ThaiPublica > เกาะกระแส > โลก “ยุคหลังความจริง” (Post- Truth) อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของ “ข่าวปลอม” (Fake News)

โลก “ยุคหลังความจริง” (Post- Truth) อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของ “ข่าวปลอม” (Fake News)

21 กรกฎาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

กลุ่มBrexit ให้อังกฤษถอนตัวจาก EU ใช้ตัวเลขผิด มารณรงค์ ที่มาภาพ : theguardian.com

มีรายงานข่าวว่า บราซิลจะกำหนดให้วิชาวิเคราะห์สื่อ หรือการรู้เท่าทันสื่อ เป็นหลักสูตรภาคบังคับในโรงเรียนทั่วประเทศ ก่อนหน้านี้เป็นเพียงวิชาเลือกเท่านั้น แต่บราซิลเผชิญปัญหาแบบเดียวกับอีกหลายประเทศในโลก ที่ข่าวปลอม (fake news) จำนวนมาก ปรากฏอยู่บนสื่อออนไลน์ และก็แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว วิชาวิเคราะห์สื่อจะช่วยให้เยาวชนสามารถแยกแยะข่าวปลอมและข่าวเท็จจำนวนมากที่อยู่บนโลกออนไลน์

ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ กำลังหาทางรับมือกับการแพร่ระบาดของข่าวปลอมและข่าวเท็จ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เรียกกันว่า “หลังความจริง” (post-truth) พจนานุกรม Oxford ก็เลือก “post-truth” เป็น “คำแห่งปี 2016” โดยชนะคำว่า “Brexit” พจนานุกรม Oxford อธิบายความหมายของ post-truth ว่า “เป็นสภาพการณ์ที่ข้อเท็จจริงมีอิทธิพลต่อประชามติน้อยกว่าการเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกและความเชื่อส่วนตัว” กล่าวสรุปก็คือ ยุคหลังความจริงนั้น คนเราเห็นว่า ความรู้สึกเป็นเรื่องถูกต้องมากกว่าข้อเท็จจริง

การเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2016 ก็สะท้อนสภาพโลกเราในยุค “หลังความจริง” ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติให้สหราชอาณาจักรถอนตัวจากกลุ่ม EU หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ข้อเท็จจริงถูกบิดเบือนเพื่อให้คนสับสน การให้เหตุผลไม่ต้องอาศัยหลักฐานใดๆ มาสนับสนุน เช่น ข้อความโฆษณาตามรถประจำทางของพวก Brexit ใช้ข้อมูลผิดๆ ว่า สหราชอาณาจักรต้องส่งเงินให้อียู 350 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ เงินจำนวนนี้ควรจะนำมาใช้กับการบริการสุขภาพแห่งชาติ

หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลจากการนับคะแนน นางฮิลลารี คลินตัน มีคะแนนเสียงจากผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนมากกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ 3 ล้านคน แต่โดนัลด์ ทรัมป์ กลับกล่าวโดยไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนใดๆ ว่า ตัวเขาเองชนะคะแนนเสียงจากคนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หากว่าหักลบด้วยคะแนนหลายล้านเสียง จากพวกที่ไปลงคะแนนให้นางฮิลลารีแบบผิดกฎหมาย

ความเป็นมาของข่าวสารที่เที่ยงตรง

อินเทอร์เน็ตทำให้สื่อมวลชนดั้งเดิมเกิดภาวะตกต่ำ แต่กลับทำให้พวกโซเชียลมีเดียเจริญรุ่งเรือง สภาพดังกล่าวนี้ ทำให้คนทุกวันนี้เสพสื่อในลักษณะที่เรียกว่า “ไซโลข่าวสาร” (news silo) คำว่าไซโลข่าวสารหมายถึงแนวโน้มที่คนเราจะเลือกเสพสื่อจากแหล่งข่าวสารที่จะมาช่วยเสริมความเชื่อของตัวเรายิ่งขึ้น แล้วก็ตัดทิ้งแหล่งข่าวอื่นๆ แม้ว่าข่าวสารที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียจะไม่มีการตรวจสอบตรวจทานด้านความถูกต้องเหมือนกับที่ทำกันในสื่อมวลชนดั้งเดิม แต่ก็มีคนบางส่วนที่พร้อมจะอ่านและเชื่อ เพราะว่ามันไปตรงกับทัศนะความรู้สึกของตัวเอง นอกจากจะทำให้ข่าวสารแตกกระจัดกระจายแล้ว ไซโลข่าวสารยังไปเน้นย้ำการแบ่งขั้วทางความคิดของคนในสังคมอีกด้วย

