่หยุดทำให้ไม่สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือได้ทันทีทันใด แต่ในที่สุด ปฏิบัติการช่วยเหลือก็เริ่มต้นในวันที่ 7 กรกฎาคม

บอร์ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ แต่เขียนข้อความที่เป็นหัวใจสำคัญของปฏิบัติการการสะท้านโลกครั้งนี้ ติดอยู่กับต้นไม้ที่เป็นจุดนั่งพักของเหล่าซีลแก่-ซีลหนุ่ม
“We​ are​ here 4​ (for) the​ same​ Purpose: Join​ task force​ Operation ETHIC​S
1. RESPECT!!!2. Speak human language 3. Communicate: clear, concise and direct to​ the​ point 4. Respect Diversity 5. No​ discrimination 6. No​ idea is​ a stupid idea: We’re​ only one TEAM”
ที่มาภาพและคำบรรยาย : https://www.facebook.com/ThaiSEAL/photos/
ดร. ริชาร์ด ฮาร์ริส ที่มาภาพ : BBC

พลังกล้ามเนื้อและมันสมอง

หลังจากนั้น ในช่วงเวลา 4 วันติดต่อกัน คณะว่ายน้ำ 18 คน ที่ประกอบด้วยหน่วยซีลของไทย นักดำน้ำอังกฤษ ออสเตรเลีย และอเมริกา ก็ช่วยนำทีมหมูป่าที่ติดในถ้ำออกมาเป็นรายๆ แม้ร่างกายจะซูบผอมเพราะอดอาหาร แต่ก็มีปัญหาสุขภาพเพียงเล็กน้อย Useem ของ Wharton กล่าวว่า “ปฏิบัติการณ์ครั้งนี้คือเรื่องราวที่อาศัยทั้งกำลังกายและพลังสมอง”

Useem กล่าวว่า แม้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการช่วยเหลือจะต้องอาศัยแรงกาย แต่พลังการใช้สมองมาจากบุคคลอย่างนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการเชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการ ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย (ศอร.) ที่รัฐบาลไทยมอบหมายภารกิจในการประสานงานการค้นหา ภารกิจหลักของนายณรงค์ศักดิ์ประกอบด้วยการประสานงาน และนำพาคนที่มีส่วนในการค้นหากว่า 10,000 คน ไปสู่กลยุทธ์ร่วมกัน Useem กล่าวถึงอดีตผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ว่า “ทำให้เกิดความเป็นระเบียบ การจัดองค์กร และการตัดสินใจที่เด็ดขาด”

ก่อนปฏิบัติการช่วยเหลือจะเริ่มขึ้น น.ต. สมาน กุนัน นักดำน้ำของกองทัพเรือ ที่เกษียณแล้ว เกิดเสียชีวิต เนื่องจากขาดอากาศออกซิเจนขณะที่ว่ายน้ำนำเอาถังออกซิเจนไปวางในถ้ำ สำหรับทีมนักดำน้ำและพวกหมูป่า Useem กล่าวว่า “นอกจากการสูญเสียดังกล่าวแล้ว ก็มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น” เพราะในช่วงแรกๆ นั้น คาดการณ์กันว่าจะต้องใช้เวลาถึง 4 เดือนจึงจะช่วยทีมหมูป่าออกมาได้หมด

นาวาตรีสมาน กุนัน ที่มาภาพ : twitter (2)
ชาวออสเตรเลีย 9 คน ได้รับการเชิดชูในความกล้าหาญและเสียสละจากรัฐบาลออสเตรเลีย ที่มาภาพ : Twitter

กลยุทธ์ที่ประกอบด้วย 3 ด้าน

Useem กล่าวว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้ อาศัยกลยุทธ์ที่ประกอบด้วย 3 ด้าน

ด้านที่ 1 คือ รัฐบาลไทยที่ให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ บุคลากรทางทหาร และปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ

ด้านที่ 2 คือ บทบาทของอดีตผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร และการใช้อำนาจของการเป็นผู้นำ ที่สะท้อนถึงการทำงานอย่างมีระเบียบวินัย ดังจะเห็นได้จากคำพูดของอดีตผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ที่กล่าวกับอาสาสมัครว่า “คนที่คิดว่าตัวเองเสียสละไม่พอ สามารถกลับบ้านได้ ผมจะไม่รายงานพวกคุณ สำหรับคนที่ต้องการทำงาน คุณจะต้องพร้อมทุกวินาที และขอให้คิดว่าพวกเด็กๆ คือลูกหลานของเราเอง”

ด้านที่ 3 คือ พวกหมูป่า 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง แม้จะมีเสียงวิจารณ์นายเอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก เรื่องพาพวกหมูป่าเข้าไปในถ้ำที่ลึกเกินไป แต่โค้ชเอกก็เป็นคนที่มีบทบาทที่ทำให้พวกเด็กๆ รู้จักสงวนอาหารที่มีจำกัด การใช้ไฟฉาย และทำให้พวกเด็กๆ มีจิตใจสงบ ด้วยการทำสมาธิ Useem กล่าวว่า “ทั้งรัฐบาล ผู้นำที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ และคนที่ติดอยู่ในถ้ำ ต่างก็ช่วยกันออกแรงดึง”

Useem กล่าวย้อนไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2010 ที่คนงานเหมืองชิลี 33 คน ติดในเหมืองนาน 69 วัน พวกคนงานเหมืองอยู่ที่สภาพเกือบจะมืดมิด เหมือนกับทีมฟุตบอลหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำ เพราะพวกคนงานเหมือนติดอยู่ใต้ดินลึกลงไปกว่า 700 เมตร ในสภาพดังกล่าว หัวหน้าคนงานชื่อ Luis Urzua เป็นคนมีบทบาทสำคัญ ที่ทำให้คนงานมุ่งมั่นเรื่องการเอาชีวิตรอด

Useem กล่าวว่า หน่วยปฏิบัติช่วยชีวิตที่อยู่นอกถ้ำจะไม่สามารถบรรลุภารกิจ หากว่าเมื่อเข้าไปถึงแล้วทีมฟุตบอลหมูป่าไม่มีชีวิตรอดอยู่ในถ้ำ บทบาทของโค้ชเอกจึงสำคัญ ที่ช่วยให้พวกเด็กๆ มีความพร้อมเพื่อการอยู่รอด ทั้งทางจิตใจและร่างกาย เช่น บอกให้พวกเด็กๆ ดื่มน้ำที่หยดจากหินย้อย

Useem วิเคราะห์ว่า วิกฤตินั้นต้องการความเป็นผู้นำ ที่ไปสะท้อนอยู่ที่บทบาทของโค้ชเอก จุดเริ่มต้นอาจมาจากที่การพาพวกเด็กเข้าไปในถ้ำ แต่เมื่อเกิดปัญหา เขาก็แสดงความรับผิดชอบของการเป็นผู้นำ และก็ได้แสดงออกในสิ่งเหล่านี้ รายงานที่ปรากฏออกมาก็แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถทำในสิ่งนี้ได้จริงๆ

ที่มาภาพ : twitter

ความสำเร็จทางเทคนิค

บทความของ Wharton กล่าวว่า การจัดการงานด้านเทคนิคในการช่วยเหลือ ถือเป็นอีกด้านหนึ่งของความสำเร็จในปฏิบัติการครั้งนี้ เช่น 1 ใน 4 ของหน่วยซีลที่เข้าไปอยู่กับทีมหมูป่าเป็นนายแพทย์ การสูบน้ำออกจากถ้ำจำนวนหลายล้านแกลลอนถือเป็นภารกิจใหญ่หลวงทางด้านวิศวกรรม

Andrew Eavis กล่าวถึงสถานการณ์ที่นักดำน้ำต้องเผชิญ เมื่อดำน้ำลึกเข้าไปในถ้ำ พวกเขาต้องประสบความมืดมิดอย่างไม่น่าเชื่อ นักดำน้ำต้องประสบกับสภาพมืดมิดนี้ ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับมัน หลักๆ ก็คือ คุณไม่รู้ว่าตาคุณเปิดหรือปิด แต่ทันทีทันใด คุณพบว่า หน้าปัดนาฬิกาของคุณดูจะสว่างอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งนี้คือสภาพการณ์ที่พิเศษในถ้ำหลวง

Andrew Eavis กล่าวอีกว่า “สิ่งที่สำคัญอย่างมากในตอนแรกคือ นักดำน้ำ 2 คน ที่จะเริ่มต้นดำเข้าไป พวกเขาต้องต่อสู้กับกระแสน้ำ เมื่อพวกเขาดำน้ำเข้าไปได้ ได้นำเชือกเข้าไปด้วย เพื่อใช้เป็นเชือกนำทางสำหรับการดำน้ำในครั้งต่อๆ ไป การดำน้ำเข้าไปครั้งแรกจึงสำคัญมาก หากครั้งแรกทำไม่สำเร็จ เพราะกระแสน้ำแรง หรือทางเข้าแคบมาก พวกเด็กก็คงจะยังติดค้างอยู่ในถ้ำ”

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/ThaiSEAL/photos/

เอกสารประกอบ

The Thai Cave Rescue: What Are the Leadership Lessons? knowledge.wharton.upenn.edu. July 16, 2018.
Thai Cave Rescue: Lucky 13, Reuters Graphics. Fingfx.thomsonreuters.com
Thailand Cave Rescue: The Science Behind Thailand’s Unstable Caves, Trevor Nace, July 9, 2018. Forbes.com

ปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำThe operation the world never forgets.18 วัน ที่ผู้คนทั้งโลกรวมใจมาอยู่ด้วยกัน รวมพลังช่วยกันพานักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี 12 คนและโค้ช กลับบ้านและเราจะจดจำความเสียสละ ความงดงามในจิตใจของเรือโทสมาน กุนัน ตลอดไป“ภารกิจไม่สำเร็จ ไม่พบเราไม่เลิก”Hooyah Hooyah Hooyah

Posted by Thai NavySEAL on Wednesday, July 11, 2018