ในความเป็นจริง สื่อมวลชนดั้งเดิมอย่างเช่นหนังสือพิมพ์ ก็ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากการทำหน้าที่รายงานข่าวแบบเที่ยงตรง หรือปราศจากความลำเอียง มาตั้งแต่เริ่มแรก หนังสือชื่อ Discovering the News: A Social History of American Newspapers กล่าวว่า แต่เดิม ความคิดเรื่อง ความเที่ยงตรงในการรายงานข่าวไม่ใช่ประเด็นสำคัญของหนังสือพิมพ์ในอเมริกาเลย หนังสือพิมพ์เขียนในสิ่งที่สะท้อนทัศนะเศรษฐกิจการเมืองแบบเลือกข้าง เป็นฝักเป็นฝ่ายตามที่ตัวเองเชื่อมั่น

ในปี 1848 หนังสือพิมพ์ต่างๆ ในนิวยอร์ก รวมตัวกันตั้งสำนักข่าว Associated Press (AP) เนื่องจากสำนักข่าว AP ทำข่าวป้อนให้กับหนังสือพิมพ์ที่มีทัศนะการเมืองแตกต่างกัน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย AP จึงผลิตและรายงานข่าว “แบบเที่ยงตรง” ที่หนังสือพิมพ์ต่างๆ จะสามารถนำไปพิมพ์เผยแพร่ต่อ ในเวลาต่อมา การรายงานข่าวที่เที่ยงตรงจึงกลายเป็นแนวปฏิบัติของสื่อสารมวลชนทั่วไป

แม้แนวคิดการรายงานข่าวแบบเที่ยงตรง จะได้รับการยอมรับในวงการสื่อสารมวลชนของสหรัฐฯ แต่การแข่งขันในเรื่องยอดขายของหนังสือพิมพ์ทำให้เกิดสื่อมวลชนแบบหัวสี หรือ yellow journalism ที่เน้นทำข่าวเรื่องราวต่างๆ ที่อื้อฉาวและหวือหวา

แต่ Discovering the News เขียนไว้ว่า “ปี 1896 ที่สื่อมวลชนหัวสีเต็มไปด้วยเรื่องราวอนาจาร New York Times ก็ยกระดับตัวเองขึ้นเป็นสื่อชั้นนำ โดยเน้นการนำเสนอที่ใช้โมเดลข่าวสาร (information model) ไม่ใช่โมเดลเรื่องราว (story model) สำนักข่าว AP ใช้ข้อเท็จจริงเป็นจุดขายกับกลุ่มลูกค้าหนังสือพิมพ์ที่มีทัศนะการเมืองหลากหลาย แต่ New York Times อาศัยข้อมูลข่าวสารมาเป็นจุดขายให้กับกลุ่มคนอ่าน ที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน”

อดีต ปัจจุบัน และอนาคต “ข่าวปลอม”

“ข่าวปลอม” ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคอินเทอร์เน็ต ก่อนหน้าการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 กลุ่มการเมืองต่างๆ ก็ใช้ใบปลิวปล่อยข่าวลือเรื่อง ฐานะการเงินที่ใกล้ล้มละลายของรัฐบาลฝรั่งเศสในเวลานั้น แต่อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทำให้ข่าวปลอมมีพลังฟื้นตัวกลับมาใหม่ ทำให้ข่าวหวือหวาแบบหนังสือพิมพ์หัวสีในอดีตกลับมาโดดเด่นอีกครั้งหนึ่ง

ที่มาภาพ : youtube

ในหนังสือ Post-Truth (2018) Lee McIntyre อธิบายว่า “ข่าวปลอมไม่ใช่เพียงเป็นข่าวเท็จเท่านั้น แต่เป็นความเท็จที่มีเป้าหมาย” เช่น ในช่วงการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 พวกสร้างข่าวเท็จบนโซเชียลมีเดียต้องการให้คนกดไลค์แล้วตัวเองจะมีรายได้จากการสร้าง “ข่าวปลอม” เวลาต่อมา พวกสร้างข่าวปลอมสังเกตได้ว่า ข่าวปลอมที่เป็นเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีคนกดไลค์มากกว่าข่าวเรื่องดีๆ ของนางฮิลลารี คลินตัน

พวกสร้างข่าวปลอมขึ้นมา ไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมืองกันทุกคน เดือนพฤศจิกายน 2016 New York Times รายงานข่าวเรื่อง “โรงงานสร้างข่าวปลอม ที่เป็นเรื่องการหารายได้” นักศึกษาคนหนึ่งของประเทศจอร์เจีย ชื่อ Beqa Latsabidze ได้แต่งเรื่องราวที่ดีๆ ของทรัมป์ขึ้นในอินเทอร์เน็ต และเรื่องที่โจมตีนางฮิลลารี ทำให้เขาได้เงินมาหลายพันดอลลาร์ ต่อมาอีกไม่นาน New York Times ก็ทำรายงานข่าวเรื่องนักศึกษาอีกคนหนึ่งที่สร้างข่าวปลอมว่า “ค้นพบคนลงคะแนนให้นางฮิลลารีอย่างผิดกฎหมายหลายหมื่นคนในโกดังสินค้า รัฐโอไฮโอ”

นักรัฐศาสตร์ชั้นนำอย่างเช่น Timothy Snyder กล่าวเตือนว่า ข่าวปลอม หรือข้อเท็จจริงแบบทางเลือก (alternative fact) จะทำให้สังคมก้าวเดินไปสู่เส้นทางเผด็จการได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น “สภาพหลังความจริงก็คือสภาพก่อนจะเกิดเผด็จการ” ก่อนหน้านี้ นักคิดชั้นนำอย่าง Hannah Arendt เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1951 ว่า พลเมืองที่เหมาะกับการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ใช่คนที่เชื่อในลัทธินาซีหรือคอมมิวนิสต์ แต่เป็นคนที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับเรื่องที่ปรุงแต่งระหว่างความจริงกับความเท็จ

แต่ New York Times ก็เคยทำรายงานข่าวว่า ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้า อาจช่วยให้เรามองเห็นว่า อนาคตของข่าวปลอมจะเป็นอย่างไร ในระยะแรก ข่าวปลอมจะแพร่หลายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะข่าวปลอมที่เผยแพร่โดยอาศัยความสามารถของโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ที่จะเล็งเป้าหมายไปสู่ลูกค้ารายย่อยเป็นคนๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป อันตรายของข่าวปลอมก็จะลดลง เหมือนกับโฆษณาได้ผลน้อยลง เมื่อคนคุ้นเคยกับมันแล้ว

ในสหรัฐฯเอง วิธีการการต่อสู้กับข่าวปลอมอย่างหนึ่ง คือการทำเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ปัจจุบันมีหลายแห่ง เช่น Snopes, PolitiFact, FactCheck รวมทั้งหนังสือพิมพ์ Washington Post หนังสือ Post-Truth แนะนำว่า ในการต่อสู้กับข่าวปลอม วิธีการหนึ่งคือ สนับสนุนสื่อมวลชนที่ทำข่าวแบบเจาะลึก มีการอิงอาศัยข้อมูล และมีการตรวจทานความถูกต้อง ถึงเวลาที่เราควรจะสมัครเป็นสมาชิก New York Times หรือ Washington Post แทนที่จะใช้วิธีการอ่านได้ฟรี 10 ชิ้นต่อเดือน

เอกสารประกอบ
Post-Truth, Lee McIntyre, The MIT Press, 2018.